- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 08 September 2017 16:38
- Hits: 994
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ทะลุ 1626 จุด ในรอบ 4 ปี พร้อมมูลค่าซื้อขายที่สูงขึ้น ขณะที่ยังมีปัจจัยหนุนรอบด้าน ทั้งการลงทุนรัฐ-ลงทุนเอกชน (EEC และ BOI) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้น หนุนการใช้จ่ายใน 2H60 คาด GDP Growth ปีนี้จะอยู่ที่ราว 3.5% และ 4% ปีหน้า และสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัวทั้งราคาน้ำมันและถ่านหิน กลยุทธ์ฯ สะสมหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ เลือก WHA([email protected]), SCC(FV@B620) และ UNIQ(FV@B25) เป็น Top picks ระยะสั้นแนะ ITD แนวโน้มผลกำไรในงวด 2H60 ดีขึ้น รายได้เริ่มสูงกว่าภาระดอกเบี้ย และระยะยาวค่อยๆ ดีขึ้น แต่ยังด้อยกว่าคู่แข่งขัน
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย : SET Index ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี
วานนี้ตลาดหุ้นไทยสดใสมาก ปรับตัวขึ้นแรงกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค โดยปิดตลาดฯที่ 1632.66 จุด ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี เพิ่มขึ้น 11.36 จุด หรือ 0.71% มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท เหตุผลหลัก เชื่อว่า มาจากที่ SET Index ให้ผลตอบแทนที่ underperform กว่าตลาดหุ้นแห่งอื่นๆ ที่ปรับขึ้นไปมากแล้ว เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง (เพราะตลาดเหล่านี้ underperform ในปี 2559 แต่ขณะนี้ตลาดเหล่านี้เริ่มปรับฐานถูกขายทำกำไร) และแม้ตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวขึ้นมา 5.8% จากปี 2559 แต่พบว่า Expected P/E ยังต่ำสุดในภูมิภาค ยังเป็นปัจจัยหนุน Fund Flow สะท้อนจาก วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิไปกว่า 1.1 พันล้านบาท
ทั้งนี้พบว่า ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมขยับขึ้น โดยเฉพาะหุ้น Market Cap ใหญ่ ในกลุ่มพลังงานที่ขยับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ อย่าง PTT และ PTTEP เพิ่มขึ้น 2.01% และ 2.27% ตามลำดับ หุ้นปิโตรเคมี PTTGC เพิ่มขึ้น 0.99%, IRPC เพิ่มขึ้น 1.67% โรงไฟฟ้าทั้ง EA, TPIPP, EGCO เพิ่มขึ้น 2.60%, 1.33%, 1.31% ตามลำดับ และ ตามด้วยหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มฟื้นตัว นำโดย KBANK เพิ่มขึ้น 1.99%, BBL เพิ่มขึ้น 1.09%, BAY เพิ่มขึ้น 1.33%, SCB เพิ่มขึ้น 0.34% และ TMB เพิ่มขึ้น 1.71% และ หุ้นค้าปลีก ฟื้นตัวหลัง CCI ปรับตัวขึ้นในเดือน ส.ค. นำโดย BJC เพิ่มขึ้น 6.19% และ HMPRO เพิ่มขึ้น 2.94 %
สำหรับหุ้นรายตัวที่ราคาปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นอย่าง WHA ปิดที่ 3.38 บาท เพิ่มขึ้น 6.96% หลังจากก่อนหน้านี้ราคา Laggard กลุ่มฯ มาโดยตลอด WHA เป็นหนึ่งในหุ้น Top picks ในกลุ่มนิคมฯ เพราะน่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนภาครัฐตาม EEC และยอดขอรับ BOI ในงวด 6 เดือนแรกแตะ 3 แสนล้านบาท สะท้อนการลงทุนเอกชนจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับจากนี้ ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการใน 2H60 คาดจะโดดเด่นจากทั้ง ธุรกิจโรงไฟฟ้า GTS2 และ GTS3 ที่จะ COD ในเดือนก.ย. และ พ.ย. นี้และยังมีการขายสินทรัพย์เข้า REIT อีก 4.8 พันล้านบาท หนุนกำไรสุทธิปีนี้อยู่ที่ 3,058 ล้านบาท เติบโต 5.5% yoy
โดยรวม การที่ดัชนีก้าวข้ามแนวต้าน 1626 จุดไปได้อย่างเด็ดขาด พร้อมมูลค่าการซื้อขายสนับสนุน เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความเชื่อว่า SET Index ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยแนวต้านถัดไปที่ 1640 จุด และแนวรับที่ 1626 จุด
ECB ยังไม่ฟันธงจะตัดลด QE แต่ดัชนีชี้นำบ่งบอกมีโอกาสใน 1H61
ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB) เมื่อคืนนี้เป็นไปตามที่คาด คือยังคงอัตราดอกเบี้ยฯ 0.%(ตั้งแต่ มี.ค.2559) และยังคง QE (ซื้อสินทรัพย์เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร ช่วงเม.ย.2560 – สิ้นปีนี้) เป็นที่สังเกตว่า ECB ยังไม่ได้ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวเมื่อไหร่ แต่เผยว่าอาจจะขยายระยะเวลาถ้ามีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ASPS เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อยุโรปยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย (เงินเฟ้อ ส.ค 1.5% yoy และดอกเบี้ย 0%) และเศรษฐกิจยุโรปยังขยายตัวแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน คือ อัตราการว่างงานเหลือ 9.1% (ต่ำสุดในรอบ 9 ปี) และตอกย้ำจากรายงาน GDP Growth ยุโรป งวด 2Q60 ขยายตัว 2.3%yoy จาก 2.0% ใน1Q60 (1H60 ขยายตัว 2.15% VS. IMF คาดทั้งปี 60 ขยายตัว 1.9% มีโอกาสเป็นไปสูง) มาจากการบริโภคภาคเอกชนและการบริโภคภาครัฐ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นใน 2Q60 ทำให้เชื่อว่า ECB น่าจะเริ่มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวในปีหน้า ผ่านการปรับลด QE และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าเกิดขึ้นต่อในระยะถัดไป ขณะที่ค่าเงินยูโรเทียบดอลลาร์ยังคงแข็งค่าต่อเนื่องราว 14.36%นับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งตอบประเด็นการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัว ยุโรปไปหมดแล้ว สวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ที่ยังอ่อนค่าต่อราว 10.48% นับตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดอยู่ที่ 91.43 จุด
การว่างงานในสหรัฐเพิ่ม สะท้อนเศรษฐกิจผ่านจุดสูงสุด
สหรัฐ ระยะสั้นยังให้น้ำหนักประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะ(Debt Ceiling) ซึ่งปัจจุบันมี ยอดหนี้ฯ สูง 19.97 ล้านล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่กำหนด 19.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ล่าสุดความคืบหน้าการเจรจาผลการเจรจาเบื้องต้นระหว่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทั้งฝ่ายรัฐบาลทรัมป์ และฝ่ายค้านมีความเห็นตรงกันว่าจะยอมให้ขยายเพดานหนี้ชั่วคราว ออกไปถึง 8 ธ.ค.60 (จากเดิม 15 ธ.ค.60) และเพิ่มงบประมาณฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากพายุฤดูร้อน Harvey ถล่มรัฐเท็กซัส วงเงิน 1.52 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และในที่สุดเชื่อว่าต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้งหนึ่งขยายเพดานหนี้ในระยะยาวอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มชะลอการร้อนแรง สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ แกว่งตัว 4.3-4.4% (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) มาตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.-ปัจจุบัน บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐที่เริ่มทรงตัวและเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ (Full employment) และล่าสุดยอดผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 6.2 หมื่นรายจากสัปดาห์ก่อนหน้า(สูงสุดตั้งแต่ เม.ย.2558) และมากกว่าที่ตลาดคาดจะเพิ่ม 5 พันราย เนื่องจากผลกระทบพายุฤดูร้อน Harvey ทำให้มีผู้ว่างงานมากขึ้น ทำให้น่าจะกระทบต่ออัตราการว่างงานเดือนถัดไป ก.ย. เพิ่มขึ้น โดยรวมเชื่อว่าตลาดได้รับรู้การชะลอขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ของ Fed ไปแล้ว
โดยสรุป เชื่อว่ากระแสการลงทุนน่าจะมีการสลับกลุ่มจากตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นไปมากจน Valuation ค่อนข้างแพง อย่างเช่น สหรัฐ มายังตลาดหุ้นประเทศที่ยังปรับขึ้นได้น้อย โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังมีระดับ Expected P/E ต่ำสุดในภูมิภาค คือ 15.9 เท่า ในปี 2560 และจะลดลงเหลือ 14.7 เท่าในปี 2561 บวกกับ แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่เป็นไปในเชิงบวก จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจ และน่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ Fund Flow มีโอกาสไหลกลับเข้ามาในระยะถัดไป
ประมูลรถไฟทางคู่ประมูลไปแล้ว จากนี้เป็นรถไฟฟ้าสีม่วงบวก UNIQ, CK,ITD,STEC
วานนี้ รฟท. ประกาศผลการประมูลรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง คือ
1. เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 (งานอุโมงค์รถไฟ) ราคากลาง 9,399 ล้านบาท ปรากฏว่า กิจการร่วมค้า ITD-RT (ITD และบริษัท ไรท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด) เสนอราคาต่ำสุด 9,290 ล้านบาท
2. เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 (ทางยกระดับ) ราคากลาง 10,147 ล้านบาท ปรากฏว่า กิจการร่วมค้า UN-SH (UNIQ และบริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด) เสนอราคาต่ำสุดที่ 10,050 ล้านบาท
โดยสรุปการประมูลรถไฟทางคู่เฟสแรก 5 เส้นทาง 13 สัญญา มูลค่ารวมกันกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท ได้ประมูลในสัญญาหลักไปแล้ว 10 สัญญา เหลือแต่สัญญาการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ จำนวน 3 สัญญา วงเงินรวม 1.22 หมื่นล้านบาท
ประกอบด้วย
1. เส้นทางนครปฐม-หัวหิน สัญญา 3 (signaling) ราคากลาง 2,869 ล้านบาท
2. เส้นทางมาบกะเบา-จิระ สัญญา 4 (signaling) ราคากลาง 2,366 ล้านบาท
3. เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญา 3 (signaling) ราคากลาง 6,986 ล้านบาท
แม้วงเงินดังกล่าว ถือว่าไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือ จะมีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 ก.ม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท และ ทางด่วนดาวคะนอง-พระราม 3 วงเงิน 31,244 ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักต่อการขับเคลื่อนกลุ่มรับเหมาฯ ได้อย่างต่อเนื่อง
ในระยะสั้นผลการประมูลวานนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นของทั้ง ITD และ UNIQ ปรับขึ้น 1.38 และ 1.08% ตามลำดับ โดยเฉพาะ UNIQ ที่ฝ่ายวิจัยมองเป็นข่าวบวกมาก หลังจากก่อนหน้านี้เป็นผู้ชนะประมูลรถไฟทางคู่ลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 ในการประมูลเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ราคา 8,649 ล้านบาท ทำให้ Backlog ล่าสุดของ UNIQ พุ่งขึ้นทะลุ 4 หมื่นล้านบาท เพียงพอรองรับการสร้างรายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยงานทั้ง 2 สัญญาที่ UNIQ ชนะประมูล มีราคาต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย น่าจะทำให้ UNIQ รักษาอัตรากำไรได้ตามเป้าหมายคือ gross margin 15% และ Net Margin 6% ดังนั้น UNIQ ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่รับงานภาครัฐ จากจุดเด่นเรื่องอัตรากำไรที่สูงสุดในบรรดาบริษัทรับเหมารายใหญ่ บวกกับ Valuation ปัจจุบันที่มี PER ต่ำเพียง 18.6 เท่า ต่ำที่สุดเทียบกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อื่นๆ ฝ่ายวิจัยประเมิน Fair Value ที่ 25.00 บาท แนะนำ ซื้อ
ขณะที่ ITD ผลการดำเนินงานดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากมีรายได้มาจากงาน margin สูงมากขึ้น แต่ยังมีค่าใช้จ่าย SG&A รวมถึงดอกเบี้ยจ่ายที่ทรงตัวระดับสูงอยู่ โดยก่อนหน้านี้ ITD มี Backlog สูงถึงกว่า 1.7 แสนล้านบาท (ยังไม่รวมงานรถไฟทางคู่ที่ประมูลได้เพิ่มเติม) เพียงพอรองรับการสร้างรายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งยังมีลุ้นงานโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐทยอยเปิดประมูลหลังจากนี้ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 1 แสนล้านบาท เหมืองแม่เมาะเฟส 9 มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันเทียบกับ Fair Value ที่ 5.07 บาท มี upside อีกราว 15% จึงแนะนำ ซื้อ
พายุในสหรัฐฯ กดดันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
วานนี้ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึง 4.58 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดฯคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.56 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงเล็กน้อยราว 0.14% มาอยู่ที่ 49.09 เหรียญฯต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 6.8% เนื่องจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทั้งพายุ Harvey ที่ได้พัดถล่มรัฐเท็กซัสและหลุยส์เซียนา ส่งผลให้ตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ล่าสุด เพียงสัปดาห์เดียวปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงกว่า 7.5 แสนบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 8.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเป็นการปรับตัวลดลงที่มากสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้การที่พายุ Irma ซึ่งมีความรุนแรงในระดับ 5 และกำลังเคลื่อนตัวในทะเลคาริบเบียนและรัฐฟลอริดา โดยคาดว่าพายุลูกนี้อาจส่งผลกระทบต่อโรงกลั่น และทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันเช่นกัน
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ supply น้ำมันดิบปรับตัวลดลงช่วงสั้น บวกกับฝ่ายวิจัยฯยังมีมุมมองว่าแนวโน้มราคาน้ำมันในระยะยาวยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นจึงยังคงแนะนำหาจังหวะเข้าลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัวสำหรับ PTT (FV@B460) และ PTTEP (FV@B116)
ขณะที่กลุ่มโรงกลั่น แม้ยังได้รับอานิสงค์จากปัจจัยเหตุการณ์พายุต่างๆที่เกิดขึ้น แต่หากหมดฤดูกาลพายุ สถานการณ์ค่าการกลั่นจะกลับสู่ระดับปกติ ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงเลือกแนะนำหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ IRPC ([email protected]) และ PTTGC ([email protected]) จากทิศทางกำไรที่คาดจะ Outperform ได้ในช่วงที่เหลือของปี ประกอบกับมี Upside และ Dividend Yield ในระดับที่ดี
ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค ยกเว้นยังซื้อไทยต่อเนื่อง
วานนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่า 36 ล้านเหรียญ เป็นการขายสุทธิ 3 ประเทศ นำโดย ไต้หวัน 79 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 71 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) และ ฟิลิปปินส์ 18 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 97 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และไทย ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิอีก 34 ล้านเหรียญ หรือ 1.1 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเล็กน้อยเมื่อวานนี้) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 2.18 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
สำหรับตลาดตราสารหนี้สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.6 พันล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ยังคงเดินหน้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยอีก 2.1 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) หนุนให้ยอดซื้อตราสารหนี้รวมตั้งแต่ต้นปีทำจุดสูงสุดที่ 2.61 แสนล้านบาท (ytd) และ Bond Yield 10 ปี ปรับตัวสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในปีนี้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 2.39%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636