- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 11 May 2017 18:13
- Hits: 3081
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดว่าจะเห็นการกลับมาเปิดประมูลโครงการลงทุนภาครัฐที่ต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่ง โดยล่าสุดร่าง TOR รถไฟทางคู่เส้นทางที่ 2 ได้ถูกประกาศออกมา และน่าจะตามด้วยอีก 3 เส้นทางในระยะต่อไป ส่วนการลงทุนในระบบโครงข่ายโทรคมนาคมก็เพิ่มขึ้นเห็นได้จาก Backlog ของผู้ประกอบการที่สูงขึ้น ส่วนปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานอื่นมีน้ำหนักค่อนไปทางบวก วันนี้เลือก AIT(FV@B 31.50) เป็น Top Pick จากการฟื้นตัวของกำไรที่ชัดเจน และ Dividend Yield ที่สูงถึง 6.6%
โครงการลงทุนภาครัฐยังเดินหน้า คาดหนุน GDP Growth ปีนี้เติบโตได้ 3.5%
ตามที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอว่า สัปดาห์นี้น่าจะเห็นความความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประกาศร่าง TOR ฉบับใหม่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ออกมา โดยแบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล วงเงิน 8,465.43 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน วงเงิน 7,384.75 ล้านบาท โดยจะเปิดรับฟังคำวิจารณ์ถึงวันที่ 16 พ.ค. นี้ หลังก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศร่าง TOR รถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 7,305.26 ล้านบาท และรับฟังคำวิจารณ์ไปแล้ว 2 รอบ จากนี้ไปน่าจะเห็นการประกาศร่าง TOR รถไฟทางคู่ที่เหลืออีก 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางมาบกะเบา-ถนนจิระ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ และเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ทยอยออกมา ส่วนขั้นตอนการเปิดขายซองประกวดราคาคาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 เดือนนับจากนี้
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท แม้ ครม. จะยังไม่พิจารณาอนุมัติ เนื่องจากต้องการให้กระทรวงคมนาคมกลับไปพิจารณาเงื่อนไขและข้อสัญญาเพิ่มเติม รวมทั้งต้องการรอรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 3 หน่วยที่ยังไม่ได้ส่งข้อมูลมา คือ สภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ และสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งกระบวนการอาจต้องใช้เวลาอีกระยะเนื่องจากต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ พิจารณา ก่อนส่งไปยัง ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป แต่เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทางดังกล่าวมีแผนใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี 3 เดือน จึงน่าจะยังอยู่ในกรอบเวลาเดิม
โดยรวมเชื่อว่า หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างยังคงเป็นที่น่าสนใจ โดยกระแสการเก็งกำไรจะเกิดขึ้นตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ ซึ่งบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ยังคงมีความได้เปรียบกว่าบริษัทรับเหมารายอื่น โดยฝ่ายวิจัยยังแนะนำ STEC ([email protected]) ที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งที่สุด เนื่องจากมีสถานะเป็น Net Cash ขณะที่ UNIQ (FV@B25) มีความน่าสนใจในมิติการเติบโตที่เด่นชัดที่สุด เทียบกับบริษัทรับเหมาใหญ่รายอื่นๆ
นอกจากนี้ ภาครัฐยังคงเดินหน้าสนับสนุนกระตุ้นให้เอกชนลงทุนต่อเนื่องในปี 2560 โดยมุ่งเน้นไปในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด อาทิ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ล่าสุด คณะกรรมการ EEC เตรียมพิจารณาแนวทางเพื่อลดขั้นตอนโครงการ PPP สำหรับโครงการ EEC ให้เหลือเวลาดำเนินการ 8-10 เดือน (พีพีซูเปอร์ฟาสต์แทร็ค) จากขั้นตอนปกติ 20 เดือน โดยจปรับขั้นตอนการทำงานให้ทำไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานหนึ่งเสร็จแล้วอีกหน่วยงานค่อยเริ่ม อาทิเช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ สามารถทำได้พร้อมกับการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)
ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ EEC ได้รับ Sentiment เชิงบวก ฝ่ายวิจัยยังชอบ JWD ([email protected]) จากการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเพิ่มพื้นที่รองรับสินค้า และการส่งออกรถยนต์ ทั้งนี้ JWD ได้รับสัมปทานจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้บริหารสินค้าอันตรายที่ท่าเรือแหลมฉบังจนถึงปี 2576 แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งน่าจะเห็นผลบวกชัดเจนหากกิจกรรมขนส่งที่ท่าเรือแหลมฉบังคึกคักมากขึ้นด้วยทำเลยุทธศาสตร์ของไทยที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของ ASEAN ผนวกกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจาก EEC ทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค
โครงการ ICT ภาครัฐเดินหน้า หนุนอุตฯ รับเหมาวางระบบโทรคมนาคมสดใสมาก
เพื่อการสนับสนุนให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ทิศทางอุตสาหกรรมงานรับเหมาวางระบบโทรคมนาคมรัฐฯ ขณะนี้สดใสมาก สะท้อนจากสัญญาณงานโครงการขนาดใหญ่ที่คาดจะถูกผลักดันออกมาหลายหมื่นล้านบาท ประกอบด้วยงานโครงการหลักใหญ่ๆ อาทิ โครงการอินเตอร์เนตหมู่บ้าน (ในส่วนที่ กสทช. จะใช้งบ USO ลงทุน (งบลงทุนเพื่อให้มีบริการโทรคมนาคมทั่วถึง) มูลค่า 2.0 หมื่นล้านบาท (โดยก่อนหน้านี้ รัฐฯมีเปิดประมูลในส่วนที่มอบหมายให้ TOT ลงทุนภายใต้งบ 1.5 หมื่นล้านบาทไปแล้ว) และยังมีโครงการลงทุนสายเคเบิ้ลใต้น้ำมูลค่า 5.0 พันล้านบาท โดย CAT งานวางไฟเบอร์ทางรถไฟ โดยการรถไฟ ซึงน่าจะมีมูลค่าหลักพันล้านบาท รวมไปถึงการพัฒนาระบบ E-Logistic ของไปรษณีย์ไทย ที่มีงบลงทุนสูงถึง 6.0 พันล้านบาท และหลังจากนี้ น่าจะคาดหวังได้ถึงการลงทุนระบบออนไลน์ต่างๆ ของหน่วยงานอื่นที่จะมีบทบาทสูงในยุค 4.0 อาทิ ระบบ E-Commerce กระทรวงพาณิชย์ รวมถึง E-Health กระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นการกลับมาลงทุนของโครงการขนาดเล็ก-กลางในช่วงก่อนหน้านี้ สะท้อนได้ชัดเจนจาก Backlog ของผู้ประกอบการในกลุ่ม AIT SAMTEL ที่ฟื้นตัว จากการกลับมารับงานใหม่ๆได้มากขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อน หนุนผลประกอบการงวด 1Q60 ทั้งคู่ ที่เพิ่งประกาศวันอังคาร ล้วนฟื้นตัวโดดเด่น คือ เพิ่มขึ้น 20.2% และ 1.1 เท่าตัวจากงวด 4Q59 (+23.5%yoy และ +45.2%yoy) ตามลำดับ ขณะที่ในส่วนของ Backlog ณ สิ้นสุด 1Q60 ทั้งคู่ยังกลับมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายไตรมาส และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกจากปริมาณงานในระบบที่จะออกมามากดังกล่าว ซึ่งน่าจะช่วยทั้งแง่การรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นได้อีกจากงวด 1Q60 จึงยังคงประมาณการ AIT และ SAMTEL ที่คาดว่าจะเติบโตสูง 31.7% และ 100% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ราคาปัจจุบัน AIT ถือเป็นตัวเลือกที่ยัง Laggard และปลอดภัยกว่า SAMTEL แม้การเติบโตกำไรปีนี้อาจจะต่ำกว่า SAMTEL ทั้งนี้ เกิดจากค่า PER’60 ที่ 9.6 เท่า และยังให้ Yield เกินปีละ 6% ขณะที่ SAMTEL ซื้อขายที่ PER สูงกว่าที่ 22.2 เท่า ซึ่งน่าจะได้รวมความคาดหวังการ Turnaround ในปีนี้ไประดับหนึ่งแล้ว
ความกังวลในคาบสมุทรเกาหลีผ่อนคลาย หนุน Fund Flow ไหลเข้าภูมิภาค
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ช่วยผ่อนคลายความกังวลปัญหาคาบสมุทรเกาหลี หลังนายมูน แจ อิน (พรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีใต้) ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 19 ของเกาหลีใต้ ทั้งนี้ประธานาธิบดีมูน แจ อิน มีแนวคิดที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเกาหลีเหนือ สะท้อนจากเผยถึงความตั้งใจจะเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ หากสถานการณ์เอื้ออำนวย รวมถึงจีน ซึ่งเตรียมเจรจาประเด็นที่เกาหลีใต้ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธขั้นสูง (THAAD) เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้ต่อจีน เนื่องจากจีนมองว่าระบบต่อต้านขีปนาวุธดังกล่าว เป็นภัยต่อความมั่นคงของจีนด้วยเช่นกัน ทำให้จีนใช้มาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้เกาหลีใต้อย่างหนัก อาทิ การห้ามนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปยังเกาหลีใต้ เป็นต้น
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีโอกาสที่ Fund Flow ไหลกลับเข้าสู่เอเซียและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากวานนี้ Fund Flow ไหลเข้าสู่ตลาดทุนในภูมิภาคทุกประเทศราว 400 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในเกาหลีใต้ 133 ล้านเหรียญ อินเดียว 162 ล้านเหรียญ รวมทั้งไทย 74.1 ล้านเหรียญ แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยไม่มากและยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าความผ่อนคลายที่เกิดขึ้นจะหนุนให้กระแส Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไป
ทั้งสต็อกน้ำมันดิบที่ลดลง และแนวโน้มขยายเวลาลดกำลังการผลิต หนุนราคาน้ำมันฟื้นตัว
วานนี้สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.16% มาอยู่ที่ 47.33 เหรียญฯต่อบาร์เรล เนื่องจากทางสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ สิ้นสุด ณ 3 พ.ค. 60 ลดลงมากกว่าที่ตลาดฯคาด โดยลดลงถึง 5.247 ล้านบาร์เรล ขณะที่ตลาดฯคาดว่าจะลดลงเพียง 1.786 ล้านบาร์เรล และลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4
นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียได้กล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียจะพยายามทำให้ตลาดน้ำมันดิบกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น และมั่นใจว่ามีความเป็นไปได้ที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ทั้งในและนอกกลุ่ม OPEC จะสามารถบรรลุข้อตกลงในการขยายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อไปอีกในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตามต้องคอยจับตาดูผลการประชุมของกลุ่ม OPEC ครั้งใหญ่ ในวันที่ 25 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ว่าผลลัพธ์จะออกมาตามที่ตลาดคาดหวังหรือไม่
ด้วยประเด็นบวกที่กล่าวมา หนุนราคาน้ำมันดิบโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และส่งผลดีต่อหุ้นน้ำมันในระยะสั้น แต่หุ้น PTTEP(FV@B116) ยังมีความเสี่ยงจากประเด็นอินโดนีเซียยื่นฟ้องศาล กลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำซื้อสะสมทั้ง PTTEP(FV@B116) และ PTT (FV@B460) เมื่อราคาอ่อนตัวลง
Fund Flow ยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
แม้วานนี้ตลาดหุ้นไทยจะหยุดทำการเนื่องจากเป็นวันวิสาขบูชา แต่ตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคกว่า 400 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) และเป็นการซื้อสุทธิทุกประเทศ นำโดยไต้หวัน 193 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 140 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4), อินโดนิเซีย 56 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) และฟิลิปปินส์ 11 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7)
ส่วนวันพุธที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้หยุดทำการเนื่องจากเป็นวันเลือกตั้ง แต่ตลาดหุ้นอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคทุกแห่งเช่นกัน ด้วยมูลค่ารวม 269 ล้านเหรียญ และหากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 181 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยอินโดนิเซีย 51 ล้านเหรียญ, ฟิลิปปินส์ 24 ล้านเหรียญ และไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ หรือ 386 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ต่างกับสถาบันฯในประเทศที่สลับมาขายสุทธิราว 604 ล้านบาท
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636