- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 25 May 2017 17:43
- Hits: 1667
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ประเด็นความเสี่ยงจากการก่อการร้ายในหลายประเทศจะเพิ่มขึ้น และอาจทำให้นักลงทุนลดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยง แต่หากประเมินในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ตลาดหุ้นไทยก็ยังมีค่า PER ที่ดึงดูดการลงทุนระยะยาวได้อยู่ จึงน่าจะสามารถพยุงตัวอยู่ที่ระดับเหนือ 1,550 จุดได้ Top picks เลือกVNG([email protected]), PTTEP(FV@B116) และ SCB(FV@B178)
การก่อการร้ายหลายประเทศในเอเซียเป็นความเสี่ยง แต่ตลาดหุ้นไทยก็ยังน่าสนใจที่สุดในกลุ่ม
ค่าเงินเอเชียที่แข็งค่าต่อเนื่องนับจากปลายเดือน เม.ย. เป็นต้นมา (แต่เงินบาทเริ่มแข็งค่านับจาก 10 พ.ค. 0.85%) โดยเงินบาทแข็งค่ามากสุดที่ 34.3 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากการที่ไทยได้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องหลายเดือน และมีเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ แม้จะถูกกดดันจากการขายหุ้นในตลาดทุนก็ตาม และเงินริงกิตมาเลเซียแข็งค่าราว 1.07%ในช่วงเดียวกัน เนื่องจากเงินทุนไหลเข้าตราสารทุนราว 428.5 ล้านเหรียญ ขณะที่เงินเปโซฟิลิปปินส์มีแนวโน้มชะลอการแข็งค่าเชื่อว่าเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ก่อการร้ายของกลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS) ทั้งวางระเบิด , เผาสิ่งปลูกสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ที่เมืองมาราวี บนเกาะมินดาเนาทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์เมื่อวานนี้ จนนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกเป็นเวลา 60 วันนับจากวันนี้
เ ช่นเดียวกับอินโดนีเซีย เมื่อวานนี้ เกิดเหตุระเบิดพลีชีพ 2 ครั้งใกล้ท่ารถเมล์ ในกรุงจาการ์ตา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย (ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด) สถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคซึ่งคาดว่าน่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอาจจะนำสู่การปรับพอร์ต ซึ่งหากพิจารณาตลาดหุ้นไทย พบว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจแห่งหนึ่งจากการที่ไทยมีค่า Expected P/E ปี 2560 ที่ระดับ 15.4 เท่า ต่ำสุดเมื่อเทียบกับทุกตลาด เทียบกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ 16.4 เท่า มาเลเซียที่ 16.6 เท่า และฟิลิปปินส์สูงสุดที่ 19 เท่า จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสะสมหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาว
รายงานการประชุม Fed ไม่มีอะไรใหม่ ส่วน กนง. ยืนดอกเบี้ยตามเดิม
วานนี้มีการรายงานผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ รอบ พ.ค. (Fed minute) มีใจความสำคัญคือ แม้เศรษฐกิจสหรัฐในช่วง 1Q60 ชะลอตัวในช่วงสั้น โดยรวมยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากยอดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการว่างงาน ล่าสุด ลดลงสู่ระดับ 4.4% (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี และอยู่ในระดับที่วางไว้) ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.2%yoy สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้คณะกรรมการ Fed ส่วนใหญ่เห็นตรงกันต่อการขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆนี้ และประเด็นการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้
โดยรวมทำให้ตลาดยังคงคาดหวังว่า Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 2 ครั้งจากการประชุมที่เหลืออีก 5 ครั้งในปีนี้ โดยการประชุม Fed ครั้งถัดไป 13-14 มิ.ย.จากผลสำรวจ Bloomberg คาดขึ้นดอกเบี้ยราว 0.25% เป็น 1.25% ด้วยความน่าจะเป็น 100% และครั้งถัดไปคือรอบ 19-20 ก.ย. ขณะที่การลด Balance Sheet คาดเกิดขึ้นรอบ 12-13 ธ.ค.
ขณะที่จีน สถาบันจัดอันดับ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของจีนลงเหลือ A1 จาก Aa3 (ครั้งแรกในรอบ 30 ปี) เนื่องจากสถานะทางการเงินของประเทศที่แย่ลง ทำให้โดยภาพรวมสนับสนุนให้ Fund Flow เข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย สะท้อนจากค่าเงิน Dollar หลังจากที่อ่อนค่ากว่า 4.5% ในช่วง 2 เดือน เริ่มกลับมาอยู่ในทิศทางแข็งค่า
ประเทศไทยผลการประชุม กนง. เมื่อวานนี้เป็นไปตามที่คาด คือยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% (ติดต่อกันตั้งแต่ เม.ย. 2558) โดยยังมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยเชิงบวกจากการส่งออกที่ขยายตัว และการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว สะท้อนจากรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นผู้บริโภค(CCI) ที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 12 เดือน และ 4 เดือน ตามลำดับ แต่ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยรวม ASPS ประเมินว่าแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายปี 2560 จะมีทิศทางทรงตัวถึงสิ้นปี 2560 หลังธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ย MRR 0.5% ช่วงกลางเดือน พ.ค. ซึ่งถือว่าเป็นสวนกระแสโลก
ต่างชาติมีโอกาสชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่ม TIP
วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่าราว 236 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทุกประเทศ นำโดย ไต้หวัน 127 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 96 ล้านเหรียญ (หลังขายสุทธิเพียงวันเดียว), ฟิลิปปินส์ 9 ล้านเหรียญ, อินโดนิเซีย 1 ล้านเหรียญ และไทย 3 ล้านเหรียญ หรือราว 107 ล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ยังคงซื้อสุทธิราว 360 ล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 7)
แม้ในสัปดาห์นี้ Fund Flow จะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP กว่า 144 ล้านเหรียญ ได้แก่ อินโดนีเซีย 69 ล้านเหรียญ,ไทย 58 ล้านเหรียญ และฟิลิปปินส์อีก 17 ล้านเหรียญ แต่ด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันของทั้ง 3 ประเทศ และยังหาข้อสรุปไม่ได้ กดดันให้ค่าเงินในประเทศกลุ่ม TIP อ่อนค่าลงดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และคาดว่าแรงซื้อหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติน่าจะเริ่มชะลอตัวลง และมีโอกาสหันไปให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ทองคำ หรือตราสารหนี้มากขึ้น
จับตาดูผลการประชุม OPEC คืนนี้ ว่าจะยืดระยะเวลาคงกำลังผลิตหรือไม่
ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 12% หลังซาอุดิอาระเบียและรัสเซียมีท่าทีสนับสนุนการขยายระยะเวลาการลดกำลังผลิตน้ำมันดิบลงออกไปอีก 9 เดือน จนถึง มี.ค. 61 จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 60 เพื่อให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบจะปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดกลับสู่สภาวะสมดุลลที่ระดับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี อีกทั้งยังมีประเทศอื่นในกลุ่ม OPEC คือ คูเวต อิหร่าน และเวเนซุเอลา ได้กล่าวสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง สะท้อนจากทางสำนักนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 17 พ.ค. 2560 ปรับลดลงอีก 4.432 ล้านบาร์เรล (ตลาดฯคาดว่าจะลดลงเพียง 2.419 ล้านบาร์เรล) มาอยู่ที่ระดับ 516.3 ล้านบาร์เรล และนับเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7
อย่างไรก็ต้องติดตามผลการประชุมของกลุ่ม OPEC ในวันนี้ ว่าจะบรรลุข้อตกลงตามที่ตลาดคาดหรือไม่ และตลาดน่าจะซึมซับประเด็นบวกไประดับหนึ่งแล้ว กลยุทธ์ยังคงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นน้ำมันอย่าง PTTEP(FV@B116) และ PTT (FV@B460) ยามที่ราคาอ่อนตัวลง
DTAC ได้ 2300 MHz ลดความเสี่ยงระยะยาว แต่สะท้อนในหุ้นแล้ว
วานนี้ราคาหุ้น DTAC ปรับขึ้นแรงช่วงเปิดตลาดก่อนย่อตัวลงมา ตอบรับข่าวที่ได้รับคัดเลือกจาก TOT ให้เป็นพันธมิตรร่วมใช้งานคลื่น 2300 MHz ด้วยต้นทุนปีละ 4.5 พันล้านบาท ระยะเวลาใช้งาน 8 ปี จำนวน 36 MHz (DTAC ใช้งาน 60% ของคลื่นทั้งหมด 60 MHz) ซึ่งถือว่าไม่ถูกเมื่อเทียบกับต้นทุนคลื่นที่มีความถี่ใกล้เคียงกัน คือ 2100 และ 1800 MHz ที่เคยประมูลกันในอดีต ที่มีต้นทุนราวปีละ 900 ล้านบาท และ 2,200 ล้านบาท ระยะเวลา 15 และ 18 ปี ต่อปริมาณคลื่นทั้งคู่ที่ 15 MHz
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการได้คลื่นดังกล่าวมา คือ DTAC จะมีคลื่นทดแทนคลื่นสัมปทานเดิมที่จะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2561 จำนวน 35 MHz (จากที่มีในมือ 50 MHz) และทำให้ DTAC มีคลื่นสามารถลงทุนพัฒนาโครงข่าย แย่งชิงลูกค้าคืนจากคู่แข่งนับหลังจากปีหน้า เบื้องต้นคาดว่า DTAC ต้องใช้เงินลงทุนโครงข่ายทั่วประเทศราว 1.5 - 2 หมื่นล้านบาท โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปัจจุบันที่ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี บวกกับ หนี้สินต่อทุนที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1 เท่า ยังเชื่อว่ารองรับการลงทุนได้สบาย
ทั้งนี้ ประเมินว่า DTAC จะเริ่มลงทุนตั้งแต่ปีหน้า ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาจากการเช่าใช้คลื่น ค่าเสื่อมราคาและค่าโครงข่ายตั้งแต่ต้นปีหน้า ขณะที่รายได้จากการให้บริการคลื่น 2300 MHz น่าจะเริ่มเห็นตั้งแต่ 2H60 ฝ่ายวิจัยจึงปรับประมาณการฯ ปี 2561 ลง โดยคาดว่าจะขาดทุนราว 2.1 พันล้านบาท จากปีนี้ที่มีกำไร 756 ล้านบาท แต่จะกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป จากการให้บริการคลื่น 2300 MHz เต็มปี และต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลง แม้ว่าได้ปรับเพิ่ม Terminal Growth ขึ้นเป็น 2% จาก 1.5% ทำให้ Fair Value ปรับขึ้นมาเป็น 42.3 บาท แต่ก็ยังไม่มี upside จากราคาปัจจุบัน จึงยังคงคำแนะนำให้ switch ไปยัง AIT ([email protected]) และ SAMTEL ([email protected]) ที่เห็น Backlog ฟื้นตัว และน่าจะกลับมา Turnaround ได้ในปีนี้
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636