WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน


กลยุทธ์การลงทุน
  เมื่อเข้าสู่การรายงานงบงวด 2Q60 การประกาศเงินปันผลตามมา (อ่านบทวิเคราะห์ dividend play วันนี้) ทำให้มีแรงขายหุ้นรายตัว กดดัน SET แกว่งตัว 1575-1585 จุด Top picks ยังชอบ BEAUTY([email protected]) เป็นหุ้น Growth Stock ตามกระแสการรักสุขภาพ และนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาหนุนยอดขายตามปกติ และ JWD([email protected]) เป็นหุ้น Turnaround และเก็งกำไร SYNTEC กำไรงวด 2Q60 ดีกว่าคาด (อ่าน equity talk เช้านี้)

 

ย้อนรอยหุ้นไทย...หุ้นน้ำมันขึ้น สวนทางหุ้นส่งออกกระทบจากเงินบาทแข็งค่า
  ตลาดหุ้นไทยวานนี้ปิดบวกอีก 4.69 จุด โดยเพิ่มขึ้นต่อเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นขึ้นที่ 4.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีรายการ Big Lot หุ้น BAT-3K จำนวน 8,780,730 หุ้น มูลค่ากว่า 2.414 พันล้านบาท ที่ราคา 275 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทสยามมากิ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของฮิตาชิ เคมิคอล ประเทศญี่ปุ่น ทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม คือ ตระกูล ขอไพบูลย์ (รวมกัน 43.9% ของทุนเรียกชำระทั้งหมด) และหลังจากนี้จะต้องทำคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากหักรายการดังกล่าวออก มูลค่าการซื้อขายก็ยังเกินกว่า 4 หมื่นล้านบาท


  โดยมีแรงหนุนมาจากหุ้นพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ดีดตัวขึ้นหลังที่ประชุม OPEC เห็นชอบให้มีการจำกัดการส่งออกของซาอุดิอาระเบียและไนจีเรีย โดย PTTEP ปรับขึ้น 2.67% ตามด้วย IRPC, PTT, SPRC และ GPSC เพิ่มขึ้น 1.9%, 1.85%, 1.29% และ 1.27% ตามลำดับ
  หุ้นอื่นที่ปรับขึ้นแรงวานนี้ คือ DIGI หรือเพิ่งเปลี่ยนชื่อจาก ABC มาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นขึ้นไปชน ceiling ที่ 0.19 บาท ก่อนจะย่อตัวลงมาปิดที่ 0.17 บาท หรือปรับขึ้น 13.33% เหตุผลหลักน่าจะมาจากวันนี้จะมีการรวมพาร์จากเดิม 0.10 บาท เป็น 0.50 บาท หรือรวม 5 หุ้นเดิม เป็น 1 หุ้นใหม่ และจะทำให้จำนวนหุ้นเรียกชำระแล้วลดลงจาก 7.902 พันล้านหุ้น เหลือ 1.5804 พันล้านหุ้น ตามด้วย CRANE ฟื้นตัวแรง 12% APURE ขยับขึ้น 6.11% ASAP ฟื้นตัว 5.63% และ MACO ปรับขึ้น 5.30%


  ตรงข้ามกับกลุ่มที่ปรับลดลง คือ กลุ่มชิ้นส่วนฯ ซึ่งกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง โดย KCE วานนี้ยังลงต่ออีก 4.28% DELTA ลดลง 1.14% และหุ้นอื่นที่ปรับลงแรง คือ RCI ลดลง 6.19% ตามด้วย JMT ลดลง 5.93% สวนทางกับปัจจัยพื้นฐานที่ยังเติบโตได้ดี โดยคาด 2Q60 จะเติบโตถึง 20.5% qoq และ 150.9% yoy ขณะที่ BA วานนี้ลดลง 3.7% คาดว่าน่าจะเป็นเพราะผลกำไรงวด 2Q60 ไม่ดีนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวยุโรปที่หายไป แต่น่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ 3Q60 เพราะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวสมุย ลูกค้ายุโรปน่าจะค่อยๆ กลับมา และน่าจะชัดเจนขึ้นใน 4Q60 ที่เป็นช่วงท่องเที่ยวไทย
  โดยรวม SET Index ที่ดีดขึ้นวานนี้ บวกกับมูลค่าการซื้อขายที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ Momentum เชิงบวกยังคงมีอยู่ วันนี้จึงเชือว่า SET Index น่าจะสามารถขยับกรอบขึ้นโดยมีแนวต้านที่ 1585 จุด ส่วนแนวรับที่ 1577 จุด

เศรษฐกิจอังกฤษยังฟื้นต้ว แม้ชะลอตัวช่วงสั้น หนุนให้มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า


  เชื่อว่าวันนี้ตลาดหุ้นโลกยังคงรอผลการประชุม Fed ระหว่าง 25-26 ก.ค. (ทราบผลเช้าวันที่ 27 ตามเวลาในไทย) ซึ่งคาดยังคงดอกเบี้ยที่ 1.25% เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐโดยภาพรวมยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนล่าสุดยังเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน สอดคล้องกับราคาบ้าน แม้เริ่มให้ภาพที่ขัดแย้งกันบ้างกับภาคการผลิต สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ขยับขึ้นจาก 4.3% ขึ้นมาเป็น 4.4% ในเดือนล่าสุด และเงินเฟ้อชะลอลง 4 เดือนติด ล่าสุด 1.6% จาก 1.9% เดือน พ.ค. จาก 2.2% เม.ย. เทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ทำให้ช่องว่างแคบลงทำให้โอกาสที่ Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะขึ้นอีก 1 ครั้งจากการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้ (สอดคล้องกับผลสำรวจโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของ Bloomberg ที่คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือมีโอกาสลดน้อยลง คือ จะไม่ขึ้นการประชุมรอบนี้ ส่วนรอบ ก.ย และ พ.ย. มีโอกาสขึ้น 10.1% และ 10.8% ตามลำดับ และรอบ ธ.ค. โอกาสขึ้นมากที่สุดราว 45% ลดลงจาก 51.4% ในการสำรวจช่วงต้นเดือน ก.ค.) ซึ่งยังคงกดดันดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าราว 7.9% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน


  ขณะที่อังกฤษ วันนี้จะมีการรายงาน GDP growth งวด 2Q60 ตลาดคาดที่ 1.7%yoy ลดลงจาก 2.0% ในงวด 1Q60 ซึ่งทำให้ช่วง 1H60 เฉลี่ยที่ 1.8%yoy ถือว่าสอดคล้องกับ IMF ที่ปรับลด GDP growth ของอังกฤษจากเดิม 2% ในปี 2560 เหลือ 1.7%y เนื่องจากกังวลผลกระทบของ Brexit) แต่อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง 2.6% yoy แม้ลดจาก 2.9% ในเดือน พ.ค. แต่ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยเงินเฟ้อยังติดลบ น่าจะกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2561
ไทยมีการแก้ไขตามข้อเสนอ ICAO เป็นพัฒนาการเชิงบวกหนุน AAV, THAI


  องค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะสรุปรายงานผลการตรวจสอบความปลอดภัยการบินไทยระหว่าง 21-26 ก.ค. เป็นทางการต่อไทยใน 21 ก.ย. 2560 ซึ่งไทยจะยอมรับหรือแก้ไขตามหรือไม่ ภายในเดือน พ.ย. 2560 ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ภาครัฐฯไทยมั่นใจว่าน่าจะผ่านเรื่องความปลอดภัย หรือ safty แล้ว แต่ยังประเด็นพัฒนาเรื่องการมีบุคลากรในการรักษาความปลอดภัย


  หากทุกอย่างผ่าน เท่ากับไทยจะหลุดพ้นจากการติดธงแดง ภายในเดือน พ.ย. ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินของไทย เพราะทำให้มีความยืดหยุ่นในการขยายหรือลดฝูงบินในบางประเทศเพิ่มขิ้น เช่น ที่ผ่านมาถูกจำกัดการเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี (ไม่สามารถปรับเพิ่มลดตามฤดูกาล) ซึ่งน่าจะดีต่อผู้ประกอบการทั้งราย โดยเฉพาะผู้ที่มีเส้นทางบินต่างประเทศ โดยเฉพาะ THAI ส่วน AAV ในฐานะผู้ถือหุ้นสายการบินไทยแอร์ เอเชีย (บินระยะใกล้) สัดส่วน 55% (ที่เหลือ 45% ถือโดย Air Asia Berhad บริษัทแม่ที่มาเลเซีย) จะได้ประโยชน์จากทางอ้อม จากโอกาสที่จะได้รับผู้โดยสารต่อจำนวนมากขึ้น เมื่อสายการบินไทย แอร์ เอเชีย เอ๊กซ์ (เน้นเส้นทางระยะไกล ถือหุ้นโดย Air Asia Berhad และผู้บริหาร AAV ฝ่ายละ 50%) สามารถกลับมาเปิดเส้นทางบินใหม่ๆได้


  นอกจากนี้ คาดว่าการปลดธงแดง จะช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐฯ คือ FAA มีแนวโน้มทบทวนยกฐานะธุรกิจการบินไทยจากเดิมที่อยู่ในระดับ 2 (การกำกับดูแลธุรกิจการบินต่ำกว่ามาตรฐานสากล) ขึ้นเป็นระดับ 1 ซึ่งหมายความว่า แผนการกลับมาขอเปิดเส้นทางบินใหม่ในสหรัฐฯของ THAI น่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น
  ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลของยุโรป คือ EASA แม้ประเทศไทยจะมีปัญหาธงแดง แต่ยังไม่เคยปรับเปลี่ยนความเชื่อถือ ด้าน BA ที่มีความเกี่ยวข้องจากการรับช่วงต่อผู้โดยสารต่อจากสายการบินครบวงจรจากยุโรป จึงไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องธงแดง แต่ที่ผ่านมาเผชิญผลกระทบระยะสั้นนักท่องเที่ยวยุโรปลดลง นับจากช่วงไว้อาลัย แต่ผลกระทบเริ่มลดลงเป็นลำดับ โดยเห็นการกลับมาของกลุ่มลูกค้าหลักๆ คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ
  ดังนั้น แม้ THAI(FV@B21) และ AAV([email protected]) จะเป็น 2 บริษัทที่ได้ผลบวกสูงสุด แต่เนื่องจากราคาปัจจุบันเต็มมูลค่าแล้ว จึงแนะนำให้ Switch ไป BA([email protected]) ที่แม้ไม่ได้ประโยชน์ แต่เห็นสัญญาณฟื้นตัวของธุรกิจแล้ว

 

ตลาดหุ้นในภูมิภาค ยังขาดแรงหนุนจาก Fund Flow
  วานนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลต่ากว่า 487 ล้านเหรียญ แม้จะมีอยู่ 2 ประเทศที่ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ แต่แรงซื้อเริ่มลดน้อยลง คือ ไต้หวันซื้อสุทธิเพียง 23 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และฟิลิปปินส์ 11 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิกว่า 349 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 124 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 16 วัน) และไทย 48 ล้านเหรียญ หรือ 1.6 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตรงข้ามกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิอีกกว่า 3.2 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 2.05 หมื่นล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 613 ล้านบาท

 

หุ้นปันผลระหว่างกาลเด่น KKP, TCAP เป็น Top Picks
  หลังจากประกาศงบการเงินงวด 2Q60 เสร็จสิ้นลงราวกลางเดือน สิงหาคม 2560 คาดว่าจะเข้าสู่ช่วงของการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของบริษัทจดทะเบียน และน่าจะเริ่มทยอยประกาศจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ทำให้หุ้นที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก


  ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯจึงได้ทำการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อคัดกรองหุ้นที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลอย่างสม่ำเสมอ พบว่า หากซื้อหุ้นก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD 1 เดือน และขายทำกำไรหลังขึ้นเครื่องหมาย XD 1 เดือน มีโอกาสให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 1.5% ด้วยความน่าจะเป็นที่ราคาหุ้นจะปรับขึ้นเป็นบวก 63% จะเห็นว่าผลตอบแทนน้อยเมื่อเทียบกับการจ่ายตามผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของทุกปี


เนื่องจากการจ่ายปันผลระหว่างกาลถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับการจ่ายทั้งปี และบริษัทจดทะเบียนที่จ่ายปันผลระหว่างกาล ยังมีจำนวนน้อยกว่าบริษัทจดทะเบียนที่จ่ายเงินปันผลตอนสิ้นงบปีอีก แต่สภาวะตลาดหุ้นไทยที่ยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ และรอปัจจัยหนุนใหม่ ๆ นอกเหนือจากการรายงานผลประกอบการงวด 2Q60 และยังไม่มีแรงหนุน fund flow การที่ยังมีหุ้นที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น


  ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงแนะนำลงทุนหุ้นที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลสม่ำเสมอ และมีพื้นฐานแกร่ง อย่าง KKP, TCAP, LH และ RATCH โดยหุ้นทั้ง 4 บริษัท มักจะให้ผลตอบแทนก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD และขายหลังขึ้นเครื่องหมาย XD 1 เดือน มีโอกาสให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 6.89% และมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกสูงถึง 93.75% และหากพิจารณาเพิ่มเติมถึงรายหุ้น พบว่า KKP,TCAP และ LH มีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวก 100% และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 9.00%, 8.74% และ 6.01% ตามลำดับ ส่วน RATCH มีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวก 75% และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 3.79%
  แต่หากพิจารณาราคาหุ้นที่ปรับฐานแรงในช่วงประกาศงบ 2Q60 จึงเลือก KKP และ TCAP เป็น Top picks (รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามอ่านได้ใน Quantitative Analysis ภายในวันนี้)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!