- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Friday, 04 December 2020 10:37
- Hits: 10052
กสิกรไทยจัด PossAbility Acceleration เร่งเครื่ององค์กรแห่งนวัตกรรม
บ่มเพาะสุดยอดไอเดีย สร้างสรรค์โดยพนักงาน พัฒนาบริการสู่ตลาดและสังคมได้จริง
กสิกรไทยส่งเสริมการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรม จัดโครงการ “PossAbility Acceleration” ระดมไอเดียจากพนักงานทั่วประเทศ จนได้แนวคิดนวัตกรรมไอเดียสุดปัง เข้ากระบวนการบ่มเพาะ สร้างต้นแบบ และนำเสนอ ก่อนนำไปพัฒนาเป็นบริการสู่ตลาดและสังคมได้จริงในอนาคต ตอกย้ำการเป็นองค์กรที่เปิดกว้างรับทุกความเป็นไปได้ พร้อมเร่งศักยภาพพนักงานให้สร้างนวัตกรรมได้จริง ร่วมขับเคลื่อนให้กสิกรไทยเกิดการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นที่จะสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรม ด้วยการเสริมสร้างวัฒนรรรมองค์กรที่เปิดกว้างต่อทุกความคิดสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ จึงจัดโครงการ PossAbility Acceleration เวทีที่จะช่วยเร่งศักยภาพ ไอเดียของพนักงานธนาคารกสิกรไทย และพนักงานบริษัทของธนาคารทุกระดับ ผ่านการประกวดผลงานทางความคิด ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยธนาคารเริ่มดำเนินการโครงการนี้ตั้งแต่ต้นปี 2563 แบ่งออกเป็น 3 รอบ ก่อนไปสู่รอบตัดสินรางวัล ได้แก่
รอบที่ 1 เปิดรับสมัครไอเดียนวัตกรรม มีพนักงานส่งไอเดียเข้าประกวดกว่าร้อยไอเดีย ซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งไอเดียพัฒนาบริการด้านผลิตภัณฑ์ บริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
รอบที่ 2 ทดสอบความถูกต้องของแนวคิดการออกแบบ (Validate Idea) ผู้แข่งขันที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีม ได้ร่วม Boot camp รับความรู้และคำแนะนำด้าน Design Thinking เพื่อพัฒนาไอเดีย ตรวจสอบความถูกต้องแนวคิด จากนั้นนำเสนอกับกรรมการเพื่อผ่านเข้ารอบต่อไป
รอบที่ 3 พัฒนาไอเดียของผู้แข่งขัน ให้เป็นไปได้จริง ผู้แข่งขัน 8 ทีมสุดท้าย จะได้รับคำแนะนำใกล้ชิด (mentor) จากผู้เชี่ยวชาญ สามารถใช้ APIs ต่างๆ ของธนาคาร สร้างต้นแบบที่ใช้งานได้จริง (Workable Prototype) นำไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำผลลัพธ์ไปพัฒนาให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
รอบการตัดสินรางวัล (Final Pitching Day) ผู้เข้าแข่งขัน 8 ทีมสุดท้าย จะต้องสาธิตและนำเสนอไอเดียให้ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารและ KBTG ได้พิจารณา ให้เห็นศักยภาพของแนวคิด ทั้งด้านความแปลกใหม่ ผลการทดลองกับลูกค้าเป้าหมาย ผลกระทบเชิงบวกต่อธนาคารที่สามารถวัดค่าได้ในแง่มุมทางการเงินและการจัดการ รวมทั้งการนำไปใช้ได้จริงทั้งในกรอบกฎระเบียบ เทคโนโลยีที่รองรับ และศักยภาพที่จะเป็นผู้นำตลาด
ผลการตัดสิน รางวัล Best PossAbility Idea สำหรับทีมเจ้าของไอเดียนวัตกรรมยอดเยี่ยม รับเงินรางวัลทีมละ 150,000 บาท จำนวน 3 ทีม ได้แก่ ทีม Make a Wish ทีม Spotlight และทีม K-Guarantee ทั้งนี้ ไอเดียของทั้ง 3 ทีม จะถูกนำไปพัฒนา เพื่อทำให้เกิดเป็นบริการที่เข้าสู่ตลาดและสังคมได้จริงในอนาคต
รางวัล Best Prototype สำหรับทีมนักพัฒนาโปรแกรม จาก KBTG ที่พัฒนาต้นแบบยอดเยี่ยม รับเงินรางวัลทีมละ 90,000 บาท จำนวน 3 ทีม ได้แก่ ทีม OK Kojo District ทีม Spotlight และทีม Insurance Share Buy
รางวัล Learning Award สำหรับทีมที่มีพัฒนาการเรียนรู้ยอดเยี่ยม รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท จำนวน 2 ทีม ได้แก่ OK Kojo District (ทีมเจ้าของไอเดีย) และทีม Journey เจ้าหนี้ (ทีมนักพัฒนาโปรแกรม)
นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จสำคัญของโครงการนี้ คือ การกระตุ้นให้พนักงานกล้าคิด นำประสบการณ์การทำงาน ความเข้าใจลูกค้า มาสร้างบริการใหม่ที่แตกต่าง เมื่อพนักงานได้รับโอกาส เปิดประสบการณ์ใหม่ จึงเกิดการพัฒนาศักยภาพตนเองผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างเข้มข้น เกิดความภาคภูมิใจ และส่งต่อความรู้ กลายเป็นพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กร ขณะเดียวกัน นับเป็นโอกาสที่ธนาคารได้เห็นไอเดียธุรกิจจากมุมมองของทีมงานที่อยู่ในสนามจริง ใกล้ชิดลูกค้า หลายแนวคิดสร้างสรรค์อย่างเกินความคาดหมาย ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการบ่มเพาะอย่างเป็นระบบ ผนวกกับทีมเทคโนโลยีของ KBTG ในการสร้างต้นแบบ จึงทำให้ไอเดียมีชีวิต และเห็นศักยภาพที่จะต่อยอดเป็นบริการได้จริง
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะเดินหน้าโครงการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกสิกรไทย สร้างนวัตกรรมจากความเข้าใจลูกค้าอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่บริการสู่ตลาดจริง อันจะสร้างความแตกต่างและขับเคลื่อนให้กสิกรไทยเกิดการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
A12109
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ