WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
  หุ้นธนาคารพาณิชย์ยังคงกดดันตลาด หลังจากทยอยลดดอกเบี้ยสวนกระแสโลก ขณะที่ผลกระทบต่อกำไรปี 2560 น้อยเพียง 2.5% จากประมาณการเดิม รวมทั้งผลของ Sell on fact หลังการประกาศงบ 1Q60 และการจ่ายเงินปันผล แต่ในจังหวะนี้แนะนำให้สะสมหุ้น 40% ในหุ้นพื้นฐานที่มีค่า PER ต่ำ และเงินปันผลสูงยังเลือก Top picks คือ AIT(FV@B 31.50) และ THANI(FV@B 6.60)

ดอลลาร์เริ่มชะลอการอ่อนค่า หาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยรอบหน้า
  ปัจจัยภายนอกยังมีอิทธิพลต่อตลาดไม่มาก หลังจากที่ได้รับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ยังคงดอกเบี้ยฯ ที่เดิมในช่วงเดือนต้น พ.ค. แล้ว แต่ตลาดน่าจะให้น้ำหนักต่อการประชุมรอบถัดไป 13-14 มิ.ย. ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจ Bloomberg คาดโอกาสรอบ มิ.ย. ราว 97.5% ทั้งนี้เนื่องจากการที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐ เดือน เม.ย.60 ยังอยู่ที่ 2.2%yoy ยังสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เชื่อว่า Fed จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 2 ครั้งจากการประชุมที่เหลืออีก 5 ครั้งในปีนี้
  และหากพิจารณาดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐโดยรวมยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน สะท้อนจากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร(Non farm payrolls) ในเดือนเดียวกันที่พุ่งขึ้นอยู่ที่ 2.11 แสนราย จาก 7.9 หมื่นรายในเดือน มี.ค. หนุนอัตราการว่างงาน ในเดือนเดียวกันลดลงสู่ระดับ 4.4% (ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนพ.ค.2550) จาก 4.5%.ในเดือน มี.ค. ขณะที่ดัชนีชี้นำภาคครัว ยังคงขยายตัว สะท้อนจากยอดค้าปลีก(Retail sale) เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน ยกเว้น ยอดสั่งสร้างบ้านใหม่ (Housing start) เดือน เม.ย. ติดลบ 2.6%mom อยู่ที่ระดับ 1.17 ล้านหลัง (ระดับต่ำสุดตั้งแต่ พ.ย. 2559) ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐ ทำให้กำลังซื้อบ้านของประชาชนลดลง
  ด้วยเหตุนี้ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ อ่อนค่ากว่า 1.7% ในช่วง 1 เดือนกว่า แต่คาดว่าจะติดแนวรับราว 96-97 ตรงข้ามกับเงินยูโร เมื่อเทียบดอลลาร์ แข็งค่าราว 2.21% ช่วงเดียวกัน แต่คาดว่าจะติดแนวต้านบริเวณ 1.1-1.2 ยูโรเทียบดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเมื่อใกล้การประชุม Fed 13-14 มิ.ย.

EPS ตลาดปีนี้ยังยืน 101.36 บาท หลังประกาศงบ 1Q60
  การรายงานงบงวด 1Q60 จากนี้รวบรวมจนถึงเมื่อวานนี้มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบแล้ว 529 บริษัท คิดเป็น 96% ของ Market Cap ทั้งตลาด ทำกำไรสุทธิรวมกัน 2.84 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.3%yoy และ 42.9%qoq ถือว่าดีกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดที่ 2.3 แสนล้านบาทนั้น โดยส่วนใหญ่มาจากการเติบโตที่ดีกว่าคาดของกลุ่มฯ หลักที่มีสัดสวนกำไรในตลาดอยู่ในระดับสูง อาทิ
  กลุ่มพลังงาน เติบโต 66.7%yoy และ 99.8%qoq นำโดยธุรกิจปิโตรเลียม หลักๆ มาจาก PTT กำไรสุทธิเติบโตมากกว่าคาด (95%yoy, 142%qoq), PTTEP กำไรสุทธิดีกว่าคาด (พลิกกลับเป็นกำไร qoq และเติบโต 118%yoy) ตามด้วยธุรกิจโรงกลั่น คือ BCP (4372%yoy, 84%qoq), IRPC กำไรโต 40%qoq และ TOP กำไรดีกว่าคาด (50%yoy และ 22%qoq) ขณะที่ธุรกิจถ่านหิน BANPU พลิกกลับมาเป็นกำไร yoy และธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่มีกำไรเติบโตดี คือ EGCO และ GUNKUL สำหรับภาพงวด 2Q60 อาจจะผสมทั้งดีและไม่ดี คือ ธุรกิจปิโตรเลียมและโรงกลั่น จะ เข้าสู่ช่วง low season และมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ขณะที่ธุรกิจถ่านหิน และ โรงไฟฟ้าจะดีต่อเนื่องในงวด 2Q60
  กลุ่มปิโตรเคมี เติบโต 100.9%yoy และ 33.1%qoq หลัก ๆ มาจาก PTTGC กำไรดีกว่าคาด 180%yoy และ 35%qoq แต่แนวโน้ม 2Q60 จะอ่อนตัวจากแผน shutdown ตามด้วย IVL กำไรดีกว่าคาด 7.8%yoy และ 49%qoq และงวด 2Q60 ยังดีต่อเนื่อง ตามกลุ่มปิโตรเคมีที่อยู่ในวัฏจักรขาขึ้น
  กลุ่มค้าปลีก กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 16.2%yoy และ 2.4%qoq มาจาก CPALL (17%yoy, 10%qoq) จากการเพิ่มขึ้นของยอดขายสาขาเดิม และการขยายสาขาใหม่ รวมทั้งบันทึกกำไรจาก MAKRO, ตามมาด้วย HMPRO กำไรดีเกินคาด เติบโต 20.8%yoy จากการเพิ่มสัดส่วนการขายสินค้า Private Brand ที่มี Margin สูงขึ้น, BEAUTY กำไรสุทธิเติบโตเกินคาด (55%yoy, 12%qoq) จากการเพิ่มขึ้นของยอดขายสาขาเดิม และการขยายสาขาใหม่ ยกเว้น BJC กำไรโต 84%yoy แต่ก็ต่ำกว่าคาด ส่วนแนวโน้มงวด 2Q60 จะทรง-อ่อนตัวลงหลังผ่านช่วงฤดูกาลไปแล้ว และจะดีขึ้นใน 4Q60
  กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 17%yoy และ 37%qoq ส่วนใหญ่มาจาก SCC ที่กำไรดีกว่าคาด (29%yoy, 39%qoq) รวมทั้ง TPIPL กำไรเพิ่มขึ้นถึง 837%yoy และพลิกกลับมากำไร qoq ยกเว้น SCCC ผลการดำเนินงานหดตัว (-59%yoy, -38%qoq) รวมทั้ง VNG (-17%yoy, 37%qoq)

ตรงข้ามกลุ่มที่กำไรต่ำกว่าคาดมีจำนวนมากกว่าแต่ market cap รวมน้อยกว่ากลุ่มแรกคือ
  กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กำไรสุทธิหดตัวแรง -47%yoy และ -46%qoq มาจากการขาดทุนในงวดนี้ของ STPI และ BJCHI และฐานกำไรที่ต่ำของ TTCL (กำไรสุทธิลดลง -68%yoy, 6%qoq), ITD (กำไรสุทธิลดลง -37%yoy และ 77%qoq) และ STEC (-7%yoy, 63%qoq) ส่วน CK อ่อนตัวเล็กน้อย (-0.9%yoy, 11.8%qoq) อย่างไรก็ตาม ยังมีบางบริษัทที่แสดงถึงกำไรสุทธิที่เติบโตได้ดี คือ UNIQ กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 27%yoy, SYNTEC (9.1%yoy และ 54%qoq) SEAFCO (13%yoy, 12%qoq) และ PYLON (19%yoy และ 6%qoq) แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นในงวดถัดไป หลังโครงการใหม่ที่ได้ลงนามในปีนี้ โดยเฉพาะในหลายๆ บริษัทที่มี Backlog ปัจจุบันจำนวนมาก ที่จะทยอยรับรู้รายได้เข้ามา ตรงข้ามกับธุรกิจงานโมดูลและงานโครงการต่างประเทศยังต้องรองานประมูลใหม่ๆ ที่น่าจะเริ่มมีเข้ามาช่วงครึ่งปีหลัง จึงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่อิงกับการก่อสร้างในประเทศ
  กลุ่มโรงพยาบาล กำไรสุทธิลดลง 10.4%yoy และ 0.4%qoq หลักๆ จาก ร.พ. ขนาดใหญ่ คือ BDMS หดตัว 18%yoy และ 0.2%qoq, BCH เติบโตเพียง 5.8%yoy แต่หดตัว -16.7%qoq และ BH กำไรดีกว่าคาดเล็กน้อยโดยเติบโต 2.8%yoy และ 22%qoq ยกเว้น ร.พ. ขนาดเล็กที่เติบโตต่อเนื่อง จากต้นทุนที่ลดลง คือ LPH เติบโต 12%yoy และ 46%qoq, RJH บวก 42%yoy และ 65%qoq และยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วน ร.พ. ขนาดใหญ่ ยังใช้เวลาฟื้นตัวเพราะเป็นช่วง ลงทุน
  กลุ่ม ICT กำไรสุทธิลดลง 33.4%yoy (+87%qoq) หลักๆ มาจากการลดลง ADVANC (-4.7%yoy) DTAC (-82%yoy) INTUCH (-9.8%yoy) THCOM (-63%yoy) และขาดทุนของ TRUE ยกเว้นผู้รับเหมาวางระบบโครงข่ายที่เติบโตคือ AIT + 23.5%yoy และ 20.2%qoq และ SAMTEL +45%yoy และ 110%qoq และกลุ่มหลังยังมีแนวโน้มเติบโตตามนโยบายลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคของรัฐ
กลุ่มพัฒนาอสังหาฯ กำไรสุทธิหดตัว -14%yoy และ -35%qoq หลัก ๆ จาก SPALI (-51%yoy, -43%qoq), SIRI (-8%yoy, 68%qoq), SENA (-54%yoy และ 31%qoq), SC (-84%yoy และ 71%qoq), QH (-12%yoy และ 4%qoq) PSH (-64%yoy และ 46%qoq), LH (-11%yoy และ -11%qoq) และ ANAN (-6%yoy และ 84%qoq) ส่วนใหญ่เกิดจากยอดโอนที่น้อยกว่าคาดใน 1Q60 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี และ น่าจะดีขึ้นในช่วง 2H60 เพราะต้องเร่งโอนบ้าน
  กลุ่มขนส่ง กำไรสุทธิหดตัว -13.6%yoy (เติบโต 315%qoq) แรงกดดันมาจากหุ้นสายการบิน ทั้ง AAV, BA, และ THAI ผลจากการแข่งขันที่สูงมาก และต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และน่าจะอ่อนตัวต่อเนื่องใน 2Q60-3Q60 เพราะอยู่นอกฤดูกาล แต่จะฟื้นตัวงวด 4Q60 ที่เป็นช่วงท่องเที่ยวไทย
  ยกเว้น AOT ผลประกอบการยังเติบโตได้ดี (17.8%yoy และ 27.3%qoq) จากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนดำเนินงานลดลง แต่มีแนวโน้มอ่อนตัวในงวดครึ่งปีหลังนี้ ขณะที่หุ้นโลจิสติกส์ อย่าง JWD ผลประกอบการชะลอตัวเล็กน้อย (-5% QoQ,-12% YoY) แต่เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นในเกือบทุกหน่วยธุรกิจ และเชื่อว่าทิศทางธุรกิจโลจิสติกส์ช่วงที่เหลือของปีสดใส และจะเติบโต YoY ในทุกไตรมาส
กลุ่มอาหาร กำไรสุทธิหดตัว -7.5%yoy แต่เติบโต 73%qoq โดย TFG แม้จะเติบโตถึง 80%yoy จากธุรกิจไก่เป็นแรงหนุน แต่ระดับกำไรก็ยังต่ำกว่าคาด ตามด้วย TU แม้ผลประกอบการดีกว่าคาด กล่าวคือ เติบโต 63%yoy และ 19%qoq แต่ด้วยแรงกดดันต้นทุนวัตถุดิบทูน่าที่สูงขึ้น จึงต้องมีการปรับลดประมาณการลง ขณะที่ TVO กำไรสุทธิหดตัวลง (-44%yoy, 39%qoq) ซึ่งเชื่อว่าผลประกอบการน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีโอกาสชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีนี้
  ยกเว้น CPF กำไรดีกว่าคาด (เพิ่มขึ้น 127%qoq และ 5.1%yoy) แต่บริษัทเพิ่มทุน (5:1@25 XD 3 ก.ค. นี้) มี Dilution Effect 17% แต่ ASPS ปรับเพิ่มกำไรขึ้น (ปีละ 23.5% 2560-2561) เพราะดอกเบี้ยจ่ายจะลดลงหลังเพิ่มทุน และ บวกโอกาสบันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุน CPALL ทำให้ EPS Growth ลดลงเพียง 5.3% ในปี 2560
  โดยรวมกลุ่มนี้กำไรสุทธิน่าจะอ่อนตัวในช่วงที่เหลือเพราะราคาสุกรที่อ่อนตัว ขณะที่ราคาวัตถุดิบทูน่าและแซลมอนปรับสูงขึ้น จึงลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มเกษตร-อาหารลงเหลือ เท่าตลาด ติดตามอ่านใน Equity Talk วันนี้
  ส่วนธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม หลายบริษัทผลประกอบการย่ำแย่ จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น คือ ICHI กำไรสุทธิหดตัวแรง -75%yoy จึงมีการปรับลดประมาณการฯ และ SAPPE หดตัว (-36%yoy, -50%qoq) แต่ยังมีโอกาสที่จะได้เห็นการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี จึงยังคงประมาณการ
  กลุ่มเกษตร กำไรสุทธิโต 100%yoy และพลิกจากขาดทุน qoq แต่หลักๆ มาจาก STA ซึ่งแม้ผลประกอบการจะกลับมามีกำไรสุทธิ แต่ก็ต่ำกว่าคาดมาก จาก Gross Margin ที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการลงเพื่อสะท้อนราคายางและปริมาณขายยางลดลง แต่ต้นทุนวัตถุดิบยางพารากลับลดลงเล็กน้อยเท่านั้น
  และกลุ่มที่ผลประกอบการพลิกกลับมากำไรหลังจากขาดทุนในช่วงก่อนหน้า คือ กลุ่มบันเทิง โดยเฉพาะธุรกิจทีวีดิจิตอล นำโดย WORK เติบโตมากถึง 500%yoy และพลิกกลับจากขาดทุนเมื่อ 4Q59 ตามเรตติ้งที่ขยับขึ้นรวดเร็ว และคาดว่า 2Q60 จะยิ่งมาแรงแบบฉุดไม่อยู่ มีโอกาสปรับประมาณการขึ้นในอนาคต ตามด้วย RS ผลประกอบการ 1Q60 ดีกว่าที่คาด กลับมา Turnaround QoQ แม้จะลดลง -56% YoY แต่ 2Q60 จะได้รับแรงส่งยิ่งขึ้นอีกจากเม็ดเงินสื่อ Digital TV และเรตติ้งที่ดีขึ้น ยกเว้น BEC หดตัวแรง -56%YoY ตามเม็ดเงินโฆษณาโดยภาพรวมที่ชะลอตัว และผลกระทบจากเรตติ้งรายการข่าวที่ตกลงไปมาก ส่วน 2Q60 ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนแต่อย่างใด โดยพัฒนาการบวกมีเพียงการให้ความสำคัญกับ Online Platform มากขึ้น

ทั้งนี้ หุ้นที่มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามคาด มีส่วนน้อยคือ
  กลุ่มชิ้นส่วนฯ รายงานกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 25%yoy และ 1.6%qoq มาจาก DELTA (7.9%yoy, -12%qoq), HANA (69%yoy, 29%qoq), SVI (553%yoy, -16%qoq) ยกเว้น KCE หดตัว (-12%yoy, -4%qoq) ส่วนแนวโน้มงวด 2Q60 จะเข้าสู่ช่วง ขณะที่ทางด้านราคาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เต็มมูลค่าแล้ว ยกเว้น SVI ยัง laggard
  กลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม กำไรสุทธิโต 31%yoy แต่หดตัว 2.8%qoq โดย ERW กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 9 %yoy และ CENTEL เพิ่มขึ้น 3.3 %yoy และ 88%qoq ส่วนในช่วงไตรมาส 2 และ 3 อาจอ่อนตัวลงหลังผ่านพ้นช่วงฤดูกาล และจะกลับมาดีสุดในไตรมาสสุดท้ายของปี
กลุ่มยานยนต์ช่วง 1Q60 (5 บริษัทไม่รวม Stanly ที่ปิดงวดประจำปีเดือนมีนาคม) มีกำไรสุทธิเติบโต 15% yoy ( กำไรปกติกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 26%) แม้ยอดขายลดลง 2% yoy แต่ชดเชยได้กับ Gross Margin ที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 12% ช่วงปีก่อน เป็น 13% จากการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทในกลุ่มฯ มี AH ที่กำไรปกติเติบโตโดดเด่นสุด 96% yoy หนุนจากประสิทธิภาพการทำกำไรที่ดีขึ้นและส่วนแบ่งกำไรบริษัทบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 253% yoy ตามด้วย IHL กำไรเติบโต 30% ที่ 65 ล้านบาท ด้าน SAT และ PCSGH เพิ่มขึ้นในอัตรา 16% เท่ากัน ยกเว้น IRC กดดันกำไรลดลง 29% yoy เพราะต้นทุนวัตถุดิบอย่าง ยางพารา และ น้ำมันดิบ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ Gross Margin ลดลงเหลือ 15% จาก 20% งวดปีก่อน โดยภาพรวมในช่วงที่เหลือของปี กำไรกลุ่มนี้น่าจะทรงตัว ตามความต้องการในประเทศที่ยังชะลอตัว
  โดยรวมกำไรตลาดฯ ในงวด 1Q60 คิดเป็น 28.6% ของกำไรตลาดฯ ที่ประเมินไว้ทั้งปีที่ 9.91 แสนล้านบาท ถือว่าดีกว่าคาด แม้ขณะนี้นักวิเคราะห์ ASPS กำลังทบทวนประมาณการกำไรบางกลุ่มลง เช่น อาหาร และ เกษตร แต่คาดว่าจะกระทบต่อ EPS ตลาดโดยรวมน้อย จึงยังคง EPS เดิมที่ 101.36 บาท ซึ่ง ณ ระดับดัชนีตลาดปี 2560 มี PER 15.25 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เริ่มน่าสนใจ ซึ่งอาจจะพิจารณาหุ้นรายตัวที่มี PER ต่ำกว่าตลาด และมี Div Yield สูง

ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค แต่ขายสุทธิไทย
  วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 245 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 2 วัน) โดยเป็นการซื้อสุทธิถึง 4 ประเทศ คือ เกาหลีใต้มูลค่าราว 188 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 2 วัน), ไต้หวัน 11 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7), อินโดนีเซีย 33 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และฟิลิปปินส์ 15 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ยกเว้นตลาดหุ้นไทย แห่งเดียวที่ต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 2 ล้านเหรียญ หรือ 92 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ขณะที่สถาบันฯในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิราว 1.4 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 4 วัน)
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 7.5 พันล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิราว 2.7 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 2 วัน)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!