- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 06 June 2017 16:52
- Hits: 1704
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ข่าวร้ายจากที่ PTTEP มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมในเขต สปก. กดดันผลประกอบการและมูลค่าหุ้นราว 6% และกดดัน PTT ซึ่งถือหุ้น 65% ใน PTTEP ขณะที่ ธปท. ผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะหนุนหุ้นส่งออกอีกครั้ง และระยะสั้นน่าจะได้แรงหนุนจากหุ้นที่จะเข้าคำนวณ SET50-SET100 (RATCH, GFPT) กลยุทธ์ยัง ชอบหุ้นที่มีกำไรเด่นในช่วงเหลือของปีนี้ พร้อม P/E ต่ำ และเงินปันผลสูง 4% (VNG, GFPT, HANA, AH, KKP) Top picks KKP([email protected]) และ GFPT(FV@B21)
การผ่อนคลายปริวรรตเงินตรา..ชะลอเงินบาทแข็งค่าหลังแข็งค่า 5%ytd
วานนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอแนวทางที่จะปฏิรูปเกณฑ์การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้มีความยืดหยุ่นต่อผู้ที่มีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน คือ
การผ่อนคลายเกณฑ์ในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับค้าขายสินค้า บริการ และ ลงทุนในต่างประเทศ ให้มีความคล่องตัวในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการแลกเงิน รวมถึงเอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่จะเข้ามาให้บริการธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ง่ายขึ้น โดยสรุปจะทำให้เงินบาทไหลเข้า-ออกได้ง่าย ซึ่งน่าจะลดแรงกดดันระยะสั้น ๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่เงินบาทแข็งเกินไป ณ 34 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่ากว่า 5% นับจากต้นปี 2560 (ขณะนั้นเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งนับว่าอ่อนค่าสูงสุดใกล้เคียงกับตอนต้นปี 2559 ที่อ่อนค่าราว 36.3 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากมีเงินไหลเข้าผ่านตลาดตราสารหนี้ ซึ่งนับจากต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีเงินไหลเข้าในตราสารหนี้ 1.33 แสนล้านบาท ลดลง 26%yoy (ขณะที่ทั้งปี 2559 เงินไหลเข้าตราสารหนี้รวม 3.65 แสนล้านบาท) น่าจะลดแรงกดดันต่อกลุ่มส่งออก เพราะในช่วงเวลาที่เงินบาทแข็งเกินไปจะกดดันต่อประสิทธิภาพการทำกำไร
ราคาหุ้น PTTEP ลดลงสอดคล้องการลดมูลค่าหุ้น..กระทบที่มีแหล่งผลิตในเขต สปก
วานนี้ ราคาหุ้น PTTEP ปรับลดลงแรงกว่า 3.6% และกดดันให้หุ้นบริษัทแม่อย่าง PTT (ถือหุ้น 65% ใน PTTEP) ปรับลดลง 2.05% จากประเด็นข่าวที่ว่าศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาสชั้นต้น ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ในการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฏหมายอื่น (ฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปี 2556) ส่งผลให้กรมเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานในการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้รับสัมปทานบนบกทุกรายหยุดการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ สปก. เป็นการชั่วคราว โดย PTTEP เป็น 1 ในผู้ประกอบการที่มีโครงการผลิตและสำรวจในพื้นที่ สปก. (ดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ PTTEP ถือหุ้น 100% ทั้งทางตรงและทางอ้อม) คือ โครงการ S1 ตั้งอยู่ใน จ.สุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร แต่อยู่บนพื้นที่ สปก.เพียงบางส่วน (60% ของพื้นที่ผลิตในโครงการ S1)ประกอบด้วย หลุมขุดเจาะและท่อส่งปิโตรเลียมราว 10 ท่อ ทั้งนี้ PTTEP ได้หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้โครงการ S1 มีปริมาณขายปิโตรเลี่ยมหลักคือ น้ำมันดิบราว 2.7-2.8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และผลพลอยได้คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ราว 264 ตันต่อวัน และก๊าซธรรมชาติราว 21 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ในจำนวนนี้คาดว่าปริมาณขายสุทธิที่จะกระทบจากพื้นที่ สปก. จะอยู่ราว 1.8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน หรือ 6% ของปริมาณขายรวมของ PTTEP ที่เฉลี่ย 3 แสนบาร์เรลต่อวัน จนถึง 3 ปี ข้างหน้า (สัมปทานของโครงการ S1 จะหมดอายุลงในปี 2564 และต่ออายุไปอีก 10 ปี ทำให้จะหมดอายุลงในปี 2574)
เพื่อความระมัดระวังนักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดประมาณการลง โดยปรับลดปริมาณผลิตปิโตรเลี่ยมลงวันละ 14,000 และ 18,000 บาร์เรล ในปี 2560 (เฉพาะ 7 เดือนหลังของปีนี้)และ เต็มปี 2561 ตามลำดับ ซึ่งทำให้กำไรลดลงจากเดิม 10% และ 10.6% มาอยู่ที่ 18,072 และ 21,559 ล้านบาท โดยยังคงสมมติฐานราคาน้ำมัน และ long-term growth ที่เดิม จะได้มูลค่าหุ้นใหม่อยู่ที่ 109 บาท ลดลงจากเดิม 116 บาท หรือลดลงราว 6%
อย่างไรก็ตาม จะกลับไปใช้พื้นที่ดังกล่าวอีกครั้งหรือไม่ขึ้นกับ กรมเชื้อเพลิงจะอนุญาตจะสามารถรวบรวมหลักฐาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดเสนอต่อกระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป แต่ในกรณีที่เลวร้ายคือไม่ได้กลับมาผลิตอีกก็อาจจะต้องบันทึกการด้อยค่าของเงินลงทุนราว 50 ล้านเหรียญฯ ในแหล่งผลิตดังกล่าว (มูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีสุทธิ ของโครงการ S1 ในปัจจุบันอยู่ราว 450 ล้านเหรียญฯ แต่เป็นมูลค่าในส่วนที่อยู่ในพื้นที่ของสปก.ราว 50 ล้านเหรียญฯ) ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีการเจรจาอย่างไร
ขณะที่ราคาหุ้นเชื่อว่าได้สะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปแล้วระดับหนึ่ง และมูลค่าหุ้นใหม่ยังมี upside พอสมควร ระยะสั้นจึงแนะนำให้รอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
ต่างชาติซื้อหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง รวมถึงไทย
วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่ารวม 379 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ถูกขายสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) โดยตลาดหุ้นที่คงซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้กว่า 292 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยไต้หวัน 66 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9), ฟิลิปปินส์ 20 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) และไทย 14 ล้านเหรียญ หรือ 490 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ขณะที่สถาบันในประเทศสลับมาขายสุทธิราว 1.75 พันล้านบาท (หลังซื้อสุทธิ 2 วัน)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 1.76 หมื่นล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องอีก 3.2 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 โดยมีมูลค่าขายสุทธิรวมกว่า 8.8 พันล้านบาท)
Derivative Team:
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636