- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Saturday, 03 July 2021 22:18
- Hits: 22841
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘ธ.อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย’ ที่ ‘AA’ อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น ที่ ‘T1+’ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย ที่ระดับ ‘AA’ และคงอันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นของธนาคารที่ระดับ ‘T1+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะเครดิตของ RHB Bank Berhad, Malaysia (RHB Bank Berhad) ซึ่งเป็นธนาคารสำนักงานใหญ่ อีกทั้ง ยังสะท้อนถึงสถานะสภาพคล่องของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ด้วย ทั้งนี้ ด้วยสถานะทางกฎหมายที่เป็นธนาคารสาขา ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกับ RHB Bank Berhad ในประเทศมาเลเซีย
อันดับเครดิตองค์กรของธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย อยู่บนพื้นฐานการประเมินผลการดำเนินงานของ RHB Bank Berhad โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศมาเลเซีย อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงของ RHB Bank Berhad จากการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย การมีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และการบริหารความเสี่ยงที่มีความระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากความเสี่ยงทางเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับปานกลาง และฐานเงินฝากของธนาคารที่อยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน
การที่ RHB Bank Berhad ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศมาเลเซีย การพิจารณาอันดับเครดิตจึงประเมินรวมไปถึงความแข็งแกร่งและสถานะความเสี่ยงของเศรษฐกิจและระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมของประเทศมาเลเซียด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ธุรกิจค่อนข้างมั่นคงและหลากหลาย
การประเมินสถานะทางธุรกิจของ RHB Bank Berhad สะท้อนถึงการเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางที่มีธุรกิจที่มั่นคง และแหล่งรายได้ที่มีความหลากหลาย ธุรกิจในประเทศประกอบด้วยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีเครือข่ายมั่นคง ตลอดจนธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจที่เข้มแข็ง รวมถึงธุรกิจประกันภัยและธุรกิจบริหารจัดการกองทุนซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูกต่างๆ ธนาคารยังมีแหล่งที่มาของรายได้ที่กระจายตัวจากกลุ่มลูกค้ารายย่อย (Retail Banking: มีสัดส่วน 36% ของรายได้รวม) กิจกรรมการบริหารเงิน (Treasury Operation: 18%) กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และวาณิชธนกิจ (Corporate and Investment Banking: 19%) และกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (Business Banking: 15%)
ธนาคารยังมุ่งเน้นขยายกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprise -- SME) และกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีความมั่งคั่ง (Affluent Retail) อย่างต่อเนื่อง RHB Bank Berhad สามารถคงอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ระดับ 5.6% และอัตราการขยายตัวของเงินฝากที่ระดับ 6.8% ในปี 2563 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิขยายตัวใกล้เคียงระดับ 12% ในปี 2563 จากธุรกิจบริหารความมั่นคั่ง และธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลัก
สำหรับ ธุรกิจระหว่างประเทศ RHB Bank Berhad มุ่งเน้นการแสวงหาตลาดเฉพาะรายในเกือบทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจต่างประเทศมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับประมาณ 8% ของรายได้รวมในปี 2563 ฐานธุรกิจระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของธนาคารอยู่ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อราว ๆ กว่า 8% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ณ สิ้นปี 2563 สินเชื่อในประเทศไทยมีสัดส่วนประมาณ 0.8% ของสินเชื่อรวมของธนาคารในช่วงเวลาเดียวกัน
เงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
สถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของ RHB Bank Berhad ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะเครดิตที่สำคัญ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงหลังจากหักเงินปันผลอยู่ที่ระดับ 15.6% ณ เดือนมีนาคม 2564 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์มาเลเซียรายอื่น เงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของยังคิดเป็น 88% ของเงินกองทุนรวม ณ ไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง ผู้บริหารของธนาคารยังคงอัตราส่วนเงินปันผลที่ระดับไม่ต่ำกว่า 30%
เช่นเดียวกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายอื่นที่ต้องการเสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุน RHB Bank Berhad ได้เสนอโครงการลงทุนเงินปันผล (Dividend Reinvestment Plan – DRP) ให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นมีสิทธิเลือกที่จะนำเงินปันผลที่ได้รับนำมาลงทุนในหุ้นที่ออกใหม่ โดยทางคณะผู้บริหารได้เปิดเผยจุดประสงค์ของการใช้เงินจากโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ถึงแม้ว่าจำนวนเงินที่จะได้รับจะยังขึ้นอยู่กับการตอบรับของผู้ถือหุ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบของโครงการดังกล่าว จะมีผลต่อสถานะเงินกองทุนของธนาคารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผลกำไรจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ผลกำไรของ RHB Bank Berhad จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากจุดต่ำสุดในปี 2563 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารอยู่ที่ระดับ 0.8% ในปี 2563 จาก 1.0% ในปี 2562 เนื่องจากความสูญเสียทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss -- ECL) ทริสเรทติ้งยังประมาณการฟื้นตัวเล็กน้อยของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิภายใต้อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในระดับค่อนข้างน้อย และต้นทุนทางการเงินที่คงอยู่ในระดับต่ำภายใต้สภาวะดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับต่ำ
และยังคาดว่า แรงกดดันต่ออัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิจะยังคงอยู่หากธนาคารกลางของประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia -- BNM) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ตลอดทั้งปี 2564 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่า ECL จะยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ระดับ 30 ถึง 40 จุด (Basis Points – bps) ในปี 2564 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงอยู่
ทริสเรทติ้ง ยังคาดว่า ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในระบบสาระสนเทศจะเป็นปัจจัยช่วยกำไรจากการดำเนินงานในระยะปานกลาง อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวมยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนได้ลดลงถึงระดับ 47% ในปี 2563 จากระดับ 48% ในปี 2562
ความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์สามารถจัดการได้
ในความเห็นของทริสเรทติ้ง RHB Bank Berhad ค่อนข้างมีความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ธนาคารยังคงนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง ในขณะเดียวกัน ความช่วยเหลือในระดับอุตสาหกรรมและความผ่อนปรนด้านกฎระเบียบของ BNM น่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ลงได้
ทริสเรทติ้ง คาดว่า อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ของประเทศมาเลเซียจะยังคงเผชิญคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงในช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า BNM ได้ประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือการชำระหนี้ (Repayment Assistance -- RA) เพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นหลังการสิ้นสุดของมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางและธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่รัฐบาลประเทศมาเลเซียยังได้ขยายมาตรการจำกัดการเดินทาง (Movement Control Order -- MCO) ออกไปจากสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่ามาตรการ RA และความผ่อนปรนด้านกฎระเบียบของ BNM จะช่วยลดผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ลงได้ ซึ่งรวมถึงกรณีของ RHB Bank Berhad ด้วย สำหรับกรณีของธนาคาร ณ เดือนมีนาคม 2564 นั้นมีสัดส่วนสินเชื่อประมาณ 8.3% ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการ RA
การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ Stage-2 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 หลังจากการสิ้นสุดลงของมาตรการพักชำระหนี้นั้น สะท้อนถึงสินเชื่อที่อยู่ภายใต้มาตรการ RA สินเชื่อ Stage-2 ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในกลุ่มสินเชื่อบ้านเพื่อการอยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในขณะที่ธุรกิจที่ภาคการบริการที่ได้รับผลกระทบอันประกอบด้วยธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารก็พบการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ Stage-2 เช่นกัน สินเชื่อดังกล่าวโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน
ธนาคารมี ECL อยู่ในระดับสูงในช่วงปี 2563 เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศมาเลเซียรายอื่น เพื่อรองรับการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์หลังจากมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนได้สิ้นสุดลง ณ เดือนกันยายน 2563 โดยธนาคารมี ECL อยู่ที่ระดับ 58 จุด ในปี 2563 และยังคงที่ระดับ 39 จุดในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยตัวเลขดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต้นทุนทางเครดิตของธนาคารในช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่ระดับ 32 จุด ส่งผลให้อัตราส่วนการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพได้เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 120% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งสูงกว่าค่าของธนาคารพาณิชย์รายอื่นอีกหลายราย ในขณะที่อัตราส่วนหนี้ด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.7% ณ สิ้นปี 2563
แหล่งเงินทุนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
RHB Bank Berhad ยังคงพัฒนาสถานะแหล่งเงินทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางอย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ FIT-22 โดยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีความมั่งคั่งและ SME ได้ โดยมีอัตราการเติบโตของเงินฝากรวมอยู่ที่ระดับ 6%-7% ต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นหลายราย ส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากลูกค้ารายย่อยได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.5% ณ เดือนมีนาคม 2564 จากระดับ 7.7%
ณ สิ้นปี 2562 สัดส่วนของเงินฝากต้นทุนต่ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้ช่วยลดต้นทุนทางการเงินของธนาคารลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 2.16% ในปี 2563 จากที่ระดับ 2.14% ในปี 2561 ซึ่งตัวเลขล่าสุดถือเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับทั้งอุตสาหกรรม สัดส่วนของเงินฝากต่อแหล่งเงินทุนปรับปรุงดีขึ้นสู่ระดับ 83% ณ สิ้นปี 2563 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์รายอื่น ในขณะที่สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ต่อเงินรับฝากก็ปรับปรุงดีขึ้นสู่ระดับ 31% ในช่วงเวลาเดียวกัน
สัดส่วนเงินฝากต่อแหล่งเงินทุนรวมอยู่ที่ระดับ 92% ณ สิ้นปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในประเทศมาเลเซียจะยังไม่ตึงตัวขึ้นภายในปี 2564 เนื่องจากความต้องการสินเชื่อน่าจะคงอยู่ในระดับต่ำและนโยบายทางการเงินที่น่าจะยังคงผ่อนคลาย
สภาพคล่องมีเพียงพอ
สภาพคล่องของ RHB Bank Berhad อยู่ในระดับเพียงพอโดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 35% ณ สิ้นปี 2563 การลงทุนในสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีสภาพคล่อง รวมถึงตราสารในตลาดเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน นอกจากนื้ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารนั้นก็อยู่ที่ระดับ 154% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด[1]
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นที่ระดับ ‘T1+’ สะท้อนถึงสถานะเครดิตระยะยาวและฐานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศในประเทศไทย ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ยังต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์การดำรงสภาพคล่องที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยธนาคารจะต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติ
ทั้งนี้ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสำนักงานใหญ่ รวมถึงตลาดเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร และวงเงินสำรองจาก ธปท. ก็ถือเป็นเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมของธนาคารด้วย นอกจากนื้ LCR ของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดอีกด้วย[2]
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า RHB Bank Berhad จะสามารถดำรงสถานะทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพและสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้ต่อไป โดยทริสเรทติ้งยังคาดหมายด้วยว่าธนาคารจะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ดี มีสถานะเงินทุนที่เพียงพอ และมีสภาพคล่องที่อยู่ในเกณฑ์ดีได้เช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของ RHB Bank Berhad อาจได้รับผลกระทบในทางลบหากธนาคารมีความเสื่อมถอยอย่างรุนแรงของสถานะเงินทุน ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสภาพคล่อง ส่วนผลกระทบในทางบวกนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารในการปรับปรุงสถานะทางการตลาด รวมถึงความสามารถในการหาแหล่งเงินทุน และความสามารถในการทำกำไรให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Banks Rating Methodology, 3 March 2020 |
- วิธีการจัดอันดับเครดิตหนี้ระยะสั้น, 31 ตุลาคม 2550 |
ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย (RHB Thailand)
อันดับเครดิตองค์กร: |
AA |
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น: |
T1+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง
ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ