WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      การเมืองที่ร้อนแรง และยังกดดันให้ SET Index แกว่งตัว โดยแนวรับ 1,375 จุด ยังเป็นจุดวัดใจ กลยุทธ์ยังเน้นเป็นหุ้นรายตัว ที่แนวโน้มกำไรปี 2557 ฟื้นตัวชัดเจน โดยวันนี้ยังเลือก IVL(FV@B30) นักวิเคราะห์ ASP ปรับเพิ่ม Fair Value ขึ้นจากเดิม 15.4% โดยปรับเพิ่มการเติบโตระยะยาวที่ดีขึ้น

ปัจจัยหนุนจากต่างประเทศไม่มีอะไรใหม่
       การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ขาดแรงกระตุ้นตลาด เนื่องจากได้ผ่านพ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว ล่าสุดมีการรายงานยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.1%mom สูงกว่าที่คาดว่าจะขยายตัว 0.4% และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.5%mom ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี นับว่าสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ค. ลดลงต่ำกว่าที่คาด (หลังจากที่ก่อนหน้ามีการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันถึง 3 สัปดาห์) และจ้างงานนอกภาคการเกษตร ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 85,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้มีผลให้อัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. ลดลงอยู่ที่ระดับ 6.3% (ต่ำกว่าเป้าหมายขั้นแรกที่ FED กำหนดไว้ที่ 6.5%) นับว่าเป็นแรงกระตุ้นกำลังซื้อของภาคครัวเรือน และน่าจะหนุนเศรษฐกิจในงวด 2Q57 หลังจากที่ประสบภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จากความผิดปกติอย่างรุนแรงของอากาศที่หนาวเย็น ในงวด 1Q57

       ดัชนี เศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่า FED ยังคงตัดลด QE เดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ย. นี้ หลังจากนี้น่าจะมีการส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ยืนในระดับต่ำ 0.25% มานาน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ล่าสุด ที่ระดับ 1.5% ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่ 2% ทำให้เชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายน่าจะเกิดขึ้นราวไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ของปีหน้า ด้วยเหตุนี้ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะอยู่ในช่วงของการแกว่งตัวระยะสั้น

 

การเมืองร้อนแรงขึ้น วุฒิสภา ต้องตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่ขัดแย้ง
       ดูเหมือนว่าความสนใจหลักของสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน จะตกไปอยู่ที่วุฒิสภา เฉพาะอย่างยิ่งผู้ปฎิบัติหน้าที่รักษาการประธานวุฒิสภา เนื่องจากถูกคาดหมายให้เป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหา โดยปัจจุบันวุฒิสภา อยู่ระหว่างการจัดการหารือนอกรอบ โดยขอความเห็นจากหน่วยงาน และ บุคคล สำคัญต่างๆ เพื่อนำมาหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งการหารือดังกล่าวถูกกำหนดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันศุกร์นี้ (16 พ.ค.2557) ทั้งนี้ กปปส. ได้พยายามผลักดันให้วุฒิสภา เป็นกลไกที่ทำหน้าที่ ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลาง หากไม่มีข้อสรุปที่จะดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ ทางกลุ่ม กปปส. จะดำเนินการเอง
ขณะที่ทางฝั่ง นปช. ก็ได้แสดงจุดยืนคัดค้าน การทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี คนกลาง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก่อนการเลือกตั้ง โดยหากมีการดำเนินการดังกล่าว ก็จะยกระดับการชุมนุม โดยมีการเคลื่อนไหวกลุ่มของผู้ชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์การเมืองมีความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นมาได้
ประเด็นที่ต้องติดตามอีกส่วนหนึ่ง คือ การหารือระหว่าง กกต. กับ รัฐบาล ในเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง โดย กกต. มีประเด็นหารือในเรื่องกรอบอำนาจของผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และการเพิ่มข้อความในพระราชกฤษฎีกา แก้ไขวันเลือกตั้ง โดยกำหนดว่าในกรณีจำเป็น หรือสุดวิสัยในการจัดการเลือกตั้ง ให้ กกต. มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ และส่งให้ รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นมา อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากประเด็นแล้ว เชื่อว่าคงยากที่จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่หากได้ข้อสรุปขึ้นมาได้ ก็ดูเหมือนว่าเร็วที่สุดที่จะจัดการเลือกตั้งได้ก็คงอยู่ในช่วงต้นเดือน ส.ค.2557 หมายถึงเร็วที่สุดที่จะได้นายกรัฐมนตรีใหม่ก็น่าจะเป็นปลายเดือน ก.ย. หรือ ต้น ต.ค.2557 ภายใต้สมมุติฐานว่าการจัดการเลือกตั้งดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งดูเหมือนค่อนข้างยาก
จากการประเมินสถารการณ์ดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่าปัจจัยทางการเมืองจะสร้างแรงกดดันให้กับ ภาพรวมเศรษฐกิจ โดยน่าจะทำให้เห็นการปรับลดประมาณการการเติบโตออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกปรับลดประมาณการลง หลังผ่านช่วงประกาศงบงวด 1Q57 แต่อาจจะไม่มากนักดังกล่าวไปเมื่อวาน แต่ทำให้ดัชนีน่าจะมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น

 

ตลาดหุ้นไทยถูกขาย จากปัจจัยทางการเมือง
        วานนี้ แม้ตลาดหุ้นประเทศไทยจะปิดทำการ แต่ตลาดหุ้นในประเทศอื่นๆยังเปิดทำการปกติ โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติ ได้สลับมาซื้อสุทธิหุ้นในตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยมียอดซื้อสุทธิราว 345 ล้านเหรียญฯ (จากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 5 วันก่อนหน้า) เป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศ โดยซื้อสุทธิสูงสุดในเกาหลีใต้ราว 228 ล้านเหรียญฯ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 8 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวัน ซื้อสุทธิ 108 ล้านเหรียญฯ (จากที่ขายติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ยกเว้นอินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 6 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 82% จากวันก่อนหน้า และสุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายใน 5 วันหลังสุด)
   ส่วนตลาดหุ้นไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พบว่าต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 1.2 พันล้านบาท ในทิศทางเดียวกับตลาดตราสารหนี้ ที่นักลงทุนกลุ่มนี้ขายสุทธิออกมาอย่างหนักถึง 8.5 พันล้านบาท (สูงสุดในรอบเกือบ 2 เดือน) ทั้งนี้หากพิจารณายอดซื้อสุทธิรายประเทศในกลุ่ม TIP เทียบกับยอดการขายสุทธิในช่วงกลางปี 2556 พบว่าต่างชาติซื้อหุ้นไทยน้อยสุด คือเพียง 13% จากยอดที่ขายออกไป จากปัญหาการเมืองในประเทศที่เรื้อรังมานาน เทียบกับฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย มียอดซื้อสุทธิราว 75% และ 65% ตามลำดับ

เงินบาทกลับอ่อนค่า สวนทางกับตลาดในภูมิภาคเอเซีย
หลังจากที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าเกือบ 3% นับจากต้นปี 2557 จนถึงกลางเดือน มี.ค. (จากระดับ 33.11 บาทต่อเหรียญฯ เมื่อ 6 ม.ค. มาที่ระดับ 32.14 19 มี.ค. ) แต่หลังจากนั้นเงินบาท มีทิศทางแกว่งตัว และกลับมาอ่อนค่าชัดเจน หลังจากเทศกาลสงกราต์เป็นต้นมา ล่าสุด เงินบาทอ่อนค่า 1.4% ซึ่งสวนทางกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซียที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า โดยเฉพาะ เงินเปโซ (ฟิลิปปินส์) แข็งค่าราว 3.5% นับจาก Fund Flow ไหลเข้าเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ตามมาด้วยริงกิต (มาเลเซีย) แม้แข็งค่าน้อยสุด โดยแข็งค่าเพียง 3.2% แต่ยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่า ขณะที่เงินรูเปียะห์ (อินโดนีเซีย) แข็งค่ามากสุดราว 8% นับจาก Fund Flow ไหลเข้าเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2557 จนถึง ตามมาด้วย กลางเดือน เม.ย. แต่ล่าสุดจะเริ่มแกว่งตัวไปทิศทางอ่อนค่า
      และ หากพิจารณาผลตอบแทนตลาดหุ้นพบว่า ตลาดหุ้นอินโดนีเซียให้ผลตอบแทนสูงสุด 17.1% นับจากที่ Fund flow ไหลเข้าจนถึงเมื่อวานนี้ ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ให้ผลตอบแทน 16.4% และไทยให้ผลตอบแทนต่ำเพียง 6.4% และตลาดหุ้นมาเลเซียให้ผลตอบแทนต่ำสุด 4.9%
      ทั้งนี้ปัจจัยที่หนุนค่าเงิน และ ให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียฟื้นตัวนั้น หลักๆ มาจากการไหลเข้า Fund Flow ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสอย่างมาก และตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาลง หากไม่ได้รับแรงหนุนจาก Fund Flow ดังที่กล่าวข้างต้น



ปรับเพิ่ม Fair Value ของ IVL ขึ้นจากเดิม 15.4% สะท้อนจุดต่ำสุดในงวด 1Q57
      สัปดาห์นี้คาดว่าการรายงานงบของกลุ่มภาคการผลิตที่แท้จริงน่าจะใกล้สิ้นสุดลง ซึ่งอาจจะทำให้การเก็งกำไรในผลประกอบการรายตัวลดน้อยลง ยกเว้นหุ้นที่คาดว่าจะมีปรับเพิ่ม/ลด ประมาณการกำไร ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นหลังจากนี้ โดยวันนี้นักวิเคราะห์ ASP ได้ปรับเพิ่ม Fair Value ของ IVL(FV@B30) เพิ่มขึ้นจากเดิม 15.4% เนื่องจากคาดว่า IVL ได้ผ่านจุดเลวร้ายไปแล้วในงวด 1Q57 หลังจากที่รายงานกำไรสุทธิเพียง 368 ล้านบาท แต่คาดว่าในงวดถัดไป ๆ จะสามารถทำกำไรได้ในระดับ 1,300-1,400 ล้านบาทได้ เนื่องจากไม่ต้องบันทึกขาดทุนจาก stock ในระดับ 1000 ล้านบาท เหมือนในงวด 1Q57 ซึ่งทำให้กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นขั้นบันไดขาขึ้น ตั้งแต่งวด 2Q57 เป็นต้นไป แม้จะไม่ปรับเพิ่มประมาณการกำไรในปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะเติบโตมาก 250% จากปี 2556 แต่ได้ปรับ long-term growth เพื่อสะท้อนธุรกิจที่ก้าวสู่ช่วงเติบโตรอบใหม่ จึงยังเลือก IVL เป็น Top pick ของกลุ่ม ติดตามอ่าน Equity Talk วันนี้

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!