- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Tuesday, 30 July 2019 16:19
- Hits: 4269
KKP บุกกลุ่มลูกค้าคุณภาพสูง รองรับความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจ ด้านตลาดทุนแกร่ง ธุรกิจนายหน้าครองมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่ง
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP ปรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อ เน้นเพิ่มกลุ่มลูกค้าคุณภาพที่ให้ผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง (Risk-Adjusted Return) ที่สูง เพื่อสร้างการเติบโตแบบมีภูมิคุ้มกันต่อสภาวะเศรษฐกิจ เผยครึ่งปีแรกเติบโต 2.1% โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบรรษัท (17 %) สินเชื่อลอมบาร์ด (3.9 %) และสินเชื่อธุรกิจ (0.6 %) ด้านธุรกิจตลาดทุน ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง บล.ภัทรขึ้นครองส่วนแบ่งตลาดนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อันดับ 1 ในขณะที่ธุรกิจ Wealth Management มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำเพิ่มขึ้นเป็น 547,000 ล้านบาท และยังคงรุกหน้าบริการการลงทุนในต่างประเทศที่ครอบคลุมสินทรัพย์หลากหลายและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อน
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(Mr.Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) เปิดเผยว่า "ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกที่ผ่านมาผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจฯ ได้รับผลกระทบจากสภาวะของตลาด ไม่ว่าจะการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและภัยแล้ง ทำให้ธนาคารเลือกที่จะเติบโตอย่างระมัดระวัง (Cautionary Growth) อย่างไรก็ตาม สำหรับระยะครึ่งปีแรก สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ขนาดสินเชื่อของธนาคารยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่ 2.1 %
โดยเฉพาะในกลุ่มของสินเชื่อบรรษัท (Corporate Lending) สินเชื่อลอมบาร์ด (Lombard Loan) และสินเชื่อธุรกิจ (Commercial Lending) ซึ่งล้วนเป็นสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ากลุ่มที่มีเครดิตดี และน่าจะให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอแม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายและมีความไม่แน่นอนสูง โดยสินเชื่อทั้งสามกลุ่ม มีการเติบโต 17% 3.9% และ 0.6% ตามลำดับ ในส่วนของสินเชื่อลูกค้ารายย่อย ก็มีการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภทเช่นกัน มีเพียงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ธนาคารชะลอการเติบโตโดยมุ่งรักษาคุณภาพสินเชื่อ เพื่อลดการก่อตัวของหนี้เสียในสถานการณ์เศรษฐกิจหดตัว ทั้งนี้ แม้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ก็เป็นการปรับตัวตามความคาดหมายและตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ได้เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ให้อัตราผลตอบแทน (yield) ที่ดีกว่ารถยนต์ใหม่"
ในส่วนของธุรกิจตลาดทุน นายอภินันท์กล่าวว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของธุรกิจนายหน้าค้าหลักหลักทรัพย์ ซึ่งบล.ภัทรมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ธุรกิจวานิชธนกิจ ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้าจะมีรายได้จากธุรกรรมใหญ่หลายรายการที่บล.ภัทรได้รับเลือกให้ดำเนินการ และที่สำคัญธุรกิจ Wealth Management ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำเพิ่มขึ้น เป็น 547,000 ล้านบาท โดยยังคงรุกหน้าเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความซับซ้อนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ Equity-Linked Notes, Principal-Protected Notes, Phatra Derivative Warrants, Phatra Single Stock Future Blocktrade ฯลฯ ทั้งยังบุกเบิกบริการด้านการลงทุนตรงในสินทรัพย์ต่างประเทศที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นกองทุน หรือตราสารหนี้ ผ่านการร่วมมือกับบริษัทจัดการกองทุนระดับโลก อาทิ BlackRock และ PIMCO หรือแม้กระทั่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ Private Markets เป็นครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ Global Investment Service นอกจากนี้ ธุรกิจจัดการกองทุนที่ดำเนินการผ่านบลจ. ภัทร ก็มีการเติบโตดี มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนรวมเป็นจำนวนกว่า 69,891 ล้านบาท
ในการนี้ นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Philip Chen Chong Tan, President, Kiatnakin Bank Plc.) ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล (Retail Business) ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของธนาคารในระยะต่อไปว่า "ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนสาขาที่มากเปลี่ยนจากข้อได้เปรียบกลายเป็นภาระต้นทุน ระบบจ่ายเงินเปลี่ยนจากแหล่งทำกำไรกลายเป็นบริการแถมที่ไม่สร้างรายได้ ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเริ่มย้ายจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ และความเร็วในการบริการเปลี่ยนจากการนับในหน่วยวันมาเป็นวินาที เพื่อตอบรับและสร้างโอกาสในสถานการณ์เหล่านี้ ธนาคารได้แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 4 ส่วน คือ หนึ่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นตัวเลือกของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะการตัดสินใจของผู้บริโภคคือตัวชี้ขาดหนึ่งเดียวในการแข่งขันที่รุนแรง สอง การพัฒนาขอบเขตและขีดความสามารถทางด้านไอที เพราะอนาคตอยู่ที่โลกดิจิทัล สาม การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้บริโภคซึ่งต้องครบวงจรทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และสี่ การเสาะหา บำรุง และสร้างแรงจูงใจให้แก่บุคลากรคุณภาพ เนื่องจากคุณภาพคนคือตัวกำหนดคุณภาพของบริการที่จะออกสู่ผู้บริโภคในที่สุด"
นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณและประธานสายตลาดการเงิน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Preecha Techarungchaikul, Head of Finance and Budgeting/Head of Financial Markets, Kiatnakin Bank Plc.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานงวดหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ของธนาคารเกียรตินาคิน และบริษัทย่อยว่า "กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 2,699 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.9 จากงวดเดียวกันของปี 2561 เป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย จำนวน 327 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 5,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,146 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.7 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้อื่น 1,059 ล้านบาท
รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 9,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากงวดเดียวกันของปี 2561 ครึ่งปีแรกสินเชื่อโดยรวมของธนาคารมีการขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 จากสิ้นปี 2561 โดยมีการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภทยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีการหดตัว ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัวร้อยละ 2.7 จากสิ้นปี 2561 ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 4.1 ณ สิ้นปี 2561 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งเงินกองทุนทั้งสิ้นได้รวมกำไรถึงปี 2561 ทั้งปีหลังหักเงินปันผลจ่าย อยู่ที่ร้อยละ 16.13 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 12.37 แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2562 จะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับร้อยละ 17.29 และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 13.53"
Click Donate Support Web