- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 15 September 2014 21:42
- Hits: 3175
ไอแบงก์ แย่หนี้เน่าแตะ 4.2 หมื่นล้าน แค่เดือนเดียวพุ่งกว่า 7 พันล้าน
แนวหน้า : ไอแบงก์แย่หนี้เน่าแตะ 4.2 หมื่นล้าน แค่เดือนเดียวพุ่งกว่า 7 พันล้าน เร่งดึงรายใหญ่กลุ่มเสี่ยงมาเจรจา
แหล่งข่าวจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) เปิดเผยว่าจากการเข้าตรวจสอบสถานะทางการเงินของไอแบงก์เบื้องต้นสิ้นสุด ณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพบว่าธนาคารมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น 7,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดคงค้างอยู่ที่กว่า 4.2 หมื่นล้านบาท หรือเป็น 38%ของสินเชื่อรวม 1.1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีลูกหนี้รายใหญ่ตกชั้นเพิ่มทำให้ยอดหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาก คาดว่าสิ้นปี 2557 จะมีลูกหนี้รายใหญ่ตกชั้นเพิ่มจนเอ็นพีแอลสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อเข้าไปดูลูกหนี้ในระบบของสินเชื่อทั้งหมดอย่างละเอียด พบว่ามีลูกหนี้รายใหญ่ที่ไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ และมีแนวโน้มตกชั้นกลายเป็นเอ็นพีแอลได้ในอนาคต ในกรณีที่ร้ายแรงหากไม่เร่งติดตามลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพในการทำธุรกิจ คาดว่ายอดเอ็นพีแอลอาจสูงถึง 80% จนทำให้ธนาคารไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้อาจต้องใช้วิธีการการควบรวมกิจการกับสถาบันการเงินของรัฐตามที่กระทรวงการคลังได้ศึกษาไว้แล้ว
“ลูกหนี้ไอแบงก์ส่วนมากเป็นรายใหญ่ส่วนที่เป็นเอ็นพีแอลเพิ่มในช่วงสิงหาคมเพียงเดือนเดียวสูงถึง 7,000 ล้านบาท เกิดจากลูกหนี้รายใหญ่ไม่กี่ราย แต่ในแต่ละรายมีมูลค่าหนี้สูงตั้งแต่ 1,000-3,000 ล้านบาท ส่วนการควบรวมเชื่อว่าออมสินและกรุงไทยคงไม่เอา เพราะไอแบงก์มีขาดทุนสะสมสูงถึง 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท จะส่งผลกระทบกับแบงก์ที่ควบรวมเพราะเป็นการสร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว
เบื้องต้นจะเรียกลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวมาหารือแนวทางการประนอมหนี้ หรือวิธีแก้ไขให้ไม่ตกชั้นกลายเป็นเอ็นพีแอลโดยจะแยกประเภทในส่วนที่มองว่ายังดูแลได้ ซึ่งบางส่วนอาจจะต้องขายออกไป และขอเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังที่ธนาคารเสนอไปเมื่อปี 2556 จำนวน 5,000 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการคลัง 2,500 ล้านบาท ธนาคารออมสินและกรุงไทยรวมกัน 2,500 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากคลังขอดูแผนฟื้นฟู และการตรวจสอบสถานะทางการเงิน(ดิวดิลิเจ้นท์) ก่อน
“ซุปเปอร์บอร์ด และคลัง อยากรู้หนี้เสียเป็นเท่าไรกันแน่ ต้องรู้สุขภาพจริงของแบงก์ก่อนจึงจะรู้ว่าจะใช้ยาตัวไหนรักษา รวมถึงแบงก์ต้องปรับวิธีการแก้หนี้ใหม่ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ได้จริง หรือแก้หนี้ได้แล้วก็ไม่ติดตามดูให้ตลอด หรือลูกหนี้ที่ใกล้จะเป็นเอ็นพีแอล หรือค้างชำระใกล้ 3 เดือน ก็แค่เรียกมาจ่ายค่าดอกเบี้ยก็จบ เพื่อไม่ให้เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งมันไม่ถูกต้อง”แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการไอแบงก์ กล่าวว่า มีลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพจริง ซึ่งอยู่ระหว่างรอการทำดิวลิเจ้นท์ โดยจ้างที่ปรึกษาเอกชนมาตรวจสอบฐานะทางการเงินคือ ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ คาดว่าจะเสร็จช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งจะทราบตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งความสามารถของการชำระหนี้คืนของลูกหนี้ ประวัติในการชำระหนี้ในแต่ละราย รวมถึงหลักประกันที่ใช้ค้ำประกัน จะทำให้มองเห็นแนวทางการแก้ไขชัดเจนและปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี
“ลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพจะทำให้เอ็นพีแอลพุ่งถึง 80% หรือไม่นั้น ยังไม่อยากให้คิดถึงไปขนาดนั้น เชื่อว่าเมื่อทำดิวลิเจ้นท์มาจะหายามารักษาโรคได้”นายชัยวัฒน์ กล่าว