- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 04 July 2017 17:22
- Hits: 2031
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ทำให้เชื่อว่า กนง. ยังคงดอกเบี้ยฯ ถึงสิ้นปี ถือเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ขณะที่เข้าสู่ช่วงการทำ Earnings Preview งวด 2Q60 ของ ธ.พ. แม้ไม่สดใส แต่มีสัญญาณที่ดีขึ้นในงวด 2H60 จากความคืบหน้าการลงทุนภาครัฐ ทำให้มีความต้องการใช้เงินทุนจากสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับหุ้นก่อสร้างที่คาดว่าจะหนุนให้ Backlog สามารถขยับขึ้นแตะ 5 แสนล้านบาทในปี 2561 Top picks ยังชอบ CK(FV@35) ในฐานะที่เป็น Land Transport Operator และ SCB(FV@178) หุ้น The Laggards
แม้ SET Index จะปรับขึ้นแต่ดูไม่แข็งแรงจากมูลค่าการซื้อขายที่เบาบางมาก
เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 พบว่า SET Index ปรับขึ้นขึ้น 4.67 จุด แต่มูลค่าซื้อขายน้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ 17 เม.ย. หรือในรอบกว่า 2 เดือนครึ่ง แต่หากพิจารณาการเคลื่อนไหวรายกลุ่มพบว่า การปรับขึ้นมาจากกลุ่มพลังงาน ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันโลก และกลุ่ม ICT ที่ฟื้นตัวต่อวันที่ 2 นำโดย ADVANC ซึ่งมีการแผนการลดต้นทุน ทำให้ปี 2561 จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง
ส่วนหุ้นกลางและเล็กที่ปรับขึ้นโดดเด่นคือ RS ปรับขึ้น 7.87% และราคาหุ้นขึ้นทำ New High ในรอบกว่า 1 ปี น่าจะเป็นประเด็นเก็งกำไรยังคงมาจากความคาดหวังต่อผลประกอบการ 2Q60 จะดีขึ้นจากผลของฤดูกาล ทั้งธุรกิจสื่อโฆษณา และธุรกิจความงาม (Health & Beauty) ที่ล้วนที่ดีขึ้นจากงวด 1Q60 ตามด้วย WORK วานนี้ฟื้นตัวแรง 4.8% หลังจากซึมซับข่าวลบที่ กสทช. ได้กำหนดเส้นตายให้ ผู้บริการ OTT ซึ่งจัดเป็นผู้ให้บริการบรอดคาสต์โดยไม่ใช้คลื่นความถี่ (ต้องอยู่ภายในการกำกับดูแลของ กสทช.) มาแจ้งลงทะเบียน ภายในวันที่ 22 ก.ค. นี้ เพื่อควบคุมเนื้อหาและอาจจะมีประเด็นภาษีหรือไม่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการ OTT 3 รายที่ยังมิได้ลงทะเบียนคือ Youtube, Facebook และ NETFLIX (ทั้ง 3 รายมิได้จดทะเบียนทำธุรกิจในประเทศไทย แต่ให้บริการออนไลน์ข้ามชาติ) ขณะที่ให้ผู้ให้บริการ OTT ที่จดทะเบียนทำธุรกิจในไทยที่มาลงทะเบียนแล้ว เช่น BUTABOO.TV เครือช่อง 7 , CH3 LIVE, MONOMAXXX และ LINETV (สัญชาติเกาหลี) กระทบต่อ WORK เพราะปัจจุบันมีส่วนแบ่งรายได้โฆษณาผ่าน Youtube ราว 15-20 ล้านบาท/เดือน และใน 2H60 จะรับรู้ส่วนแบ่งรายได้โฆษณาจาก Facebook อีกแห่ง
นอกจากนี้หุ้นที่ปรับตัวขึ้นอื่น ๆ CPALL และ BDMS เพิ่มขึ้น 1.59% และ 1.56% ตามลำดับ ตรงข้าม หุ้นที่ลดลงแรงวานนี้ คือ KTC สะท้อนข่าวที่ ธปท. จะควบคุมการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะที่ AOENTS ราคาไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวโดยรวม ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่บางมาก ทำให้การปรับขึ้นของ SET Index ดูไม่แข็งแรง หากดัชนีกลับมายืนเหนือ 1580 จุด ไม่ได้ ดัชนีอาจต้องกลับมาพักฐานบริเวณ 1574 จุด อีกครั้ง
เงินเฟ้อไทยยังคงชะลอตัว หนุน กนง. คงดอกเบี้ยฯ จนถึงสิ้นปีนี้
การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ราว 2.9%mom และดีกว่าตลาดคาด สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm payrolls) เฉลี่ย ม.ค.-พ.ค. 2560 ยังขยายตัวราว 1.62 แสนราย หนุนอัตราการว่างงานในเดือนล่าสุด ลดลงอยู่ในระดับต่ำ 4.3% ใกล้เคียงกับเป้าหมาย และต่ำสุดตั้งแต่ปี 2550 ทั้งนี้ยกเว้นเงินเฟ้อที่ยังชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบ ล่าสุด พ.ค. อยู่ที่ 1.9%yoy (จาก 2.2% เดือน เม.ย. 2.4% เดือน มี.ค. และ 2.7% เดือน ก.พ.) แต่ยังสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% จึงทำให้เชื่อว่า Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยจะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือราว 0.25% อีก 1 ครั้งในการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้ง (สอดคล้องกับผลสำรวจของ Bloomberg คาดโอกาสรอบรอบ ธ.ค. สูงสุด 52% (ก.ค. 0% ก.ย.และ พ.ย. 16%)
ขณะที่ยุโรป รายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน หนุนการขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า คือ ดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และมากกว่าตลาดคาดเล็กน้อย สอดคล้องกับอัตราการว่างงานโดยรวมของยุโรป เดือน มิ.ย. ทรงตัวที่ 9.3% (ระดับต่ำสุดตั้งแต่ วิกฤตซับไพรม์ มิ.ย. 2552 เทียบกับ ที่เคยสูงสุด 12.5% ปี 2556) หลักๆ ลดลงจากประเทศที่เป็นหัวเรือใหญ่ในยุโรป คือ อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, เยอรมัน, ฝรั่งเศส ยกเว้น ประเทศในกลุ่ม PIIGS อาทิ โปรตุเกส, อิตาลี, กรีซ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยุโรปอยู่ในระดับสุง แม้เริ่มชะลอตัวเดือนหลังๆ (เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 1.3%yoy จาก 1.4% เดือน พ.ค และ 1.9% เม.ย. 2560) และยังอยู่ในระดับสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% ทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางยุโรปจะหันใช้นโยบายการเงินตึงตัว ตามหลังสหรัฐ เนื่องจากส่วนต่างเงินเฟ้อและดอกเบี้ย
ขณะที่ไทยเงินเฟ้อไทย เดือน มิ.ย. ชะลอตัวสอดคล้องกับทั่วโลก เป็นการตอกย้ำว่า กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยฯ ที่เดิมถึงสิ้นปีนี้ โดยเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. อยู่ที่ -0.05%yoy จาก -0.04% ใน พ.ค.(เฉลี่ย ม.ค-มิ.ย. อยู่ที่ 0.67%) ตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลงราว 4.1% ใน มิ.ย. และฐานเงินเฟ้อที่สูงในปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้เป็นการตอกย้ำให้การประชุม กนง. ในวันพรุ่งนี้ ยังต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% ตามเดิม(ติดต่อกันตั้งแต่ เม.ย.2558) ถือเป็นการช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวล่าช้าอีกประเด็นนึง
เข้าสู่การทำประมาณการกำไรงวด 2Q60 ซึ่งคาดทั้งตลาดน่าจะอ่อนตัวจาก 1Q60
ดังที่กล่าวไว้วานนี้ว่าครึ่งแรกของเดือน ก.ค. ดัชนีมีโอกาสฟื้นตัว ด้วยปัจจัยอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ
ปัจจัยทางสถิติ จากกระแส Fund Flow ที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในหุ้นไทยในเดือน ก.ค. เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีกว่า 6.5 พันล้านบาท และเป็นการซื้อสุทธิ 4 ใน 5 ปีหลังสุด
และอีกประการคือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน งวด 2Q60 ซึ่งน่าจะเริ่มทยอยประกาศปลายเดือน ก.ค. เป็นต้นไป เริ่มต้นที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (อ่านรายละเอียดใน Equity Talk กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 3 มิ.ย.)จากนั้นจะเป็นภาคการผลิต (Real Sector)
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดแนวโน้มกำไรในงวด 2Q60 จะเห็นฐานกำไรที่ลดลงจาก 1Q60 ซึ่งทำกำไรได้ 2.85 แสนล้านบาท (คิดเป็น 28% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2560) เพราะเป็นช่วง Low Season ของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีวันหยุดยาวหลายช่วง ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน และเหล็ก ก็ปรับตัวลดลง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะต้องบันทึก Stock Loss ขณะที่การบันทึกรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในงวด 1Q60 ราว 2 หมื่นล้านบาทก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นในงวดนี้ โดยภาพรวมคาดการณ์ผลประกอบการรายกลุ่ม มีดังนี้
กลุ่มที่คาดว่าผลประกอบการ 2Q60 เติบโต
กลุ่มเกษตร-อาหาร แนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานงวด 2Q60 ของกลุ่มเกษตร-อาหารจะเติบโตจากงวด 1Q60 จากการเริ่มเข้าช่วงฤดูกาลส่งออกอาหารสู่ต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณบวกจากราคาไก่เฉลี่ยงวด 2Q60 ปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับราคาสุกรเฉลี่ยงวด 2Q60 ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังคาดแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงาน 3Q60 จะเติบโตต่อเนื่องจากงวด 2Q60 และทำระดับสูงสุดของปี 2560 เนื่องจากเป็นช่วง high season ของการส่งออกอาหารสู่ต่างประเทศ
กลุ่มชิ้นส่วนฯ คาดผลการดำเนินงานปกติงวด 2Q60 จะเติบโต 8.7% qoq และ 13.6% yoy จากการเริ่มเข้าช่วงฤดูกาลส่งออกของกลุ่มชิ้นส่วนฯ หนุนคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น และจะส่งผลบวกต่อเนื่องไปสู่แนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานงวด 3Q60 ให้เพิ่มขึ้น 11.0% qoq และ 16.0% yoy สู่ระดับ 3.3 พันล้านบาท ทำระดับสูงสุดของปี
กลุ่มที่คาดว่าผลประกอบการ 2Q60 ชะลอตัวลง
กลุ่มพลังงาน คาดผลประกอบการ 2Q60 ชะลอตัวจาก 1Q60 เหตุปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงกระทบต่อฐานรายได้ (ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 1Q60 อยู่ที่ 52.86 เหรียญฯ/บาร์เรล ขณะที่งวด 2Q60 อยู่ที่ 49.33 เหรียญฯ/บาร์เรล) และยังทำให้เกิด Stock Loss ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีในกลุ่มพบว่า Spread ของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ ปรับลดลงจาก supply ที่เพิ่มขึ้น และ PTTGC ก็มีกำหนดการปิดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุง
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยปกติในงวดไตรมาสที่ 2 ถือเป็นช่วง Low season ด้วย 2 สาเหตุคือ เป็นช่วงเวลาที่มีวันหยุดยาวอยู่หลายช่วง และอีกประการหนึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งทำให้ระยะเวลาสำหรับการทำงานก่อสร้างลดน้อยลง นอกจากนี้ในงวด 1Q60 ยังบันทึกรายการพิเศษที่เป็นบวกของ SCC เข้ามาราว 2.8 พันล้านบาท (ก่อนภาษี) เกิดจากกำไรจากการขายเงินลงทุน ที่ดิน และ Stock Gain จากสินค้าคงเหลือ ขณะที่ในงวด 2Q60 คาดว่าจะไม่มีรายการดังกล่าว นอกจากนี้ในส่วนผลการดำเนินงานของ TASCO พบว่าราคาขายยางมะตอยในงวด 2Q60 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาจะทำให้กำไรของบริษัทลดลง
กลุ่มสื่อสาร ด้วยโครงสร้างกำไรหลักของกลุ่มยังอยู่ที่ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการถูกกดดันจากต้นทุนการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่อยู่ระดับสูง เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ DTAC บรรลุข้อตกลงในการเข้าทำประโยชน์บนคลื่นความถค่ 2300 MHz ของ TOT นอกจากนี้หากพิจารณาในส่วนของการสร้างรายได้ ก็น่าจะอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวส่วนหนึ่งเป็นเพราะงวดไตรมาส 2 ของแต่ละปีมักจะถือเป็นช่วง Low Season สถานการณ์แวดล้อมดังกล่าวจึงคาดว่าฐานกำไรงวด 2Q60 จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับ 1Q60
พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย คาดว่าจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวของยอดรับรู้รายได้ในงวด 2Q60 ทั้งนี้ประเมินจากธุรกรรมการขายที่กลับมาดีขึ้นนับตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. 2560 เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโครงการแนวราบ ทำให้คาดว่าจะเห็นการเพิ่มขึ้นของยอดโอนฯ จากงวด 1Q60 แต่อย่างไรก็ตามหากเทียบกับ 2Q59 ก็ยังน่าจะเห็นการอ่อนตัว เนื่องจากในงวด 2Q59 มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ ซึ่งครอบคลุมอยู่จนถึงปลายเดือน เม.ย.2559 ทำให้ฐานรายได้และกำไรในงวด 2Q60 ต่ำกว่าปกติ
ต่างชาติซื้อหุ้นไทย แต่สลับมาขายตราสารหนี้เล็กน้อย
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 58 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นไต้หวันเพียงแห่งเดียวที่ถูกขายสุทธิราว 39 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ 43 ล้านเหรียญ (หลังขายสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 36 ล้านเหรียญ (หลังจากหยุดทำการไปกว่า 1 สัปดาห์), ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ หรือ 408 ล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 776 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 1.30 หมื่นล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ยังคงขายสุทธิอีก 576 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3 โดยมีมูลค่ารวมราว 5.9 พันล้านบาท) ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี เริ่มขยับขึ้นมา โดยล่าสุดอยู่ที่ 2.55% จากจุดต่ำสุดของปีที่ 2.46% ในวันที 27 มิ.ย. 60 ที่ผ่านมา
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636