- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 31 July 2017 18:06
- Hits: 2622
บล.เอเชีย เวลท์ : Daily Market Outlook
เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธอีก
คาดหุ้นไทยปรับตัวลงวันนี้ ถูกกดดันจากความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีปะทุขึ้นใหม่ หลังจากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธอีกในวันศุกร์แล้วสหรัฐส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด 2 ลำไปแสดงแสนยานุภาพกดดันแต่น่าจะทำให้สถานการณ์อาจแย่ลงได้มากกว่า พรรครีพลับลิกันล้มเหลวอีกในการออกกฎหมายที่เหลือของ Trump อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการที่ดีจากสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น น่าจะช่วยพยุงตลาดไว้ได้บ้าง ปัจจัยภายในประเทศเป็นบวกโดยรวมแม้มีความกังวลเกี่ยวกับน้ำท่วมในภาคอีสาน กระทรวงการคลังยังคงมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ และ Mody's มีมุมมองธนาคารไทยมีเสถียรภาพ โดยที่มีธุรกิจดีขึ้น เงินทุน และสำรองแข็งแกร่ง
หุ้นเด่นวันนี้ : BCH (ราคาปิด 14.30 บาท; ซื้อ; ราคาเป้าหมายปี 60 ของ AWS 16.80 บาท)
บมจ. บางกอก เชน ฮอสปิทอล เป็นหุ้นเด่นในวันนี้ เนื่องจากบริษัทกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ขณะที่การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้จะเป็นอีกปัจจัยหนุนต่ออุปสงค์บริการทางการแพทย์ อีกทั้ง ยังมีอีกปัจจัยที่สำคัญจากการปรับขึ้นค่าเหมาจ่ายจากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา เราคาดว่า BCH จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์หลักเนื่องจากบริษัทมีจำนวนผู้ประกันตน ณ ไตรมาส 1/60 สูงถึง 781,000 ราย นอกเหนือจากนั้นแล้ว เราคาดโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคัลจะแสดงการเติบโตที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หนุนโดยผลจากฤดูกาล รวมถึงช่วงรอมฎอนที่ผ่านไปแล้ว (27 พ.ค. - 25 มิ.ย.) ส่งผลให้จำนวนคนไข้ชาวตะวันออกกลางน่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง ปัจจุบัน BCH มีโรงพยาบาลทั้งหมด 11 แห่ง และมีอีก 4 โครงการโรงพยาบาลใหม่ หนึ่งในนั้นคือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล (เวียงจันทน์) ที่ลาว ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 63 นับว่าเป็นการเปิดโรงพยาบาลแห่งแรกของบริษัทในต่างประเทศ เราคาดการณ์กำไรสุทธิ BCH จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 21.2% ในปี 60 และ 17.9% ในปี 61 Price Pattern ของ BCH ยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างมากในแนวโน้มหลักที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) จากการเกิดทั้ง Daily, Weekly, & Monthly Buy Signal เมื่อพิจารณา Price Pattern ของ BCH มีเป้าหมายหลักอยู่ที่ 14.80 บาท ซึ่งหาก Price Pattern ของ BCH ยังมีความแข็งแกร่งที่มากพอ โดยสามารถ Break ด้วยการปิดตลาดเหนือเป้าหมายหลักที่ 14.80 บาทได้สำเร็จ จะมีเป้าหมายแรกเพื่อทดสอบ High เดิมที่ 15.70 บาท และมีเป้าหมายแรกของการทำ New High อยู่ที่ 16.70 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ BCH มีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 14 บาท (Resistance: 14.40, 14.50, 14.70; Support: 14.20, 14.10, 13.90)
ปัจจัยสำคัญ
ประเด็นในประเทศ :
พายุเซินกาถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของไทย ซึ่งรวมถึงจังหวัดสกลนาคร ที่พื้นที่กว่า 18 อำเภอได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ร้ายแรงที่สุดของจังหวัดในรอบ 20 ปี (บางกอกโพสต์)
ก.การคลังคงคาดการณ์เติบโต GDP ปีนี้ที่ 3.6% หนุนโดยภาคส่งออกและการใช้จ่ายของรัฐ ขณะที่ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/60 จะเติบโตในช่วง 3.4-3.5% (บางกอกโพสต์)
มูดี้ส์คงมุมมองมีเสถียรภาพต่อกลุ่มธนาคารไทย สะท้อนถึงสภาวะโดยรวมที่ดีขึ้น รวมถึงทุนและเงินสำรองของกลุ่มธนาคารที่ยังแข็งแกร่งอยู่ นอกจากนี้ มูดี้ส์คาดสินเชื่อโดยรวมปีนี้จะเติบโต 4-5% เร่งตัวจาก 3.2% ในปี 59 (บางกอกโพสต์)
ความเห็น : เรายังคงคำแนะนำ เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ต่อกลุ่มธนาคาร และคาดสินเชื่อรวมของธนาคาร 9 แห่งที่เราศึกษาจะเติบโต 7.3% เทียบกับ 2.5% ในปี 59
ต่างประเทศ :
เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐรุ่น B-1 2 ลำบินอยู่บริเวณนอกคาบสมุทรเกาหลี เพื่อแสดงแสนยานุภาพเมื่อวันอาทิตย์หลังเกาหลีเหนือได้ทดสอบยิงขีปนาวุธเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (Reuters)
รัสเซียประกาศลดจำนวนบุคลากรด้านการทูตของสหรัฐที่ประจำการอยู่ในรัสเซียลงเนื่องจากสภาคองเกรสสหรัฐผ่านมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หลังจากสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐมีข้อสรุปว่ารัสเซียได้แทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2559 และจะมีมาตรการลงโทษรัสเซียเพิ่มสำหรับกรณีส่งทหารเข้าไปในแคว้น Crimea ของยูเครนในปี 2557 (Reuters)
วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันไม่สามารถยกเลิกกฎหมายโอบามาแคร์ได้ ทำให้นักลงทุนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับโอกาสในการผลักดันวาระอื่น ๆ ที่เหลือของปธน. ทรัมป์ ซึ่งรวมทั้งการปรับลดภาษีและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ (Reuters)
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ หลังต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดในไตรมาส 2/60 ซึ่งทำให้มีความกังวลมากขึ้นว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวลงอยู่ที่ 2.29% ลดลงจากที่ระดับ 2.31% เมื่อวันพฤหัส (Reuters)
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อวันศุกร์ ขณะที่ความไม่มั่นคงทางการเมืองทำให้ตลาดเอนเอียงไปสกุลเงินหลักอื่น ๆ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลงสู่ระดับ 93.826 (Reuters)
สหรัฐ :
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดผสมผสานเมื่อวันศุกร์ โดยดัชนี S&P500 และดัชนีแนสแดคปรับตัวลง แต่ดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากรายงานผลประกอบการที่ผ่านมาบ่งชี้ผลประกอบการโดยรวมแข็งแกร่ง และจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สดใส (Reuters)
กำไรสุทธิของบริษัทใน S&P500 ในขณะนี้คาดว่าเพิ่มขึ้น 10.8% ในไตรมาส 2/60 โดยมีจำนวนบริษัทกว่าครึ่งที่รายงานผลประกอบการแล้ว จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นเดือนนี้ว่าจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 8% (Thomson Reuters l/B/E/S)
GDP ประมาณการครั้งที่ 1 ของสหรัฐขยายตัว 2.6% YoY ส่วนอัตราการขยายตัวในไตรมาส 1/60 ถูกปรับลดลงอยู่ที่ 1.2% จากที่มีรายงานก่อนหน้านี้ที่ 1.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี (กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ)
การใช้จ่ายทางธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8.2% ในไตรมาส 2/60 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับแต่ไตรมาส 3/59 และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ไตรมาส (กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ)
ดัชนีต้นทุนการจ้างงานซึ่งเป็นตัวชี้วัดค่าจ้างแรงงานที่ครอบคลุมมากที่สุดเพิ่มขึ้น 0.5% ในไตรมาส 2/60 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในไตรมาส 1/60 (กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ)
ยุโรป :
หุ้นยุโรปร่วงเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทกลุ่มเทคโนโลยี ยาสูบ และธนาคารไม่สามารถหนุนตลาดโดยรวมได้ (Reuters)
เอเชีย :
เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) เมื่อวันศุกร์ ซึ่งบินไปไกลราว 1,000 ก.ม. (620 ไมล์) และตกลงในเขตเศรษฐกิจพิเศษของญี่ปุ่น (Reuters)
กำไรบริษัทอุตสาหกรรมของจีนในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 เดือน โดยที่กำไรเพิ่มขึ้น 19.1% YoY ในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 7.28 แสนล้านหยวน (1.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ในครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทต่าง ๆ มีกำไรสุทธิรวม 3.63 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 22.0% YoY เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวกว่าช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่เพิ่มขึ้น 22.7% YoY (Reuters)
ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.6% MoM ในเดือนมิ.ย. เนื่องจากการผลิตรถยนต์และเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณภาคการผลิตมีการปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.7% หลังจากที่ลดลง 3.6% ในเดือนพ.ค. (Reuters)
สินค้าโภคภัณฑ์ :
ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นและปิดรายสัปดาห์สูงสุดในปีนี้ หนุนโดยความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันล้นตลาดที่ลดลง ราคาน้ำมันดิบสหรัฐอยู่ที่ 49.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 67 เซนต์ (+1.4%) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 52.52 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 1.03 ดอลลาร์ (+2.0%) (Reuters)
ทองวิ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ หลังจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่อ่อนแอเกินคาดทำให้นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงได้แรงหนุนจากเหตุการณ์ที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ ราคาทองคำตลาดจรปรับขึ้น 0.8% อยู่ที่ 1,268.84 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ราคาทองล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 0.7% อยู่ที่ 1,268.40 ดอลลาร์ (Reuters)
Thailand Research Department
Mr. Warut Siwasariyanon (No.17923) Tel: 0-2680-5041
Mr. Krit Suwanpibul (No.17968) Tel: 0-2680-5090
Mrs. Vajiralux Sanglerdsillapachai (No. 17385) Tel: 0-2680-5077
Mr. Narudon Rusme, CFA (No.29737) Tel: 0-2680-5056
MISS. Veeraya Rattanaworatip (No.86645) Tel: 0-2680-5042