- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 16 June 2017 17:11
- Hits: 964
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การการลงทุน
เงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัว ทำให้การใช้นโยบายการเงินตึงตัวถูกเลื่อนออกไป ยกเว้นอังกฤษที่เงินฟ้อสูงขึ้นสวนทางโลก เพราะปัญหาค่าเงินที่อ่อนค่านับจาก Brexit น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันหุ้นโลก และเนื่องจากตลาดหุ้นยังขาดประเด็นหนุนใหม่ ทำให้ SET เคลื่อนไหวในกรอบ 1570-1580 จุด กลยุทธ์ยังแนะขายหุ้นที่ upside จำกัด (TPIPP, EA, GFPT, HANA, DTAC, KCE, TISCO) สลับมาหุ้นใหญ่ที่ Laggard (SCB, TCAP, IRPC) Top picks UNIQ(FV@B25) และ SCB(FV@B178)
เงินเฟ้ออังกฤษปรับขึ้นสวนทางโลก กดดันการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย
ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ(BOE) เป็นไปตามที่คาด คือ ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% (ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์) แต่เป็นที่สังเกตว่าความเห็นคณะกรรมการ เริ่มมีความขัดแย้ง โดยบางส่วน มีแนวคิดที่จะให้ใช้นโยบายตึงตัวเพิ่มขึ้น (รอบนี้มีคณะกรรมการ 3 คนจากทั้งหมด 8 คน ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นจาก 1 คน ในประชุมรอบ 11 พ.ค. 2560) เพราะกังวลต่อเงินเฟ้ออังกฤษที่พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดติดต่อกัน 8 เดือนคือ จาก 0.9%yoy ต.ค. ขึ้นมาเป็น 2.9%yoy สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นติดต่อกันเนื่องจากเหตุการณ์ Brexit กดดันให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าราว 14.1% นับจากหลังการทำประชามติ (Brexit) ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าอังกฤษสูงขึ้น) ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มดีขึ้น (ยอดค้าปลีกเพิ่ม 4%ytd และ PMI ภาคการผลิตเพิ่มติดต่อกัน 4 เดือน) อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงจากการก่อการร้ายและการจัดตั้งรัฐบาลผสม อาจจะทำให้กระบวนการ Brexit มีอุปสรรคหรือล่าช้า อาจจะกดดันต่อเศรษฐกิจในระยะกลางยาว
ขณะที่เอเซีย การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ทราบผลเช้านี้เวลา 10.00 น. ตามเวลาในไทย คาดยังคงดอกเบี้ยนโยบายฯที่ ติดลบ 0.1% ตามเดิม และคงฐานเงิน (Money Base) ผ่านการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล (ปีละ 80 ล้านล้านเยน) ควบคู่กับการรักษาเส้นผลตอบแทน (Yield curve) ทุกช่วงอายุ เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวแต่ยังล่าช้า คือ PMI ภาคการผลิต เพิ่มขึ้น 3 เดือนติด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ยังทรงตัวในระดับต่ำที่ 0.4%yoy ทำให้เชื่อว่าญี่ปุ่นยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปจนถึงสิ้นปี
หากเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม กดดัน SAPPE, ICHI มากสุด
กรมสรรพสามิตเตรียมเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินมาตรฐานกำหนด ดังนี้:
1) ปริมาณน้ำตาล 10 กรัม – 14 กรัม
2) ปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 14 กรัม -18 กรัม และ
3) ปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัม
อย่างไรก็ตามทางภาครัฐยังไม่กำหนดอัตราที่ชัดเจน และให้เวลาผู้ประกอบการเครื่องดื่มปรับตัวเป็นระยะเวลา 2 ปี หากปรับตัวได้ยังคงใช้อัตราภาษีเดิม
เครื่องดื่มที่เข้าข่ายถูกจัดเก็บภาษีได้แก่ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลังและเกลือแร่ น้ำผลไม้ และน้ำพืผัก เครื่องดื่มชนิดผง เครื่องดื่มชนิดเข้มข้น รวมถึงเครื่องดื่มที่หวานตามธรรมชาติไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่มด้วยโดยจะะเริ่มจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้จะให้เวลาผู้ผลิตปรับส่วนผสมของน้ำตาลในเครื่องดื่มภายใน 2 ปี ตั้งแต่ 16 ก.ย. 2560 - 30 ก.ย. 2562 เพื่อยังให้ใช้ภาษีในอัตราเท่าเดิม
ประเด็นข่าวดังกล่าวถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นในกลุ่มเครื่องดื่มที่ฝ่ายวิจัยศึกษา ได้แก่ ICHI ([email protected]), OISHI (FV@B165) และ SAPPE([email protected]) เนื่องจากการประกาศใช้ภาษีน้ำหวานอัตราใหม่จะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรสุทธิของผู้ประกอบการโดยตรง ฝ่ายวิจัยประเมินต้นทุนน้ำตาลของผู้ผลิตแต่ละรายเฉลี่ยอยู่ที่ 25% ของต้นทุนการผลิตรวม ในกรณีที่ภาครัฐเก็บภาษีทุก ๆ 10% จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนให้สูงขึ้นราว 2.5% จากปัจจุบัน (ถ้าขึ้น 20-25% จะกระทบราว 5-6%)
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า ผู้ผลิตไม่สามารถผลักภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคโดยตรงโดยการปรับขึ้นราคาได้ เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ผู้บริโภคอาจลดปริมาณการบริโภคลง และจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ผลิต นอกจากนี้ ภาวะการแข่งขัน ในตลาดเครื่องดื่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มและฟังก์ชันนอลดริงก์ ในประเทศอยู่มีการแข่งขันที่รุนแรงทั้งด้านราคาและโปรโมชั่น โดยภาพรวมตลาดชาพร้อมดื่มมูลค่าติดลบมาตลอด 3 ปี ย้อนหลัง (ปี 2014 – 2016 ลดลง 1%,2%,7% ตามลำดับ) กดดันให้การปรับราคาขายเป็นไปได้ยาก กดดันต่อ Net Profit Margin ของผู้ประกอบการ
กล่าวโดยสรุป ประเด็นดังกล่าว ส่งผลลบต่อผู้ประกอบการที่มีรายได้มาจากเครื่องดื่ม 100% คือ ICHI และ SAPPE จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน ขณะที่ OISHI ได้รับผลกระทบเพียง 50% เนื่องจากมีรายได้อีก 50% มาจากธุรกิจร้านอาหาร ฝ่ายวิจัยจึงยังแนะนำ ซื้อลงทุน
แรงซื้อหุ้นในภูมิภาคจากต่างชาติยังคงชะลอตัว
วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเล็กน้อยราว 9 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) แม้เป็นการซื้อสุทธิถึง 3 ประเทศ แต่แรงซื้อยังคงแผ่วเบามาก และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อย 11 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 13) ตามมาด้วยไต้หวัน 6 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 4 วัน) และเกาหลีใต้เพียง 7 แสนเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ อินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 20 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) และไทย 6 ล้านเหรียญ หรือ 196 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 652 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 9.82 พันล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงซื้อสุทธิราว 2.89 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 โดยมีมูลค่ารวม 1.3 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.53% และเป็นการทำจุดต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา
กลยุทธ์แนะนำขายหุ้นแพง สลับมาซื้อหุ้น Laggard: TCAP, SCB, IRPC
ดังที่ได้นำเสนอไปวานนี้แนวภาวะตลาดหุ้นไทยที่มีการปรับฐานในช่วงกลางเดือน เม.ย. จนถึง กลางเดือน พ.ค. หรือลดลงราว 3.3% เศษ โดยหลักๆ เป็นการปรับฐานในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน พ.ค. (-1.8%) ซึ่งเป็นผลเหตุการณ์ซ้ำรอย “Sell in May” (อ่านรายละเอียด Market Talk วันที่ 3 พ.ค. 2560) เพราะช่วงดังกล่าว บริษัทจดทะเบียนมีการรายงานงบการเงิน งวด 1Q60 ทำให้มีการขายรับงบฯ และในช่วงเดียวกันราว เดือน เม.ย. – พ.ค. ยังมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล (ขึ้นเครื่องหมาย XD) จึงเป็นอีกเหตุผลทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงหลัง XD
เป็นที่สังเกตว่าท่ามตลาดปรับฐาน ยังมีหุ้นบางแห่ง ที่ปรับตัวขึ้นมาสวนทาง จนทำให้หุ้นหลายตัวเริ่มมี Upside จำกัด พิจารณาจากหุ้นที่ ASPS Coverage 170 บริษัท (Market Cap รวมกันกว่า 90% ของหุ้นทั้งตลาดฯ) พบว่าหุ้นที่มี Upside สูง มีจำนวนลดลงมาก ตรงกันข้ามกับหุ้นที่มี Upside ต่ำๆ เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก พบว่า มีหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10% ตังแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. จนถึงปัจจุบัน และราคาเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว (Upside <-10%) เช่น ORI, DTAC, SAPPE, EA, LPN, PYLON, GCAP
กลยุทธ์การลงทุน : แนะนำชะลอการลงทุนในหุ้นที่มี uside กัน และสลับมาลงทุนในหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง และราคาหุ้น Laggard โดยฝ่ายวิจัยฯ คัดกรองโดย เลือกหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯแนะนำ ซื้อ, มี Upside > 10%, PER60F <12 เท่า และ Dividend Yield 60F > 3.5% ได้แก่ TCAP, SCB, PTT, MCS, IRPC, RATCH, QH เป็นต้น (รายละเอียดอ่าน Market Talk วานนี้)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636