- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 01 August 2018 17:42
- Hits: 5047
ครม. เห็นชอบ ให้ ธ.ก.ส. ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ และลดดอกเบี้ย ให้กับเกษตรกร 3.81 ล้านราย พร้อม ร่วมมือ กระทรวงเกษตร เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูรายบุคคลหวังเพิ่มรายได้เกษตรกรใน 3 ปี
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 31 กค 2561 เห็นชอบ ให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุน การปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐแก่เกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นภาระหนัก ให้สามารถกลับมาฟื้นฟูตนเองทั้งการประกอบอาชีพและการสร้างรายได้ เกษตรกรได้รับประโยชน์ 3.81 ล้านราย ประกอบด้วย
1) โครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีหนี้เงินกู้คงเหลือกับ ธ.ก.ส. ณ 31 กรกฎาคม 2561 เพื่อผ่อนคลายภาระหนี้สิน แบ่งเบาปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในครัวเรือน โดยขยายระยะเวลาชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ตามความสมัครใจ สำหรับ ดอกเบี้ยเงินกู้ให้ชำระตามกำหนดเดิม หรือตามที่มาแห่งรายได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เว้นในกรณีเป็นภาระหนักให้ขยายเวลาชำระดอกเบี้ยหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นราย ๆ ไป และ
2) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกร สำหรับต้นเงินกู้ 300,000 บาทแรก ลดลงในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นการ ลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ สามารถฟื้นฟูตนเองรวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น มีเงินใช้จ่ายในครัวเรือนและออมเงินมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกร ในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระแทนเกษตรกรในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อ คิดเป็นวงเงินในการเข้าไปช่วยเหลือประมาณ 20,000 ล้านบาท
นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรจะได้รับสิทธิ์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 โดยทันที ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับการดำเนินงานโครงการขยายเวลาชำระหนี้ดังกล่าว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรลูกค้า พนักงาน ธ.ก.ส.จะนัดหมายและออกไปพบเกษตรกรลูกค้าเพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการและสอบถามความสมัครใจ หากเกษตรกรประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯต้องลงชื่อในแบบแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯในจุดประชุมแต่ละพื้นที่ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 หากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับสิทธิ์ขยายเวลาชำระหนี้ แต่ยังคงได้รับสิทธิ์ลดดอกเบี้ย และในช่วงระหว่างการขยายเวลาชำระหนี้
ธ.ก.ส.จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปสนับสนุนแผนการพัฒนาอาชีพเป็นรายบุคคล เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้สามารถแข่งขันและมีรายได้เพิ่ม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอาชีพเดิม การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หรือกรณีพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพเดิม จะสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่ทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อทำการผลิตในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่รวมถึงการสร้างอาชีพเสริมใหม่ๆ ภายใต้หลัก'ตลาดนำการผลิต'เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางในการขายสินค้า มีรายได้ที่มั่นคง สามารถชำระหนี้เมื่อสิ้นสุดการขยายเวลาชำระหนี้ โดยดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน โครงการสินเชื่อชุมชนเพื่อการปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย(XYZ) อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือน โครงการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรณีเกษตรกรลูกค้ามีความประสงค์ชำระหนี้ครบถ้วนตามกำหนดทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจะสามารถขอสินเชื่อใหม่ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีในปีแรกและปีต่อไปคิดในอัตราปกติ วงเงินให้สินเชื่อรวม 100,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในรายที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน ธ.ก.ส. ก็พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และการจัดหาปัจจัยการผลิตผ่านบัตรเกษตรสุขใจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและป้องกันการเป็นหนี้นอกระบบ
นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการสร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องการออม เพื่อให้เกษตรกรก้าวพ้นปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน โดย ธ.ก.ส.จะส่งเสริมให้เกษตรกรนำรายได้ส่วนเหลือจากค่าใช้จ่าย มาเก็บออมเงินอย่างต่อเนื่องกับผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อจูงใจและให้กำลังใจในการออมโดยสมัครใจ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค ซึ่งได้จัดโปรแกรมมอบสิทธิประโยชน์และรางวัลพิเศษแก่ผู้ออมเงินที่เข้าร่วมโครงการ และผลิตภัณฑ์
'ธกส มอบรัก' ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกันแบบคุ้มครองสินเชื่อ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรการและโครงการต่างๆ เป็นการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้แบบครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีขวัญและกำลังใจในการพัฒนาตนเอง เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคและความยากลำบาก โดยหลุดพ้นจากวงจรหนี้ สามารถกลับมาประกอบอาชีพและสร้างรายได้ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงยั่งยืน