- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 21 August 2017 16:29
- Hits: 1815
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ความกังวลต่อการผิดชำระตั๋ว B/E กดดันหุ้นลิสซิ่ง MTLS, SAWAD แม้มีสภาพคล่อง และ บริหารจัดการการเงินรองรับธุรกิจที่ยังเติบโตได้ดี และข่าวการกลับมาทวงคืนท่อก๊าซจาก PTT น่าจะกดดัน Sentiment ตลาด ทำให้ดัชนีแกว่งตัว 1562-1573 จุด กลยุทธ์ให้สะสมหุ้นกำไรเด่นใน2H60 (MTLS, VGI, IRPC, JWD) หรือเงินปันผลสูง (MCS, HANA) Top picks ERW (FV@B 6.5) และเพิ่ม MCS(FV@B19) EPS Growth 10% แต่ PER ต่ำ 8.7 เท่า และ Div Yield 6.6%
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย หุ้น MTLS, SAWAD มีแรงขายเกินเหตุ
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดฯเปิด Gap ลงและอยู่ในแดนลบตลอดช่วงเช้า แม้จะฟื้นตัวขึ้นได้บ้างในช่วงบ่าย แต่สุดท้ายปิดติดลบ 2.42 จุด คิดเป็น 0.15% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.2 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มหุ้นที่กดดันตลาดฯมากที่สุด ใน 2 กลุ่มคือ
กลุ่มอาหาร ถือว่าเป็นแรงขายรับงบ โดยทั้งกลุ่มปรับตัวลดลง 1.51% นำโดย CBG ลดลง 4.53% ตามมาด้วย CPF ลดลง 3.67% MINT ลด 1.91% และ TU ลด 1.02% ซึ่งประกาศจ่าย XD วันนี้ 0.32 บาทต่อหุ้น
และกลุ่มลิสซิ่งแต่ที่ลดลงหลัก ๆ คือ SAWAD ลดลง 4% และ MTLS ลดลง 3% ซึ่งเป็นการลดลง 2 วันติดกันเกือบ 8% เหตุผลน่าจะเป็นเพราะตลาดกังวลต่อการผิดชำระหนี้ตั๋ว B/E ดังที่เกิดขึ้นกับหลายบริษัทก่อนหน้านี้
จากการตรวจนักวิเคราะห์ของ ASPS พบว่ามูลหนี้ตามตั๋ว B/E ของทั้ง 2 บริษัทอยู่ในระดับต่ำไม่น่ากังวลคือ MTLS มีราว 6 พันล้านบาท และ SAWAD 2.6 พันล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับหนี้สินที่มีดอกเบี้ยรวม คิดเป็น 35% และ 27% ตามลำดับ (ที่เหลือเป็นเงินกู้ระยะยาว) นับว่าสอดคล้องกับลักษณะธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อบุคคล ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ ทะเบียนรถ (MTLS รถยนต์ 42% จักรยานยนต์ 33% ที่ดิน 13% และอื่นๆ 12% ส่วน SAWAD รถยนต์ 50% จักรยานยนต์ 17% รถบรรทุก 12% ที่เหลือ 21% เป็นบ้าน และที่ดิน) ซึ่งมีอายุสินเชื่อราว 12-18 เดือน จึงถือว่าเป็นบริหารเงินที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามหากมองโลกในแง่ร้าย นักลงทุนที่ถือตั๋ว B/E ไม่ประสงค์จะต่ออายุตั๋ว B/E ออกไปอีก ทั้ง 2 บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่สามารถเบิกได้อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการชำระหนี้ดังกล่าว และหากพิจารณา อัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุน พบว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม คือ 2.88 เท่า และ 2.63 เท่า ตามลำดับ (บางแห่งที่ปล่อยเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อย่าง ASK, THANI มีอัตราส่วนที่สูงถึง 5.61 เท่า และ 5.31 เท่า ณ 1Q60 ตามลำดับ แต่เป็นปกติของธุรกิจ) ราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัทที่ลดลงจึงเป็นโอกาสสะสม
แต่ตลาดฯได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มธ.พ. ที่ฟื้นตัวขึ้น 0.15% นำโดย KBANK 0.53% SCB 0.35% และ BBL 0.28% ตามลำดับ และกลุ่มพลังงาน นำโดย PTT 1.04% และ PTTEP 0.30% ตามลำดับ
วันนี้ กระแสข่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย กลับมาทวงคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติอีกครั้ง คงจะมีส่วนทำให้ตลาดสะดุ้งอีกครั้ง แม้ระยะสั้นจะเห็นราคาน้ำมันดิบโลกยังยืนเหนือ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรลได้ โดยรวม ตลาดฯ ยังมีมูลค่าการซื้อขายที่เบาบาง และยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน จึงประเมินดัชนีน่าจะแกว่งตัว โดยมีแนวต้าน 1573 จุด และแนวรับอยู่ที่ 1562 จุด
สัปดาห์นี้ติดตามผลประชุม Jackson Hole บ่งชี้การใช้นโยบายการเงินโลก
ปัจจัยต่างประเทศสัปดาห์นี้ตลาดให้น้ำหนัก 24-26 ส.ค. ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำธนาคารกลางทั่วโลก(Jackson Hole) ซึ่งต้องติดตามถ้อยแถลงของผู้ว่าการธนาคารกลางหลักของโลก (Fed, ECB, BOJ) จะส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินไปในทิศทางใด หลังจากสหรัฐมีแนวโน้มที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยจากการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้แต่จะไปขึ้นปีหน้า 3 ครั้ง
ขณะที่ยุโรปคาดว่าจะกลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวตามสหรัฐ ผ่านการลด QE หรืออาจจะขึ้นดอกเบี้ย เช่นเดียวกับอังกฤษที่มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน หลังจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของอังกฤษมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากที่อัตราการว่างงานของลดลงต่ำสุดที่ 4.4% ในเดือน มิ.ย. และอัตราเงินเฟ้อ ยังทรงตัวในระดับสูงที่ 2.6%yoy ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่า 5.94% ตั้งแต่ Brexit ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและนำเข้าสูงขึ้น แม้ว่าค่าเงินตั้งแต่ต้นปีจะยังแข็งค่าราว 4.34% โดยให้น้ำหนักวันพฤหัส 24 ส.ค. รายงาน GDP Growthอังกฤษ งวด 2Q60(คาดการณ์ครั้งที่ 2) ซึ่งยังคงคาดที่ 1.7%yoy เท่าเดิม
ขณะที่เอเซียเชื่อว่าการใช้นโยบายการเงินยังคงผ่อนคลายต่อไปจนถึงปีหน้า โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น(BOJ) ยังคงดอกเบี้ยระดับต่ำราว -0.1% หลังจากเงินเฟ้อยังทรงตัวระดับต่ำ 26 ส.ค. รายงานอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นเดือน ก.ค. ตลาดคาดยังทรงตัวที่ 0.4%yoy (ทรงตัวติดกันเป็นเดือนที่ 4) สถานการเช่นนี้ทำให้ Fund Flow ยังไม่กลับเอเซียในระยะ 1-2 เดือนนี้
GDP Growth 2Q60 น่าจะใกล้เคียง 1Q60 และดีขึ้น 2H60 และต่อเนื่อง 2561
วันนี้ สภาพัฒน์ฯ จะรายงาน GDP Growth งวด 2Q60 (เวลา 9.30 น.) ซึ่งตลาดคาด 3.2%yoy (ลดลงจากปลายสัปดาห์ก่อนหน้าคาด 3.4%) เทียบกับ 3.3% งวด 1Q60 ปัจจัยหนุนหลักมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องราว 11.1%yoy เร่งขึ้นจาก 5% ใน1Q60 และการใช้จ่ายภาครัฐเป็นไปตามเป้า 9M60เบิกจ่าย 82.24%งบประมาณรวม
นอกจากนี้การลงทุนเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว สะท้อนจากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน BOI ณ. 2Q60 อยู่ราว 3 แสนล้านบาทเพิ่มจาก ก.พ. 60 ที่มียอดขอเพียง 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วงต่ำสุดของทุกปี (เป็นการลงทุนโครงการใหม่ราว 60%ของยอดขอBOIทั้งหมด และคิด 46% ของเงินลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S curve และ New S curve) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอ BOI มากสุดคือ
กลุ่มปิโตรเคมี (PTTGC ร่วมทุน บริษัทคูราเร ราว 2 หมื่นล้านบาทเพื่อผลิตเคมีชนิดพิเศษที่ไม่เคยผลิตในไทยมาก่อน)
กลุ่มเดินเรือ อาทิ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอมินัล ผลิตขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือลงทุนราว 7.2 พันล้านบาท และ บริษัท ไทยไลอ้อนเมนทารี ลงทุนขยายการขนส่งทางกาศราว 4.7 พันล้านบาท
กลุ่มหุ่นยนต์ อาทิ บริษัทซิติเซ็น แมชชีนเนอรี่ ผลิตเครื่องกลึงอัตโนมัติ และบริษัทจินป่าว พรีวิชั่น ผลิตเครื่องออกตั๋ว และประตูกันรถไฟฟ้า และบริษัท อิโซเบะ ผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้คาด GDP Growth งวด 3Q60 จะขยายตัวใกล้เคียงหรือมากกว่าเล็กน้อยจาก 2Q60 เนื่องจากภาคการบริโภค(C) ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคอีสานในช่วงปลายเดือน ก.ค.-ต้นเดือน ส.ค. แต่คาดกระทบไม่มากนัก (ธปท.คาดเสียหายราว 7.5พันล้านบาท) แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วง 4Q60 เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา และได้แรงหนุนจากภาคการส่งออก ซึ่งเป็นช่วง Peak
โดยรวมทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงคาด GDP Growth ปี 2560 ขยายตัวที่ 3.5%yoy(ใกล้เคียงกับ Consensus คาด) และจะเร่งขึ้นแตะ 4% ในปี 2561 โดยคาดหวังการลงทุนเอกชนและรัฐจะกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อน โดยคาดหวัง พรบ.ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก(EEC) ซึ่งคาดจะบังคับใช้ ต.ค.60 ทำให้เอกชนมั่นใจ เดินหน้าลงทุนมากขึ้น ประกอบกับการเดินหน้าตามแผนก่อสร้างและประมูลรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า ล่าสุด รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้(เตาปูน –ราษฎร์บูรณะ) วงเงินกว่า 1 แสนล้าน คาดเปิดประมูล ต.ค.60 และรถไฟทางคู่ เส้น อาทิ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และนครปฐม-หัวหิน ซึ่งคาดว่าจะเห็นเม็ดเงินจะไปเกิดขึ้นในปีหน้าเป็นต้นไป ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทย แต่ภาพรวมตลาดหุ้นในภูมิภาคยังถูกขายสุทธิ
แรงหนุนจาก Fund Flow ยังเบาบาง สังเกตได้จากเดือน ส.ค. นี้ เป็นเดือนที่ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคมากที่สุด ด้วยมูลค่ากว่า 2.3 พันล้านเหรียญ (mtd) และล่าสุดยังเป็นการซื้อสลับขายรายประเทศ โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 129 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) และเป็นการขายสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ไต้หวัน 171 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และอินโดนีเซีย 21 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ ต่างชาติซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ 37 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 1 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันกว่า 9 วัน) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 25 ล้านเหรียญ หรือ 829 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 913 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 3 วัน)
ทางด้านตราสารหนี้สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.22 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิ 843 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิมา 3 วัน)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636