- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 07 May 2018 07:13
- Hits: 5170
ธนาคารออมสิน เผย ไตรมาสแรก ปี 2561 กำไรสุทธิกว่า 13,000 ล้านบาท ทะยานสู่ The Best & Biggest Local Bank in Thailand มุ่ง Digi-Thai Life Solution
ธนาคารออมสิน เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1 เท่าตัว เพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยและสินเชื่อใหม่เกือบ 150,000 ล้านบาท เป้าหมายปี 2561 มุ่งสู่ 'The Best & Biggest Local Bank in Thailand' เป็นธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อสังคม - ธนาคารเพื่อรายย่อย - ธนาคารผู้นำด้านดิจิทัล – ธนาคารเพื่อผู้สูงวัย - ธนาคารเพื่อคนรุ่นใหม่ และ SMEs Start Up
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคารออมสิน ช่วง 3 เดือนแรก ของปี 2561 (1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2561) ว่า ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,178 ล้านบาท ที่สำคัญมาจากกำไรจากการขายหุ้นสามัญและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดย 3 เดือนแรกมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ถึง 149,303 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 2,059,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45,058 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 จากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 2,014,123 ล้านบาท ทั้งนี้ เกิดจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ โดยมาตรการของรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยให้สินเชื่อขยายตัวได้ เป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภท ได้แก่ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจ SMEs สินเชื่อธนาคารประชาชน และสินเชื่อธุรกิจห้องแถว เป็นต้น
ด้านเงินฝาก ไตรมาส 1 อยู่ที่ 2,172,538 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2560 ที่ธนาคารฯ มียอดเงินฝากสูงเป็นอันดับ 1 ในระบบสถาบันการเงิน จากเงินฝากครบกำหนด แต่ธนาคารมีแผนระดมเงินฝากทั้งเงินฝากสลากออมสิน และเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ออมเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ธนาคารฯ มีสินทรัพย์รวม 2,620,862 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2560 จำนวน 42,966 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.61 ซึ่งเป็นไปตามกรอบทิศทางธนาคารฯ
ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขตามลำดับความสำคัญ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ โดยธนาคารฯ ได้ทยอยเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้ทั่วประเทศจำนวน 80 ศูนย์ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 45,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.19 ของสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์
“ความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหารและพนักงาน ส่งผลให้ธนาคารฯ มีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและพันธมิตร รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งการันตีจากการยกย่องและได้รับมอบรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลสำหรับสถาบัน Best Retail Bank of the Year 2017, รางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย, รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2560 รวมถึงรางวัลล่าสุดที่เพิ่งได้รับ คือ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศที่ได้รับรางวัลนี้ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กร ที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก”ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
นายชาติชาย กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 นี้ ได้มุ่งเป้าหมายสู่การเป็น The Best & Biggest Local Bank in Thailand ธนาคารที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด” โดยมุ่งเน้นลูกค้าใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้าฐานราก/นโยบายรัฐ มุ่งเน้น กลุ่มผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้มีหนี้นอกระบบ และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก หรือ พ่อค้า-แม่ค้า 2.กลุ่มลูกค้าบุคคล มุ่งเน้น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง กลุ่มผู้สูงวัย และ 3.กลุ่มลูกค้า SMEs มุ่งเน้น กลุ่ม SMEs Start Up
สำหรับ กลุ่มฐานรากและนโยบายรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารฯ ได้เข้าไปสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มประชาชนฐานรากอื่นๆ โดยธนาคารฯ จะยกระดับให้ประชาชนก้าวพ้นจากความยากจนด้วยกลไก 3 สร้าง ได้แก่ 1.สร้างรายได้/อาชีพ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน โดยการจัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนาอาชีพร่วมกับ 17 มหาวิทยาลัย, โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 84 ชุมชน, พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ 2.สร้างตลาด ด้วยการจัดตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์, ตลาดประชารัฐสีชมพู, ร้านค้าประชารัฐ, Thailand Street Food, e-Market Place ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 3.สร้างประวัติทางการเงิน ด้วยการส่งเสริมการรับชำระเงินผ่าน QR Payment (MyMo Pay และ GSB Pay) โดยได้ดำเนินการติดตั้งคิวอาร์โค้ดไปแล้วกว่า 26,000 ร้านค้า พร้อมกันนี้มีการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อ Street Food สินเชื่อผู้รับสิทธิ์สวัสดิการรัฐ สินเชื่อ Home Stay สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ ตลอดจนการให้ออมก่อนกู้
ทั้งนี้ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ธนาคารออมสินได้ปลูกฝังการออมตั้งแต่เยาว์วัย ธนาคารฯ ได้ยกระดับธนาคารโรงเรียน สู่ Virtual School Bank ซึ่งจะจูงใจให้นักเรียน กลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้รับความรู้ความเข้าใจและออกแบบการออมด้วยตัวเองได้ในโลกเสมือนจริง ที่สำคัญถือเป็นครั้งแรกที่จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในยุค Digital Banking 4.0 ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.gsbschoolbank.com ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าไปเรียนรู้กันมากขึ้น และยังมีโครงการต่างๆ อีกมากมายครอบคลุมทุกมิติของการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยสู่ความเป็นเลิศทัดเทียมสากล ทั้งด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมความมีคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงโครงการ GSB Generation ที่เน้นกิจกรรมตอบโจทย์ Life Style คนรุ่นใหม่
ขณะที่ กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง ธนาคารฯ จะนำเสนอและส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ล้ำสมัย ด้วยบริการ Digi-Thai Life Solution ผ่านบริการ Mobile Banking ในชื่อ MyMo ของธนาคารออมสิน บริการธุรกรรมออนไลน์ฟรีค่าธรรมเนียม, MyMo My Life ครบทุกความต้องการในแอพเดียว ทั้งด้านเงินฝาก สินเชื่อ ลงทุน และประกันชีวิต, Market Place ธุรกิจใหม่บนมือถือรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่, QR Payment รับ-จ่ายแบบไร้เงินสด ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารฯ ในอนาคต
นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยนั้น ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ประกาศความพร้อมในการดูแลผู้สูงวัย รองรับการก้าวเข้าสู่ Aging Society ของประเทศ ด้วยการเปิดตัวธนาคารผู้สูงวัย เมื่อต้นปี 2560 เพื่อให้บริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้สูงวัย ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อ Reverse Mortgage ที่ธนาคารเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พร้อมกับการสร้างรายได้/อาชีพ ส่งเสริมการออม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต
ส่วน กลุ่ม SMEs Start Up จะมุ่งเน้นพัฒนา SMEs ให้มีนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ตั้งแต่หากลุ่มเป้าหมาย จัดโปรแกรมอบรมและพัฒนา ไปจนถึงการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุน สำหรับในกลุ่ม SMEs นั้น ธนาคารฯ ได้ขยายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs ทั่วประเทศเพิ่มเติมจาก 18 ศูนย์ ในปี 2560 เป็น 37 ศูนย์ ในเดือนมีนาคม 2561 และจะครบตามเป้าหมาย 82 ศูนย์ ในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการอนุมัติสินเชื่อและดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึง
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์มีทิศทางการปิดสาขามากขึ้นเพื่อลดต้นทุนนั้น ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขา 1,059 แห่ง จะไม่มีการปิดสาขา แต่จะปรับรูปแบบสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุนของสาขา ได้แก่ ปรับบทบาทพนักงานบริการให้เป็นพนักงานขายมากขึ้น, เพิ่มเครื่องให้บริการอัตโนมัติ (Self Service Zone), เพิ่มพื้นที่การขายภายในสาขาทั้งการขายโดยการปรับบทบาทของพนักงานและการร่วมกับพันธมิตร, เปิดสาขาที่เป็น Flagship และสาขา Digital เต็มรูปแบบ รวมถึงบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้เสมือนหนึ่งการให้บริการของสาขา
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ธนาคารฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนภายในองค์กร (Internal Change) โดยเพิ่มหน่วยงานใหม่เพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ล้ำสมัย รองรับการเป็น Digital Banking และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจับมือคู่ค้าพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจ อาทิ กลุ่มฟินเทค กลุ่มอีคอมเมิร์ซ เป็นต้นรวมถึงการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ จากการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับ Start Up ที่มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Management), ธุรกิจติดตามและประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ (Monitoring & Analytics), ธุรกิจบริหารจัดการโปรแกรมสะสมแต้ม (Loyalty Program Card), หนังสือ/นิตยสารออนไลน์ (Online Book and Magazine), การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เป็นต้น
“การมุ่งไปสู่ The Best & Biggest Local Bank in Thailand นั้น ธนาคารฯ มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุม มุ่งมั่นให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนได้เข้าถึงทุกๆ พื้นที่ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรที่สอดรับกับ Life Style ของลูกค้าในยุคดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Digi-Thai Life Solution”ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด