- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 15 June 2017 16:58
- Hits: 1112
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การการลงทุน
Fed ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ยังหนุนให้ดอลลาร์ทรงตัวถึงแข็งค่าเล็กน้อย ขณะที่ IMF ปรับเพิ่ม GDP Growth จีนดีขึ้นกว่าเดิม น่าจะสร้าง sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นเอเชีย แต่คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อม เพราะตลาดหุ้นไทยมี P/E 15.5 เท่า กลยุทธ์ยังแนะขายหุ้นที่ upside จำกัด (TPIPP, EA, GFPT, HANA, DTAC, TISCO) สลับมาหุ้นใหญ่ที่ Laggard (SCB, ITD, CK, PTT, TCAP, UNIQ) Top picks UNIQ([email protected]) และ SCB(FV@B178)
Fed จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ก่อนสิ้นปีนี้ เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว
ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) วานนี้ สรุปว่าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อยู่ที่ 1.25% ตามตลาดคาด และยังคงเป้าหมายที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 1 ครั้ง 0.25% เป็น 1.5% ก่อนสิ้นปี 2560 (การประชุมเหลือ 4 ครั้ง) และปี 2561 จะปรับขึ้น 3 ครั้ง รวม 0.75% เป็น 2.25% พร้อมเตรียมจะลดขนาดของงบดุล (Balance sheet) หรือการขายพันธบัตรรัฐบาล หรือหลักทรัพย์ที่ออกโดยมีสินทรัพย์บ้านเป็นประกัน (asset back securities) ลงราว 50% จากยอดสินทรัพย์ทั้งสิ้น 4.5 ล้านล้านเหรียญฯ เพื่อดึงสภาพคล่องออกจากระบบ ทั้งนี้หลังจากที่ได้ซื้อหลักทรัพย์เหล่านั้นเพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่สหรัฐฯ เกิดวิกฤตซับไพร์ม
พร้อมกันนี้ ได้ปรับเพิ่ม GDP Growth จากเดิม 2.1% เป็น 2.2% ในปี 2560 และคงที่ 2.1% ใน 2561 และ 1.9% ใน 2562 ตรงกันข้ามปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2560 ลงเหลือ 1.6% จาก 1.9% และ ปี 2561-2562 ยังคงที่ 2% ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ชะลอตัว
การที่ Fed ยังใช้นโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่อง เพราะอัตราการว่างงานลดลงเหลือ 4.3% (ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2550 และเท่ากับเป้าที่ Fed วางไว้ที่ 4.3%) แม้เงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ใน เป้าหมาย การใช้นโยบายการเงินตึงตัว จะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ ในครั้งถัดไปน่าจะตกในรอบการประชุมใน 12-13 ธ.ค. 60 โดยข้ามการประชุม 25-26 ก.ค. ไป)
แต่อย่างไรก็ตามผลของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ค่อยเป็นค่อยไป ยังหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แกว่งตัวในทิศทางแข็งค่า หรือทรงตัวระยะสั้น ๆ หลังจากที่อ่อนค่า กลับแข็งค่ามาระยะหนึ่ง เมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าหลัก ทั้งปอนด์ ยูโร ยกเว้นเยน และเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ น่าจะเป็นผลจากเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ ล่าสุดเงินบาทที่แข็งค่ารอบใหม่ โดยต่ำกว่า 34 บาท และทำสถิติจุดต่ำสุดใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย และมีผลต่อประสิทธิภาพการทำกำไรในงวด 2Q60 ระยะสั้นให้หลีกเลี่ยงหุ้นส่งออกที่เต็มมูลค่า KCE, HANA, GFPT เป็นต้น
จีนจะขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐหรือไม่ หลังจากลดภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ
หลังสหรัฐเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วดังกล่าวข้างต้น โดยต้องติดตามว่าจีน จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามหรือไม่ เนื่องจากค่าเงินหยวนผูกติดกับสกุลสหรัฐ และช่วงก่อนหน้าธนาคารกลางจีนหรือ PBOC ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐ 2 ครั้งคือ ครั้งแรกในวันที่ 16 มี.ค. ได้ปรับขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed 0.1% และครั้งที่ 2 คือ ต้นเดือน เม.ย. ขึ้นเฉพาะดอกเบี้ยระยะสั้น (SLF) 0.1-0.2% ขึ้นกับระยะเวลาเวลา (ข้ามคืนขึ้น 0.2% เป็น 3.3%, 7 วัน และ 1 เดือน ขึ้น 0.1% เป็น 3.45% และ 3.80% ตามลำดับ ทำให้ล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายจีนอยู่ที่ 4.45% เทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.2% โดยเชื่อว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐในการขึ้นดอกเบี้ยฯ ที่เหลือของปี
โดยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของจีนยังขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากภาคการบริโภค คือยอดค้าปลีก เฉลี่ย ม.ค.-พ.ค. ขยายตัวเฉลี่ยราว 10.8 %yoy และฝั่งภาคการผลิตคือดัชนี PMI ภาคการผลิต ทรงตัวในระดับสูงที่ 51.2 จุด (อยู่เหนือระดับ 50 จุดตั้งแต่ ส.ค.2559) หนุนให้ GDP Growth งวด 1Q60 ขยายตัวที่ 6.9%yoy โดยปัจจัยขับเคลื่อนจีนในช่วง 2H60 หลักๆ ยังคงเป็นการบริโภค โดยมีแรงหนุนจาก สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลจีนได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังอีกครั้ง โดยปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ มีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 2560
โดยภาพรวมมาตรการลดภาษีดังกล่าว จะเป็นตัวช่วยเงินในกระเป๋าของประชาชนและกำไรของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น แต่จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายของจีนมีความขัดแย้งระหว่าง นโยบายการเงินและการคลัง แต่โดยรวมน่าจะดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้าจีนในระยะถัดไป และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF ล่าสุด เมื่อวานนี้มีการปรับเพิ่มอัตราการเติบโตเศรษฐกิจจีน (GDP Growth) ปี 2560 คือปรับเพิ่ม 0.1% เป็น 6.7% (ถือเป็นการปรับเพิ่มเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้) น่าจะสร้าง sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นเอเซีย และคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะได้ผลทางอ้อม
สัญญาน้ำมันดิบ WTI สร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 7 เดือน
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 7 เดือน โดยวานนี้สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวลดลงอีกกว่า 3.72% มาอยู่ที่ 44.73 เหรียญฯต่อบาร์เรล หลังจากสำนักนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 2 มิ.ย. 2560 แม้จะปรับลดลง 1.661 ล้านบาร์เรล แต่ลดลงน้อยกว่าที่ตลาดฯคาด โดยตลาดฯคาดว่าจะลดลง 2.739 ล้านบาร์เรล และการเพิ่มขึ้นของแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯยังมีต่อเนื่อง โดยล่าสุดทาง Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้นอีก 8 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 741 แท่น นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 21 สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ เม.ย. 58 เป็นต้นมา สร้างความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐจะล้นตลาด และยังส่งผลกระทบต่อความพยายามในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก เพื่อที่จะช่วยให้ราคาน้ำมันฟื้นตัว
ขณะเดียวกันทาง IEA คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันของประเทศที่อยู่นอกกลุ่มโอเปกจะเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล/วัน ในปี 2560 นี้ และเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2561 ซึ่งจะมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์น้ำมันโลก
นอกจากนี้ความกังวลเรื่องการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตของกาตาร์จากชาติอาหรับ ซึ่งหลายประเทศในกลุ่มโอเปกอาจเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าข้อตกลงที่เคยได้ทำไว้ อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้สัญญาน้ำมันมีราคาสูงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น
แม้ทุกปัจจัยล้วนกดดันราคาน้ำมันดิบโลก อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันในระยะยาวยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจัยหนุนหลักจะมาจากความต้องการใช้ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จึงแนะนำหาจังหวะเข้าลงทุนสำหรับ PTT (FV@B460) และ PTTEP (FV@B109) ยามราคาอ่อนตัวลง
SET ฟื้นตัวแรง แนะสลับมาลงทุนหุ้นพื้นฐานแกร่ง ราคา Laggard
ตลาดหุ้นไทยได้ปรับฐานในช่วงกลางเดือน เม.ย. จนถึง กลางเดือน พ.ค. กว่า 3.3% โดยเฉพาะช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน พ.ค. พบว่า ลดลงมากถึง 1.8% แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะเหตุผลที่เกิดขึ้น เกิดจากเหตุการณ์ “Sell in May” ซึ่งซ้ำรอยในอดีต อย่างที่ฝ่ายวิจัยฯได้เคยนำเสนอไปใน Market Talk วันที่ 3 พ.ค. โดยมีปัจจัยกดดันหลักๆ คือ เดือน พ.ค. เป็นช่วงประกาศงบบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q60 ทำให้มีการขายทำกำไรในรายหุ้นที่ได้มีการเข้าลงทุน รวมถึงในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. เป็นช่วงการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล พร้อมกับขึ้นเครื่องหมาย XD จึงเป็นอีกเหตุผลทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงหลัง XD
อย่างไรก็ตามหลังจากกลางเดือน พ.ค. จนถึงปัจจุบัน SET Index ปรับตัวขึ้นมาแรงกว่า 2.7% มาอยู่ที่ 1577 จุด จนทำให้หุ้นหลายตัวเริ่มมี Upside จำกัด ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯจึงได้ทำการวิเคราะห์ โดยการแบ่งช่วง Upside ในหุ้นทั้งหมดที่ดูแลกว่า 170 บริษัท ครอบคลุม Market Cap กว่า 90% ของหุ้นทั้งตลาดฯ
สังเกตได้ว่าหุ้นที่มี Upside สูง มีจำนวนลดลงมากลดลงมาก ส่วนหุ้นที่มี Upside ต่ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก พบว่า มีหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10% ตังแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. จนถึงปัจจุบัน และราคาเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว (Upside <-10%) ทั้งหมด 12 บริษัท
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุน : แนะนำชะลอการลงทุนในหุ้นดังกล่าว และสลับมาลงทุนในหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง และราคาหุ้น Laggard โดยฝ่ายวิจัยฯคัดกรองโดย เลือกหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯแนะนำ ซื้อ, มี Upside > 10%, PER60F <12 เท่า และ Dividend Yield 60F > 3.5%
ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค เว้นไทย
แม้วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคมูลค่าราว 178 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 3 วัน) แต่เงินทุนต่างชาติกระจุกตัวเพียง 2 ประเทศคือ เกาหลีไต้ที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 51 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และฟิลิปปินส์ที่ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องราว 230 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 12) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่งต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวัน 52 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4), อินโดนิเซีย 16 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทย 36 ล้านเหรียญ หรือ 1.2 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิสูงถึง 2.8 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 1.8 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังซื้อสุทธิราว 5.7 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636