- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 24 June 2018 20:36
- Hits: 7825
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘ธ.อาร์ เอช บี’ที่’AA’และอันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น ที่ ‘T1+’ แนวโน้ม Stable
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย ที่ระดับ ‘AA’ และคงอันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นของธนาคารที่ระดับ ‘T1+’โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะเครดิตของ RHB Bank Berhad, Malaysia (RHB Bank Berhad) ซึ่งเป็นธนาคารสำนักงานใหญ่และสะท้อนสถานะสภาพคล่องของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ทั้งนี้ ด้วยสถานะทางกฎหมายที่เป็นธนาคารสาขา ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกับ RHB Bank Berhad
อันดับเครดิตองค์กรของธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย อยู่บนพื้นฐานการประเมินของทริสเรทติ้งทั้งในส่วนของสถานะทางธุรกิจ ตลอดจนเงินทุนและผลประกอบการ สถานะความเสี่ยง ความสามารถในการระดมเงินทุน และสถานะสภาพคล่องของ RHB Bank Berhad โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงสถานะทางธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงจากการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย การมีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และสถานะเงินทุนที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับปานกลาง รวมถึงการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม และการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเป็นอย่างมากเนื่องจากฐานเงินฝากของธนาคารอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
การที่ RHB Bank Berhad ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศมาเลเซีย การจัดอันดับเครดิตจึงพิจารณาถึงความแข็งแกร่งและสถานะความเสี่ยงของเศรษฐกิจและระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมของประเทศมาเลเซียด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางของมาเลเซียด้วยแหล่งรายได้ที่หลากหลาย
RHB Bank Berhad เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศมาเลเซียจากจำนวนธนาคารพาณิชย์ในประเทศทั้งสิ้น 8 แห่ง นอกจากกิจการธนาคารแล้ว RHB Bank Berhad ยังประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจบริการจัดการสินทรัพย์โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อยต่างๆ ด้วย อาทิ RHB Investment Bank Berhad ในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์ RHB Insurance Berhad ในส่วนของธุรกิจประกันภัย และ RHB Asset Management Sdn Bhd ในส่วนของธุรกิจบริการจัดการสินทรัพย์
ธนาคารมีสถานะทางธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงเมื่อพิจารณาจากสถานะทางการตลาดและแหล่งรายได้ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของสินเชื่อภายในประเทศและเงินฝากรายย่อย ณ เดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 9% และ 7% ตามลำดับ ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิคิดเป็น 71% ของรายได้รวมและมีรายได้จากค่าธรรมเนียมทั้งสิ้นคิดเป็น 18% ของรายได้รวม ในปี 2560 รายได้จากกลุ่มลูกค้ารายย่อย (รวมธุรกิจประกันภัย) กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ และกลุ่มลูกค้าธุรกิจมีสัดส่วน 36% 22% และ 15% ในปี 2560 ตามลำดับ
RHB Bank Berhad มีกิจการอยู่ในเกือบทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจในต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับปานกลาง ในปี 2560 ธุรกิจในต่างประเทศสร้างรายได้ให้แก่ธนาคารคิดเป็น 8% ของรายได้รวม ในขณะที่สินเชื่อจากธุรกิจในต่างประเทศคิดเป็น 9% ของสินเชื่อรวม โดยฐานธุรกิจระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของธนาคารอยู่ในประเทศสิงคโปร์
กลยุทธ์เน้นขยายฐานธุรกิจในประเทศและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ลูกค้ารายย่อยเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดของของ RHB Bank Berhad โดยสร้างรายได้คิดเป็น 36% ของรายได้รวมในปี 2560 เมื่อพิจารณาจากการปล่อยสินเชื่อแล้ว สินเชื่อรายย่อยส่วนบุคคลและสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนคิดเป็น 48% และ 29% ของสินเชื่อรวมของธนาคารตามลำดับ ส่วนสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในประเทศนั้นคิดเป็น 28% และ 14% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2560
ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ธนาคารได้ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ 5 ปี หรือ “FIT@22” โดยให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจในประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีความมั่งคั่งและกลุ่มลูกค้า SME เพิ่มเติมจากการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและการแสวงหาโอกาสเฉพาะรายในธุรกิจในต่างประเทศ กลยุทธ์ดังกล่าวยังรวมไปถึงระบบปฏิบัติการใหม่ (AGILE Operating Model) คือ “The Digital Transformation Program” ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนการทำงานที่มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก การพัฒนาบุคลากร และยกระดับการนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ลูกค้า
สถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น
RHB Bank Berhad มีสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2560 ธนาคารมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ BASEL-III อยู่ที่ 14.23% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 81% ของเงินกองทุนรวม ทริสเรทติ้งมองว่าอัตราดังกล่าวอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับการเติบโตของธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะที่แหล่งรายได้ที่หลากหลายยังเป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งของธนาคารอีกด้วย
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะดีขึ้นในระยะปานกลาง กลยุทธ์ FIT@22 มุ่งเน้นขยายธุรกิจในกลุ่มลูกค้า SME ที่ให้ผลตอบแทนสูงและขยายฐานเงินฝากต้นทุนต่ำ ธนาคารคงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมให้ต่ำกว่า 50% ในขณะที่มีแผนการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในปี 2560 ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของคู่แข่งรายอื่น ๆ ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ระดับ 0.84% อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 0.72% ในปี 2559 เนื่องจากต้นทุนทางเครดิตที่ลดต่ำลง
คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น
คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของ RHB Bank Berhad ดีขึ้นเล็กน้อย อัตราส่วนหนี้ด้อยคุณภาพสุทธิต่อเงินให้สินเชื่อรวมลดลงสู่ระดับ 2.23% ณ สิ้นปี 2560 จากระดับ 2.43% ในปีก่อน
ต้นทุนเครดิตของธนาคารลดลงอยู่ที่ระดับ 27 จุด (Basis Points – bps) ในปี 2560 จาก 39 bps ในปี 2559 โดยค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพที่อยู่ในปริมาณสูงในช่วงปี 2559 มีความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดการณ์ว่าต้นทุนเครดิตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30 bps ในปี 2561 หลังจากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชี MFRS9 ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อัตราส่วนการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพหลังการบังคับใช้ MFRS9 ซึ่งไม่รวมการสำรองตามเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85.3% ในขณะที่ อัตราส่วนนี้อยู่ที่ระดับ 51.2% ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งหลายราย
สถานะเงินทุนดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยสำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง
RHB Bank Berhad มีความก้าวหน้าในการพัฒนาสถานะแหล่งเงินทุนในฐานะที่เป็นธนาคารขนาดกลาง สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ต่อเงินรับฝากเพิ่มขึ้นอย่างมากสู่ระดับ 30.4% ณ สิ้นปี 2560 จากระดับ 25.6% ในปีก่อน แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสัดส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าบางแห่งในประเทศมาเลเซีย การเพิ่มขึ้นของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นเจ้าของกิจการและลูกค้าในธุรกิจ SME ธนาคารพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม มากขึ้นเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าบางรายเนื่องจากฐานเงินฝากในกลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคารยังมีขนาดปานกลางอยู่ กลุ่มลูกค้าธุรกิจยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าเงินฝากกลุ่มหลักโดยมีสัดส่วนประมาณ 59% ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศมาเลเซีย สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่ 96.4% ณ สิ้นปี 2560 นั้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
สภาพคล่องมีเพียงพอ
สภาพคล่องของ RHB Bank Berhad อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากทั้งหมดรวมตั๋วแลกเงินและการรับรองตั๋วแลกเงินอยู่ที่ 31.1% ณ สิ้นปี 2560 การลงทุนในสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีสภาพคล่อง รวมถึงตราสารในตลาดเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน นอกจากนื้ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นที่ระดับ ‘T1+’ สะท้อนถึงสถานะเครดิตระยะยาวและฐานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศในประเทศไทย ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ยังอยู่ภายใต้เกณฑ์การดำรงสภาพคล่องที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยธนาคารจะต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติ ทั้งนี้ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสำนักงานใหญ่ รวมถึงตลาดเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร และวงเงินสำรองจาก ธปท. ก็ถือเป็นเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมของธนาคารด้วย นอกจากนื้ LCR ของ RHB Bank Berhad นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต’Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนความคาดหมายว่า RHB Bank Berhad จะสามารถดำรงสถานะทางการตลาด รวมถึงดำรงสถานะทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพและสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้ต่อไปโดยที่ไม่มีการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์ หรือความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสถานะสภาพคล่องอย่างรุนแรงแต่อย่างใด
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของ RHB Bank Berhad อาจได้รับผลกระทบในทางลบหากมีการเสื่อมถอยอย่างรุนแรงของสถานะเงินทุน ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสภาพคล่อง ส่วนผลกระทบในทางบวกนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารในการปรับปรุงสถานะทางการตลาด รวมถึงความสามารถในการหาแหล่งเงินทุน และความสามารถในการทำกำไรให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย (RHB)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น: T1+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html