- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Tuesday, 27 February 2018 17:56
- Hits: 3319
ธนาคารเกียรตินาคิน ชูโมเดลใหม่ 'KK Magic Mirror' นำเทคโนโลยีส่งต่อบริการ สะท้อนจุดแข็งอีกระดับแห่งการลงทุน
ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เดินหน้าสู่ธนาคารเพื่อการลงทุนในมิติใหม่ พร้อมชูโมเดลล่าสุด ‘KK Magic Mirror’ นำเทคโนโลยีมาต่อยอดการให้บริการโดยยังคงรักษาเสน่ห์ของ Human Interaction เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคดิจิตัล และตอกย้ำแบรนด์แคมเปญอีกระดับแห่งการลงทุน โดยคาดว่าจะขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางดังกล่าวได้ราว 20%
ดร. อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า กระแสเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นได้เข้ามาพลิกโฉมการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ (Disruption) รวมถึงอุตสาหกรรมการเงินในรูปแบบเดิม โดยได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจรูปแบบใหม่ในภาคการเงินเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นฟินเทค, พร้อมเพย์, Banking Agent หรือ e-Marketplace Platform (บริการซื้อขายออนไลน์แบบครบวงจร) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำ ซึ่งย่อมเพิ่มโอกาสให้กับธนาคารในการต่อยอดธุรกิจกับสถาบันการเงินด้วย
“ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ทุกธนาคารต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม ในส่วนของธนาคารเกียรตินาคินได้พัฒนาช่องทางการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนแบรนด์แคมเปญอีกระดับแห่งการลงทุน โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงสาขาและจุดบริการสำหรับลูกค้า ตอบโจทย์ด้านการเงินและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งชูจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรคือบุคลากรมืออาชีพในด้านการเงินการลงทุน โดยล่าสุดได้พัฒนานวัตกรรมการบริการที่เรียกว่า ‘KK Magic Mirror’ กระจกวิเศษที่ช่วยให้การเงินเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก ซึ่งใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับธนาคารในแบบที่เป็นธรรมชาติที่สุด (Human Interaction) โดยถือเป็นประสบการณ์ใหม่เพราะเป็นการให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินผ่านจอ LED แบบ Interactive ครั้งแรกของประเทศไทย
ทั้งนี้ บริการของ KK Magic Mirror แบ่งได้ เป็น 2 รูปแบบ แบบแรก คือการโต้ตอบกับพนักงานเสมือนจริง โดยเพียงตอบข้อมูลทางการเงิน 2 คำถาม ระบบจะสรุปแนวทางการวางแผนการลงทุนเบื้องต้นในรูปแบบเฉพาะบุคคล เพื่อเป็นแนวทางในการเข้ารับคำปรึกษาเรื่องการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบที่สาขาธนาคารต่อไป แบบที่สอง คือการพูดคุยกับกูรูทางการเงินจากกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรในรูปแบบ Live Video Call ในช่วงกิจกรรมพิเศษ เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการ หรือนอกจากช่วงกิจกรรมพิเศษ ลูกค้าก็สามารถติดต่อกับพนักงานได้ทันทีเพื่อซักถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการผ่าน Live Video Call ได้เช่นกัน โดย KK Magic Mirror แตกต่างจากเครื่องมือด้านการเงินทั่วไปที่มักมีลักษณะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่KK Magic Mirror ถูกออกแบบมาให้พูดคุยโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้เหมือนกำลังสื่อสารกับมนุษย์จริงเพื่อสร้างความรู้สึกที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย”ดร. อนุชิต กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารมั่นใจว่า KK Magic Mirror จะเป็นช่องทางเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเงินขั้นพื้นฐาน และช่วยให้ผู้สนใจด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สะดวกเข้าไปรับบริการที่สาขาธนาคาร ลูกค้าสามารถสัมผัสประสบการณ์ใหม่ผ่าน KK Magic Mirror ได้ใน 5 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน สาขาอโศก ศูนย์การค้าสยาม พารากอน ศูนย์การค้าเค วิลเลจ ศูนย์การค้าซีคอน สแควร์ ศรีนครินทร์ และ อาคารซีพี ทาวเวอร์ 1 สีลม ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ KK Contact Center โทร. 02 165 5555 หรือ www.kiatnakin.co.th
“KK Magic Mirror นับเป็นอีกหนึ่งระดับของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดไปสู่การขยายฐานลูกค้า หลังจากนี้ ธนาคารยังมีแผนพัฒนาช่องทางการให้บริการและผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคดิจิตัลอีกอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าที่เริ่มติดต่อหรือทำธุรกรรมจากบนแพลตฟอร์มออนไลน์ร่วม 50,000 รายต่อปี โดยตั้งเป้าจะเพิ่มฐานลูกค้าในส่วนนี้อีกราว 20%”ดร.อนุชิต กล่าวทิ้งท้าย
อนึ่ง จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าจำนวนธุรกรรมที่ประชาชนทำผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารและตู้ ATM ลดลงจากประมาณ 41% ของธุรกรรมทั้งหมดในปี 2553 เหลือเพียง 17% ในปัจจุบัน ขณะที่ธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากประมาณ 15% เป็น 66% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยสาเหตุที่ประชาชนหันมาทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นมี 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง กระแสเทคโนโลยียุค 4.0 (Industry 4.0) ที่ทำให้การใช้โทรศัพท์มือถือและรูปแบบธุรกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) มีมากขึ้น และสอง การนำเสนอบริการพร้อมเพย์หรือการโอนเงินและรับโอนเงินที่ผูกบัญชีเงินฝากธนาคารเข้ากับหมายเลขบัตรประชาชนหรือโทรศัพท์มือถือตามโครงการ National e-Payment ของภาครัฐ ซึ่งช่วยลดทอนค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมูลค่าสะสมการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ล่าสุด อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท และมีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ของบุคคลธรรมดาแล้ว 37 ล้านบัญชี และของนิติบุคคลอีก 4.5 หมื่นบัญชี