- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 01 June 2017 17:07
- Hits: 2049
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นไทยน่าจะแกว่ง 1552-1566 จุด ปัจจัยภายนอกยังให้น้ำหนักต่อการประชุม Fed และ ECB ในกลางเดือนนี้ ซึ่งน่าจะใช้นโยบายการเงินตึงตัว จะกดดัน fund flow ซื้อและขายสลับ กลยุทธ์จึงให้น้ำหนักต่อผลการดำเนินงานรายหุ้นที่โดดเด่นใน 2Q60 และต่อเนื่องในงวด 2H60 พร้อมมี P/E ต่ำ และเงินปันผลอยู่ในระดับปานกลาง (VNG, GFPT, HANA, AH, KKP) วันนี้แนะนำ HANA(FV@B57) และ KKP([email protected])
Dollar Index มีแนวโน้มแข็งค่าหาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้
ระยะสั้นให้น้ำหนักต่อดัชนี้ชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้เริ่มขัดแย้งกันบ้าง กล่าวคือ ตลาดบ้านในเม.ย. พบว่าราคาบ้านใหม่เพิ่ม 5.9%yoy (ติดต่อกัน 5 เดือน) สวนทางกับสัญญารอปิดการขายบ้าน(Pending home sales) ที่หดตัว 1.3%mom (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) เพราะสต็อกบ้านที่ลดลง ทำให้ยอดขายบ้านลดลง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานยอดขายบ้านใหม่ (New Home sales) ลดลง 2 เดือนติด ขณะที่ อัตราเงินล่าสุดที่ 2.2%yoy ยังสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1% ทำให้ตลาดคาดหวังว่า Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 2 ครั้งจากการประชุมที่เหลืออีก 5 ครั้งในปีนี้ การประชุม Fed ครั้งถัดไป 13-14 มิ.ย. ผลสำรวจ Bloomberg คาดขึ้นดอกเบี้ยราว 0.25% เป็น 1.25% (ด้วยความน่าจะเป็น 100%) และครั้งถัดไปคือรอบ 19-20 ก.ย. อีก 0.25%
ขณะที่ยุโรป เศรษฐกิจมีขยายตัวต่อเนื่อง เห็นจากการจ้างงานที่ดีขึ้นหนุนให้อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. อยู่ที่ 9.3%yoy (.ลดลงติดต่อกัน 6 เดือน และ ต่ำสุดตั้งแต่ มี.ค. 2552) ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยพบว่าดัชนี PMI เพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตามถูกกดดันจากปัญหาการเมืองในหลายประเทศ นอกเหนือจาก Brexit ในอังกฤษ เป็นต้น ทำให้การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังมีอยู่ แต่น่าจะค่อย ๆ ลดน้อยลง และเข้าสู่ภาวะตึงตัวเช่นเดียวกับสหรัฐ โดยวันที่ 8 มิ.ย. จะมีการประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB) เชื่อว่าจะยังคง ดอกเบี้ยนโยบาย 0% อีกระยะ (นับแต่ มี.ค. 2559) และคง QE (ลดเหลือเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรมีผล เม.ย. - ธ.ค. 2560)
จากปัจจัยที่ตลาดคาดหวังว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed กลางเดือน มิ.ย. หนุนให้ค่าเงิน Dollar ชะลอการอ่อนค่า และน่าจะแกว่งขึ้นในกรอบ 98-99 จุดในเดือน มิ.ย. หาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยตามตลาดคาด และ ตรงกันข้าม เงินยูโร และ ปอนด์ น่าจะกลับมา อ่อนค่า หลังจากเงินยูโรแข็งกว่า 3% และ เงินปอนด์ทรงตัว ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้อาจจะทำให้เม็ดเงินลงทุนระยะสั้น หันไปเก็งกำไรในดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน่าจะมีผลทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐผันผวน หลังจากตอบรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายทรัมป์ฯ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาษีฯ ไปแล้ว แต่ยังคงปัญหาในทางปฏิบัติ
ในเดือน มิ.ย. ตลาดอาจถูกกดดันทั้งแรงขายจากต่างชาติ และสถาบันฯ
วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 267 ล้านเหรียญ แต่มีอยู่ 2 ตลาดที่ยังคงซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 80 ล้านเหรียญ (หลังหยุดทำการไป 2 วัน) และฟิลิปปินส์ 12 ล้านเหรียญ ที่เหลือสลับมาขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 321 ล้านเหรียญ อินโดนีเซีย 36 ล้านเหรียญ และไทยถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ หรือ 61 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) สอดคล้องกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1.6 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
โดยสรุปพบว่า Fund Flow ตลอดเดือน พ.ค. ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเกือบทุกประเทศ ด้วยมูลค่ารวม 3.98 พันล้านบาท ยกเว้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 12 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไทย มีซื้อสลับขายตลอดเดือน แต่มีแรงซื้อในช่วงท้ายของเดือน โดยเป็น Big lot ของหุ้น BJC มูลค่ากว่า 4.8 พันล้านบาท ส่งผลให้มียอดซื้อสุทธิสะสมราว 5.5 พันล้านบาท
แนวโน้มตลาดในเดือน มิ.ย. แม้จากสถิติย้อนหลัง 5 ปี พบว่า SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.5% และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 ใน 5 ปี โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากสถาบันในประเทศมักจะซื้อสุทธิหุ้นในเดือนนี้เฉลี่ยกว่า 8.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามในปีนี้มีโอกาสที่นักลงทุนสถาบันฯจะกลับมาขายสุทธิอีกครั้ง โดยหากวิเคราะห์มูลค่าซื้อขายปรับตามมูลค่าตลาด ตั้งแต่ปี 2548 พบว่า สถาบันฯ ซื้อสุทธิสะสมหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องและขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในวันที่ 29 พ.ค. 60 ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท จึงทำให้เชื่อว่าสถาบันฯเหลือเงินสดน้อยแล้ว และมีโอกาสขายทำกำไรออกมาได้ในเดือนนี้
ยิ่งไปกว่านั้น Fund Flow ในเดือน มิ.ย. คาดว่ายังคงไหลออกอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดน่าจะถูกกดดันจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้ รวมถึงการผิดหวังต่อการผลักดันนโยบายของทรัมป์ และยังสอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ต่างชาติขายสุทธิเฉลี่ยกว่า 1.07 หมื่นล้านบาท และเป็นการขายสุทธิถึง 4 ใน 5 ปี
เดือน มิ.ย. ดัชนีมีโอกาสฟื้นตัวจำกัด…หลังเกิด Sell in May
เดือน พ.ค. ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ “Sell in May” ซึ่งยังคงซ้ำรอยตลาดหุ้นไทย โดยพบว่าดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง 0.3% (น้อยกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ดัชนีปรับลดลงเฉลี่ย 1.97% ด้วยความน่าจะเป็น 60%) โดยในครึ่งแรกของเดือนปรับลดลงถึง 1.85% แต่ในช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือน สามารถฟื้นตัวได้ 1.58% อย่างไรก็ตาม มีอยู่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากอดีตคือ มียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ กว่า 5.5 พันล้านบาท แม้ตัดยอด Big Lot หุ้น BJC เมื่อวันที่ 30 พ.ค. มูลค่า 4.8 พันล้านบาท ยังมี ยอดซื้อสุทธิราว 800 ล้านบาท (ในอดีตขายสุทธิเดือน พ.ค.) ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งการไหลเข้าของกระแสเงิน เชื่อว่าเป็นผลจากปัญหาการเมืองในสหรัฐ และยุโรป และตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ได้ตอบรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายทรัมป์ฯ แต่ในทางปฏิบัติยังคงเป็นไปได้ยาก ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐมี P/E ค่อนข้างสูงสุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นไทย มี P/E ต่ำสุดในแถบเอเชีย เป็นรองเพียงจีนประเทศเดียว
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นในเดือน มิ.ย. แม้สถิติในอดีตบ่งบอกว่ามีโอกาสฟื้นตัว แต่ก็น่าจะมีกรอบจำกัด และไม่น่าเกิน 1,600 จุด ด้วยเหตุผลข้างต้น กลุ่มดัชนีที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดฯ คือ พลังงาน ธนาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล และกลุ่มยานยนต์
กลยุทธ์การลงทุนในเดือน มิ.ย. จึงยังคงเป็น Selective Buy เลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกหนุน หรือเป็นหุ้นที่ทีแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 2Q60 หรือ 2H60 เติบโต ดังที่จะได้กล่าวในหัวข้อถัดไป
เน้นหุ้นกำไรเด่นงวด 2Q60-2H60: HANA, GFPT, VNG
หลังจากได้นำเสนอหุ้นหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานโดดเด่นในงวด 2Q60 และ ต่อเนื่องใน 2H60 แล้ว นำโดย กลุ่มเกษตร-อาหาร คาดว่าจะเริ่มเข้าสู่ขาขึ้น ฤดูกาลส่งออกไก่ กุ้งและทูน่า และราคาเนื้อหมูเริ่มฟื้นตัว หลังจากตกต่ำในงวด 1Q60 ชื่นชอบ GFPT (FV@B21) ตามมาด้วย กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่คาดผลการดำเนินงานงวด 2Q60 เติบโตได้จากการเริ่มเข้าช่วง high season ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ ชอบ HANA(FV@B57) มากสุด เพราะได้ปรับกลยุทธ์ รองรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ทั้งการปรับ product mix และ กระจายความเสี่ยงด้านตลาดส่งออก (HANA ส่งออกไปยังมาเลเซีย มากสุดราว 33% ของรายได้ ตามด้วยจีน ฮ่องกง สหรัฐ และสิงคโปร์ ที่ 17%, 12%, 11% และ 10% ตามลำดับ) เป็นเกราะป้องกันที่ดีเมื่อสหรัฐใช้มาตรการกีดกันทางการค้า โดยคาดกำไรสุทธิปี 2560 จะเติบโตถึง 42% yoy ราคาตลาดมี upside ป% ขณะที่มี Dividend Yield สูงกว่า 4%
กลุ่มยานยนต์ คือ AH (FV@B28) ใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการในต่างประเทศเพื่อหนุนการเติบโตในอนาคต กลุ่มบันเทิง คือ WORK (FV@B73) โดดเด่นมากจากการปรับขึ้นค่าโฆษณาตามเรตติ้งที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และ Utilization Rate ที่เพิ่มขึ้น, กลุ่มค้าปลีก งวด 2Q60 ดีขึ้นจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่กระเตื้องขึ้นหนุนยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ยังชอบ BJC (FV@B50)
ส่วน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง งวด 2Q60 มีแนวโน้มทรงตัวจาก 1Q60 แต่จะเห็นการเติบโตน่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2H60 จากการเกิดขึ้นของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หนุนความต้องการใช้สินเชื่อและความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น
วันนี้จะนำเสนอกลุ่มที่คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานชะลอตัวในงวด 2Q60 ได้แก่
กลุ่มพลังงาน : แนวโน้มของธุรกิจปิโตรเลียมและโรงกลั่น ในงวด 2Q60 อาจอ่อนตัวลง เนื่องจากเป็นช่วง low season และมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น แต่แนวโน้มระยะยาวคาดจะยังสดใสตามทิศทางราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีเสถียรภาพ ขณะที่ธุรกิจถ่านหินจะยังดีต่อเนื่องในงวด 2Q60 ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับกลุ่มโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ภาพรวมกลุ่มจะกลับมาดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำ PTT (FV@B460), PTTEP (FV@B116) และ IRPC ([email protected]) สำหรับลงทุนระยะยาว
กลุ่มโรงพยาบาล : ผลประกอบการงวด 2Q60 น่าจะยังฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีฐานผู้ป่วยอิงกับชาวตะวันออกกลางอย่าง BH มีโอกาสที่กำไรงวด 2Q60 จะลดลงหนัก เนื่องจากจะมีจำนวนวันรอมฎอนที่มาตกในงวด 2Q60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6 วัน ขณะที่ ร.พ. ใหญ่อื่นๆ อย่าง BDMS และ BCH ผลประกอบการน่าจะเพียงทรงตัว ตรงข้ามกับ ร.พ. ขนาดเล็ก ที่มีการเปิดส่วนต่อขยายเพิ่มเติม อย่าง LPH, RJH และ CHG และน่าจะเห็นการเติบโตที่ชัดเจนในงวด 3Q60 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาล โดยฝ่ายวิจัยยังชอบ LPH (FV@B11) ซึ่งแนวโน้มกำไรในอนาคตยังคงสดใสมาก จากแผนการรุกกลุ่มผู้ป่วยเงินสด และแม้การเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ แต่คาดว่าจะมีกำไรได้ในปีแรก เพราะสามารถรองรับผู้ป่วยประกันสังคมด้วย และ RJH (FV@B28) แนวโน้มกำไรในระยะ 5 ปีข้างหน้า น่าจะเติบโตได้ดีเฉลี่ย 9% ต่อปี จากแผนการลงทุนหลายอย่างที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีโครงสร้างฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง (เป็น Net Cash) พร้อมลงทุนต่อเนื่องในอนาคต
กลุ่มท่องเทียว-โรงแรม : ผลประกอบการงวด 2Q60 ต่อเนื่องถึง 3Q60 อาจอ่อนตัวลงหลังผ่านพ้นช่วงฤดูกาล และเป็นช่วง Low Season ของฤดูกาลท่องเที่ยว และจะกลับมาดีสุดในไตรมาสสุดท้ายของปีอีกครั้ง ฝ่ายวิจัยยังแนะนำ ERW (FV@B6) คาดกำไรปกติปีนี้เติบโต 19%yoy โดดเด่นสุดในกลุ่มฯ และ MINT (FV@B46) จากการที่ทุกธุรกิจยังเห็นการเติบโตที่สดใส คาดกำไรปกติปีนี้เติบโต 17%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636