WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASIAwealthบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 

กลยุทธ์การลงทุน
  ช่วง 8 วันทำการที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1.52 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2/3 ของยอดซื้อสะสมนับจาก 29 ส.ค. 60 เชื่อว่าแรงขายจะเบาลง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ฤดู LTF เต็มตัว เชื่อว่าจะทำให้ Downside ของ SET Index เหลือจำกัด วันนี้เลือก CPF (FV@B32) ขึ้นมาเป็น Top Pick บนความคาดหมายว่ากำไรจะดีขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นมี Upside อีกกว่า 23% ส่วน BBL (FV@B 210) และ QH (FV@B 4.20) ยังชอบเหมือนเดิม    
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. กลุ่มพลังงาน - ธ.พ. ช่วยดันตลาดฯ กลับมาบวก
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยแกว่งแรงในกรอบกว้างเกือบ 20 จุด ช่วงเช้าดัชนีลงไปติดลบกว่า 8 จุด ก่อนช่วงท้ายของการซื้อขายจะพลิกมาอยู่ในแดนบวกได้ถึง 5 จุด ท้ายที่สุดดัชนีปิดที่ 1718.66 จุด เพิ่มขึ้น 2.63 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 6.3 หมื่นล้านบาท แรงหนุนยังมาจากกลุ่มพลังงาน นำโดย PTTEP และ PTT ปรับขึ้น 1.46% และ 0.96% ตามลำดับ ส่วนหุ้นโรงไฟฟ้ายังแรงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น BPP, BCPG, BGRIM และ SPCG ปรับขึ้น 4.20, 3.96, 2.70 และ 2.23% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หุ้นโรงไฟฟ้าดังกล่าวปรับขึ้นจน upside เหลือน้อย หรือเกิน Fair Value ไปแล้ว จึงแนะนำสลับไปยัง RATCH ที่ยังมี upside เหลืออยู่
  ตามด้วยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ KBANK ปรับขึ้นได้โดดเด่นมาก 3.29% ตอบรับการแถลงเป้าหมายธุรกิจปี 2561 ที่เห็นสัญญาณบวกขึ้น โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อขึ้นเป็น 5 - 7%yoy (จากปีนี้ที่ 4 - 6%yoy) ขณะที่ BBL หุ้น top pick ของฝ่ายวิจัย ปรับขึ้น 0.27%
  สวนทางกับกลุ่มวัสดุก่อสร้างปรับลดลง โดย TOA พักฐานแรงถึง 4.11% หลังจากที่เข้าซื้อขายใน SET ตั้งแต่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนสูงถึง 30% ส่วนอีก 2 หุ้นที่ปรับลดลง คือ SKN และ VNG ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นไม้ MDF ลดลง 2.60% และ 1.74% ตามลำดับ
  สำหรับแนวโน้มตลาดฯ วันนี้คาดแกว่งตัวในกรอบ โดยแนวรับระหว่างวันอยู่ที่ 1710 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่1725 จุด
มาตรการปฎิรูปภาษีสหรัฐดีต่อ IVL CPF และ TU
  ประเด็นต่างประเทศในวันนี้  รอผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)  เป็นวันสุดท้าย ระหว่างวันที่ 30 -31ต.ค.คาดยังแนวโน้มใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อโดยคงดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ตามเดิม (ตั้งแต่ ม.ค. 2559)    เทียบกับเงินเฟ้อทรงตัวระดับต่ำ 0.7%) และคงวงเงิน QQE ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี (ตั้งแต่ พ.ย. 2557) ภายหลังจากพรรคเสรีประชาธิปไตย(LDP) ของนายกคนปัจจุบัน  ชินโสะ  อาเบะชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3  ทำให้เชื่อว่าผู้ว่า BOJ จะยังสานต่อนโยบายการเงินผ่อนคลาย 
  ขณะที่สหรัฐประชุม Fed  วันแรกระหว่าง  31 ต.ค.-1 พ.ย.  ตลาดคาดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ แต่ให้น้ำหนักไปที่ รอบ ธ.ค. และนอกจากนี้ยังให้น้ำหนักประเด็นการคัดเลือกประธาน Fed ต่อจากนางเจเน็ต เยลเลนที่จะครบวาระ ก.พ.2561 โดยจะสรุปผลในวันพฤหัสบดีนี้  2 พ.ย.  ซึ่งตัวเต็ง มี 2 ใน 5 คนที่มีโอกาสมากที่สุด คือ นาย Jerome Powell 1 ในคณะกรรมการ Fed ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ที่รัฐมนตรีการคลังสหรัฐสนับสนุน มีแนวคิดใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวแต่แบบค่อยเป็นค่อยไป และ นาย John Taylor (นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Stanford) ประธานาธิบดีทรัมป์ให้การสนับสนุน และมีแนวคิดสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับโครงสร้างภาษี
  นอกจากนี้ประเด็น นโยบายปฎิรูปภาษีสหรัฐ อาจจะล่าช้ากว่าคาดและยังไม่ชัดเจน ล่าสุดอยู่ในช่วงพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยภาษีนิติบุคคลคาดว่าจะอยู่ในอัตรา 20% จากปัจจุบัน 35% ในปี 2565 (คาดลดปีละ 3% ในช่วงเวลา 5 ปี คือตั้งแต่ปี  2561-2565 ) จากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะลดเหลือ 20% ในปีหน้าทันที ซึ่งยังเป็นประเด็นต้องที่ติดตาม ส่วนการลดภาษีบุคคลธรรมดาคาดลดลงเหลือ 3 ขั้น จาก 7 ขั้นบันได คือ 12%, 25%, 35% ขึ้นกับฐานรายได้ภาษีของบุคคลธรรมดา (สูงสุดไม่เกิน 35% จาก 39.6%) ประเด็นนี้ถือว่ายังหนุนตลาดหุ้นสหรัฐ แม้ที่ผ่านมาได้ขึ้นรองรับมาแล้วระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการลดภาษีนิติบุคคลอาจจะมีบริษัทจดทะเบียนบางกลุ่มที่ไม่ได้ประโยชน์คือโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันรัฐให้สิทธิแก่ผู้ซื้อไฟฟ้าพลังในการขอคืนภาษี (tax credit) ในอัตรา 30%  ซึ่งกดดันให้หุ้นพลังงานหมุนเวียนตกต่ำสวนทางกับตลาดหุ้นสหรัฐ
  ขณะที่หุ้นไทยที่จะได้ประโยชน์จากการปรับลดภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯ ดังกล่าว ซึ่งฝ่ายวิจัยได้เคยนำเสนอไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่  IVL, TU และ CPF โดยได้รวมประเด็นดังกล่าวในประมาณการแล้ว กล่าวคือ
  IVL จะได้ประโยชน์จากการลดอัตราภาษี ส่งผลให้กำไรปี 2560 และ 2561 เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 5% และ 7% ตามลำดับ โดยปัจจุบัน IVL มีกำลังการผลิตในสหรัฐฯ ราว 2.2 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 20% ของกำลังการผลิตรวม และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านตันต่อปี ในปี 2561 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 24% ของกำลังการผลิตรวม
  TU ได้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลงเช่นกัน ช่วยหนุนให้กำไรสุทธิปี 2560-61 เพิ่มขึ้น 3.0% และ 2.8% จากเดิม ตามลำดับ โดย TU มีบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจอยู่ในสหรัฐฯ ประกอบด้วย ธุรกิจจำหน่ายทูน่ากระป๋องภายใต้แบรนด์ Chicken of the sea รวมไปถึงธุรกิจซื้อมา-ขายไปกุ้ง (Trading) และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง
  CPF ได้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลงเช่นกันแต่ไม่มากนัก โดยกำไรสุทธิปี 2560-61 เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% และ 0.3% ตามลำดับ โดย CPF มีธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ Bellisio อยู่ในสหรัฐ
  
CPF ระยะสั้นโดดเด่นจากผลประกอบการ ระยะยาวได้ Thailand 4.0 ช่วยหนุน
  ฝ่ายวิจัยเลือก  CPF ([email protected] FV’61@B32) เป็น top pick คาดกำไรสุทธิงวด 3Q60 เท่ากับ 4.86 พันล้านบาท เติบโต 18.6% qoq (แต่ลดลง 7.0% yoy) ขณะที่คาดกำไรจากการดำเนินงานงวด 3Q60 จะเพิ่มขึ้นถึง 77.8% qoq มาอยู่ที่ 2.72 พันล้านบาท มีปัจจัยสนับสนุนจากช่วง high season ของการส่งออกกุ้งและไก่ นอกจากนี้ ยังเห็นธุรกิจสุกรในเวียดนามฟื้นตัวชัดเจนจากงวด 2Q60 จากการที่ผู้เลี้ยงรายย่อยลดการเลี้ยงสุกรลง และจีนทยอยเปิดด่านให้นำเข้าสุกรตามชายแดนได้บ้างแล้ว
  คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560-61 จะเติบโต 9.5% yoy และ 19.3% yoy ขณะที่คาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานปี 2560 จะอ่อนตัวลง 20.5% yoy แต่จะพลิกกลับมาเติบโต 33.5% yoy จากธุรกิจไก่และกุ้งเติบโตต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจในเวียดนามฟื้นตัวชัดเจน จากปัญหาหมูล้นตลาดในปี 2560 รวมไปถึงธุรกิจในอินเดีย ตุรกีและรัสเซียเติบโตดีขึ้น นอกจากนี้ CPF ยังมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล “Thailand 4.0” ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น โดย CPF จะเน้นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับทุกเพศทุกวัย ได้แก่ อาหารคนสูงอายุ และอาหารเหลวสำหรับคนป่วย เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในอนาคต
  สำหรับราคาหุ้น CPF จากช่วงต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบันปรับลดลง 11.86% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนภาพผลประกอบการงวด 1H60 ที่ชะลอตัวไปแล้ว ดังนั้นจากทิศทางของผลประกอบการที่ดีขึ้นเชื่อว่าราคาหุ้นก็น่าจะตอบสนองในเชิงบวก โดยที่ราคาปัจจุบันมี Upside 23%    
 
AOT มีโอกาสได้บริหารสนามบินเพิ่ม เป็น upside ส่วนเพิ่ม
  หลังจากภาครัฐฯ มีนโยบายให้ AOT เพิ่มประสิทธิภาพและบทบาทในการบริหารสนามบินของประเทศ วานนี้ AOT ได้มีมติที่ประชุมสำคัญเพื่อตอบสนองทิศทางดังกล่าว คือ จากเดิมที่ AOT บริหารสนามบินทั้งสิ้น 6 จาก 39 แห่งทั่วประเทศ (แบ่งเป็นของ AOT 6 แห่ง BA 3 แห่ง การท่าอากาศยาน (ท.ย.) 29 แห่ง และทหารเรือ 1 แห่ง) AOT จะเสนอตัวเข้าบริหารสนามบินอีกจำนวน 15 แห่งจากที่ ท.ย. บริหารทั้งสิ้น 29 แห่ง (รายละเอียดดังตารางสรุป) ทั้งนี้ แม้ยังต้องผ่านกระบวนการนำเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม. ขณะที่รูปแบบการเข้าบริหารที่ยังไม่ชัดเจน อาจทำให้การประเมินโครงสร้างต้นทุน และ รายได้ยังไม่แน่ชัด
  อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าทิศทางดังกล่าวเป็นบวกต่อ AOT เนื่องจากสนามบิน 15 แห่งข้างต้นส่วนใหญ่มีผู้ใช้บริการอยู่แล้วราว 13 ล้านราย ซึ่งช่วยให้ส่วนใหญ่มีกำไรอยู่แล้ว นอกจากนี้ AOT ยังมีศักยภาพบริหารให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนเที่ยวบินต่างประเทศที่ให้ค่าธรรมเนียมขึ้นลงสนามบิน และภาษีสนามบินขาออกสูงกว่าเที่ยวบินส่วนใหญ่ในสนามบินข้างต้นที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะเส้นทางในประเทศ นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงศักยภาพการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ AOT มีประสบความสำเร็จอย่างมากในสนามบินหลักตนเอง อาทิ สุวรรณภูมิ และดอนเมือง ขณะเดียวกันสนามบินข้างต้นยังจะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้ AOT บริหารงบลงทุนในการขยายสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น อาจปรับงบลงทุนขยายสนามบินที่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ อาทิ ภูเก็ต และนำงบไปขยายสนามบินใกล้เคียงที่ได้รับความนิยมสูงเช่นเดียวกัน อย่างกระบี่ เป็นต้น  ทั้งนี้ ในเบื้องต้น จากการศึกษาของฝ่ายวิจัย คาดว่าการเข้าบริหารสนามบินดังกล่าว หากอิงหลักอนุรักษ์นิยม คาดจะช่วยให้ AOT มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 650 ล้านบาท  (ภายใต้สมมติฐานในจำนวนผู้ใช้บริการ 15 สนามบิน จำนวน 13.2 ล้านคน มีจำนวนครึ่งเดียวใช้บริการเที่ยวบินขาออกในประเทศ และมีค่าธรรมเนียมหัวละ 100 บาท) และหากตั้งสมมติฐานให้ AOT บริหารสนามบินข้างต้นไปในระยะยาว จนมีประสิทธิภาพใกล้เคียง 6 สนามบินปัจจุบันซึ่งมี Net Margin เฉลี่ยราว 40%  คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำไร AOT ปีละ 260 ล้านบาท แม้คิดเป็นเพียง 1.1% ของประมาณการ แต่ยังไม่รวมถึงโอกาสอื่นๆ ที่ฝ่ายวิจัยกล่าวถึงไว้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเพิ่มมูลค่าพื้นฐาน AOT ขึ้นจากปัจจุบันที่ 58 บาท ให้ยังมี Upside ลงทุนได้ ยังแนะนำ ซื้อ
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค แต่ยังขายไทย
  วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 382 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 3 ประเทศคือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 242 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยไต้หวัน 171 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และอินโดนีเซีย 69 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติขายสุทธิคือ ฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิเล็กน้อย 3 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) และไทยที่ยังคงถูกต่างชาติขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคอีกกว่า 96 ล้านเหรียญ หรือ 3.19 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 2.68 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5)
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.93 พันล้านบาท สวนทางกับต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิ 4.66 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเล็กน้อยในวันก่อนหน้า)
 
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
OO1746

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!