- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Saturday, 02 March 2019 20:17
- Hits: 5549
IAM ปี 61 เก็บหนี้ได้ 2,087 ล้านบาท ทิศทางตั้งเป้าเรียกหนี้คืนไม่น้อยกว่า 15% สูงสุด ปีละ 5,000 ล้านบาท
แถลงผลประกอบการ ปี 2561 และทิศทาง เป้าหมาย การดำเนินงาน ปี 2562
บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด
.......................................................................................................
บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด จัดแถลงผลประกอบการในปี 2561 และทิศทาง เป้าหมาย การดำเนินการงาน ปี 2562 และแผนระยะยาว 7 ปี (2562 - 2568) ในวันพฤหัสบดี ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.00 น. ณ โรงแรม โกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 ชั้น 3 ห้องเฟื่องฟ้า
โดยบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือไอแอม สามารถเรียกเก็บหนี้ได้ในปี 2561 ประมาณ 2,087 ล้านบาท และสามารถทำกำไรได้ประมาณ 693 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขหลังหักภาษีแล้ว (ตัวเลขประมาณการก่อนการตรวจสอบ)
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เรียกเก็บหนี้ได้ส่วนใหญ่กว่า 1,000 ล้านบาท มาจากการบังคับคดี ขายทอดตลาด ที่เหลือเป็นการประนอมหนี้ในชั้นบังคับคดี และมีลูกหนี้รายย่อยอีกจำนวนหนึ่งที่แสดงความจำนงขอปิดบัญชีหลังได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากบางรายเริ่มมีรายได้มากพอหรือสามารถหาผู้ร่วมทุนใหม่ได้ จึงมีเงินมาซื้อหลักประกันคืน
สำหรับแผนดำเนินงานปี 2562 และแผนระยะยาว 7 ปี แบ่งออกได้ดังนี้
1. ในปี 2562 บริษัทฯตั้งเป้าหมายวางระบบการบริหารจัดการบริษัทฯ ตามหลักธรรมมาภิบาล และเป็นบริษัท บริหารสินทรัพย์ด้วยบุคลากรอย่างมืออาชีพ โดยเน้นเทคโนโลยีด้านดิจิตอลเข้ามาบริหารจัดการองค์กรอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าเรียกหนี้คืนมากขึ้นกว่าปีก่อนไม่น้อยกว่า 15% สูงสุดไว้ที่ปีละ 5,000 ล้านบาท (โดยประมาณ) โดยพอร์ตส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ รายใหญ่ 87% ที่เหลือ 13% เป็นรายย่อย หากสามารถเจรจารายใหญ่ได้ข้อยุติ จะทำให้ยอดเรียกหนี้คืนทำได้มาก ซึ่งมูลค่าหลักประกันถือว่าคุ้มมูลหนี้ ทั้งนี้ในส่วนของกำไรที่เกิดขึ้น จะเก็บสะสมไว้เพื่อเตรียมรอชำระตั๋วสัญญาใช้เงินคืนให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ กำหนดชำระปีแรกในปี 2563 วงเงิน 4,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในส่วนของเป้าหมายดำเนินงานในช่วง 7 ปีหลังจากนี้ (2562 – 2568) คาดว่าจะเรียกหนี้ที่รับโอนมา 4.9 หมื่นล้านบาทให้จบภายในปี 2568 และนำเงินไปทยอยใช้หนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินของไอแบงก์ ซึ่งรายรับรวม 7 ปีหลังจากนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณไม่น้อยกว่า 32,762 ล้านบาท
2. นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการสอดรับตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติของรัฐบาล ภายใต้โครงการ Business Turnaround ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ทั้งลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งจะสะท้อนไปยังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย
3. บริษัทฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแสดงออกต่อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR โดยมีกำหนดจัดโครงการ Knowledge Management โดยการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางการเงินให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการในการจัดอบรม หรือเปิดสอนในหลักสูตรการบริหารสินทรัพย์ โดยได้ทำ MOU ร่วมกัน ในการแลกเปลี่ยน Know How ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังพัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารร่วมกันเพื่อสร้างเป็น Outcome ให้กับสาธารณชนอีกด้วย
4. สำหรับผลงานของไอแอมที่ผ่านมา และเป้าหมายในอนาคตที่จะเกิดขึ้นต้องขอบขอบคุณความช่วยเหลือและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ที่ให้ความร่วมมือในการเป็นตัวแทนเรียกเก็บหนี้ในช่วงเริ่มต้นที่บริษัทฯได้เปิดดำเนินการ ไอแบงก์ได้ให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และขอขอบคุณกระทรวงการคลัง รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการของไอแอม ในการอนุมัติเพิ่มทุนให้กับบริษัทเป็น 500 ล้านบาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 ที่ผ่านมา
ขอขอบพระคุณลูกหนี้ทุกรายทั้งลูกหนี้รายใหญ่ และรายย่อยที่มาชำระหนี้ทั้งในส่วนของการปิดบัญชีและผ่อนชำระอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ขอขอบคุณคณะกรรมการบริษัทฯที่สนับสนุนการทำงานและมอบนโยบายที่เป็นประโยชน์ให้กับฝ่ายบริหารของบริษัทด้วยดีเสมอมา และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้มีมติแต่งตั้งนางสาวสุปรียา พิพัฒน์มโนมัย ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในด้านการบริหารสินทรัพย์ การบริพอร์ทลูกหนี้ ซึ่งท่านสุปรียา มีประสบการณ์ด้านการบริหารสินทรัพย์มากกว่า 20 ปี
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณพนักงานของไอแอมทุกๆ คนที่เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานมาตั้งแต่ช่วง Set Up บริษัท ที่มีพนักงานเพียง 16 คน จนถึงตอนนี้เรามีกำลังพลถึง 88 คน และยังจะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่งไม่เกิน 120 คน เพื่อการทำงานที่แข่งขันกับเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ'การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมการบริหาร'
ระหว่าง บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ ไอแอม กำหนดจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมการบริหาร” ระหว่าง บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ในวันพฤหัสบดี ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.00 น. ณ โรงแรม โกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 ชั้น 3 ห้องเฟื่องฟ้า
โดยพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ'การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมการบริหาร' ระหว่าง บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารสินทรัพย์และกฎหมาย โดยนายธงรบ ด่านอำไพ ผู้จัดการบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กับ มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการจัดการและเทคโนโลยีดิจิตอล โดย รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ โดยการลงนามดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ
• สร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนพัฒนาขีดความสามารถและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมการบริหาร ของทั้งสองฝ่ายให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต
• พัฒนาความร่วมมือด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่าง บริษัท บริหารสินทรัพย์ กับ วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้ประกอบการ บุคลากร และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้เข้มแข็งและเป็นรูปธรรม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อส่วนงานสื่อสารองค์กร สำนักกรรมการและผู้จัดการ
บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด โทร.02 – 126 – 7881 – 2 ต่อ 3151 และ 3112 หรือ 085 – 171 – 0221, 094 – 628 – 2666
www.iam-asset.co.th บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด รัฐวิสาหกิจ เพื่อเศรษฐกิจและสังคม