WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
        ยังเป็นช่วงของการซื้อสลับขายรายกลุ่ม ตามการคาดการณ์ผลประกอบการงวด 2Q60 จึงคาดว่า SET ยังแกว่งตัวในกรอบ 1570-1585 จุด Top picks JWD(FV@B11) และ GFPT(FV@B21) หลังราคาหุ้นปรับฐานระยะหนึ่ง มีโอกาสฟื้นตัวต่อ เพราะนักวิเคราะห์ ASPS คาดกำไรงวด 2Q60 โดดเด่น 14%qoq และ 21%yoy

 

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย...แกว่งสลับขายทำกำไร
      วานนี้ SET Index ปรับตัวลงตลอดการซื้อขายภาคบ่าย ปิดปรับตัวลดลง 3.70 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเบาบางเหลือเพียง 3.17 หมื่นล้านบาท โดยกดดันตลาด นำโดยกลุ่มปิโตรเคมี คือ VNT ลดลงมากถึง 3.18% หลังจากที่ราคาหุ้นได้ทำ all time high ที่ 22.50 บาท (ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นกว่า 33%) ตามด้วย IVL ราคาลดลง 2.63% น่าจะเป็นการขายทำกำไรระยะสั้น ตอบรับผลกำไรปกติงวด 2Q60 จะเพิ่มขึ้นจาก 1Q60 ตาม spread ของ PET ที่ดีขึ้น หนุนทั้งปี 2560 กำไรปกติเติบโต 29.3%yoy และ PTTGC ราคาลดลงปรับฐานเล็กน้อย 0.36%
หุ้นอื่นๆ ที่ปรับตัวลงแรง คือ ขนส่ง นำโดย AOT ลดลงถึง 2.56% หลังจากขึ้นทำ New High ที่ 50.25 บาท ทำให้ upside เริ่มน้อยลง และ THAI ราคาหุ้นลดลง 2.49% คาดผลประกอบการน่าจะชะลอตัวลงใน 2Q60-3Q60 หลังจากทำสถิติสูงสุดใน 1Q60 ตามด้วยกลุ่มบันเทิง นำโดย RS ลดลง 4.79% หลังจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นกว่า 50% ในช่วงกว่า 1 เดือน และ MAJOR ลดลง 3.17% เป็นการปรับฐานต่อเนื่องนับจากปลาย มิ.ย. ซึ่งน่าจะเป็นเพราะผิดหวังต่อหนัง Transformer ที่อาจจะไม่ดีตามคาด แต่โดยรวมยอดขายตั๋วในงวด 2Q60 ยังดี


ตรงข้ามกับกลุ่มที่ปรับขึ้นได้แก่ กลุ่มเกษตร-อาหาร คือ TU เพิ่มขึ้น 2% น่าจะเป็นความคาดหวังเชิงบวกว่าจะคงสถานะใบเหลือง (IUU เรื่องการทำประมงผิดกฏหมาย) ต่อไทยเช่นเดิม แต่แรงกดดันเรื่องต้นทุนวัตถุดิบน่าจะยังมีอยู่จนถึงเดือน ต.ค. และราคาหุ้นถือว่าเต็มมูลค่าแล้ว ตามด้วย STA ปรับขึ้น 1.36% แม้ได้แจ้งตลาดฯ เพิ่มทุน 256 ล้านบาท (พาร์ 1 บาท) ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) อัตราส่วน 5 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ หุ้นละ 10 บาท และ GFPT เพิ่ม 1.02% เป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังปรับฐาน โดยมีแรงหนุนจากผลการดำเนินงานงวด 2Q60 เติบโต 14.0% qoq และ 21.1% yoy จากการเข้าช่วงฤดูกาลส่งออกเนื้อไก่ และราคาไก่เฉลี่ยงวด 2Q60 ที่เพิ่มขึ้น ตามด้วยกลุ่มโรงพยาบาลฟื้นตัวอย่างโดดเด่น คือ CHG บวก 5.04% BCH ปรับขึ้น 3.85% และ RJH ปรับขึ้น 2.25%
โดยรวมการที่ SET เปิดสูงปิดต่ำ และเคลื่อนไหวในกรอบแคบด้วยมูลค่าการซื้อขายเบาบาง ทำให้ SET ยังคงแกว่ง Side way วันนี้คาดว่าดัชนีมีแนวรับสำคัญที่ 1570 จุด และแนวต้าน 1585 จุด

 

ดัชนีเศรษฐกิจดีกว่าตลาดคาด หนุนการส่งออกเอเชีย รวมถึงไทย
เศรษฐกิจจีน ซึ่งหัวเรือใหญ่ในเอเซียยังคงเติบโตแข็งแกร่ง สะท้อนจาก GDP Growth งวด 2Q60 ขยายตัว 6.9% yoy และมากกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยที่ระดับ 6.8%yoy ซึ่งสาเหตุหลักมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน เฉลี่ยงวด 2Q60 ขยายตัวราว 9.3%yoy และภาคการบริโภค สะท้อนจากยอดค้าปลีก เฉลี่ยงวด 2Q60 ที่ขยายตัวราว 10.8%yoy หนุนให้ GDP Growth 1H60 เพิ่ม 6.9%yoy (เทียบกับที่ IMF คาดทั้งปี 2560 ที่ 6.6%yoy ทำให้มีโอกาสเป็นไปได้สูง)


เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวได้ดี น่าจะบวกต่อการค้าขายในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะไทย ซึ่งค้าขาย (X+M) กับจีนมากที่สุดราว 16.1% ของการค้าไทยกับทั้งโลก แต่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน (ราว 1.82 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2559) โดยไทยส่งออก(X) ไปจีน ม.ค.-พ.ค. ราว 12.5%ของยอดส่งออกรวม สินค้าส่งออกเติบโตได้ดีคือ อิเล็กทรอนิกส์ (เติบโตตามสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ Internet of thing) แผงวงจรไฟฟ้า, ยางพารา, เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยกเว้น มันสำปะหลัง, น้ำตาลทราย และเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่หดตัว เช่นเดียวกับนำเข้า (19.5%ของการนำเข้ารวม) หลักๆ คือ เหล็ก, ส่วนประกอบยานยนต์, เคมีภัณฑ์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, พลาสติก เป็นต้น ยกเว้น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และ เหล็ก ที่ยังชะลอตัว ขณะที่จีนจะถูกกีดกันการค้าจากสหรัฐนั้น เพราะได้ดุลการค้าสหรัฐมากที่สุด 40% ของการขาดดุลการค้าทั้งหมดสหรัฐ ทำให้ปลายเดือน มิ.ย. สหรัฐ ปรับลดสถานะการใช้แรงงานของจีนลงมาอยู่ Tier 3 (จากเดิม Tier 2 เฝ้าระวัง เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงสุด) อยู่ในกลุ่มเดียวกับรัสเซีย อิหร่าน ซีเรีย ซูดานและเกาหลีเหนือ (ไทยอยู่ที่สถานะ 2) ซึ่งอาจเป็น เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในช่วงสั้น ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสของไทยและเพื่อนบ้าน


ส่วนการใช้นโยบายการเงินของจีนคาดว่ายังคงเดิม หลังนำหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามหลังสหรัฐไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อเดือน มี.ค. และเม.ย. (ครั้งแรกปรับขึ้น 0.1% และครั้งที่ 2 คือ ปรับขึ้นเฉพาะดอกเบี้ยระยะสั้น (SLF) 0.1-0.2% ขึ้นกับระยะเวลาเวลา (ข้ามคืนขึ้น 0.2% เป็น 3.3%, 7 วัน และ 1 เดือน ขึ้น 0.1% เป็น 3.45% และ 3.80% ตามลำดับ) ทำให้ล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายจีนอยู่ที่ 4.45% สูงกว่าเงินเฟ้อที่ 1.5% ทำให้ เงินหยวนยังคงแกว่งตัวในทิศทางแข็งค่า แม้แข็งค่าราว 2.4%ytd ก็ตาม

พฤหัสบดีนี้ การประชุม BOE/ECB น่าจะส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินตึงตัว
นอกเหนือจากประเด็นจีน ปัจจัยต่างประเทศน่าจะที่ให้น้ำหนักไปที่การประชุม ธนาคารกลาง ยุโรป (20 ก.ค.) และ อังกฤษ (3 ส.ค.) ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้นโยบายการเงินตึงตัวตามสหรัฐ (แคนาดาได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี มาที่ 0.75%เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว) โดยอังกฤษมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าฝั่งยุโรป เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจดีขึ้น เช่น อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. ลดลงอยู่ที่ระดับ 4.5% ต่ำสุดในรอบ 42 ปี และ ช่องว่างของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยกว้างกว่าราว 2.65% (เงินเฟ้อ 2.9% และดอกเบี้ย 0.25%) ขณะที่ยุโรปช่องว่างแคบกว่าราว 1.3% (เงินเฟ้อ ล่าสุด เดือน มิ.ย. ทรงตัวที่ 1.3% และดอกเบี้ย 0%) ทั้งนี้ติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะถึงในวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งตลาดคาดว่าจะยังยืนดอกเบี้ยฯ ที่ 0% และคง QE ที่เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร (ระยะเวลา เม.ย. ถึงสิ้นปีนี้) แต่ให้น้ำหนักไปที่การประชุมรอบถัดไป ก.ย. สะท้อนจากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกส่วนใหญ่คาดว่าจะมีประกาศถอนเงินออกจากระบบ (Tapering) ในปี 2561


ขณะที่เอเซีย มีเชื่อว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้น้อยกว่า แต่น่าจะขึ้นได้ในปี 2561 ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจในหลายประเทศยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายจึงมีความจำเป็นไปอีกระยะหนึ่ง โดยระหว่าง 19-20 ก.ค. ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่ายังคงต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายตามเดิม คือคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ตั้งแต่ ม.ค. 2559 เทียบกับเงินเฟ้อ ล่าสุด อยู่ที่ 0.4%yoy ติดต่อกัน 2 เดือน (และ คงวงเงิน QQE ที่ปีละ 80 ล้านล้านเยนตั้งแต่ พ.ย. 2557 ควบคู่กับการรักษาเส้น Yield Curve) สอดคล้องกับผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ 43 คนในญี่ปุ่น เชื่อว่า BOJ จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน จนกว่าจะถึงเดือน เม.ย. 61 ซึ่งเป็นเวลาที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ครบกำหนดวาระการบริหารประเทศ สถานการณ์เช่นนี้คาดว่ายังทำให้ Fund flow ไหลออกจากเอเชียไปยังยุโรปและสหรัฐ

แรงซื้อหุ้นในภูมิภาคจากต่างชาติแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด
แม้วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แต่แรงซื้อชะลอตัวลงเรื่อยๆ จนล่าสุดมีมูลค่าซื้อสุทธิรวมเพียง 24 ล้านเหรียญ และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า เป็นการซื้อสุทธิเล็กน้อย 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 46 ล้านเหรียญ (หลังขายสุทธิในวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 4 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5) และฟิลิปปินส์ 4 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ อินโดนีเซีย 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 10) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 17 ล้านเหรียญ หรือ 567 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 481 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 7.46 พันล้านบาท สวนทางกับต่างชาติที่ยังคงขายสุทธิอีก 1.62 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8 โดยมีมูลค่ารวม 1.65 หมื่นล้านบาท)

TMB รายงานงบดีกว่าคาด และให้น้ำหนัก Earnings Preview ภาคการผลิต


วานนี้ มีการรายงานงบของ TMB งวด 2Q60 กำไรสุทธิดีกว่าคาด อยู่ที่ 2.33 พันล้านบาท เติบโต 11.1%qoq และ 8.3%yoy โดยมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมฯ access fee ที่ทยอยรับรู้ (มีการบันทึกย้อนหลังสำหรับงวด 1Q60 ด้วย) หากไม่รวมรายการดังกล่าว พบว่ากำไรจากธุรกิจหลักเติบโตต่ำกว่าคาด ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายพนักงาน ซึ่งไปหักล้างผลบวกของสินเชื่อสุทธิที่เติบโต และ NIM ที่ยังทรงตัวได้ดีกว่าคาด ส่วน 3Q60 คาดอ่อนตัวลงจากงวด 2Q60 จากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่บันทึกเข้ามามากเกินปกติในงวด 2Q60 แต่ในส่วนของธุรกิจหลัก ประเมินว่ายังทรงตัว ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ และ NPL ยังทรงตัวใกล้เคียงงวด 2Q60
ทั้งนี้ แม้ว่ายังมี downside risk เนื่องจาก NIM งวด 1H60 อยู่ที่ 3.11% ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 3.24% ก็ตาม (เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อในกลุ่ม low yield ทั้งสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อที่อยู่อาศัย และการลดลงของต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเริ่มจำกัดมากขึ้น) แต่น่าจะได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ จากธุรกรรม bancassurance ทำให้คาดกำไรสุทธิปี 2560-61 เติบโต 11.9% และ 8.6% แต่ราคาหุ้นปัจจุบันมี upside เหลือน้อยเมื่อเทียบกับ Fair Value ที่ 2.40 บาท จึงยังคงแนะนำให้ switch ไปลงทุนในหุ้น ธ.พ.อื่นๆ ที่ได้แก่ SCB, KKP, TCAP


        ขณะที่การทำ Earning Preview ของหุ้นภาคการผลิต ในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง คือ DRT ([email protected]) คาดการณ์กำไรสุทธิ 2Q60 ลดลง 12%QoQ (แต่เพิ่มขึ้น +2%YoY) จากธุรกิจวัสดุก่อสร้างช่วง 2Q60 ซบเซาจากจำนวนวันหยุดที่มีมาก ประกอบกับฤดูฝนที่มาเร็วกว่าปกติ แนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังจะปรับตัวลดลงชัดเจนเทียบกับครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลตามฤดูกาล แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงเหมือนปีก่อน เนื่องจากมีการเพิ่มสัดส่วนยอดขายผ่าน Modern Trade และลูกค้าโครงการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูง ขณะที่ยอดขายผ่านร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีความผันผวนตามฤดูกาลมีสัดส่วนลดลง นอกจากนี้ในช่วง 2H60 DRT ยังมีโอกาสรับรู้กำไรพิเศษเกือบ 100 ล้านบาท หากสามารถขายที่ดิน 36 ไร่ ที่ จ.ชลบุรีได้ แต่ราคาหุ้นมี Upside จำกัด แต่ Dividend Yield ที่สูงเกือบ 6% ต่อปี และ ยังมีประเด็นบวกหากเพิ่มเติมหากจะลดทุนผ่านการซื้อหุ้นคืน 100 ล้านหุ้น (9.5% ของทุนจดทะเบียน) 

         ขณะที่หุ้นอื่นๆ ในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ทำ Earning Preview ไปแล้วก่อนหน้า คือ SCC (FV@B620) คาดการณ์กำไรสุทธิ 2Q60 ลดลง -21.4%qoq เนื่องจาก 1Q60 มีกำไรพิเศษหลายรายการ และลดลง -14.7%yoy เนื่องจาก 2Q59 ที่มี Stock Gain จากธุรกิจปิโตรเคมี ขณะที่ไตรมาสนี้ธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะมี Stock loss เกิดขึ้น แต่ธุรกิจปิโตรเคมีก็ยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรได้สูง ส่วนธุรกิจหลัก ทั้งปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ Packaging ไม่สดใส เพราะอยู่ในช่วง Low season และถูกกดดันจากต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยภาพรวมจึงทำให้ผลประกอบการปีนี้ของ SCC เติบโตเล็กน้อย 1.8%yoy หนุนด้วยธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังคงอยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นยาวถึงปี 2564


ตามด้วยหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมี คือ PTTGC ([email protected]) คาด 2Q60 กำไรสุทธิลดลง 51.3%qoq จากธุรกิจโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์มีการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงโรงงาน รวมทั้ง spread ผลิตภัณฑ์โดยรวมที่ลดลง ส่วนธุรกิจโรงกลั่นคาดจะมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันจากงวดก่อนหน้าที่บันทึกเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมัน นอกจากนี้คาดจะบันทึกกำไรจาก Fx ลดลง ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมโรงกลั่นและปิโตรเคมีในช่วง 2H60 นั้นจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับช่วง 1H60 แต่จะได้ Volume เข้ามาชดเชยจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และน่าจะช่วยต่อยอดการเติบโตช่วง 4 ปีข้างหน้าจากกำลังการผลิตใหม่ๆ ที่ทยอยเพิ่มขึ้น โดยรวมปีนี้คาดผลประกอบการเติบโต 11.4% นอกจากนี้ ผลตอบแทนเงินปันผลยังสูงสุดในกลุ่มปิโตรฯ ที่ราว 4.6% พร้อม PER ที่ต่ำกว่ากลุ่มฯ เพียง 11 เท่า จึงยังแนะนำซื้อลงทุนระยะยาว


Derivative Team:
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636



apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!