- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 19 September 2017 16:48
- Hits: 2078
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET มีโอกาสเดินหน้าแตะ 1,675 จุด มีแรงหนุน Fund Flow ตราบที่ตลาดหุ้นไทยยัง laggards แม้จะปรับตัวขึ้นราว 7%(ytd) แต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซีย และ ตลาดหุ้นโลก แต่อาจจะเห็นการปรับฐานระหว่างวัน ยังคงชอบหุ้น Laggards THCOM(FV@B24), INTUCH([email protected]) และ PTTEP(FV@B116) เลือกเป็น Top picks ระยะสั้นแนะหุ้น KGI ด้วย volume ตลาดที่เพิ่มขึ้นวันละ 7 หมื่นล้านบาท คาดจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่าสมมติฐานที่คาดไว้ 4.5 หมื่นล้านบาท
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย.....หุ้น Big Cap หนุนตลาด
วานนี้ตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยช่วงเข้าปรับตัวขึ้นแรงจนสามารถขึ้นแตะจุดสูงสุดที่ 1678 จุด ก่อนช่วงบ่ายจะย่อมาปิดที่ 1670.20 จุด เพิ่มขึ้น 9.67 จุด หรือ 0.58% มูลค่าการซื้อขายกว่า 6.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังเห็นแรงซื้อเข้ามาในหุ้น Market Cap ใหญ่
นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงาน-น้ำมัน นำโดย PTT เพิ่มขึ้น 0.97% และ PTTEP เพิ่มขึ้น 1.41% ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อ PTTEP โดยคาดว่าราคาน้ำมันยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ในระยะยาว โดยมีแรงหนุนจากความต้องการใช้ที่ปรับตัวขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมถึง supply ที่ลดลงช่วงสั้นๆ ตามเหตุการณ์ต่างๆ ขณะที่ปัจจัยเชิงพื้นฐานยังแข็งแกร่งและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหุ้นอื่นๆในกลุ่มที่ปรับขึ้นคือ กลุ่มโรงกลั่น IRPC เพิ่มขึ้น 1.60% และ TOP เพิ่มขึ้น 0.54%
ส่วนกลุ่มอื่นๆที่ปรับเพิ่มขึ้น คือหุ้นกลุ่มขนส่งโดย AOT เพิ่มขึ้น 2.60% รวมถึงหุ้นกลุ่มสายการบินทั้ง THAI, NOK, BA, AAV เพิ่มขึ้น 3.24%, 1.92%, 1.08% และ 1.59% ตามลำดับ อีกกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้ดีคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดย KBANK เพิ่มขึ้น 0.93%, TMB เพิ่มขึ้น 0.81%, SCB เพิ่มขึ้น 0.32%, BBL เพิ่มขึ้น 0.52% และ KTB เพิ่มขึ้น 0.53%
สำหรับกลุ่มที่ปรับตัวลงคือกลุ่มโรงพยาบาลโดย BDMS ลดลง 0.48% และ BH ลดลงถึง 1.86% ซึ่งราคาหุ้นของ BH เกิน Fair value ของฝ่ายวิจัยไปมากแล้วจึงเห็นการขายทำกำไรออกมา ตามด้วยกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) คือ RS ลดลง 3.26%, PLANB ลดลง 2.46% และ VGI ลดลง 0.89%
ส่วนราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงอย่าง SPALI วานนี้ลงแรงกว่า 13.58% เนื่องจากบริษัทได้ขึ้นเครื่องหมาย XW คือ SPALI-W4 โดยจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 4 หุ้นเดิม ต่อ Warrant 1 หน่วย โดยมีราคาการใช้สิทธิ 4 บาทต่อหุ้น มีอายุ 1 ปี และ IHL ลดลงกว่า 8.04% จะมีการใช้สิทธิ IHL-W1 ในวันที่ 29 ก.ย. นี้
แนวโน้มของดัชนีวันนี้มีโอกาสพักฐาน หลังจากตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมาจนถึงวานนี้ ดัชนีปรับขึ้นมาแล้วกว่า 6% โดยประเมินแนวรับที่ 1660 จุด
เงินเฟ้อยุโรปกระเตื้องหนุนการใช้นโยบายการเงินตึงตัวตามสหรัฐ
เงินเฟ้อยุโรปกระเตื้องขึ้น เดือน ส.ค. ขยายตัว 1.5%yoy จากที่ทรงตัว 1.3% ติดต่อกัน 2 เดือน สาเหตุมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและหมวดเคหสถานเพิ่มขึ้น เทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายยุโรปปัจจุบันยังอยู่ที่ 0% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ – 1.5% ตอกย้ำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีโอกาสกลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวเร็วขึ้น สอดคล้องกับอังกฤษ ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อ ในเดือนเดียวกัน 2.9%yoy จากที่ทรงตัว 2.6% ติดต่อกัน 2 เดือน เทียบกับดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อราว -2.65% บ่งชี้ได้ว่าอังกฤษมีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ายุโรป และสอดคล้องกับผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ BOE ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ที่คณะกรรมการส่วนใหญ่เชื่อว่าอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และในไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่งผลให้ทั้งค่าเงินยูโรและปอนด์แกว่งตัวในทิศทางแข็งค่า ล่าสุด เงินยูโรแข็งค่า13.78%ytd และเงินปอนด์แข็งค่า 9.6%ytd และน่าจะแข็งค่าจนกว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยจริง ซึ่งคาดว่าจะเป็นปี 2561
และวันนี้เป็นวันแรกของการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ระหว่าง 19-20 ก.ย. (ทราบผลเช้าวันที่ 21ก.ย.) คาดยังคงดอกเบี้ยฯ 1.25% ตามเดิม เพราะดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเริ่มะลอตัว ล่าสุด ยอดค้าปลีก(Retail sales) เดือน ส.ค. พลิกกลับมาติดลบ 0.2%mom จากที่ 2 เดือนก่อนหน้าขยายตัว 0.3% ผลจากยอดขายรถยนต์ที่หดตัว 1.6% mom จากผลกระทบพายุเฮอริเคน Harvey พายุเฮอร์ริเคน Irma ขณะที่เงินเฟ้อล่าสุด พุ่งขึ้น 1.9%yoy จาก 1.7%yoy ในเดือนก่อนหน้า แต่น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว และเชื่อว่า Fed ยังเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นปีหน้า รวมขึ้น 3 ครั้ง
และ 20-21 ก.ย.ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดยังคงดอกเบี้ยฯที่ -0.1% และคงวงเงิน QQE ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ตั้งแต่ พ.ย. 2557 ควบคู่กับการรักษาเส้น Yield Curve โดยความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ คาด BOJ จะยังคงนโยบายการเงินจนกว่านายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ครบกำหนดวาระบริหารประเทศ หรือ พ้นสภาพเป็นผู้นำรัฐบาล หากมี ยุบสภา ก่อนครบวาระ คาดว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ราว 22 ต.ค.2560 จากเดิม เม.ย.2561 ซึ่งเป็นเวลาที่ครบกำหนดวาระบริหารประเทศ) อย่างไรก็ตามขึ้นกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่น และอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวต่ำ ล่าสุด 0.4%yoy ติดต่อกัน 5 เดือน ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ BOJ วางไว้ที่ 2%
ธปท. น่าจะยืนดอกเบี้ยต่ำไปถึง 1H61 ด้วยสภาพที่ยังสูงอยู่
กระทรวงการคลังยังคงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบายฯยังมีต่อเนื่อง จากปัจจุบันดอกเบี้ยทรงตัวที่ 1.5% ตั้งแต่ เม.ย.2558 เนื่องจากเงินเฟ้อไทยยังต่ำ ล่าสุดเดือน ส.ค. 0.32%yoy (เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 จากก่อนหน้าที่ติดลบ 0.04%yoy และ 0.05% ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ทำให้เฉลี่ย ม.ค.- ส.ค. 0.56%yoy) และค่าเงินบาทที่แข็งค่าราว 7.7% นับตั้งแต่ต้นปี (แข็งค่ามากสุดในภูมิภาค) จากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ราว 3.11 แสนล้านบาทนับตั้งแต่ต้นปี(ytd) (ตราสารหนี้ระยะสั้นราว 44.3%ของตราสารหนี้ทั้งหมด) และตราสารทุนเล็กน้อยราว 1.63 หมื่นล้านบาท (ytd) เพื่อลดการเก็งกำไรระยะสั้น ขณะที่ ธปท. มองว่าดอกเบี้ยนโยบายฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมองว่าการลดดอกเบี้ยไม่เร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้หากพิจารณาสภาพคล่องส่วนเกินในระบบไทยยังอยู่ในระดับสูงราว 4.4 แสนล้านบาท และ LD ratio ยังทรงตัวที่ 83.6% และส่วนต่างดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อยังเป็นบวก 1.18% ตอกย้ำว่ายังมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ แต่เชื่อว่าจะค่อยๆลดลง เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนทยอยออกหุ้นกู้ น่าจะค่อยๆดึงสภาพคล่องในระบบลดลง แต่เชื่อว่าจะลดลงเมื่อการลงทุนภาครัฐมีความคืบหน้า ทำให้มีความต้องการใช้เงินทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะกดดันให้ดอกเบี้ยในประเทศขยับขึ้นในช่วง 2H2561 ราว 0.25-0.5%
Fund Flow ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงไทย
วานนี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจาก Fund Flow ไหลเข้าเพิ่มขึ้น ด้วยมูลค่าราว 399 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) แม้มีตลาดหุ้นอยู่ 2 ประเทศ ที่ถูกขายสุทธิ แต่แรงขายเริ่มลดน้อยลง คือ อินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 21 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 13) และฟิลิปปินส์ 1 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ ต่างชาติซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 266 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวัน 95 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 5 วัน) และไทยที่ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ 60 ล้านเหรียญ หรือ 1.98 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 1.18 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 5.77 พันล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ขายสุทธิอีก 4.58 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
การซื้อหุ้นไทยของต่างชาติ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังหนุนตลาดหุ้นช่วงที่เหลือ
นับจากช่วงปลายเดือน ส.ค.2560 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะที่ถูกขับเคลื่อนด้วย Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยช่วง 14 วันทำการที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิถึง 12 วัน มูลค่ารวม 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นยอดซื้อสุทธิสูงที่สุดเมื่อเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอี่นๆ แต่เมื่อพิจารณาสถานการณ์ถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติปัจจุบันยังต่ำมาก กล่าวคือ ณ สิ้นเดือน ส.ค.2560 เมื่อรวมยอดปิดโอนที่มีชื่อนักลงทุนต่างชาติ 24.16% และมีการปิดโอนในชื่อ NVDR อีก 6.78% รวมเป็น 30.94% ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดนับจากกลางปี 2547 และเป็นระดับที่ต่ำกว่าจุดสูงสุดที่เคยถือครองที่กว่า 36.88% ช่วงต้นปี 2555
และ หากพิจารณาสถานะการซื้อ-ขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่เป็นมูลค่าตลาด พบว่าในช่วงปี 2552 จนถึง กลางปี 2556 มูลค่าการซื้อสุทธิที่เป็นราคาตคลาด หุ้นไทย มียอดสะสมสูงถึง 4.7 แสนล้านบาท แต่หลังจากนั้นได้มีการขายออกมาอย่างต่อเนี่องจนมูลค่าที่ซื้อสุทธิสะสมในช่วงเวลาดังกล่าว (2552-กลางปี 2556) เข้าใกล้ ศูนย์ ช่วงปลายปี 2558 หลังจากนั้นก็เห็นแรงซื้อกลับเข้ามาเพียงเล็กน้อยในปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมียอดซื้อสุทธิสะสมอยู่ที่ราว 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งยังถือว่าระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับจุดสูงสุดดังกล่าว ซึ่งเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า สถานการณ์ถือครองหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำ
ด้วยความเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 4 เริ่มเดินหน้าเต็มที่ในปี 2561 กำไรตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ในระดับ 9% หรือมีโอกาสสูงกว่าหากเศรษฐกิจดีกว่าคาด และ P/E ตลาดหุ้นไทยที่มีแนวโน้มลดลงไปต่ำที่ 14 เท่าในปี 2561 ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค โดยเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ขณะที่กระแสการหมุนเวียนของเม็ดเงินจากตลาดหุ้นที่แพง หรือ ขึ้นไปก่อนหน้านี้ กลับมาตลาดหุ้นใสเอเชียที่ Laggards เช่น ไทย และ จีน ยังทำให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาส outperform ในช่วงที่เหลือ ของปีนี้ได้ โดยยังคงกำหนดดัชนีหุ้นไทยในระยะ 12 เดือนข้างหน้าที่ 1766 จุด แต่ในระยะ 1-2 เดือน จะมีโอกาสแตะระดับ 1700 จุดได้
SET ฟื้นแรงพร้อม Volume สูงหนุนกำไรโบรกเกอร์ ลงทุน KKP, TCAP
การที่ SET Index ปรับตัวแรงจนทำลายสถิติเดิม พร้อมทำสถิติสูงใหม่ 1,670 จุดเมื่อวานนี้ พร้อมด้วยมูลค่าการซื้อเฉลี่ยต่อวัน 7 หมื่นล้านบาท (แต่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันช่วง 8M60 4.33 หมื่นล้านบาท vs วันละ 5.02 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2559) หากมูลค่าการซื้อขายต่อวันยังยืนที่ระดับ 7.0 หมื่นล้านบาท ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นี้คาดว่าจะทำให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยตลอดปี 2560 ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท นั่นหมายถึงกำไรของบริษัทหลักทรัพย์ที่เน้นธุรกิจนายหน้าจะทำกำไรได้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งเพราะมิใช่เพียงแต่กำไรจากมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น (กำหนดให้ net com และ ส่วนแบ่งตลาดเท่าเดิม) แต่ยังทำให้กำไรจากพอร์ตการลงทุนดีขึ้นเช่นกัน จึงแนะนำลงทุนระยะสั้นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีส่วนตลาดในลำดับต้น ๆ คือ
MBKET ส่วนแบ่งตลาดฯ 7.04%ytd net com 0.13%
FSS ส่วนแบ่งตลาดฯ 5.16%ytd net com 0.1%
KGI ส่วนแบ่งตลาดฯ 3.22%ytd net com 0.1%
CNS ส่วนแบ่งตลาดฯ 3.00%ytd net com 0.13%
นอกจากนี้ยังดีต่อหุ้นที่มีฐานะเป็น holding company ซึ่งถือหุ้นในธุรกิจหลักทรัพย์ได้แก่ KKP([email protected]) ปัจจุบันถือหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ภัทร 99.98% มีส่วนแบ่งตลาด 4.93%ytd TISCO([email protected]) ถือหุ้นสุทธิในบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ 99.99% ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด 2.54%ytd และ TCAP(FV@B53) ถือหุ้นสุทธิในบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต 50.96% ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด 3.97%ytd ในภาวะนี้นักวิเคราะห์สถาบันการเงินของ ASPS แนะนำซื้อหุ้นทั้ง 3 แห่ง เพื่อการลงทุนระยะยาว
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636