- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 25 September 2014 17:44
- Hits: 2710
ไอแบงก์ ยื่น 7 ข้อเสนอ ร้องนายกฯ ทบทวนแผนฟื้นฟู
คณะกรรมการกลางอิสลามฯร้องนายกรัฐมนตรี ทบทวนแผนฟื้นฟูไอแบงก์ หลัง 10 ปีบริหารล้มเหลว ยื่น 7 ข้อเสนอ ขอให้ธปท.เข้ามาคุม พร้อมให้แบงก์พาณิชย์ถอนหุ้นออกให้ชาวมุสลิมถือหุ้น 49% ด้าน 'ชัยวัฒน์'ย้ำให้ความสำคัญกับหลักศาสนา เร่งเดินสายฟื้นความเชื่อมั่นพนักงานและลูกค้า
สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทำหนังสือชื่อวันที่ 16 ก.ย. 2557 โดย พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามฯ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ขอให้ทบแผนฟื้นฟูการดำเนินธุรกิจของไอแบงก์อย่างเข้มงวด พร้อมยื่นข้อเสนอ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ควรให้ความสำคัญกับการบริหารธนาคารอิสลามอย่าง มีคุณธรรม และถูกต้องตามหลักการอิสลาม เนื่องจากมีความละเอียดอ่อน และมีผลกระทบทางจิตใจต่อชาวมุสลิมไทยโดยตรง
2. ควรให้คณะกรรมการของธนาคารเป็นชาวมุสลิมที่มีความรู้ในหลักการบริหารสถาบันการเงินแบบ Islamic Finance จำนวนกึ่งหนึ่งหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งชุด โดยผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย 3.ผู้จัดการธนาคาร หรือกรรมการผู้จัดการควรผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
4.ในแผนธุรกิจของธนาคาร ควรกำหนดให้รับความต้องการของชาวมุสลิมเป็นหลัก และดำเนินธุรกิจที่มีความแตกต่างจากระบบธนาคารพาณิชย์อย่างสิ้นเชิง 5.ให้การสนับสนุนทุกมิติในการปรับแก้กฎหมายต่างๆที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามหลักการอิสลาม 6.ควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดูแลธนาคารอิสลามตามหลัก Islamic Finance
และ 7. ควรให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในระบบดอกเบี้ยออกจากการถือหุ้นเนื่องจากเป็นเงินทุนที่ขัดต่อหลักการของอิสลาม และนำหุ้นจำนวนดังกล่าวกระจายสู่ชาวมุสลิม หรือองค์กรมุสลิมที่ประกอบธุรกิจตามหลักชะรีอะฮ์ ในสัดส่วน 51%และให้กระทรวงการคลังถือหุ้น 49% ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นความมุ่งหมายตามพ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545
ทั้งนี้ในหนังสือดังกล่าวยังระบุว่า ทางสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวมุสลิมทั่วประเทศ ได้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจของธนาคารอิสลามกว่า 10 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง มีปัญหาด้านผลประกอบการเรื้อรัง และมีหนี้เสียจำนวนมาก เป็นที่ผิดหวังของชาวมุสลิมในไทย และการดำเนินงานของธนาคารในปัจจุบัน ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวมุสลิมได้ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจในความถูกต้องตามหลักอิสลาม ด้านความมั่นใจในผลประกอบการของธนาคารและความจริงใจในการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการของชาวมุสลิม
ด้านนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการ ธนาคารอิสลามฯ เปิดเผยว่า ได้รับทราบถึงข้อเสนอแนะ และข้อกังวลใจของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแล้ว โดยทางบอร์ดก็จะมีการทบทวนและหาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาของธนาคารในปัจจุบันมีคณะที่ปรึกษาทางด้านศาสนาอิสลาม หรือที่ปรึกษาชะรีอะฮ์ มาให้ความรู้ และคำแนะนำเกี่ยวกับหลักการทางศาสนา
“การแก้ไขปัญหาของธนาคาร บอร์ดให้ความสำคัญมากว่าจะต้องไม่ขัดกับหลักศาสนา เช่นเดียวกับการทำธุรกิจของธนาคาร แม้ว่าจะทำเพื่อลูกค้าที่เป็นอิสลาม แต่เราก็สามารถทำให้ลูกค้าทั่วไปเข้ามาใช้บริการ หรือนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เหมือนกับข้าวหมกไก่ ที่เป็นอาหารของชาวอิสลาม แต่ก็ยังเป็นที่นิยมของคนทั่วไปด้วย ต่อไปแม้ไม่ใช่ลูกค้าอิสลาม แต่เป็นนักธุรกิจที่จะเข้าไปทำธุรกิจกับอิสลาม ทั้งในไทย และตะวันออกกลาง ก็น่าจะมาใช้บริการของธนาคารได้”
สำหรับ ข้อเสนอแนะในประเด็นเรื่องอื่นๆ เช่นสัดส่วนบอร์ด และผู้ถือหุ้นที่เป็นธนาคารพาณิชย์นั้น นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ขอแก้ปัญหาเพื่อฟื้นฟูกิจการธนาคารก่อน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้เดินสายพบปะกับสาขาของธนาคารทั่วประเทศเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงาน และลูกค้าของธนาคาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเรื่องการฟื้นฟูกิจการของธนาคาร ผลที่ออกมาก็ค่อนข้างดี แม้ที่ผ่านมาจะมีกระแสข่าวลบออกมา แต่เห็นได้ว่าไม่มีเงินไหลออกจากธนาคาร ตรงกันข้ามมีเงินไหลเข้าในระดับ 100 ล้านบาท
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า พันธกิจของธนาคารเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ยังมีความจำเป็นต่อระบบศรษฐกิจของประเทศ เช่นการดูแลเอสเอ็มอีให้เข้าถึงประเทศ และการดูแลประชาชนชาวอิสลาม ซึ่งการแก้ปัญหาแบงก์รัฐนี้จะต้องมีการทบทวนพันธกิจแต่ละแห่งใหม่ เช่นในส่วนของไอแบงก์ อาจจะมีการลดขนาดของธนาคารลง แล้วจะต้องกำหนดกรอบการทำธุรกิจให้ดูแลเฉพาะลูกค้าอิสลามเท่านั้นหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทางซุปเปอร์บอร์ด และรัฐบาล
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย