- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 04 September 2017 18:13
- Hits: 1634
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันดูไบขยับขึ้นยืนเหนือ 50 เหรียญฯ เพราะเชื่อว่าโรงกลั่นจะกลับมาผลิตอีกครั้ง และเป็นช่วงปลายปี ความต้องการใช้น้ำมันจะสูงตามฤดูกาล น่าจะทำให้หุ้นปิโตรเลี่ยมกลับมาหนุนตลาด (PTT, PTTEP, BANPU) ขณะที่การลงทุนเอกชนจะกลับมานำการเติบโตแก่เศรษฐกิจไทย และ Fund Flow ขยับซื้อมากกว่าขาย ช่วยหนุน SET ขึ้นแตะ 1620-1625 จุดอีกครั้ง กลยุทธ์ฯ ยังให้น้ำหนักลงทุนในหุ้น 50% Top picks เลือก WHA([email protected]) และ SCC(FV@B620)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย : หุ้น ธ.พ. ขึ้นยกแผง ช่วยดันตลาด
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index เปิดกระโดดมายืนในแดนบวกและสามารถประคองตัวได้ตลอดวัน ก่อนจะปิดที่ 1618.42 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 2.26 จุด หรือ 0.14% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4.48 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นในกลุ่ม Market Cap. ขนาดใหญ่ช่วยหนุนตลาด เริ่มจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดย KBANK ปรับขึ้นแรงกว่า 1.49% ตามด้วย BBL ปรับขึ้น 1.08% SCB ปรับขึ้น 0.33% และ BAY ปรับขึ้น 1.95% ซึ่งฝ่ายวิจัยมีมุมมองเชิงบวกต่อ BAY จากการเติบโตของสินเชื่อ SME ที่เป็นไปในเชิงรุก และพร้อมที่จะต่อยอดไปที่สินเชื่อรายใหญ่ เป็นการปรับโครงสร้างสินเชื่อให้กระจายตัวอย่างสมดุลมากขึ้น นับเป็นพัฒนาการบวกของ BAY ภายหลังการควบรวมสาขากรุงเทพฯ ของ BTMU ด้านภาพรวมคุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่งมาก ขณะที่ราคาหุ้นยัง laggard กลุ่มฯ อยู่ จึงเชื่อราคาหุ้นจะกลับมา outperform สะท้อนพื้นฐานมากขึ้นจากนี้
ตามด้วย กลุ่มสื่อสาร นำโดย ADVANC ปรับขึ้น 1.60% ตามด้วย JAS และ INTUCH ปรับขึ้น 3.21% และ 1.76% ตามลำดับ อีกกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้ดีคือ กลุ่มขนส่ง โดย AOT ปรับเพิ่มขึ้น 0.46% และหุ้นใหม่ที่เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดฯ เป็นวันแรกอย่าง III ปรับตัวขึ้น 57.29% จากราคา IPO ที่ 4.80 บาท
ส่วนหุ้นที่ราคาปรับขึ้นได้ร้อนแรงอย่าง WORK ซึ่งราคาขึ้นทำ All time high โดยปิดที่ 80.75 บาท ปรับขึ้นอีก 7.25% แค่เพียง 2 วันปรับตัวขึ้นกว่า 17.03% ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากหุ้นจะเข้าคำนวณใน FTSE มีผลในที่ 18 ก.ย. (ใช้ราคาปิด 15 ก.ย.) และ ผลจากการประชุมนักวิเคราะห์ล่าสุด ASPS ยังมีมุมมองเชิงบวก ทำให้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ปรับ Fair value ใหม่อยู่ที่ 89 บาท แต่ราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วง 2 วันที่ผ่านมาจึงต้องระมัดระวังการปรับฐานในระยะถัดไป
ตรงกันข้ามกลุ่มที่ปรับลดลงคือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดย SCC ปรับลง 0.80% ตามด้วย กลุ่ม ร.พ. ทั้ง BDMS, BH, BCH และ CHG ปรับลง 0.96%, 1.38%, 0.68% และ 1.63% ตามลำดับ และกลุ่มอาหาร นำโดย CPF ปรับลง 0.92% และ BR ปรับลง 2.80%
แนวโน้มตลาดในวันนี้ คาดว่าดัชนี มีโอกาสพักฐานได้ จากความกังวลคาบสมุทรเกาหลี หลังจากขึ้นไปทดสอบบริเวณแนวต้าน 1620 จุดแล้วย่อตัวลงมา ประเมินแนวรับ 1607 จุด ส่วนแนวต้านยังอยู่ที่ 1620 จุด และถัดไปที่ 1625 จุด
การประชุม ECB จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินตึงตัวได้หรือไม่ขึ้นกับการเมืองในยุโรป
ปัจจัยต่างประเทศในสัปดาห์นี้เชื่อว่าน่าจะให้น้ำหนักไปที่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB) ครั้งที่ 6 ของปี (จาก 8 ครั้ง) วันที่ 7 ก.ย. นี้ ซึ่ง ECB น่าจะส่งสัญญาณกลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวผ่านการลดหรือยุติ QE ปัจจุบันเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร (ระยะเวลา เม.ย.2560 – สิ้นปีนี้) หรือ จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ที่ต่ำในระดับ 0% มานานนับตั้งแต่ มี.ค.2559 เมื่อใด เพราะหากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อยุโรปยังสูงอยู่ที่ 1.3%yoy แม้ชะลอตัวจาก 1.4% เดือน พ.ค และ 1.9% เดือน เม.ย. ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกในยุโรป โดยเฉพาะแนวคิดที่จะออกจากยุโรป ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับ อังกฤษ(Brexit) คือ เลือกตั้งอิตาลี ได้ถูกเลื่อนไปเป็นช่วงต้นปี 2561 (เลื่อนจากเดิมคาด 24 ก.ย.2560) หลังจากการลงประชามติเมื่อ 4 ธ.ค. 2559 สรุปว่าประชาชนไม่เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการเงินของประเทศ ทำให้นายกฯลาออกและเปิดทางให้พรรคฝ่ายค้าน (พรรค5SM) ซึ่งมีแนวคิดจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Italexit) เข้ามาบริหารประเทศแทน และคะแนนความนิยมของพรรคฝ่ายค้าน(พรรค5SM) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสูสีกับรัฐบาลล่าสุดอยู่ที่ (27.3% ต่อ 27%) ทำให้ยังถือเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของประเทศยุโรป
ส่วนการเลือกตั้งเยอรมนี 24 ก.ย. นี้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเชื่อว่า พรรค CDU ของนายกฯ คือ นางอังเกลา แมร์เคิล ยังได้รับการสนับสนุนและเป็นผู้ได้รับเสียงข้างมาก (สอดคล้องผลสำรวจ พบว่าคะแนนพรรค CDU สูงสุดราว 38% รองลงมาคือ พรรค SPD 22% และพรรคอื่นๆ อีก 5 พรรคราว 8-9% ต่อพรรค) จึงทำให้เยอรมนียังเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปต่อไป
ขณะที่สหรัฐ ประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยเริ่มมีน้ำหนักน้อยลง เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อกับอัตราดอดเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน (เงินเฟ้อ 1.7%yoy และดอกเบี้ย 1.25%) และเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอการร้อนแรง สะท้อนจากปลายสัปดาห์ที่แล้ว รายงานยอดการจ้างงานอกภาคการเกษตร เดือน ส.ค. ปรับลดลงติดกันเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 2.31 แสนราย ส่งผลให้อัตราการว่างงานของสหรัฐในเดือนเดียวกัน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย จาก 4.3% ในเดือน ก.ค. เป็น 4.4% ในเดือน ส.ค. อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานได้แกว่งตัวอยู่ในช่วง 4.3-4.4% มาตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. แล้ว สะท้อนถึงตลาดแรงงานสหรัฐที่เริ่มทรงตัวและเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ (Full employment) ทำให้คาดว่า Fed จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยใน ปีนี้ออกไปก่อนและไปขึ้นในปีหน้าอีก 3 ครั้งราว 0.75% ทำให้ดอกเบี้ยสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 1.25% และ 2% ในปี 2561
เงินเฟ้อไทยยังต่ำ หนุนใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไป
กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือน ส.ค. ขยายตัว 0.32%yoy ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ติดลบในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ 0.04%yoy และ 0.05% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ม.ค.- ส.ค. ขยายตัวทั้งสิ้น 0.56%yoy สาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้น 8.3%yoy รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัว 1.7%yoy ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว สวนทางกับราคาสินค้าสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับลดลง 0.92%yoy เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 1.5% (ตั้งแต่ เม.ย. 2558) ทำให้มีส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (ดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ) เป็น1.18% ทำให้เชื่อว่าการประชุม กนง. ครั้งถัดไป วันที่ 29 ก.ย. จะยังคงดอกเบี้ยตามเดิม ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดหุ้นทางด้านสภาพคล่องของภาคการเงิน รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หลังเห็นการลงทุนเอกชนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
หุ้นโรงกลั่นสะท้อนข่าวดีไปมากแล้ว ขาย TOP, BCP มาซื้อ IRPC, PTTGC แทน
ล่าสุดราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เริ่มกระเตื้องขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey กล่าวคือ สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปิดที่ 47.29 เหรียญต่อบาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า Brent ปิดที่ 52.75 เหรียญต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบปิดที่ 50.93 เหรียญต่อบาร์เรล หลังจากผ่อนคลายแรงกดดันจากพายุฤดูร้อน Harvey ที่พัดเข้าถล่มชายฝั่งรัฐเท็กซัสทางตอนใต้ของสหรัฐ สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันโดยเฉพาะโรงกลั่นต้องปิดทำการไม่สามารถกลั่นน้ำมันดิบได้ ส่งผลให้กำลังการกลั่นหายไปถึงกว่า 1 ใน 4 ของกำลังการกลั่นต่อวันราว 4.4 ล้านบาร์เรล และทำให้ความต้องการน้ำมันดิบเพื่อนำไปใช้ในโรงกลั่นลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดลงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยท่าเรือ Corpus Christi ซึ่งเป็นท่าเรือหลักที่ใช้ขนส่งน้ำมันกลับมาเปิดดำเนินการได้บางส่วน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเริ่มกระเตื้องขึ้น ขณะที่โรงกลั่นบางแห่ง แม้จะเริ่มกลับกลั่นน้ำมันอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเช่นกัน แต่โรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดที่ Port Arthur, Texas กำลังการผลิต 6.3 แสนบาร์เรลต่อวันยังปิดทำการอยู่ จึงทำให้ค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับสูง โดยค่าการกลั่นสิงคโปร์ ดีดตัวขึ้นไปถึง 11 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2559 จึงมีความเป็นไปได้ที่ค่าการกลั่นจะขึ้นทำระดับสูงสุดไปแล้ว และมีโอกาสที่จะย่อตัวลงมา ซึ่งที่ผ่านมาราคาหุ้นโรงกลั่นที่จดทะเบียนในตลาดฯ เช่น TOP และBCP ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิน Fair Value ไปแล้ว จึงแนะนำให้สลับมายังหุ้นโรงกลั่นอื่นๆ ที่ยังมี upside เช่น IRPC ([email protected]) และ PTTGC (FV@B81)
ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค แต่ซื้อไทยเล็กน้อย
วันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์หยุดทำการ แต่โดยภาพรวมแล้วพบว่า ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่า 141 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 92 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 4 วัน) ตามมาด้วยไต้หวัน 44 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) และไทย แต่ซื้อสุทธิเล็กน้อย 5 ล้านเหรียญ หรือ 153 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ยังคงขายสุทธิ 604 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)
อย่างไรก็ตามความกังวลต่อความรุนแรงในคาบสมุทรเกาหลี อาจส่งผลให้ระยะสั้นนักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เช่น ทองคำที่ปรับตัวขึ้นแรง โดยล่าสุดอยู่ที่ 1340 ดอลล่าร์/ออนซ์ (สูงสุดในรอบ 11 เดือน) รวมถึงตราสารหนี้ที่ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิอีกครั้ง โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยราว 2.57 พันล้านบาท ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี สร้างจุดต่ำสุดใหม่ในปีนี้ที่ 42%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636