WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
  ดัชนีความเชื่อมั่นชะลอตัว และ TFF ถูกเลื่อนออกไปกดดันตลาดหุ้นระยะสั้นๆ แต่น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากนี้ ทั้งจากที่ ครม. อนุมัติการลงทุน 4 โครงการเร่งด่วนใน EEC และการลงทุนที่เกิดขึ้นแล้ว รถไฟฟ้า 3 เส้น (ส้ม เหลือง ชมพู) ยังชอบ SPALI([email protected]) พื้นฐานแกร่ง (PER ต่ำ 8 เท่า ปันผลสูง 4.6%) มีการกระจายธุรกิจที่ดี (แนวราบและสูงใกล้เคียงกัน) ด้วย Backlogs สูง 3.97 หมื่นล้านบาท รองรับการเติบโตต่อเนื่อง ในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ย้อนรอยตลาดหุ้น..ดัชนียังแกว่งตัวในกรอบแคบ 1560-1575 จุด
  SET Index วานนี้ลดลง 5.38 จุด มูลค่าการซื้อขายกว่า 4.76 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางการซื้อขายรายกลุ่มที่หนาแน่น โดยนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิถึง 2.6 พันล้านบาท สวนทางกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 4 พันล้านบาท โดยหุ้นพลังงานยังถูกกดดันหนักจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลงหนัก ขณะที่ปัจจัยกดดันจากจีน ที่เข้มงวดการนำเข้าถ่านหิน และล่าสุดเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ใน 11 มณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีน อาจจะทำให้เส้นทางการขนส่งถ่านหินประสบปัญหา โดยมีหุ้น PTTEP นำลงมากสุด -3.07% PTT ลดลง -1.07% PTTGC ลดลง -0.72% ขณะที่ BANPU ลดลง -2.52% ส่งผลให้เดือนนี้ราคาหุ้น BANPU ลดลง -6.63%
  เช่นเดียวกับกลุ่ม ธ.พ. วานนี้ถูกกดดันหนักเช่นกัน โดยเฉพาะ SCB ราคาร่วงลงไป -1.92% จากกระแสข่าวที่ว่ามีการระงับการขาย SCBLIF ที่เป็นบริษัทลูกของ SCB ออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม SCB มีแผนที่จะขาย SCBLIF แต่ยังไม่ได้ระบุเวลาที่แน่นอน ดังนั้น จึงไม่ควรจะกังวลกับกระแสข่าวดังกล่าว


  ในทางตรงข้าม หุ้นที่ปรับขึ้นได้อย่างโดดเด่น คือ AOT เพิ่มขึ้นถึง 5.29% จากความคาดหมายที่จำนวนผู้ใช้บริการ 2Q60-3Q60 จะเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ส่งสัญญาณดีขึ้นจากงวด 1Q60 ส่งผลให้การเติบโตนักท่องเที่ยวทั้งปี 2560 เพิ่ม 6% และภาพรวมจำนวนผู้ใช้บริการสนามบิน AOT ปี 2560 เติบโตสอดคล้องกันที่ 7%yoy (ตัวเลข AOT สูงกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเล็กน้อย เพราะ AOT มีผู้ใช้บริการ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เดินทางในและนอกประเทศ)
  โดยรวม คาดว่า SET Index วันนี้มีโอกาส Rebound ทางเทคนิค แต่มีพื้นที่การฟื้นตัวจำกัด โดยยังมี Fund Flow เป็นตัวแปรหลัก คาดดัชนียังแกว่งตัว 1560 – 1575 จุด

 

ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัว หนุนขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป
  การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดแรงงาน คือ การจ้างงานภาคเอกชน(ADP Employment) เดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 1.58 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.85 แสนราย หลังจากก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 2 เดือน แต่คาดว่าอัตราการว่างงานสหัฐน่าจะยังคงตัว 4.3%(ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤซับไพรม์) ติดตามผลสรุปวันนี้ และน่าจะหนุนให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป แต่ประเด็นที่ตลาดน่าจะให้น้ำหนัก คือ การเดินสายของประธานาธิบดีทรัมป์พบปะผู้นำประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า ก่อนการประชุมประเทศผู้นำ G20 ระหว่างวันที่ 7-8 มิ.ย. โดยเตรียมพบปะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี นางอังเกลา แมร์เคิล แม้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่พอจะคาดเดาได้ว่าน่าจะเป็นที่ สหรัฐขาดดุลการค้ากับ เยอรมนี เป็นอัน 2 ราว 7% ของการขาดดุลการค้าสหรัฐ รองจากจีน ซึ่งขาดดุลมากที่สุดราว 40% หลังจากก่อนหน้านายทรัมป์ได้มีการพบปะผู้นำประเทศ ญี่ปุ่น , เม็กซิโก สหรัฐขาดดุลอัน 3 และ 4 ราว 6.8% และ 6% ตามลำดับ แต่คาดว่าสหรัฐไม่น่าจะดำเนินการกีดกันทางการค้า เช่นเดียวกับก่อนหน้าที่เข้าพูดคุยกับนายกฯ ของญี่ปุ่น โดยทั้ง 2 ประเทศยังคงส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกัน ยกเว้นเม็กซิโก หลังจากพูดคุยเร่งให้มีการเจรจาสนธิสัญญาการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ใหม่อีกครั้ง

 

EEC คืบหน้า แต่หักล้างจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคหดตัว และ TFF เลื่อนออกไป
  แม้ความคืบหน้าการส่งเสริมลงทุนภาครัฐ ทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้า ตามที่ได้นำเสนอช่วงที่ผ่านมา และโครงการลงทุน EEC (ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ new S Curve การลงทุนใน 3 จังหวัด เป็นต้น) เริ่มคืบหน้า หลังจาก ครม อนุมัติใน 4 โครงการเร่งด่วน มูลค่า 7 แสนล้านบาท คือ พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือแหลมฉะบังระยะ 3 และ ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 จากมูลค่าลงทุนใน EEC รวม 1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า และล่าสุดแอร์บัส อินดรัสทรี ได้ทำหนังสือตอบรับร่วมลงทุนกับ THAI ในโครงการศูนย์ซ่อมท่าอากาศยานอู่ตะเภา 1.5 หมื่นล้านบาท รองรับการซ่อมเครื่องบินรุ่นใหม่ พื้นที่ 250 ไร่ จะเริ่มลงมือก่อสร้างในเดือน มี.ค. 2561


  ถือเป็นปัจจัยบวกและน่าจะหนุนให้การลงทุนเอกชนที่ชะลอตัวมานาน เริ่มขยับขยายได้บ้าง (การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเกือบ 30% ของ GDP ช่วงก่อนวิกฤติ ลงมาเหลือ 19% ในปัจจุบัน ตรงข้ามกับภาครัฐที่ขยับขึ้นมาเป็นระดับกว่า 15% จากที่เคยอยู่ในระดับ 10%) แต่อย่างไรถูกหักล้างจากปัจจัยกดดันระยะสั้น ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ที่หดตัวเป็นเดือนที่ 2 จากผลกระทบของพืชผลเกษตรตกต่ำ ตามราคาตลาดโลกที่ลดลง โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ระเบิดที่ ร.พ. พระมงกุฎ ในเดือน พ.ค. ประกอบการในช่วงลายไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 2 น่าจะเป็นช่วงชะลอตัวตามปกติ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในเดือน ถัดๆ ไป เพราะรัฐได้มีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยเฉพาะวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และ ในช่วง 4Q60 เข้าสู่ฤดูกาลใช้จ่ายเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ ราคาหุ้นที่ย่อตัวเป็นโอกาสสะสม COM7(FV@B14) และ HMPRO([email protected])


ประเด็นลบอีกประการคือ โครงการ Thailand Future Fund ถูกเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2561 จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มทยอยขายได้ในช่วง 2H60 เนื่องจากติดปัญหาในขั้นตอนการทำงาน โดยเฉพาะการโอนกรรมสิทธิในกระแสเงินสดของ 2 เส้นทางหลัก คือ ทางด่วนพิเศษฉลองรัฐ (รามอินทรา-อาจณรงค์) และ บูรพาวิธี (บางนา-ชลบุรี) ให้กับกองทุน TFF (45% ของเงินที่เก็บได้ เป็นเวลา 30 ปี) เพื่อนำเงินไปลงทุนในการก่อสร้าง ทางด่วน 2 เส้นทางใหม่คือ ทางด่วนพิเศษพระราม 3 (ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอก) 3 หมื่นล้านบาท และ ทางด่วนขั้น 3 เกษตรนวมินทร์ – มอเตอร์เวย์ 1.4 หมื่นล้านบาท

 

ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจาก ความกังวลต่อปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่เพิ่มขึ้น
  วานนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI ฟื้นตัวเล็กน้อยราว 0.86% มาอยู่ที่ 45.52 เหรียญฯต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯปรับลดลงถึง 6.30 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าตลาดคาด (ว่าจะลดลงเพียง 2.28 ล้านบาร์เรล) และยังสอดคล้องกับข้อมูลปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 9.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ณ วันที่ 28 มิ.ย. 60 รวมทั้งยังได้รับแรงหนุนจากหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลง 2 แท่น นับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 มาอยู่ที่ 756 แท่น นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงมา 0.5% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา หลังดัชนีชี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัว


  อย่างไรก็ตามยังถูกหักล้างจาก ความกังวลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดตัวเลขปริมาณการผลิตในเดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 2.6 แสนบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 32.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมากสุดในกลุ่มอีกกว่า 9 หมื่นบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงลิเบียและไนจีเรีย ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และ 5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ เนื่องทั้ง 2 ประเทศ ได้รับการยกเว้นการปรับลดกำลังการผลิต แต่ฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่าแนวโน้มราคาน้ำมันน่าจะยืนอยู่เหนือ 40 เหรียญฯ ได้ เช่นเดียวกับราคาหุ้นปิโตรเลี่ยม จึงแนะนำทยอยซื้อสะสมหุ้น PTT (FV@B460) และ PTTEP(FV@B116) เมื่อราคาอ่อนตัวลง

 

ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค รวมทั้งไทย
  วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคด้วยมูลค่ากว่า 246 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นไต้หวันและอินโดนิเซียที่ต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องราว 1 ล้านเหรียญ และ 39 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศที่ต่างชาติซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ 198 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), ฟิลิปปินส์ 10 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และไทยต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 77 ล้านเหรียญ หรือ 2.6 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) ขณะที่สถาบันในประเทศที่ขายสุทธิกว่า 4.1 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)


  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 1.72 หมื่นล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ขายสุทธิราว 941 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!