WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASIAwealthบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 
 
กลยุทธ์การลงทุน
   ปัจจัยแวดล้อมตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะที่เป็นบวก และน่าจะสร้าง Momentum ให้ SET Index ยืนเหนือ 1700 จุดได้อย่างมั่นคง สำหรับพอร์ตการลงทุนวันนี้ปรับเอา THCOM ออกจากความไม่ชัดเจนกรณีไทยคม 7-8 ที่เพิ่มเข้ามา และให้เพิ่ม QH (FV@B 4.20) ซึ่งคาดกำไร 3Q60 โตก้าวกระโดด และราคายังต่ำกว่าเป้าหมายมาก พร้อมเลือกเป็น Top Pick นอกจากนี้ยังคงเลือก BBL (FV@B 210) จากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็น Top Pick ต่อเนื่องอีกวัน   
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นจากแรงหนุนหุ้น Mid-Small Cap
    วันพุธที่ผ่านมาตลาดหุ้นในภูมิภาคปรับตัวขึ้น เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ยืนแดนบวกได้ตลอดวันก่อนปิดที่ 1708.84 จุด เพิ่มขึ้น 7.03 จุด หรือ 0.41% มูลค่าการซื้อขาย 5.73 หมื่นล้านบาท กลุ่มค้าปลีกยังคงปรับตัวขึ้นนำตลาดต่อเนื่อง จากความคาดหวังของนักลงทุนที่คาดว่าผลประกอบการงวด 3Q60 จะเติบโตเด่น ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในงวด 2H60 ที่จะฟื้นตัว รวมถึง sentiment บวกของมาตรการช็อปช่วยชาติที่น่าจะเกิดขึ้นปลายปี โดย COM7 เพิ่มขึ้น 1.97%, BJC เพิ่มขึ้น 1.41% และ HMPRO เพิ่มขึ้นอีก 1.54% ส่วนหุ้นกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม ที่ปรับขึ้นได้โดดเด่นคือ CBG เพิ่มขึ้น 7.34% SAPPE เพิ่มขึ้น 8.47% TKN เพิ่มขึ้น 5% และ MALEE เพิ่มขึ้น 1.10% และ MINT 0.61% อีกกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นคือ สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เริ่มฟื้นตัวหลังแรงขาย sell on fact ชะลอลง โดย KBANK เพิ่มขึ้น 0.95% และ SCB เพิ่มขึ้น 1.03% ส่วน TISCO TCAP KKP เพิ่มขึ้น 4.69%, 0.93% และ 2.02% ตามลำดับ ฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ KKP โดยทิศทางของธุรกิจใน 2561 ยังคงเติบโตจากการลงทุนใหญ่ภายในประเทศที่ทยอยเกิดขึ้นหนุนต่อธุรกิจ ธ.พ. ของ KKP มากขึ้น Fair value ปี 2561 อยู่ที่ 91 บาท เหลือ upside อีกกว่า 20% 
??ตรงข้ามกับหุ้นในปิโตรเคมี-โรงกลั่น อย่าง PTTGC และ TOP ที่ปรับตัวลงสวนทางตลาด 1.23% และ 3.21% กลุ่มโรงไฟฟ้า BPP และ GLOW ลดลง 0.83% และ 0.56% เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับขึ้นไปแรงมาก จึงแนะนำขายทำกำไรหุ้นที่มี upside จำกัด 
สำหรับแนวโน้มตลาดวันนี้ คาดดัชนีฯ น่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1705-1717 จุด คาดมูลค่าการซื้อขายน่าจะเบาบาง ทำให้การปรับขึ้นของ SET Index ไม่จะขยับขึ้นไปได้มากนัก
ECB ต่ออายุ QE ถึง ก.ย. ปีหน้า แต่ลดวงเงินเหลือ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน
   ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วานนี้แม้ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดที่  0% (ตั้งแต่ มี.ค. 2559)  แต่มาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE) จากปัจจุบันอยู่ที่ จำนวน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งจะสิ้นสุดเดือนใน ธ.ค.60  ปรากฎว่า ECB ต่ออายุ QE ตามที่ตลาดคาดออกไปอีก 9 เดือนในปีหน้า (เริ่มต้น ม.ค.-ก.ย. 2561) แต่มีการปรับลดวงเงิน QE เหลือ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (ลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดจะลดเหลือ 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยุโรปยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% เทียบกับ เงินเฟ้อ ล่าสุดเดือน ก.ย. ยังทรงตัวที่ 1.5%yoy ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปัญหาการเมืองของประเทศสมาชิกยุโรป อาทิ Brexit, การเลือกตั้งอิตาลีในช่วง 1Q61, การแยกตัวของแคว้นกาตาลุญญาจากสเปน   โดยรวมทำให้ค่าเงินยูโรเทียบดอลลาร์อ่อนค่าราว  1.4% จากวันก่อนหน้า หนุน Dollar Index แข็งค่าราว 1.1% ส่งผลให้ค่าเงินประเทศในแถบเอเซีย โดยเฉพาะไทย คือค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องราว  0.7%นับตั้งแต่ 15 ต.ค. ดีต่อภาคการส่งออกช่วงสั้น
 
ส่งออกสดใส มีโอกาสทำให้ GDP ไทยทะลุเป้าหมาย 3.5% สูง 3.8% ในปีนี้  
   ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้นอกเหนือจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน และที่สำคัญคือ ภาคส่งออกซึ่งเป็นตัวหลัก  สะท้อนจากยอดส่งออกในรูปดอลลาร์  เฉลี่ย 9M2560  ขยายตัว  9.3%yoy  เทียบกับ -0.6%yoy ในช่วง 9M2559  ทำให้ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ปรับเพิ่มคาดการณ์ยอดส่งออกทั้งปี 2560 ขยายตัว  8%yoy จากเดิมคาดที่ 5% เทียบกับสมมติฐานที่ ASPS  คาดส่งออก 5.5% และนำเข้า 9% ทั้งนี้หากกำหนดส่วนต่างคงเดิมที่  -3.5% โดยกำหนดขยับเพิ่มส่งออกทุกๆ 0.5%  จะทำให้ GDP Growth เพิ่มขึ้นราว 0.053%  ซึ่งเมื่อปรับเพิ่มใกล้เคียงกับกระทรวงพาณิชย์คาด  8% จะทำให้ GDP Growth ปี 2560  คาดขยายตัว  3.8% จากเดิม 3.5% (ใกล้เคียง Consensus)
   ทั้งนี้หากพิจารณาแนวโน้มการส่งออกในช่วง  4Q2560  น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอจากงวด 3Q60 (ช่วง High season)   แต่คาดขยายตัวต่อจนถึงปี  2561  เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย อาทิ จีน ,สหรัฐ ,ยุโรป, ญี่ปุ่น  ยังส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อ   สอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF รอบล่าสุด ที่ปรับเพิ่มอัตราการเติบโตการค้า(Trade Growth) ของโลกอีก 0.1% เป็นขยายตัว 4%yoy ในปี 2561     
   ขณะที่สินค้าส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ คาดยังขยายตัวต่อเนื่องส่วนใหญ่  คือสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ข้าว ,ยาง ,น้ำตาลทราย , เม็ดพลาสติก  และ  ไก่  ส่งออกเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 12 เดือน    ดีต่อ GFPT(FV@B23) เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและส่งออกไก่ ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก CPF  แต่เนื่องจากเน้นเฉพาะสินค้าโดยเฉพาะไก่ และสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ พบว่ายอดส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่  2 และขยายตัวเกือบทุกตลาดคู่ค้า ดีต่อ  AH ([email protected])
 
ราคาน้ำมันฟื้นตัว หลังซาอุฯสนับสนุนขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิต
   แม้วันพุธที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบโลกจะย่อตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.86 ล้านบาร์เรล (หลังจากลดลงติต่อกัน 4 สัปดาห์) ขณะที่ตลาดฯคาดว่าลดลง 2.59 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการที่ซาอุดิอาระเบียส่งสัญญาณสนับสนุนให้ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2561 มีโอกาสต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี 2561 หนุนสัญญาฟิวเจอร์น้ำมันดิบ Dubai และ Brent วานนี้ขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 2 ปี 4 เดือน มาอยู่ที่ 57.51 และ 59.47 เหรียญฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ส่วน WTI ขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 6 เดือน มาอยู่ที่ 52.41 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งประเด็นดังกล่าว นักลงทุนต้องจับตาดูในการประชุมของกลุ่มโอเปกที่จะเกิดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 นี้
   ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำสะสมหุ้นน้ำมัน อย่าง PTT (FV@B460) ส่วน PTTEP (FV’61@B116) แม้จะมีประเด็นกดดันจากการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ในงวด 3Q60 ราว 1.85 หมื่นล้านบาท (คิดเป็นมูลค่าต่อหุ้นราว 4.7 บาทต่อหุ้น) ซึ่งราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงน่าจะตอบรับประเด็นดังกล่าวไประดับหนึ่งแล้ว จึงแนะนำให้รอสะสมหลังรายงานงบ 3Q60 เสร็จสิ้น
 
กรณี ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เป็นความเสี่ยงรอบใหม่ที่เข้ามากดดัน
   หลังปิดตลาดวันพุธที่ผ่านมา THCOM แจ้งข่าวตลาดว่า ได้รับหนังสือจากกระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายใต้สัญญาสัมปทาน ฉบับลงวันที่  11 ก.ย. 2534 ทางกระทรวงฯ จึงต้องการให้ THCOM ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานให้ครบถ้วน อาทิ การโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบทรัพย์สิน การชำระผลตอบแทนที่ส่วนแบ่งรายได้ 22.5% และการจัดสร้างดาวเทียมสำรอง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมาย THCOM มีความเห็นว่า ปัจจุบันที่ดาวเทียม 2 ดวงดังกล่าวดำเนินการภายใต้กรอบของการรับใบอนุญาตจาก กสทช.  ซึ่งการให้บริการบนใบอนุญาตจะเสียส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 4.0% (ส่วนดาวเทียมดวงอื่นๆของ THCOM คือ ไทยคม 4 5 และ 6 ปัจจุบันดำเนินการบนระบบสัมปทาน) จึงยื่นเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยจะยังให้บริการไทยคม 7 และ 8 จนกว่าจะมีการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
   ประเด็นดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งที่มีรากฐานมาจากความไม่ชัดเจนในการตีความเรื่องกฎระเบียบการดำเนินธุรกิจดาวเทียมในระยะยาว อย่างไรก็ตาม THCOM ยังมีความต้องการส่งดาวเทียมใหม่ขึ้นทดแทนดาวเทียมเดิมที่ใกล้สิ้นสุดอายุบริการ คือ ไทยคม 4 และ ไทยคม 5 ในปี 2564 เพื่อรักษาฐานลูกค้าที่ยังใช้บริการไว้ โดยในประเด็นข้างต้น ฝ่ายวิจัยได้ตั้งสมมติฐานให้ THCOM สร้างดาวเทียมทดแทน โดยยินยอมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ภายใต้ระบบสัมปทานที่แพง 22.5% เท่ากับอัตราที่จ่ายอยู่ภายใต้สัมปทานปัจจุบันของไทยคม 4 และ 5 เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องในระยะยาว แต่สำหรับในส่วนของดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ซึ่งเริ่มดำเนินธุรกิจภายใต้ระบบใบอนุญาติ โดยจ่ายส่วนแบ่งรายได้ที่ 4% ของรายได้ การถูกเรียกร้องจากกระทรวงดิตจิทัลฯ ในส่วนนี้จึงถือเป็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจรอบใหม่ โดยหากปฏิบัติตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ เรียกร้อง จากการศึกษา Sensitivity Analysis ของฝ่ายวิจัย โดยกำหนดให้ต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ที่กำหนดให้เพิ่มขึ้นเป็น 22.5% ในระยะยาว คาดจะกดดันคาดการณ์กำไรระยะยาวลดลงปีละ 46.5% และมูลค่าพื้นฐานลดลงมาเหลือ 21.7 จากปัจจุบันที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ 24 บาท และในกรณีเลวร้ายที่สุด หากต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้แพงขึ้นดังกล่าว และต้องสร้างดาวเทียมสำรองเพื่อทดแทนดาวเทียม 2 ดวงดังกล่าวด้วยสมมติฐานงบลงทุน 2 ดวงรวมกันที่ 1.0 หมื่นล้านบาท จะกดดันมูลค่าพื้นฐานเหลือราว 14.7 บาท ต่ำกว่าราคาปิดล่าสุดที่ 16 บาท ประเด็นดังกล่าวจึงอาจมีผลทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง และอยู่ในภาวะที่ผันผวนจนกว่าจะมีความชัดเจนในทางปฎิบัติ
 
Earning Season เลือกลงทุนหุ้นที่แนวโน้มผลกำไรเติบโตทั้ง qoq และ yoy
   ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป หุ้นในภาค real sector จะทยอยรายงานงบฯ ออกมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับนักลงทุนที่เลือกลงทุนตามผลประกอบการ แนะนำให้เลือกสะสมหุ้นที่แนวโน้มผลประกอบการ 3Q60 เติบโตโดดเด่นทั้ง qoq และ yoy ได้แก่
  PTTGC (FV’61@98) คาดกำไรสุทธิเติบโต 47%qoq และ 56%yoy แรงหนุนมาจากธุรกิจโรงกลั่นตามค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นและบันทึกสต๊อกน้ำมัน ขณะที่ธุรกิจโอเลฟินส์เติบโตตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากการกลับมาเดินเครื่องเต็มที่ของโรงงานโอเลฟินส์ ขณะที่ 4Q60 ยังอยู่ในระดับสูงจาก utilization rate ของโรงงานอะโรเมติกส์ และโอเลฟินส์ ที่คาดจะเพิ่มขึ้น และค่าการกลั่นอาจอ่อนตัวลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับสูงเพราะยังมีอานิสงค์จากช่วงฤดูกาลฤดูหนาวรออยู่ช่วงปลายปี โดยแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2560 เห็นการเติบโตสูงถึง 35.4%yoy
   QH (FV’[email protected]) คาดกำไรสุทธิเติบโตโดดเด่นมากถึง 102.4%qoq และ 104.5%yoy โดยรายได้จากการขายอสังหาฯ เติบโต 7.3% qoq และ 5.4% yoy รวมทั้งมีการบันทึกส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม และกำไรจากเงินลงทุน ขณะที่ 4Q60 จะเป็นจุดสูงสุดของปี จากยอดโอนคอนโดฯ และแนวราบ รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม หนุนกำไร QH สูงสุดใน 4Q60 แนวโน้มกำไรสุทธิทั้งปีเติบโต 27%yoy
   BANPU (FV’61@B26) คาดกำไรสุทธิเติบโต 9.4%qoq และโตมากถึง 3426% จากฐานที่ต่ำในงวด 3Q59 โดยในไตรมาสนี้ธุรกิจถ่านหินโดดเด่นจากราคาขายเฉลี่ยถ่านหิน และปริมาณขายถ่านหินจากเหมืองในอินโดนีเซีย รวมทั้งในออสเตรเลีย ด้วยเหตุนี้ฝ่ายวิจัยจึงปรับประมาณการกำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2560 ขึ้นจากราคาเฉลี่ยฐานหินที่สูงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มกำไรปี 2560 เติบโตกว่า 4 เท่าตัวจากปี 2559 อย่างไรก็ตามการขึ้นของราคาหุ้น BANPU อาจมีกรอบจำกัดไม่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง เนื่องจากตลาดให้น้ำหนักไปยังความเสี่ยงของคดีหงสา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของศาลฎีกา
   IRPC (FV’[email protected]) คาดกำไรสุทธิ 3Q60 เพิ่มขึ้นถึง 157%qoq และ 141%yoy จาก Market GIM ที่ปรับเพิ่มขึ้น ตาม spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งการบันทึกกลับเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการปี 2560 แต่มีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการปี 2561 จากทิศทางการดำเนินธุรกิจที่สดใส
   BCH (FV’[email protected]) คาดกำไรสุทธิ 3Q60 ขึ้นทำ new high โดยเพิ่มขึ้น 72.3%qoq และ 21.9%yoy แรงหนุนจากลูกค้ากลุ่มประกันสังคมที่ได้รับประโยชน์จากการปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้ป่วยเงินสดที่คาดว่าจะเติบโตตามจำนวนโรคระบาด และ ร.พ. WMC ผลการดำเนินงานดีขึ้น ขณะที่ 4Q60 ยังคงโตได้ต่อ โดยรวมคาดกำไรสุทธิปีนี้และปีหน้าเติบโตเฉลี่ย 14%yoy
   PLANB (FV’[email protected]) คาดกำไรสุทธิ 3Q60 เพิ่มขึ้น 29.7%qoq และ 28%yoy ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการขยายเครือข่ายสื่อโฆษณา ซึ่งสื่อโฆษณานอกบ้านยังเติบโตได้ สวนทางภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อฯที่หดตัว รวมทั้งรายได้จาก Sport Marketing โดยรวมผลประกอบการ 2560 เติบโต 59% และปี 2561 การขยายเครือข่ายสื่อโฆษณานอกบ้านของ PLANB ยังเติบโตได้อีกมาก หนุนกำไรเติบโตอีก 33%
   VGI ([email protected]) คาดกำไรสุทธิ 2Q60/61 (ก.ค.-ก.ย. 60) เพิ่มขึ้น 0.7%yoy และ 13.9%qoq จากรายได้สื่อบน BTS แคมเปญ Station Sponsorship เติบโตดีขึ้น เช่นเดียวกับรายได้สื่อโฆษณากลางแจ้งจาก MACO คาดเติบโตสูงเช่นกัน ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านยังเติบโตได้ สวนทางภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อฯที่หดตัว โดยคาดว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมหลังผ่านช่วงพระราชพิธีสำคัญ เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมจะเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน คาดผลประกอบการปีนี้โต 6.4%yoy และโตแรงปี 2561 ที่ 38%yoy
   ADVANC (FV’61@B230) คาดกำไร 3Q60 กลับมาเติบโต 2.5%qoq และ 13.3%yoy ตามรายได้ค่าบริการ (ไม่รวม IC) ที่เติบโตต่อ ขณะที่ต้นทุนบริการ (ไม่รวม IC) ทรงตัว qoq ส่วนกำไร 4Q60 จะเติบโตทั้ง qoq และ yoy และเพิ่มขึ้นทุกไตรมาสในปี 2561
 
ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค รวมถึงไทย
   แม้วานนี้ตลาดหุ้นไทยจะหยุดทำการ แต่ตลาดหุ้นอีก 4 แห่งที่เหลือยังเปิดทำการปกติ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 59 ล้านเหรียญ โดยเป็นแรงขายสุทธิใน 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ 80 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยอินโดนิเซีย 21 ล้านเหรียญและฟิลิปปินส์ 16 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไต้หวันต่างชาติซื้อสุทธิ 58 ล้านเหรียญ
    ส่วนวันพุธที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นในภูมิภาคเล็กน้อยราว 16 ล้านเหรียญ นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ 79 ล้านเหรียญและอินโดนิเซีย 10 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่งที่ต่างชาติขายสุทธิคือ ไต้หวัน 6 ล้านเหรียญ, ฟิลิปปินส์ 13 ล้านเหรียญ และตลาดหุ้นไทยถูกสลับมาขายสุทธิมูลค่าราว 52 ล้านเหรียญ หรือ 1.7 พันล้านบาท ตรงข้ามกับสถาบันในประเทศยังคงซื้อสุทธิราว 1.4 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) 
   สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยวันพุธที่ผ่านมา สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.97 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องอีก 3.74 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4)
 
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
 OO1656

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!