WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TRIS3ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร'ธ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์' ที่'A-'หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ 'BBB' แนวโน้ม 'Positive'

        ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘A-‘ ด้วยแนวโน้ม ‘Positive’ หรือ ‘บวก’และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ ‘BBB’ โดยแนวโน้มเครดิตสะท้อนถึงสถานะทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต และแนวโน้มของสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นจากการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) จากประเทศไต้หวัน ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรสะท้อนถึงอนาคตที่ดีขึ้นในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ทั้งอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ก็มีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากที่ค่อนข้างเล็ก ตลอดจนลักษณะของผลประกอบการที่ขาดแหล่งรายได้สำคัญที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย การกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าเงินกู้รายใหญ่ และโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นก็ตาม

 

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป

      อันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สะท้อนถึงสถานะในการเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2560 มูลค่าสินทรัพย์รวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 230,396 ล้านบาท ซึ่งทำให้ธนาคารอยู่ในลำดับที่ 11 ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในส่วนของสินเชื่อและเงินฝากอยู่ที่ระดับ 1.3% และ 1.2% ในปี 2560 ตามลำดับ

       ทริสเรทติ้ง คาดว่า การถือหุ้นของ CTBC Bank จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้ ซึ่งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการมีพันธมิตรมีอยู่หลายประการ ได้แก่ ฐานลูกค้าที่กว้างขวางขึ้นจากกลุ่มธุรกิจที่เป็นของชาวไต้หวันในประเทศไทย หรือการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น เช่น บริการธุรกรรมระหว่างประเทศและบริการด้านธุรกรรมธนาคาร รวมถึงช่องทางให้บริการใหม่ ๆ เช่น การทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่จะเกิดจากการมีพันธมิตรดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา

 

โครงสร้างคณะกรรมการและผู้บริหารที่แข็งแกร่งขึ้น

       การเข้ามาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์หลักของ CTBC Bank ส่งผลให้ธนาคารมีโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารที่แข็งแกร่งขึ้น โดยโครงสร้างปัจจุบันประกอบด้วยคณะกรรมการบริษัท 9 ตำแหน่ง โดยเป็นผู้แทนจาก CTBC Bank จำนวน 3 ตำแหน่ง และต่อไปจำนวนสมาชิกจะเพิ่มเป็น 11 ตำแหน่งหลังจากการเพิ่มจำนวนสมาชิกอีก 2 ตำแหน่งจาก CTBC Bank

        โครงสร้างองค์กรของธนาคารก็ได้รับการเสริมความแข็งแกร่งโดยคณะผู้บริหารจาก CTBC Bank ซึ่งจะเข้ามาดูแลฝ่ายธุรกิจที่ตั้งขึ้นใหม่อันประกอบไปด้วย ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเชิงกลยุทธ์(Strategic Business Development Unit) ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น บริการธุรกรรมระหว่างประเทศและบริการด้านธุรกรรมธนาคาร ส่วนธุรกิจอีกด้านหนึ่งคือฝ่ายพัฒนาธุรกิจไต้หวันและการวางแผนบริหารจัดการทรัพย์สิน (Taiwan Business Development and Wealth Management Business Planning)

 

สถานะทุนที่แข็งแกร่ง

       CTBC Bank ได้ทำการเพิ่มทุนจำนวน 16,599 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 หลังจากที่เข้ามาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์หลักซึ่งได้เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ฐานทุนเดิมของธนาคาร อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของและอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 18.67% ณ สิ้นปี 2560 จาก 10.28% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีพันธมิตร อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของซึ่งมีสัดส่วน 86% ของเงินกองทุนรวมนั้นสะท้อนถึงคุณภาพของฐานทุนที่อยู่ในระดับสูง CTBC Bank ให้ความสำคัญกับฐานทุนที่แข็งแกร่งและมุ่งเน้นการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่อัตราส่วนเงินปันผลของธนาคารยังคงไม่เปลี่ยนแปลงโดยอยู่ที่ระดับ 40% ของกำไรสุทธิ

        อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะไม่คงอัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนที่ระดับสูงเช่นนี้ในอนาคต ทั้งนี้ อัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนของธนาคารคาดว่าจะค่อย ๆ ลดลงจากการขยายสินเชื่อ การดำเนินการตามแผนธุรกิจใหม่ร่วมกับ CTBC Bank นั้นระบุให้อัตราการเติบโตของสินทรัพย์อยู่ที่ระดับ 8%-10% ต่อปีในระหว่างปี 2561-2563

 

คุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่งแม้จะมีลูกค้าที่กระจุกตัวสูง

       ธนาคารมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่มากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลางและขนาดเล็กอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่สุดจำนวนไม่มากมีส่วนแบ่งของสินเชื่อและแหล่งเงินฝากรวมของธนาคารในสัดส่วนที่สูงซึ่งสะท้อนถึงธุรกิจของธนาคารที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ในระดับสูงที่ 65% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2560 โดยธนาคารยังขาดฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยที่กว้างขวางและยังไม่มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย

       กระนั้นธนาคารก็ยังมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 1.88% ณ สิ้นปี 2560 เทียบกับระดับ 2.04% ณ เดือน มิถุนายน 2560 ธนาคารนิยมที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงและสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงต่ำ อีกทั้งยังคงมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ชาวไทยที่มีคุณภาพสูงและแสวงหากลุ่มธุรกิจที่เป็นของชาวไต้หวันในประเทศไทยด้วย

การตั้งสำรองที่แข็งแกร่งและการสูญเสียทางเครดิตที่คงที่

     ธนาคารมีอัตราการสูญเสียทางเครดิตที่ดีกว่าอุตสาหกรรมโดยธนาคารมีต้นทุนทางเครดิตอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ต้นทุนทางเครดิตโดยเฉลี่ยของธนาคารอยู่ที่ระดับ 0.6% ระหว่างปี 2556-2560 (0.4% เฉพาะปี 2560) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ 1.3% ปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 104% ณ สิ้นปี 2560 เพิ่มขึ้นจากระดับ 80%-90% ในปี 2557-2558 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนลดลงมาจาก 112% ในปี 2559 ธนาคารมีการขายหนี้เสียจำนวน 515 ล้านบาทในปี 2560 (เทียบกับ 1,053 ล้านบาทในปี 2559) และตัดหนี้สูญที่ 74.7 ล้านบาทจากการประเมินในปี 2560 (เทียบกับ 14.6 ล้านบาทในปี 2559)

 

สถานะเงินทุนที่ดีขึ้น

    แหล่งเงินทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ นั้นอ่อนแอกว่าแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แต่ก็มีพัฒนาการที่เห็นได้ชัดในช่วงปี 2560 จากการที่ฐานเงินฝากขยายตัว เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว ฐานเงินฝากของธนาคารมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจากการมีฐานเงินฝากซึ่งรวมตั๋วแลกเงินที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ทั้งนี้ เงินฝากซึ่งรวมตั๋วแลกเงินของธนาคาร ณ สิ้นปี 2560 มีสัดส่วน 90% ของเงินทุน เพิ่มขึ้นจาก 82% ในปี 2556 โดยเงินฝากมีสัดส่วน 88% ของหนี้สินรวมเมื่อเทียบกับระดับ 60%-70% ของธนาคารขนาดเล็กอื่น ๆ ที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง

        เงินทุนจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ของธนาคารก็ดีขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53% ของเงินฝาก ณ สิ้นปี 2560 จากช่วงระดับประมาณ 40% ระหว่างปี 2557-2559 การเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์เงินฝาก ‘Biz Saving’ สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากก็เพิ่มขึ้นถึง 107% ณ สิ้นปี 2560 จากระดับที่ประมาณ 90% ในอดีต ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างมากของสินเชื่อเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ทว่ามูลค่าสินเชื่อของธนาคารก็ยังคงสูงกว่าของผู้ประกอบการรายอื่นซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 100% ณ สิ้นปี 2560 ในขณะที่สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากซึ่งรวมตั๋วแลกเงินอยู่ที่ระดับ 89% ในปี 2560 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 86% ในปีก่อนหน้า

 

สภาพคล่องที่เพียงพอ

     สภาพคล่องของธนาคารอยู่ในระดับที่เพียงพอโดยธนาคารมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 39% ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งเทียบเคียงได้กับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ ในขณะที่สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กกว่าซึ่งอยู่ที่ระดับ 120% และที่ระดับ 176% ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบโดยอ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III

    อันดับเครดิต ‘BBB’ สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (LHBANK255A) สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. โดยตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้หากวันไถ่ถอนมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิที่ด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

 

แนวโน้มอันดับเครดิต

       แนวโน้มอันดับเครดิต Positive หรือ ‘บวก’ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่า ภายใต้การสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ CTBC Bank นั้น ธนาคารจะสามารถขยายฐานลูกค้าและเพิ่มสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และ/หรือลดการกระจุกตัวของสินเชื่อและฐานเงินฝากลงได้

 

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

        อันดับเครดิตของธนาคารอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จของธนาคารในการขยายธุรกิจซึ่งประกอบด้วย ฐานลูกค้า สินเชื่อ และเงินฝาก โดยสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิต่อรายได้รวมจะมีค่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์หรือสถานะเงินทุนและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH BANK)

อันดับเครดิตองค์กร:       A-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

LHBANK255A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568                                               BBB

 

แนวโน้มอันดับเครดิต:     Positive

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com

ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

           บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้

         ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!