WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน


กลยุทธ์การลงทุน
  เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสดใส ล่าสุด ครม.อนุมัติ พ.ร.บ. EEC หนุนการลงทุนเอกชน และนิคมฯ (WHA) แต่ดัชนีที่ฟื้นตัว 6% จากปลาย ส.ค. ทำให้เผชิญแนวต้าน 1,675 จุด แต่ตราบที่ fund flow ยังหนุน จะผ่านไปทดสอบ 1,700 จุด ยังให้สะสมหุ้น Laggards THCOM(FV@B24), INTUCH([email protected]), SCC(FV@B620) Top picks PTTEP(FV@B116) และเพิ่ม SCC(FV@B620) มีกระแสบวกทั้งการลงทุนในประเทศ และปิโตรเคมี ที่ฟื้นตามเศรษฐกิจโลก


ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย.....หุ้น Big Cap หนุนตลาดปิดบวกต่อเนื่อง
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง ในช่วงเช้ามีแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยภาพรวมตลอดวันยังสามารถประคองตัวยืนในแดนบวกได้และปิดตลาดที่ 1672.59 จุด เพิ่มขึ้น 2.39 จุด หรือ 0.14% มูลค่าการซื้อขาย 6.87 หมื่นล้านบาท แต่หากตัด Big Lot หุ้น BJC ราว 3.3 พันล้านบาท มูลค่าการซื้อขายก็ยังสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยแรงหนุนในหุ้น Big Cap ขนาดใหญ่จากกลุ่มขนส่ง พลังงานและอสังหาฯ ยังช่วยประคองให้ SET Index ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 23 ปี


  เริ่มจากกลุ่มขนส่งฯ นำโดย AOT เพิ่มขึ้น 2.95% ตามด้วยหุ้นกลุ่มสายการบินทั้ง NOK, BA เพิ่มขึ้น 3.77% และ 0.53% รวมถึงกลุ่มเดินเรือ TTA, PSL, RCL เพิ่มขึ้น 0.99%, 1.79% และ 0.64% ตามลำดับ ส่วนหุ้น Big Cap ในกลุ่มพลังงาน-น้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่องคือ PTT เพิ่มขึ้น 0.97% และ PTTEP เพิ่มขึ้น 1.41%, ส่วนหุ้นอื่นๆในกลุ่มที่ปรับขึ้นคือ กลุ่มปิโตรฯ PTTGC เพิ่มขึ้น 1.60%, กลุ่มโรงไฟฟ้า GUNKUL และ GPSC เพิ่มขึ้น 2.51% และ 4.68% อีกกลุ่มที่ปรับขึ้นได้ดี คือหุ้นกลุ่มอสังหาฯ โดย CPN เพิ่มขึ้น 1.34%, LH และ AP เพิ่มขึ้น 3.06% และ 0.63% , กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม AMATA และ WHA ฟื้นตัวจากวันก่อนโดยปรับเพิ่มขึ้น 1.99% และ 4.22% ตามลำดับ


ส่วนกลุ่มที่ปรับตัวลงสวนทางตลาดคือหุ้นกลุ่ม ธ.พ. นำโดย BBL ลดลง 1.04%, KTB ลดลง 1.05%, SCB ลดลง 0.96% และ TMB ลดลง 1.60% ตามด้วยกลุ่มค้าปลีก MAKRO ลดลง 0.72%, BIGC ลดลง 2.84% และ BJC ลดลง 1.43% อีกกลุ่มที่ปรับตัวคือกลุ่ม ICT ทั้ง DTAC ลดลง 1.73%, ADVANC ลดลง 0.52%, THCOM ลดลง 1.19%
  โดยรวม แม้อาจเห็นแรงขายทำกำไรระหว่างวันในหุ้นรายตัวบ้าง แต่เชื่อว่าด้วยปัจจัยแวดล้อมในประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจน บวกกับเม็ดเงินของต่างชาติที่ยังคอยหนุนตลาดทำให้แนวโน้มของ SET Index ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยวันนี้ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1662 – 1680 จุด


ครม. ผ่าน พ.ร.บ. EEC ผ่าน หนุนการลงทุนเอกชนและหุ้นนิคมฯ
  รัฐยังคงเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชน คือวานนี้ ครม.อนุมัติ พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากสุดจากทั้งหมด 3 ฉบับ (2 ฉบับแรกผ่านเรียบร้อยแล้ว คือ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่และ พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (เน้นไปที่สิทธิทางภาษี) ขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา โดยจะใช้เวลาราว 4-5 เดือน (ราวต้นปี 2561) จึงประกาศเป็นกฎหมายได้ ทั้งนี้ พ.ร.บ. ฉบับที่ 1 และ 2 จะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายและอยู่ในพื้นที่ EEC หรือ Tax Incentive สูงสุด 15 ปี (จากเดิมที่เคยให้สูงสุดไม่เกิน 8 ปี)และ ฉบับที่ 3 เพิ่มเติมให้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีอีก 5 ปีหรือ ในปีที่ 16-20 ในอัตรา 50%


  โดย พ.ร.บ. EEC ที่ผ่านการอนุมัติเบื้องต้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี สอดคล้องกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจฝั่งการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะจาก ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน BOI สิ้นสุด 2Q60 สูงถึง 3 แสนล้านบาท เพิ่มจากงวด 1Q60 ที่มียอดเพียง 6 หมื่นล้านบาท และเป็นที่สังเกตว่า 46% ของยอดเงินที่ขอ BOI ทั้งหมด เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ S-curve และ New S-curve ทำให้ 1H60 ยอดขอ BOI คิดราว 50% ของคาดการณ์ทั้งปี 2560 ที่ BOI ตั้งไว้ที่ 6 แสนล้านบาท และน่าจะเติบโตในระดับนี้ต่อไปได้


  หากทุกอย่างไม่สะดุด คาดว่าจะเห็นการลงทุนเอกชนเป็นรูปธรรม และเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวที่ 3 ควบคู่กับการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งน่าจะเห็นการซื้อที่ดิน เพื่อลงทุนก่อสร้าง จะเกิดในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า และหลังจากนี้จะเห็นการนำเข้าเครื่องจักร ซึ่งจะทำให้การลงทุนเอกชนมีการการขยายตัวที่ชัดเจนในปี 2561 เป็นต้นไป และเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้รับประโยชน์โดยตรงจาก พ.ร.บ. EEC อาทิ WHA([email protected]) เพราะมีที่ดินอยู่ในพื้นที่ EEC ราว 9 พันไร่ และด้วยจุดเด่นทางด้านยุทธศาสตร์ทำเลที่เหมาะสม โดยมีนิคมฯ HESIE4 ซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ในปีนี้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานยนต์แห่งอนาคต และ Aerospace Cluster ประกอบกันนิคมฯ ESIE ซึ่งเป็นนิคมที่มีความพร้อมเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นศูนย์รวม Automotive Cluster ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้กำลังพัฒนาที่ดินเตรียมจัดตั้งเป็นนิคมฯใหม่อีก 2 นิคม ในพื้นที่จังหวัดระยอง และ AMATA([email protected]) มีที่ดินในพื้นที่ EEC มากถึงระดับ 1.4 หมื่นไร่ ผนวกกับมีความได้เปรียบของนิคมอมตะ ซึ่งอยู่ระหว่างการทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยีสู่รูปแบบนิคมฯ Smart City


เชื่อว่าการซื้อหุ้นไทยของต่างชาติ ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
  ดังที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอไปวานนี้ว่า ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวในระยะนี้ด้วยแรงขับเคลื่อนจาก Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจนอีกครั้ง ส่งผลให้ผลตอบแทนของ SET Index ตั้งแต่ 28 ส.ค. ถึง 19 ส.ค. สูงกว่า 6% มากสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ตลาดหุ้นไทยที่เคย underperform มาตลอด 8 เดือน เริ่มลดน้อยลง


  อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองเดิมว่า ยังมีโอกาสเกิด Fund Flow ไหลเข้ามาต่อเนื่อง และยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะผลักดันตลาดหุ้นไทยต่อ ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิ
  1. สถานะการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย (Foreign Holing) พบว่า ณ สิ้นเดือน ส.ค.2560 มียอดปิดโอนทางทะเบียนเป็นชื่อนักลงทุนต่างชาติ 24.16% และมีการปิดโอนในชื่อ NVDR อีก 6.78% รวมเป็น 30.94% ซึ่งสถานการณ์ถือครองดังกล่าวนับว่าต่ำสุดในรอบ 14 ปี (ฝ่ายวิจัยเริ่มเก็บข้อมูล ม.ค. 2547) เทียบกับเคยสูงสุดที่ กว่า 36.88% ในช่วงต้นปี 2555 (ขณะนั้น SET Index อยู่ที่ประมาณ 1100 จุด) สถานะการถือครองในปัจจุบันของนักลงทุนต่างชาติ ถึงว่าต่ำมาก


  2. สถานะการซื้อ-ขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่เป็นมูลค่าตลาด พบว่าในช่วงปี 2552 จนถึง กลางปี 2556 มูลค่าการซื้อสุทธิที่เป็นราคาตลาดของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย มียอดสะสมสูงถึง 4.7 แสนล้านบาท แต่หลังจากนั้นได้มีการขายออกมาอย่างต่อเนี่องจนมูลค่าที่ซื้อสุทธิสะสมในช่วงเวลาดังกล่าว (2552-กลางปี 2556) เข้าใกล้ ศูนย์ ช่วงปลายปี 2558 หลังจากนั้นก็เห็นแรงซื้อกลับเข้ามาเพียงเล็กน้อยในปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมียอดซื้อสุทธิสะสมอยู่ที่ราว 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งยังถือว่าระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับจุดสูงสุดที่ 4.7 แสนล้านบาท นับเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า สถานะการถือครองหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะที่ under-owned


  3. ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยคาดว่าเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 4 จะเริ่มเดินหน้าเต็มที่ในปี 2561 หนุนให้กำไรตลาดหุ้นไทยน่าจะแตะระดับ 9% หรือมีโอกาสสูงกว่านี้หากเศรษฐกิจดีกว่าคาด รวมทั้ง P/E ตลาดหุ้นไทยที่มีแนวโน้มลดลงไปต่ำที่ 14 เท่าในปี 2561 ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค โดยเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น โดยกำหนดดัชนีหุ้นไทยในระยะ 12 เดือนข้างหน้าที่ 1766 จุด แต่ในระยะ 1-2 เดือน จะมีโอกาสแตะระดับ 1700 จุดได้


ต่างชาติรอดูท่าที Fed และสลับมาขายหุ้นทุกประเทศในภูมิภาค
  นักลงทุนต่างชาติน่าจะรอดูผลการประชุม Fed ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. (ทราบผลเช้าวันที่ 21ก.ย.) จึงชะลอการลงทุนลง โดย วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 387 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน) และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ นำโดยไต้หวัน 200 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 146 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), อินโดนีเซีย 17 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 14), ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 19 ล้านเหรียญ หรือ 614 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อ 5 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 736 ล้านบาท
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2.43 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิอีก 932 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!