- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 12 September 2017 16:55
- Hits: 1957
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นไทยปรับฐานระหว่างวัน ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะช่วยลดความร้อนแรง แต่การที่ยัง Laggards เชื่อว่ายังมีโอกาสเดินหน้าแตะ 1650 จุด โดยจากดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หลัง CCI ฟื้นตัว หนุนการบริโภคภาคครัวเรือน เป็นอีกกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจนอกเหนือจาก การลงทุนเอกชน-รัฐ หนุนกำไรตลาดหุ้นไทยเติบโตต่อเนื่อง กลยุทธ์ฯ สะสมหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ WHA([email protected]), SCC(FV@B620) และ UNIQ(FV@B25) ยังเลือก ROBINS(FV@B67) เป็น Top Pick
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย หุ้น Big Cap กลุ่ม ธ.พ. ช่วยประคองตลาด
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยระหว่างวันแกว่งตัวในแดนบวก แต่ปิดตลาด ที่ 1637.54 จุด เพิ่มขึ้นเพียง 1.93 จุด หรือ 0.12% มูลค่าการซื้อขาย 5.39 หมื่นล้านบาท หุ้น Market Cap ขนาดใหญ่ยังคงหนุนนำตลาดฯ นำโดยกลุ่มขนส่ง โดยเฉพาะขนส่งทางเรือ ทั้ง PSL, TTA และหุ้นโลจิสติกส์ JWD ปรับขึ้นโดดเด่น 5.5%, 2.02% และ 1% ตามลำดับ สายการบิน ทั้ง THAI และ AAV ปรับขึ้น 3.98% และ 0.81% และ AOT เพิ่มขึ้น 2.71%
ถัดมาคือ กลุ่ม ธ.พ. ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดย KBANK เพิ่มขึ้น 1.02%, BBL เพิ่มขึ้น 1.02%, SCB เพิ่มขึ้น 1.02% และ BAY เพิ่มขึ้น 1.02% กลุ่มอสังหาฯ ทั้ง CPN QH และ ORI เพิ่มขึ้น 2.34%, 4.12% และ 3.28% ตามลำดับ และค้าปลีก นำโดย ROBINS เพิ่มขึ้น 3.145% BJC เพิ่มขึ้น 2.48%, HMPRO เพิ่มขึ้น 0.97%
ส่วนกลุ่มที่นำลง คือ กลุ่มพลังงาน-น้ำมัน โดย PTT และ PTTEP ลดลง 0.49% และ 1.39% ตามมาด้วยกลุ่มปิโตรฯ ทั้ง IRPC และ PTTGC ลดลง 1.65% และ 0.97% และ ICT โดยผู้ให้บริการมือถือทั้ง ADVANC และ TRUE ลดลง 0.52% และ 1.65% ตามลำดับ และ INTUCH และ THCOM ลดลง 0.42% และ 0.67% ตามลำดับ
โดยรวม SET Index ยังอยู่แกว่งตัวขาขึ้น แม้การเคลื่อนไหวช่วงนี้ดัชนีจะดูหน่วงๆ มีพักตัวลงมาบ้างแต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกที่สนับสนุน เชื่อว่าในท้ายที่สุดดัชนีก็จะปรับขึ้นต่อและผ่านแนวต้านเดิม 1650 จุดไปได้
คลังหนุนลดดอกเบี้ย เพื่อลดการแข็งค่าเงินบาท หนุนตลาดหุ้นไทย
ตามที่กระทรวงการคลัง ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบายฯ ลง จากปัจจุบันที่ 1.5% (ตั้งแต่ เม.ย.2558) เพราะเห็นว่าเงินเฟ้อยังต่ำ ล่าสุดเดือน ส.ค. 0.32%yoy (เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 จากก่อนหน้าที่ติดลบ 0.04%yoy และ 0.05% ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ทำให้เฉลี่ย ม.ค.- ส.ค. 0.56%yoy) และค่าเงินบาทที่แข็งค่าราว 8.3% นับตั้งแต่ต้นปี (แข็งค่ามากสุดในภูมิภาค) จากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ราว 2.95 แสนล้านบาทนับตั้งแต่ต้นปี(ytd) (ตราสารหนี้ระยะสั้นราว 43.6%ของตราสารหนี้ทั้งหมด) และตราสารทุนเล็กน้อยราว 5.9 พันล้านบาท (ytd)เพื่อลดการเก็งกำไรระยะสั้นและกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับมาตรการคลัง ซึ่งสวนทางกับ ธปท. เชื่อว่าดอกเบี้ยฯ อยู่ระดับที่เหมาะสม และมองว่าการลดดอกเบี้ยไม่เร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นผลจากอุปทานและเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน
ทั้งนี้หากพิจารณาสภาพคล่องส่วนเกินในระบบไทยยังอยู่ในระดับสูงราว 4.4 แสนล้านบาท และ LD ratio ยังทรงตัวที่ 83.6% และส่วนต่างดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อยังเป็นบวก 1.18% ตอกย้ำว่ายังมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ สอดคล้องกับดังเห็นได้จากบางประเทศในภูมิภาคที่ลดดอกเบี้ยฯ ไปก่อนในช่วงก่อนหน้าคือ อินเดียและอินโดนีเซียลด 1 ครั้งในปีนี้ราว 0.25% อยู่ที่ 6%, 4.5% ตามลำดับ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยหักอัตราเงินเฟ้อเป็นบวก โดยอินเดียมีส่วนต่าง 3.64% (ดอกเบี้ย 6.0% เงินเฟ้อ 2.36%) และอินโดนีเซียมีส่วนต่าง 0.68% (ดอกเบี้ย 4.5% เงินเฟ้อ 3.82%) การลดดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นในระยะสั้นๆ
ภาพรวมเดือน ก.ย. ต่างชาติซื้อหุ้นไทยเพียงแห่งเดียว สวนทางตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค
วานนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ด้วยมูลค่าราว 305 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ นำโดยไต้หวันถูกขายสุทธิ 143 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 99 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2), อินโดนีเซีย 47 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 9), ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิเล็กน้อย 11 ล้านเหรียญ หรือ 377 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 888 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน)
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาตลอดทั้งเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา (mtd) พบว่า ต่างชาติให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังเป็นเพียงตลาดเดียวในภูมิภาคที่ถูกต่างชาติซื้อสะสมสุทธิ สวนทางกับตลาดหุ้นอื่นๆที่ถูกขายสุทธิทั้งหมด
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ สถาบันฯสลับมาขายสุทธิเล็กน้อย 634 ล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องอีก 1.71 หมื่นล้านบาท หนุนให้ยอดซื้อตราสารหนี้รวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 2.96 แสนล้านบาท (ytd) และส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.38%
พักฐานยังมีโฮกาสเดินหน้าต่อ 1,650-1,655 จุด
ตลาดอยู่ในภาวะที่ค่อยๆ แกว่งขึ้น หลังจากผ่านแนวต้านสำคัญที่ระดับ 1620-1625 จุดมาได้ เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เชื่อว่าแนวต้านถัดไปที่ 1650-1655 จุด มีโอกาสที่จะขึ้นไปทดสอบได้ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกซักพักหนึ่ง ด้วยปัจจัยสนับสนุนดังที่กล่าวไปวานนี้ คือ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้น ปี 2559 เราได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ ในการเร่งเดินหน้าประมูลการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ การผลักดันลงทุนใน EEC มุ่งส่งเสริมการลงทุน ใน 10 อุตสาหกรรม S curve และ New S curve ในปีนี้ได้แรงหนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวในทุกตลาดและ ล่าสุด พบว่าการลงทุนเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวจากการนำเข้าสินค้าทุนมากขึ้น และคาดว่าการลงทุนเอกชนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องนับจากนี้ถึงปี 2561 จากยอดขอ BOI ณ สิ้น ก.ค. นี้ สูงถึง 3 แสนล้านบาท และเป็นที่สังเกตว่า 46% ของยอดเงินที่ขอ BOI ลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-curve ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีบ่งชี้ได้ว่าเอกชนน่าจะเริ่มเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนับจากนี้แทนการลงทุนรัฐ ปัจจัยบวกต่างๆ น่าจะหนุนให้การบริโภคภาคครัวเรือนกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ 2H60 เป็นต้นไป และน่าจะหนุนให้ GDP Growth ปี 2561 ไปแตะ 4%yoy เร่งขึ้นจากปี 2560 ที่ 3.5% เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย
กำไรตลาดฯ ปีหน้า มีโอกาสที่จะเติบโตมากกว่า 8.5% จากปีนี้ที่เติบโตเพียง 7.1% ใกล้เข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการงวด 3Q60 ซึ่งนักวิเคราะห์จะทยอยปรับไปใช้ Fair Value ของปี 2561 ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรตลาดฯ ปีหน้าไว้ที่ 110 บาท จากปีนี้ที่ 101.36 บาท เติบโต 8.5% ซึ่งหากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตได้ใกล้เคียง 4% ก็มีโอกาสที่กำไรตลาดฯ จะโตโดดเด่นกว่านี้
สุดท้าย ตลาดหุ้นไทยยัง laggard แม้ว่าผลตอบแทนจากต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบันจะอยู่ที่ 6.1% แต่ก็ยังคงต่ำกว่าตลาดหุ้นภูมิภาค อาทิ ตลาดหุ้นอินเดีย ให้ผลตอบแทน 19.7%ytd ฟิลิปปินส์ ให้ผลตอบแทน 17.7% อินโดนีเซีย ให้ผลตอบแทน 10.9% ยกเว้นมาเลเซียและจีนปรับขึ้นมากกว่าไทยเล็กน้อยที่ 8.6% เท่ากัน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นมาแรงก่อนหน้า เริ่มมีการพักตัวติดแนวต้านหรือปรับลดลงนับตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. ถึงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ อินเดีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งอินโดนีเซีย
การปรับขึ้นของตลาดหุ้นหลายแห่ง ทำให้ระดับ expected P/E ปีนี้ขยับสูงขึ้น โดยตลาดหุ้นอินเดียพุ่งสูงถึง 20.8 เท่า ตามด้วยฟิลิปปินส์ 19.3 เท่า อินโดนีเซียและมาเลเซียเท่ากันที่ 16.7 เท่า ยกเว้นตลาดหุ้นไทยและจีนยังต่ำกว่า คือ 16.1 และ 14.9 เท่า ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว expected P/E ปีนี้สูงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ 18.9 เท่า หรือตลาดหุ้นยุโรปราว 16 เท่า ด้วยเหตุนี้เชื่อว่าภาพของการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากตลาดที่ outperform มายังตลาด underperform ยังมีอยู่ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาแล้วที่กำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน
หุ้นอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ROBINS ยังเป็นหุ้น Laggards P/E ต่ำสุด
ดังที่กล่าวไปในหลายวันก่อนหน้าถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(CCI) เดือน ส.ค. พลิกกลับมาบวกอีกครั้ง หลังจากที่ลดลงติดต่อกันในช่วง 4 เดือนก่อนหน้า ซึ่งหลังจากนี้คาดว่า ผู้บริโภคน่าจะกล้าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นดัชนีชี้นำ (Leading Indicator) ที่สำคัญในกลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง ซึ่งจากสถิติในอดีต พบว่ายอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของกลุ่มค้าปลีก จะฟื้นตัวในอีก 3-6 เดือนจากนี้ หลังจากที่มีการเพิ่มตัวขึ้นของ CCI จึงถือเป็น sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มฯ โดยตรงต่อผู้ประกอบการค้าปลีก ในประเทศซึ่งได้มีการปรับตัว รับมือสำหรับการแข่งขันที่รุนแรง จากธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ เช่น การลดพื้นที่ขายในห้างฯ ลง และมาเน้นให้เช่าพื้นที่มากขึ้น พร้อมปรับเปลี่ยนร้านค้า ให้มีร้านค้าหลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ร้านกาแฟ เพื่อให้เหมาะสมกับ Lifestlye คนรุ่นใหม่ที่อยู่คอนโดมิเนียม ที่ต้องอาหารทานนอกบ้าน และอากาศที่ร้อนทำให้คนไทยชอบเดินหน้าห้าง หรือใช้เวลาในการอยู่ในห้างนานขึ้น ทั้งการพบปะเพื่อนฝูง และรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น
ขณะที่คาดหวังว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะเติบโตเฉลี่ย 4% เทียบกับปี 2560 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการลงทุนภาครัฐที่นำหน้าไปก่อนกว่า 1 ปีที่ผ่านมา การส่งออกที่กระเตื้องขึ้นตามเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และล่าสุด การลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณบวกมากขึ้นโดยเฉพาะยอดขอ BOI ในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้สูงถึง 3 แสนล้านบาท กระเตื้องจากยอดเพียง 6 หมื่นล้านบาทในงวด 1Q60 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากภาครัฐมีการส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกหรือ EEC ใน 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา 3 เครื่องจักรที่เริ่มทำงานพร้อมกัน น่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน และกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนนับจากนี้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจาก นโยบายจัดระเบียบร้านอาหารบนทางเท้า(Street Food) ทั่วกรุงเทพฯของรัฐบาลที่เริ่มดำเนินมาในช่วงปีก่อนหน้า กล่าวคือ ห้ามผู้ขายอาหารแผงลอย และรถเข็นขายอาหาร ส่งผลให้ร้านรถเข็นลดลง ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปรับประทานอาหารสำเร็จรูป และร้านอาหารฟู้ดคอร์ตในห้างมากขึ้น สะท้อนจากตลาดอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานของไทยช่วง 8M60 เติบโต 20%yoy มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท และสอดคล้องกับ นายสมเกียรติ มรรคนาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท MBK เผยว่ารายได้อาหารภายในห้าง MBK ช่วง 8M60 เติบโต 10%yoy
โดยรวมนโยบายจัดระเบียบร้านอาหารบนทางเท้าดังกล่าว ดีต่อหุ้นห้างสรรพสินค้า อาทิ MBK, ROBINS, CPN, BJC เป็นต้น
โดยสรุป เชื่อว่าอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) จะมีแนวโน้มดีขึ้น YoY ในงวด 3Q60 (จากหดตัว YoY ในงวด 2Q60) ก่อนจะพลิกกลับมาเป็นบวกในงวด 4Q60 และบวกต่อเนื่องในปี 2561 โดยคาดว่ายอดขายสาขาเติบโตจะเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 1.5% โดยรวมจะช่วยให้กำไรปี 2560-2562 จะเติบโตได้ราว 20%, 15% และ 16% ตามลำดับ ยังคงชอบ ROBINS (FV@B67) และเลือกเป็น Top pick จากที่ ROBINS เป็นผู้ค้าปลีกห้างสรรพสินค้า ที่ปรับตัวโดยการเพิ่มพื้นที่เช่าเป็น 30-40% ของพื้นที่รวม พร้อมกับคัดเลือกผู้เช่าที่ให้บริการหลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม สันทนาการ แทนผู้เช่าเดิมที่ขายสินค้าแฟชั่น ขณะที่พื้นที่ในห้างสรรพสินค้า มีสินค้าหลักประกอบด้วย สินค้าแฟชั้นประมาณ 39% สินค้าเวชภัณฑ์และความงาม 14% สินค้าบ้าน 18% ที่เหลือเป็นสินค้าหมวดเด็ก และเบ็ดเตล็ด 29% นอกจากนี้กลยุทธ์สร้าง House band เช่น Payless, Justbuy, Great Value ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพปานลาง-ดี ROBINS จึงตอบโจทย์สังคมรุ่นใหม่ได้รอบด้าน ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมี Expected P/E 23 เท่าปีนี้ และ 21 เท่าปีหน้า ต่ำสุดในกลุ่มฯ) และราคายังมี Upside 15.5% (อ่านรายละเอียดธุรกิจค้าปลีกฉบับยาว “Company Update” ที่ออกในเย็นวันศุกร์ที่ 8 ก.ย. 2560)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636