- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Friday, 30 November 2018 20:25
- Hits: 2495
ยูเนี่ยนเพย์เผยผลสำรวจ ผู้บริโภคไทย 75% นิยมชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด
คิวอาร์โค้ดเป็นวิธีการชำระเงินผ่านมือถือที่ได้รับความนิยมสูงสุด ตามมาด้วยการโอนเงินแบบ Peer-to-Peer และการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (contactless) อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริโภคไทยมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสดและการชำระเงินผ่านมือถือ แต่เงินสดยังคงครองแชมป์ โดยผู้บริโภคไทยเชื่อประเทศจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดใน 12 ปี
(ซ้าย)นายวินเซนต์ หลิง รองผู้จัดการทั่วไป ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ขวา)นายภาคี เจริญชนาพร ผู้อำนวยการ แผนกวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด
(ซ้าย)นายวินเซนต์ หลิง รองผู้จัดการทั่วไป ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ขวา)นายภาคี เจริญชนาพร ผู้อำนวยการ แผนกวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด
ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (UnionPay International) เผยผู้บริโภคไทยมีทัศนคติโดยรวมที่ดีต่อสังคมไร้เงินสด ผลการศึกษา ‘The Future of Payments – อนาคตแห่งการใช้จ่าย’ ซึ่งจัดทำโดยยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล และนีลเส็น เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในไทย อายุระหว่าง 18 – 65 ปี จำนวน 400 คน เผยว่า 7 ใน 10 (ร้อยละ 71) ของผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด และ 6 ใน 10 (ร้อยละ 60) รู้สึก ‘มั่นใจ’ หากต้องใช้ชีวิตในสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ
ในยุคที่หน่วยงานต่างๆ กำลังผลักดันประเทศสู่สังคมไร้เงินสดด้วยการสนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการทำธุรกรรมทางการเงิน ผลสำรวจเผยว่า การชำระเงินผ่านมือถือกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผู้บริโภคกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53) ระบุว่าได้ชำระเงินผ่านมือถือในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยใช้บริการชำระเงินผ่าน 3.1 แพลตฟอร์ม และเกือบ 1 ใน 4 (ร้อยละ 22) ใช้จ่ายผ่าน 3 วิธีการชำระเงินผ่านมือถือหลักๆ ได้แก่ คิวอาร์โค้ด การโอนเงินแบบ Peer-to-Peer (P2P) และการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (contactless) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ผู้บริโภคอยากไทยเป็นสังคมไร้เงินสด และยินดีแนะนำการชำระเงินผ่านมือถือให้เพื่อนและครอบครัว
ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นทัศนคติของผู้บริโภคโดยรวมที่เป็นบวกเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสด โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้คนรู้จักหันมาใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้บริโภคร้อยละ 71 กล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะแนะนำการชำระเงินผ่านมือถือให้กับครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ในขณะที่ร้อยละ 91 บอกว่า ยินดีที่จะสอนครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน เกี่ยวกับการชำระเงินผ่านมือถือ หากพวกเขาพบกับอุปสรรค
“ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด บริการชำระเงินผ่านมือถือนับเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะคิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 75 เคยชำระเงินด้วยวิธีนี้”นายภาคี เจริญชนาพร ผู้อำนวยการ แผนกวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ (อายุระหว่าง 18-21 ปี) กลับมีความรู้สึกกระตือรือร้นน้อยกว่าผู้บริโภครุ่นอื่นๆ โดยมีเพียงร้อยละ 53 ของคนกลุ่มนี้ที่ระบุว่ารู้สึกตื่นเต้นที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรวมที่ร้อยละ 70 นอกจากนี้ ผู้บริโภครุ่นใหม่ยังรู้สึกมั่นใจน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ (ร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรวมที่ร้อยละ 61) หากต้องใช้ชีวิตในสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ “สำหรับสาเหตุที่กลุ่ม Generation Z ให้ความสนใจเรื่องสังคมไร้เงินสดและการชำระเงินผ่านมือถือน้อยกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ นั้น เรามองว่าเป็นเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้มีฐานรายได้และความสามารถในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ รวมถึงมีกำลังซื้อที่ไม่สูงมาก ทำให้การรับรู้เกี่ยวกับบริการด้านการชำระเงินผ่านมือถือในปัจจุบันจึงไม่สูงนักตามไปด้วย”นายภาคี กล่าวเสริม
เงินสดยังครองแชมป์ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดต้องอาศัยเวลา
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างวิธีการชำระเงินแบบต่างๆ ผลสำรวจเผยว่า เงินสดยังคงเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ผู้บริโภคไทย รองลงมาคือคิวอาร์โค้ด ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 75 ระบุว่าชำระเงินด้วยวิธีนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตามมาด้วยการโอนเงินแบบ P2P ซึ่งร้อยละ 67 กล่าวว่าเคยชำระเงินด้วยวิธีนี้ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
สำหรับ ความคิดเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า ต้องใช้ระยะเวลา 12 ปีโดยเฉลี่ยก่อนที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเผยให้ทัศนคติของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามน้อยกว่าครึ่ง (ร้อยละ 43) ที่รู้สึกมั่นใจว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคตอันใกล้นี้
นายวินเซนต์ หลิง รองผู้จัดการทั่วไป ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เส้นทางสู่สังคมไร้เงินสดไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน แต่ในขณะที่เรากำลังก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น การชำระเงินผ่านมือถือจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่เงินสด โดยเฉพาะด้านบริการธุรกรรมที่สะดวกรวดเร็ว เราเชื่อว่าการผลักดันจากภาคส่วนและองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ในระยะเวลาน้อยกว่า 12 ปี ยูเนี่ยนเพย์เชื่อว่าความพยายามของเราในการสนับสนุนการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น เนื่องจากการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเป็นวิธีที่ทั้งผู้บริโภคและร้านค้าสามารถใช้งานได้ง่าย โดยไม่ต้องลงทุนสูงมากในด้านอุปกรณ์หรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน”
“ผู้บริโภคไทยหันมานิยมใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การสนับสนุนจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน และร้านค้า ต่างมีส่วนช่วยสร้างการรับรู้และผลักดันให้มีผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการหันมาใช้คิวอาร์โค้ดก็คือ เครือข่ายร้านค้าที่รองรับซึ่งจำกัด และบริการที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย สำหรับ คิวอาร์โค้ดของยูเนี่ยนเพย์ ได้รับมาตรฐานระดับโลกจาก EMVCo. และสามารถใช้งานได้กับเครือข่ายร้านค้า 10 ล้านแห่งใน 24 ตลาดทั่วโลก ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายจากการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดได้บนแอพพลิเคชันเดียว”นายวินเซนต์ กล่าวสรุป
เกี่ยวกับผลสำรวจ'The Future of Payments–อนาคตแห่งการใช้จ่าย'
'The Future of Payments-อนาคตแห่งการใช้จ่าย'เป็นผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล และนีลเส็น ในเดือนกันยายน 2561 เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในประเทศไทยจำนวน 400 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 18 – 65 ปี ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยกลุ่มตัวอย่างประกอบไปด้วย Generation Z (อายุระหว่าง 18 – 21 ปี) จำนวน 100 คน, มิลเลนเนียล (อายุระหว่าง 22 – 37 ปี) จำนวน 100 คน, Generation X (อายุระหว่าง 38 – 50 ปี) จำนวน 100 คน และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (อายุระหว่าง 51 - 65 ปี) จำนวน 100 คน โดยแบ่งจำนวนเพศชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากัน
เกี่ยวกับยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (UnionPay International) ดูแลธุรกิจในต่างประเทศทั้งหมดของเครือยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay)ด้วยจำนวนผู้ถือบัตรกว่า 7,000 ล้านคน และเครือข่ายธนาคารพันธมิตรใน 49 ประเทศและดินแดน บริการที่ครอบคลุมร้านค้ากว่า 52 ล้านแห่ง และตู้เอทีเอ็มกว่า 2.6 ล้านจุดใน 171 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ยูเนี่ยนเพย์ถือเป็นเครือข่ายการชำระเงินระดับโลกที่มีฐานผู้ถือบัตรที่ใหญ่ที่สุด และเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก
ด้วยบริการที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกและบริการด้านการชำระเงินหลากหลายที่ได้รับมาตรฐานสากล ยูเนี่ยนเพย์มุ่งมั่นในการนำเสนอโซลูชั่นด้านการชำระเงินที่มีคุณภาพ และปลอดภัยสูงสุด รวมถึงเหมาะกับความต้องการของแต่ละตลาดท้องถิ่น เพื่อมอบทางเลือกและความสะดวกสบายในการชำระเงินให้กับทั้งผู้บริโภคและธุรกิจ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริการของยูเนี่ยนเพย์ครอบคุลมตู้เอทีเอ็ม จุดชำระเงิน และมีฐานลูกค้าผู้ใช้บัตรอยู่ใน 10 ประเทศ สำหรับในประเทศไทย ยูเนี่ยนเพย์นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายร่วมกับเครือข่ายธนาคารพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารแห่งประเทศจีน, ธนาคารไอซีบีซี ไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเกียรตินาคิน, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.unionpayintl.com/th/ หรือ https://www.facebook.com/UnionPayThailand
Click Donate Support Web