- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 23 August 2017 16:57
- Hits: 1536
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากเครื่องจักรทุกตัวเริ่มทำงาน ทั้งส่งออก การลงทุนรัฐและเอกชน ล้วนหนุนตลาดหุ้นกลางและยาว ประกอบกับตลาดหุ้นไทยปรับลดลง จนมี P/E ต่ำสุดในภูมิภาค เป็นรองเพียงจีน ทยอยสะสมหุ้นพื้นฐาน เช่น กำไรเด่นใน 2H60 (MTLS, VGI, IRPC, JWD) หรือเงินปันผลสูง (MCS, HANA) Top picks ERW (FV@B 6.5) และ MCS(FV@B19) แม้วันพรุ่งนี้ MCS จะขึ้น XD 0.20 บาทต่อหุ้น แต่เป็นหุ้นที่มี PER ต่ำเงินปันผลสูง
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย หุ้นการเงินกลับมาหนุน...เลิกกังวลตั๋ว B/E
SET Index วานนี้แกว่งแคบๆ ในแดนบวกได้ตลอดวัน ก่อนจะปิดตลาดที่ 1573.19 จุด เพิ่มขึ้น 3.57 จุด มูลค่าการซื้อขาย 3.68 หมื่นล้านบาท ไม่ค่อยมีกลุ่มใดโดดเด่นนัก โดยมีเพียงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง หลังจากปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาหลังนับจากการประกาศงบ 2Q60 นำโดย KBANK ปรับขึ้น 1.83% ตามด้วย TMB, BBL และ KTB ปรับขึ้น 1.74%, 1.38% และ 1.10% ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นการเงินอื่นๆ ฟื้นตัวตัวได้เช่นกัน หลังจากสะท้อนปัจจัยลบเรื่องการผิดชำระหนี้ตั่ว B/E นำโดย KTC เพิ่มขึ้น 4.44% ส่งผลให้ในเดือน ส.ค. นี้ ราคาหุ้นฟื้นตัวกลับขึ้นมาถึง 17.8% ตามด้วย BFIT และ SAWAD เพิ่มขึ้น 2.42% และ 1.56% ตามลำดับ
ส่วนหุ้นรายตัวที่ปรับขึ้นแรง คือ PLE ขึ้นถึง 10.45% ซึ่ง PLE ชนะประมูลงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ไปตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอผลการประมูลให้บอร์ด AOT พิจารณา หากได้รับการเห็นชอบก็น่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือน ก.ย. นี้ จึงทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นแรงดังกล่าว ตามด้วย JWD ราคพุ่งแรงถึง 7.22% โดยคาดผลประกอบการใน 2H60 จะเติบโตได้แรงกว่าครึ่งปีแรก
ตรงข้ามกับกลุ่มที่ปรับลดลง คือ กลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันโลกที่ขยับลง โดย PTTEP และ PTT ลดลงเล็กน้อย 0.87% และ 0.25% ตามลำดับ ส่วนหุ้นโรงกลั่นพักฐานเช่นกัน โดย BCP ลดลง 2.58% IRPC ลดลง 1.77% SPRC ลดลง 1.2%
คาดทิศทาง SET Index วันนี้ น่าจะยังมีโอกาสฟื้นตัวกลับได้ต่อ แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าการซื้อขายยังคงเงียบเหงา ทำให้จังหวะการฟื้นยังค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแนวต้านด่านแรกที่ 1575 จุด ส่วนแนวรับระหว่างขยับขึ้นมาที่ 1567 จุด
อินโดนีเซียลดดอกเบี้ย ตามอินเดีย สะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า
ผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซียเมื่อวานนี้ ผิดจากตลาดคาด โดยปรับลดดอกเบี้ยฯ 0.25% เหลือ 4.50% เป็นครั้งแรกในปีนี้ (ปี 2559 ปรับลด 3 ครั้งรวม 0.75%) เนื่องจากเศรษฐกิจใน 1H60 ขยายตัวเพียง 5% ต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งปี 2560 ที่รัฐคาดไว้ 7% เนื่องจากภาคการผลิตที่ชะลอตัว (PMIภาคการผลิตลดลง 3 เดือนติดต่อกัน) และเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 4.3% จาก 6.2% ต้นปี 2559 ทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยยังสูงกว่าเงินเฟ้อ ปัจจุบัน ราว 0.2%
อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่ 2 ในเอเซียที่ลดดอกเบี้ยตามหลังอินเดีย ซึ่งนำร่องไปก่อนในช่วงต้นเดือน ส.ค. คือ ลดดอกเบี้ย นโยบายครั้งแรกของปี 0.25% เหลือ 6%เทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ล่าสุด 1.54% ทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยยังสูงกว่าเงินเฟ้อ กว่า 4.5% ทำให้อินเดียมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้อีก เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังฟื้นตัวล่าช้า ทั้งฝั่งภาคการผลิต อาทิ PMI ภาคการผลิตหดตัว 4 เดือนติด ฝั่งการบริโภคยอดขายรถยนต์ หดตัวติดต่อกัน 3 เดือน โดยภาคการบริโภคอินเดียหดตัวตั้งแต่ต้นปีนี้ เนื่องจากเดือน พ.ย.2559 รัฐบาลอินเดียยกเลิกใช้ธนบัตรมูลค่า 500 และ 1,000 รูปีเพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและการฟอกเงิน ทำให้สภาพคล่องหดหายไป
โดยภาพรวมการใช้นโยบายการเงินของประเทศในแถบเอเซียน่าจะเป็นแบบผ่อนคลายต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า แม้จะเห็นการส่งออก มีการฟื้นตัวกันเกือบทุกประเทศ ตาม เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่อย่างไรก็ตามในปี 2561 น่าจะเห็นการใช้นโยบายการเงินตึงตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งยุโรป เนื่องเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจน และ อัตราเงินเฟ้อ 1.3% เทียบกับ อัตราเบี้ยนโยบายต่ำ 0% เช่นเดียวกับอังกฤษ ที่มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ ยังทรงตัวในระดับสูงที่ 2.6%yoy เทียบกับดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ Fund Flow น่าจะไหลไปทาง ยุโรป อังกฤษ และจะกลับเข้ามาในแถบเอเซียในปีถัดไป
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นเกือบทุกแห่งในภุมิภาค ยกเว้นไทย
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 233 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และเป็นการสลับมาซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 125 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 103 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) อินโดนีเซีย 25 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเป็นวันที่ 3) และฟิลิปปินส์ 2 แสนเหรียญ ยกเว้นตลาดหุ้นไทยที่ต่างชาติยังคงขายสุทธิ 20 ล้านเหรียญ หรือ 678 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 1.88 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้สถาบันในประเทศซื้อสุทธิกว่า 3.64 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 1.81 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636