WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

KBANK คาด GDP ปี 57 โต 1.6% ก่อนโต 4%ในปีหน้า มองเศรษฐกิจตปท.ยังเสี่ยง

      นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวในงานสัมมนา“โค้งสุดท้ายปี 2557 ภาพรวมเศรษฐกิจไทย"ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 1.6% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวลง สะท้อนจากระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางด้านเศรษฐิกของโลก

      ส่วนในปี 58 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มเป็น 4% โดยจะต้องจับตาเศรษฐกิจโลกว่าจะสามารถขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางอุปสรรคและปัญหาของเศรษฐกิจในยุโรปที่ขณะนี้กำลังประสบกับภาวะเงินฝืดนั้น ธนาคารกลางยุโรป (ECB)จะมีนโยบายดำเนินการอย่างไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างไร เพราะจะส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น และการลงทุนจะขยายตัวตามไปด้วย

     ขณะที่คาดว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย(SET Index)ในปีนี้จะอยู่ในระดับ 1,570 จุด ซึ่งในช่วงปลายเดือน ต.ค.ยังต้องจับตาธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จะสิ้นสุดมาตรการ QE โดยมองว่าจะส่งผลให้นักลงทุนทางตะวันตกปรับพอร์ตการลงทุนจนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในเอเชียและไทยหรือไม่อย่างไร แต่เชื่อว่าดัชนี SET คงไม่ปรับฐานลงไปต่ำกว่า 1,500 จุด

      อย่างไรก็ตาม สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(FED)คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ภายในกลางปี 58 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยของไทยต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 2% ก็จะกลายเป็น 2.5%

      นายกอบสิทธิ์ ยังคาดว่าค่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ปี 58 ประเมินไว้ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ หลังจากค่าเงินดอลลาร์เริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากการยกเลิกมาตรการ QE ในสิ้นเดือนนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากแนวโน้มการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง(FED)ในปี 58 คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3/58 จะส่งผลกรขทบต่อค่าเงินบาทอ่อนค่าได้เช่นกัน

    "นอกจากปัจจัยเรื่อง QE และดอกเบี้ยแล้ว ยังอาจมาจากเงินทุนไหลออกในตลาดหุ้น และที่ต้องจับตาคงเป็นเงินที่จะไหลออกจากพันธบัตรกระทรวงการคลังของต่างชาติ ที่คาดว่าจะมีการขายออกมา 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่ 6 แสนล้านบาทด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทอ่อนค่า"นายกอบสิทธิ์ กล่าว

      ทั้งนี้ ธนาคารเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะมีการดูแลและควบคุมความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากนัก

     ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% แต่ยังอยู่ในช่วง 1.5-2% ตามที่คาดการณ์ เนื่องจากล่าสุดเห็นภาพของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศยังไม่กลับมาเต็มที่ ประกอบกับการส่งออกก็ยังไม่ดีเช่นกัน

     "ทาง สศค.จะมีการทบทวนตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง และจะประกาศในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ตอนนี้เรามองว่าการขยายตัวอาจจะไม่ถึง 2% เพราะตัวเลขที่ประกาศออกมาล่าสุดฟื้นตัวช้ากว่าคาด แต่การขยายตัวก๊ยังอยู่ในช่วงที่บอกไว้ที่ 1.5-2% ยังต้องหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้านของรัฐบาลจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายได้มากน้อยแค่ไหน"นายพิสิทธิ์ กล่าว

      ขณะที่คาดว่าปี 58 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 4.5-5% จากแนวโน้มความเชื่อมั่นที่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆในประเทศกลับสู่สภาวะปกติ และการลงทุนต่างๆจะเริ่มมีการลงทุนมากขึ้นช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ

   ขณะที่นางสาวณัฏฐริยา วิทยธนเศรษฐ์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดทุน KBANK มองว่า การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันที่ 7% คงทำได้ไม่เร็วตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารประเมินว่าหากมีการปรับขึ้น VAT เป็น 8% จะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ลดลง 0.32% และหากขึ้นเป็น 9% กระทบ GDP ราว 0.64% และถ้าปรับขึ้นเป็น 10% จะกระทบ GDP ราว 0.96%

    "หากปรับ VAT ขึ้นเป็น 8% รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 32,536 ล้านบาท ถ้าเป็น 9% จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 65,073 ล้านบาท และหากปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10% จะส่งผลให้รัฐจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 97,609 ล้านบาท"นางสาวณัฏฐริยา กล่าว

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!