WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       การเมืองยังคงบั่นทอนเงินทุนไหลเข้า และกดดันให้ SET Index ผันผวนสูง หลังฟื้นตัวกลับใกล้ 1,400 จุด กลยุทธ์ยังเน้นเป็นหุ้นรายตัวที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก วันนี้เลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick

ผลสำรวจนักวิเคราะห์ฯ ของ IAA ปรับลดดัชนีสิ้นปีนี้เหลือ 1,473 จุด
      ผลจากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์รวม 23 แห่ง (บริษัทหลักทรัพย์ 21 แห่ง และบริษัทค้าทองคำ 2 แห่ง) โดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Survey) ต่อมุมมองของตลาดหุ้นไทยในปี 2557 ไม่สดใสนัก โดยได้ปรับลดประมาณการดัชนีตลาดหุ้นไทย สิ้นปี 2557 เหลือ 1,473 จุด จากเดิมที่เคยสำรวจไปเมื่อปลายปี 2556 ที่ 1,534 จุด หรือลดลงราว 4% โดยปัจจัยเสี่ยง ที่ให้ความสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง, การเมืองที่ยังคงยืดเยื้อจนถึงงวด 2Q57 และความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามา คือ การปรับลดคาดการณ์กำไรตลาดปี 2557 ลง ซึ่งต่างจากครั้งที่แล้วที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญกับการตัดลด QE ของ Fed ควบคู่กับเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวด้วย และ ปัญหาการเมือง

     ส่วนปัจจัยบวก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสอดคล้องกับตลาดภูมิภาค และคาดว่าปัญหาการเมืองน่าจะคลี่คลายได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยในครั้งนี้นักวิเคราะห์ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ของไทยปี 2557 ลงเหลือ 2.4% จากเดิม 2.9% และปรับลด EPS Growth ลงเหลือ 11% จากเดิม 12.1%
      ขณะที่ประเมินว่าสหรัฐจะทยอยตัดลด QE จนหมดภายในปี 2557 จากยอดคงค้างปัจจุบันที่ 4.5 หมื่นล้านเหรียญฯ/เดือน โดยที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ 67% คาดว่าสหรัฐจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในงวด 2Q58 และ 3Q58 มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คาดว่าจะขึ้นในงวด 1Q58 และ 4Q58 ส่วนราคาทองคำ ณ สิ้นปี 2557 คาดไว้ที่ 20,300 บาทต่อบาททองคำ เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหน้าที่ 20,049 บาทต่อบาททองคำ เนื่องจากความกังวลเรื่องปัญหาในยูเครน
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ นั้น นักวิเคราะห์ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 40% (จากเดิม 36%) เพิ่มน้ำหนักเล็กน้อยในหุ้นต่างประเทศ 21% (จากเดิม 20%) และทองคำ 6% (จากเดิม 5%) และปรับลดน้ำหนักในตราสารหนี้เหลือเพียง 20% (จากเดิม 23%) และลดการถือเงินสดเหลือ 13% (จากเดิม 15%) จะเห็นว่ากว่า 60% น้ำหนักการลงทุนจะอยู่ในหุ้น ประเมินได้ว่านักวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงทางการเมืองได้สะท้อนไปในหุ้นผ่านการปรับฐานระดับหนึ่งแล้ว ทั้งยังมองตรงกันว่าควรลงทุนในหุ้นผลประกอบการดี อิงกับการเติบโตเศรษฐกิจโลก มีเงินปันผลสม่ำเสมอ

 

คาดได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาของวุฒิสภาศุกร์นี้ VS การเจรจาเลือกตั้งเลื่อนเป็นวันนี้
       การประชุมเพื่อหาแนวทางหาทางออกให้ประเทศไทยของ กลุ่มวุฒิสมาชิก มีความคืบหน้าไปตามลำดับ โดยวานนี้มีการหารือกับ 12 องค์กร ซึ่งดูเหมือนว่าข้อสรุปในเบื้องต้น มีโอกาสที่จะนำไปสู่การใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ เป็นช่องทางในการทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลาง ขณะเดียวกันก็ร้องขอให้รัฐบาลรักษาการณ์เสียสละโดยการ ลาออกทั้งคณะ ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ วุฒิสมาชิกกลุ่มดังกล่าว จะมีการหารือกับกลุ่มต่างๆ ต่อเนื่องในวันนี้ และคาดว่าจะมีการแถลงผลสรุปอย่างเป็นทางการในช่วง เย็นของวันศุกร์ที่ (พรุ่งนี้ 16 พ.ค.2557) ขณะที่ทางด้าน กปปส. ประกาศว่า หากยังไม่มีข้อสรุปออกมาว่าจะมีการเสนอรายชื่อบุคคลใด เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. จะเป็นฝ่ายดำเนินการเอง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าปฎิวัติประชาชน

       สำหรับการเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง ปรากฎว่าการนัดหมายเพื่อหารือระหว่าง รัฐบาล กับ กกต. วานนี้ไม่ได้เกิดขึ้น และได้เลื่อนมาประชุมหารือในวันนี้แทน ทั้งนี้ประเด็นหารือที่ถูกเปิดเผยมาจากฝั่ง กกต. จะเป็นเรื่องกรอบอำนาจของผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ว่าสามารถทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ สำหรับกระบวนการตรา พระราชกฤษฎีกาแก้ไขวันเลือกตั้งได้หรือไม่ และประเด็นการให้อำนาจ กกต. สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ หากเกิดเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งตามกำหนดเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ เชื่อว่ายังยากที่จะเห็นผลสรุปจากการประชุมดังกล่าวในระยะสั้น ซึ่งสุดท้ายจะกระทบต่อกำหนดการเลือกตั้งเดิม ซึ่งดูเหมือนจะเป็น 3 ส.ค.2557 ให้ต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง

        ไม่ว่าผลสรุปของเหตุการณ์จะออกมาในแนวทางใด หากไม่มีการเจาจาเพื่อหาจุดร่วมที่เป็นไปได้ของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เชื่อว่าปัญหาการเมืองในประเทศไทยก็ยังจะมีอยู่ต่อไป ในภาวะที่ประเทศไทย ขาดผู้บริหารประเทศที่มีอำนาจเต็ม ถือเป็นผลเสียต่อ เศรษฐกิจ และ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน โดยผลกระทบจะยิ่งลงลึก และ ขยายวงกว้างออกไปตามระยะเวลาของปัญหาที่ยืดออกไป ซึ่งหากมองในเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว ปัญหาการเมืองจะทำหน้าที่กดดันให้ SET Index ไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้

 

สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกยังหุ้น Global
        เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแสดงสัญญาณฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง ล่าสุดดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน เม.ย. 2557 ปรับเพิ่มขึ้น 0.6%mom หรือขยายตัว 2.1%yoy (จากที่ขยายตัว 0.5%mom) สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.2%mom และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ก.ย. 2555 ทั้งนี้หากไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ดัชนี PPI จะปรับเพิ่มขึ้น 0.5%mom (สูงกว่าที่คาดว่าจะขยายตัว 0.2%mom) ทั้งนี้ ตลาดยังเชื่อมั่นว่า FED ยังคงตัดลด QE เดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ย. นี้ หลังจากนั้น คงมีการส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในราว ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ของปีหน้า จากที่อยู่ในระดับต่ำ 0.25% มานาน อย่างไรก็ตามตัวแปรที่จะมีผลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วเพียงใด ขึ้นกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งล่าสุดเดือน เม.ย. อยู่ที่ 1.5% ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2%

     ขณะเศรษฐกิจฝั่งยูโซนยังคงฟื้นตัวแบบมีความเสี่ยง ล่าสุดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนมี.ค. ปรับลดลง 0.3%mom เนื่องจากการลดลงของผลิตภัณฑ์ขั้นกลาง ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่ไม่คงทน พลังงานและสินค้าทุน ตามมาด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป ZEW)เดือน พ.ค. ปรับลดลงสู่ระดับ 33.1 จาก 43.2 ในเดือนก่อนหน้า (โดยปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี และต่ำกว่าที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 41) เนื่องจากยังเผชิญปัญหา อัตราการว่างงานนระดับสูง ล่าสุดเดือน เม.ย. อยู่ที่ 11.8% และภาวะเงินเฟ้อต่ำ 0.7% ในเดือนเม.ย. ทำให้คาดว่าจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนของนโยบายมากขึ้นในการประชุมครั้งต่อไป 5 มิ.ย. ทั้งนี้ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ECB น่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นยุโรป และส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นได้
        ญี่ปุ่นรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP Growth) งวด 1Q57 ขยายตัว 2.7%yoy (สูงกว่าที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3%yoy และเพิ่มขึ้นจากงวด 4Q56 ที่ขยายตัว 2.5%yoy ถือว่าเป็นไตรมาสที่ขยายตัวได้เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากการเร่งการใช้จ่ายของผู้บริโภค (คิดเป็น 60% ของ GDP) และการลงทุน ก่อนมีการขึ้นภาษีการขาย 3% ใน 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ถือว่าไม่ได้เป็นที่ประหลาดใจแก่ตลาดมากนัก แต่คาดว่าในงวด 2Q57 เศรษฐกิจน่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก เป็นผลจากการขึ้นภาษีขาย ซึ่งเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ตลาดคาดว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มในงวด 2H57

       เงินทุนเริ่มไหลเข้าภูมิภาคอีกครั้ง แต่ไทยยังถูกซื้อเบาบาง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 757 ล้านเหรียญฯ (ยอดซื้อเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า, ยอดซื้อสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน) โดยยังคงเป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศเช่นเดิม โดยซื้อสุทธิในเกาหลีใต้ และต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 321 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 40% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วย ไต้หวันซื้อสุทธิราว 255 ล้านเหรียญฯ (ซื้อติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ยอดซื้อเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว) อินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 109 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 6 ล้านเหรียญฯ) ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 65 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 3 ล้านเหรียญฯ) และสุดท้ายคือ ไทยสลับมาซื้อสุทธิเบาบางราว 6 ล้านเหรียญฯ (189 ล้านบาท หลังจากขายติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า)
ทั้งนี้ เริ่มเห็นแรงซื้อจากต่างชาติกลับเข้ามาในภูมิภาคอีกครั้ง หลังจากที่ชะลอการซื้อและสลับมาขายในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตามไทยเงินทุนกลับไหลเข้าในประเทศไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าจะถูกขายออกมาอย่างหนักในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยกดดันระยะสั้นเรื่องการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ แต่เชื่อว่าแรงขายจากต่างชาติน่าจะมีจำกัดหลังจากที่เทขายออกมากว่า 2.2 แสนล้านบาท ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2556 ถึง ต้นปี 2557 ที่ผ่านมา ส่วนในตลาดตราสารหนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 1.6 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 5 วันก่อนหน้ารวม 2.4 หมื่นล้านบาท) ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 32.45 บาทต่อเหรียญฯ (วานนี้อยู่ที่ 32.6 บาทต่อเหรียญฯ)

 

หุ้น Global มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามคาด: IRPC, HANA ยกเว้น TOP, CPF
        จากการเข้าพบผู้บริหารของนักวิเคราะห์ ASP วานนี้ในหลายบริษัท มีแนวโน้มสดใสตามที่คาด ทำให้เห็นภาพ โดยเฉพาะหุ้นที่อิงการเติบโตจากเศรษฐกิจภายนอก (Global Play) ได้แก่ IRPC (โรงกลั่นและปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์), HANA (ธุรกิจปกติดีตามคาด แต่ได้รับเงินชดเชยจากประกันภัยน้ำท่วมปี 2554) ทั้งนี้ ยกเว้น TOP (โรงกลั่นและปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์) ซึ่งคาดว่าปี 2557 จะยังคงย่ำแย่ เนื่องจากผลผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาดราว 7 ล้านต้น เมื่อหักความต้องการโดยรวมแล้วจะทำให้มีส่วนเกินอยู่ราว 3.5 ล้านตัน ซึ่งจะกดดันราคาผลิตภัณฑ์ในระยะ 1-2 ปีนี้ ประกอบกับ TOP จะต้องมีการ shut down โรงงานอีก 1-2 เดือนในงวด 2Q57 และตามมาด้วย CPF 


      IRPC([email protected]) เป็นหุ้น Turnaround มีแนวโน้มสดใสในระยะ 1-3 ปี ข้างหน้า หลังจากโครงการฟีนิกซ์ (Phoenix) เสร็จสมบูรณ์ตามแผน ปี 2559 โดยเฉพาะโครงการ UHV ซึ่งเป็นโครงการที่จะลดสัดส่วนน้ำมันเตาที่ได้จากโรงกลั่นเหลือเพียง 8% จากเดิม 23% เป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่ม (GIM: Gross Integrated Margin) อีกเท่าตัวมาที่ 12 เหรียญฯต่อบาร์เรล (จากค่าเฉลี่ย 7 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในปี 2556) นอกจากนี้ IRPC ยังเดินหน้าโครงการ Delta ซึ่งเป็นโครงการที่ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดิบในประเทศในปี 2557 เป็น 25% หรือราว 3.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน จากในปี 2556 ที่อยู่ที่ 6% หรือราว 1 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตราว 1 เหรียญฯต่อบาร์เรล
แม้งวด 1Q57 ทำกำไรสุทธิเพียง 9.9% ของประมาณการทั้งปี 2557 แต่จะมี แนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด งวด 2Q57 เป็นต้นไป จาก Spread ผลิตภัณฑ์สายโอเลฟินส์ที่ฟื้นตัว ตามเศรษฐกิจโลก ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างสต๊อกวัตถุดิบในระดับต่ำมาก และคาดว่าช่วง 2H57 จะได้รับประโยชน์จากโครงการ Delta อย่างเต็มที่ คาดว่ากำไรสุทธิปี 2557 จะเติบโตกว่า 322%


        HANA(FV@B40) รายงานกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 159% จากงวดก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากได้ที่ได้รับเงินประกันน้ำท่วม มากถึง 1.35 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 199 ล้านบาท ที่บันทึกไว้ในงวดก่อนหน้า นอกจากนี้ยังได้บันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 75 ล้านบาท พลิกจากที่ขาดทุนราว 70 ล้านบาท ในงวดก่อนหน้า และหากพิจารณากำไรจากการดำเนินงาน 347 ล้านบาท แม้จะลดลง 10.0% qoq แต่พลิกจากที่ขาดทุน 54 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเข้าสู่ช่วง Low Season อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ สามารถรักษา Gross Margin ให้อยู่ในระดับ 12.6% ทรงตัวจากงวดก่อนหน้า โดยรวมแล้ว กำไรสุทธิงวด 1Q57 เท่ากับ 1.6 พันล้านบาท คิดเป็น 88% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2557 ฝ่ายวิจัยจึงได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2557 อีก 64% จากเดิม ทำให้แนวโน้มกำไรสุทธิปี 2557 เติบโต 26.4% yoy พร้อมปรับ Fair Value ขึ้นจากเดิม 31.6 เป็น 40 บาท

       CPF(FV@B28) แม้งวด 1Q57 จะพลิกฟื้นมามีกำไรสุทธิ เทียบกับขาดทุนในงวด 4Q56 เกิดจากธุรกิจในประเทศไทยที่ฟื้นตัวจากธุรกิจสัตว์บก จากราคาขายผลิตภัณฑ์สัตว์บกทั้งสุกร และไก่ ที่ปรับสูงขึ้น 12% qoq ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงลดลง เพราะได้สต็อกวัตถุดิบราคาต่ำมากตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 หนุนให้ Margin ของธุรกิจสัตว์บกโดดเด่นมาก ขณะที่ธุรกิจกุ้ง ยังขาดทุน เพราะปริมาณผลผลิตกุ้งขาวยังออกสู่ตลาดน้อย และช่วง 1Q57 ซึ่งปกติเป็นช่วง Low Season ตามมาด้วยธุรกิจต่างประเทศ มีแนวโน้มดีขึ้นจากงวดก่อนหน้า จากธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในเวียดนาม และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบ.ร่วม เพิ่มขึ้น 30% qoq หลักๆ จากการเติบโตของกำไรของ CPALL แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กลุ่มเกษตร เตรียมปรับลดประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2557-58 ลงราว 10-15% จากเดิม จากแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เริ่มปรับตัวขึ้น ผิดไปจากที่คาดหมายมาก ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ที่ออกสู่ตลาดน้อยลง จากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และน่าจะกดดันกำไรสุทธิในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า พร้อมปรับ Fair Value ลดลงจากเดิม 33.8 บาทเหลือ 28 บาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!