- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 22 August 2017 16:05
- Hits: 926
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัว จากการส่งออกและลงทุนเอกชน และยอดขอ BOI ที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม 5 new S-Curve ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดหุ้นในระยะกลางและยาวประกอบกับตลาดหุ้นไทยปรับลดลง จนมี P/E ต่ำสุดในภูมิภาค เป็นรองเพียงจีน จึงแนะนำให้ สะสมหุ้นกำไรเด่นใน 2H60 (MTLS, VGI, IRPC, JWD) หรือเงินปันผลสูง (MCS, HANA) Top picks ERW (FV@B 6.5) และ MCS(FV@B19) PER ต่ำ 8.7 เท่า และ Div Yield 6.6%
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย กลุ่มธนาคาร และพลังงานฟื้นตัว
วานนี้ตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่ง อยู่ในแดนบวกได้ทั้งวัน จนกระทั่งปิดตลาดปรับขึ้น 3.09 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.62 หมื่นล้านบาท หนุนด้วยกลุ่มพลังงานปรับขึ้นตามราคาน้ำมันโลกที่ขยับขึ้นแรง โดยเฉพาะ PTTEP และ PTT ปรับขึ้น 2.07% และ 1.03% ตามลำดับ แม้จะมีประเด็นข่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย กลับมาทวงคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติอีกครั้ง ก็ไม่ได้กดดันราคาหุ้นแต่อย่างใด
ขณะที่หุ้นโรงกลั่น ทั้ง BCP, SPRC, TOP และ IRPC ปรับขึ้นทั้งหมด 1.31%, 1.22%, 1.13% และ 0.89% ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากค่าการกลั่นที่ปรับตัวขึ้นผิดปกติในงวด 3Q60 แม้เป็นช่วงนอกฤดูกาล (การใช้น้ำมันจะน้อยกว่าปกติ) แต่เป็นเพราะมีโรงกลั่นบางแห่งหยุดการผลิตที่มิได้อยู่ในแผน (ทั้งในภูมิภาคเอเชีย และ ประเทศฝั่งตะวันตก) แต่เป็นที่สังเกตว่าหุ้นโรงกลั่นส่วนใหญ่ราคาหุ้นเต็มมูลค่าหมดแล้ว ยกเว้น IRPC ที่ยังมี upside มากสุดในกลุ่มโรงกลั่น
อีกกลุ่มที่ฟื้นตัวได้โดดเด่น คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดยหุ้นปันผลสูงอย่าง TISCO และ KKP ปรับขึ้น 2.49% และ 2.23% ตามลำดับ
ตรงข้ามกับหุ้นที่ปรับลดลงวานนี้ คือ ASAP ลดลง 5.36% แม้กำไรสุทธิงวด 2Q60 สามารถขึ้นทำ new high ต่อเนื่อง และคาดกำไรสุทธิปี 2560-61 เติบโตอย่างมีนัยฯถึง 89.6% yoy และ 21.0% yoy แต่เนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันปรับตัวขึ้นสูงเกินมูลค่าพื้นฐานที่ 5 บาทไปมากแล้ว จึงเห็นการปรับฐานดังกล่าว
ส่วนการรายงานเศรษฐกิจไทยในงวด 2Q60 ที่ดีกว่าคาด และน่าจะนำไปสู่การปรับเพิ่มประมาณการปีนี้และปีหน้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะกลางและยาว และ น่าจะทำให้ fund flow มีโอกาสกลับมาในปีหน้า ส่วนระยะสั้นน่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1562 – 1573 จุด
เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้น พร้อมแตะ 4% ปีหน้า หากเอกชนลงทุนเพิ่ม
เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวดีกว่าคาด สะท้อนจากสภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP Growth งวด 2Q60 เพิ่มขึ้น 3.7%yoy สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ดีกว่าตลาดคาดไว้ที่ 3.4% (เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 3.2%) และเพิ่มขึ้นจาก 1Q60 ที่ 3.3%yoy ทั้งนี้การเติบโตในงวดนี้มาจาก
ภาคการส่งออก(70%ของ GDP) ที่ขยายตัวต่อเนื่องคือ 11.1%yoy จาก 5%ใน1Q60 ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวและขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้น ออสเตรเลีย, ตะวันออกกลางที่หดตัว
การเบิกจ่ายรัฐ(16 %ของ GDP) 2.7%yoy จาก 0.3% ใน 1Q60จากการที่รัฐเบิกจ่ายตามเป้าหมายคือ งวด 2Q60 (ตรงกับงบประมาณประจำปี 3Q60เบิกจ่ายไป 21.4% สูงกว่าเป้า 21%ทำให้การเบิกจ่าย 9M2560 เบิกจ่ายราวเบิกจ่าย 82.24%งบประมาณรวม)
และที่น่าจะประทับใจ คือ การลงทุนเอกชน (18%ของ GDP เทียบกับราว 30 % ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง) กลับมาฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส คือเพิ่มขึ้น 3.2% จาก -1.1% ในงวด 1Q60 แต่หลักๆ เป็นการฟื้นตัวในธุรกิจเดิมคือ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือคอนโด 3%yoy โรงแรมและโรงพยาบาล เพิ่มขึ้น 5.6% (การก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานยังหดตัว 9.1% และ16.1% ตามลำดับ) เช่นเดียวกับลงทุนในเครื่องจักรกลับมาขยายตัวครั้งแรก หลังจากติดลบ 4 ไตรมาส คือ 3.2%yoy จาก -0.3% งวด1Q60 ซึ่งมาจากเอกชนลงทุนในเครื่องใช้สำนักงานและลงทุนเครื่องจักรในอุตสาหกรรม 5.4% และ 5.6%yoy ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีสัญญาณบ่งชี้นเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นใน 2H60 ปีหน้า เพราะนอกจากการลงทุนสาธารณปโภคภาครัฐ และการส่งออกที่ฟื้นตัว การลงทุนเอกชนยังมีการดึงเม็ดเงินก้อนใหม่ เข้ามาในธุรกิจใหม่ ๆ สะท้อนจาก ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน BOI สิ้นสุด มิ.ย. 2560 สูงถึง 3 แสนล้านบาท เพิ่มจาก ก.พ. 60 ที่มียอดเพียง 3 หมื่นล้านบาท และเป็นที่สังกตว่า 46%ของยอดเงินที่ขอBOI ทั้งหมด เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรม S curve และ New S curve ดังนี้
กลุ่มปิโตรเคมี (PTTGC ร่วมทุน บริษัทคูราเร ราว 2 หมื่นล้านบาทเพื่อผลิตเคมีชนิดพิเศษที่ไม่เคยผลิตในไทยมาก่อน)
กลุ่มเดินเรือ อาทิ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอมินัล ผลิตขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือลงทุนราว 7.2 พันล้านบาท และ บริษัท ไทยไลอ้อนเมนทารี ลงทุนขยายการขนส่งทางกาศราว 4.7 พันล้านบาท
การแพทย์ ยื่นขอ 19 โครงการ 3.6 พันล้านบาท อาทิ บริษัทเมติคูลี่ ผู้ผลิต Bio-printing กระดูกเทียม
กลุ่มหุ่นยนต์ อาทิ บริษัทซิติเซ็น แมชชีนเนอรี่ ผลิตเครื่องกลึงอัตโนมัติ และบริษัทจินป่าว พรีวิชั่น ผลิตเครื่องออกตั๋ว และประตูกันรถไฟฟ้า และบริษัท อิโซเบะ ผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
โดยรวมทำให้ GDP Growth 1H60 ขยายตัวที่ 3.5%yoy ยัง In-line ตามที่ ASPS คาด จึงยัง GDP Growth ปี 2560 ที่ 3.5%yoy และน่าจะขึ้นแตะ 4% ในปี 2561 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน และจะปรับลดสมมติฐานเงินบาทจาก 35 บาทต่อดอลลาร์ เหลือ 34 บาท สะท้อนค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วในชว่ง 7 เดือนที่ผ่านมา (ติดตามใน Economic Outlook เร็วๆ นี้)
ต่างชาติขายสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
วานนี้ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์หยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันนินอย อาคีโน (Ninoy Aquino Day) แต่ตลาดหุ้นอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า ต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 288 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากอินโดนีเซียถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคกว่า 114 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยไต้หวัน 87 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) เกาหลีใต้ 55 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 31 ล้านเหรียญ หรือ 1.04 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 2.27 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 3.73 พันล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 889 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636