WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน


กลยุทธ์การลงทุน
  คาด SET แกว่งตัวในกรอบ 1,565-1,580 จุด ยังมีแรงซื้อ-ขายหุ้น Real sector ที่ทยอยประกาศงบ และ 26 เม.ย. SCC จะประกาศงบ ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรโดดเด่น ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก ลดความที่จะออกจากยุโรป หนุนเงินยูโรแข็งค่าวันเดียว 2% กดดันเงินทุนไหลออก กลยุทธ์เลือกรายหุ้นที่มี net cash (STEC) และกำไรโดดเด่นปีนี้ Top picks IRPC([email protected]) RS ([email protected])

เงินยูโรฟื้นแรง..ผู้ชนะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ฝรั่งเศสยังอยู่ในสหภาพยุโรป
  ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก ซึ่งทราบผลเช้าวันนี้ เป็นไปตามผลสำรวจในช่วงก่อนหน้า โดยพบว่าผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ซึ่งจะเข้าสู่การเลือกตั้งรอบ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.2560 คือนาย เอ็มมานูเอล มาครง พรรคก้าวหน้า (อดีต รัฐมนตรีเศรษฐกิจรัฐบาลเดิม) ซึ่งมีจุดยืนนิยมสายกลาง ที่จะสร้างความสมานฉันท์ในฝรั่งเศสได้คะแนนเสียงราว 23.61% และนาง มารีน เลอแปน พรรคแนวร่วมแห่งชาติ ขวาจัด ซึ่งมีแนวคิดจะนำพาฝรั่งเศสได้คะแนนเสียงราว 21.8%
  และผลสำรวจล่าสุด ในการเลือกตั้งรอบ 2 พบว่านาย เอ็มมานูเอล มาครง จะชนะ นาง มารีน เลอแปน ด้วยคะแนน 60.63% ต่อ 39.37% ระยะสั้นส่งผลให้ค่าเงินยูโรเทียบดอลลาร์กลับมาแข็งค่าก้าวกระโดดราว 1.39% เพียงวันเดียว ทำให้แข็งค่า 3.14% จากต้นปีจนถึงวานนี้ (ytd)จากที่เคยอ่อนค่ากว่า 6% นับจาก Brexit ใน 24 มิ.ย. 2559 เช่นเดียวกับค่าเงินปอนด์แกว่งตัวแข็งค่า และแข็งค่า 3.91ytd จากที่เคยอ่อนค่ากว่า 18% นับจาก Brexit กดดันให้เงิน Dollar Index ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง
  ตลาดคลายความกังวลประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปลดลง หลังจากคะแนนเสียงเลือกตั้งในบางประเทศ ผู้ชนะการเลือกตั้งต้องการจะอยู่ในยุโรปต่อไป ดังเช่นเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. พรรครัฐบาลได้รับชัยชนะในการเลือก (ไม่ต้องการให้เนเธอร์แลนด์ออกจากยุโรป)
  และ สัปดาห์นี้ติดตามการปรับโครงสร้างภาษีในสหรัฐ หลังจากที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ส่งข้อความแก่สื่อมวลชน ปลายสัปดาห์ที่ผ่านจะเดินหน้าเรื่องแผนปฎิรูปภาษีครั้งใหญ่ ตามที่หาเสียงไว้ ประเด็นนี้จะกลับมาหนุนตลาดหุ้นสหรัฐอีกรอบหรือไม่ หลังจากที่ได้ตอบรับด้านบวกต่อประเด็นนี้ไปแล้ว ทั้งนี้การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ช่วยเพิ่มกำลังซื้อต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งการลดภาษีบุคคลธรรมดา ลดภาษีนิติบุคคล และภาษีมรดก ทั้งนี้แนวคิดการลดภาษีครั้งนี้ถือว่า ถอดแบบมาจากสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคเดียวกัน) ซึ่งเคยปฎิรูปกฎหมายภาษีครั้งใหญ่ในช่วงปี 2529-2531 โดยปรับลดทั้งภาษีนิติบุคคลเหลือ 34% จาก 46% และลดภาษีบุคคลธรรมดาลงเหลือ 15-28% ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐและหนุนให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้นขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

SET ผันผวนตามแรงขายรับงบหุ้น Real sector สัปดาห์นี้ถึงคิว SCC
  สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงกว่า 4% หลังจากที่ดัชนีกลุ่มได้ปรับขึ้นกว่า 10.2% จากต้นปีจนถึงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าเป็นการขายรับงบ หลังจากการรายงานงบ ธ.พ. เสร็จสิ้นไปแล้ว และ ผิดหวังต่องบในครั้งนี้ โดยพบว่าธนาคารพาณิชย์ที่ศึกษา 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกัน 5.19 หมื่นล้านบาท เติบโต 9%yoy แต่เติบโตเพียง 1.6% qoq ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ ASPS คาดไว้ 4% ทั้งนี้หลักๆ เกิดจาก การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น 14.5% จากงวด 4Q59 ซึ่งมาจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จาก NPLs ที่เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า เริ่มจาก BBL ตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 61.4%qoq KBANK 32.9% SCB 151% ยกเว้น KTB ที่สำรองฯ ลดลง 20.9% แม้ NPLs ของ KTB จะเพิ่มมากสุด จาก 3.97% ของสินเชื่อรวม ในงวด 4Q59 เป็น 4.36% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 3.2% เท่านั้น KTB จึงน่ากังวลมากสุดว่าจะมีการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นในงวดที่เหลือของปีนี้ และ มีโอกาสปรับลดประมาณการกำไรปี 2560 ลงได้ ขณะที่เพราะสัดส่วน NPL/TLs ของธนาคารที่เหลือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
  ทางด้านการปล่อยสินเชื่อโดยรวมทรงตัวจากงวด 4Q59 หรือเติบโตเล็กน้อย 2.7%yoy และ NIM โดยรวมอ่อนตัวจาก 3.15% งวด 4Q59 เหลือ 3.1% โดยรวมปี 2560 -2561 ยังคงประมาณการกำไรสุทธิเติบโต 7.8% และ 8.4% ตามลำดับ โดยคาดหวังสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 5.95% และ 6%จากการความคืบหน้าของการลงทุนภาครัฐ NIM กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.11% และ 3.14% ส่วนการตั้งสำรองฯ โดยรวมทรงตัวในปี 2560 แต่เพิ่มขึ้น 6% ในปี 2561 (มาจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นหลักคือ KTB, KBANK, SCB, BBL)
  สัปดาห์นี้ให้น้ำหนักต่อหุ้นใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อตลาดคือ SCC ซึ่งจะประกาศงบ 1Q60 26 เม.ย. นี้ เบื้องต้น ASPS ประเมินว่าจะทำกำไรสุทธิได้สูงถึง 16,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.7%YoY สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หนุนด้วยธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่ง ยังได้รับผลบวกจาก Spread (ผลิตภัณฑ์หลักทั้ง HDPE-Naphtha และ PP-Naphtha) ที่ทรงตัวสูงที่ 666 เหรียญฯ/ตัน และ 648 เหรียญฯ/ตัน ตามลำดับ และส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นจากบริษัทร่วมในกลุ่มปิโตรเคมีคือ Chandra Asri(อยู่ในอินโดนีเซีย) และ BST (มาบตาพุต) นอกจากนี้ SCC น่าจะมีกำไรพิเศษจากการขายหุ้น PTTGC จำนวน 67 ล้านหุ้น ออกไปใน 1Q60 ราว 2 พันล้านบาท ส่วน ธุรกิจหลักอื่นๆอย่างปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง และ Packaging แม้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามา ทั้งโรงปูนซีเมนต์แห่งใหม่ในเมียนมาร์และลาว แห่งละ 1.8 ล้านตัน ที่เริ่มเปิดดำเนินการใน 1Q60 และโรงกระดาษ Vina Kraft Paper ขนาด 2.43 แสนตัน ในเวียดนามที่เปิดดำเนินการใน 4Q59 แต่การใช้กำลังการผลิตในช่วงแรกที่ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน แล้ว ยังถูกกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น (การลงทุนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปริมาณการใช้ปูนฯในประเทศเดือน ม.ค.-ก.พ. 60 ที่ลดลง 3%YoY)
  จุดเด่นของ SCC ในฐานะผู้นำธุรกิจที่มีแผนเชิงรุกด้วยการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งงบลงทุนปีนี้สูงถึง 6-7 หมื่นล้านบาท ช่วยสร้างโอกาสการเติบโตในระยะยาว และทำให้ Fair value ที่ประเมินด้วยวิธี DCF มีโอกาสขยับขึ้นได้อีก ภายใต้ประมาณการกำไรเชิงอนุรักษ์นิยม ประเมิน Fair value ปีนี้ที่ 610 บาท เทียบเท่า PER 13.9 เท่า แนะนำ ซื้อ
  RS ([email protected]) คาดผลประกอบการ 1Q60 พลิกมีกำไรสุทธิได้เล็กน้อย 8.3 ล้านบาท หลังเผชิญผลขาดทุนมา 3 ไตรมาสติดต่อกันก่อนหน้า หลักๆเกิดจากธุรกิจสื่อโฆษณาที่กลับมาดำเนินการเต็มไตรมาส หลังผ่านจุดต่ำสุดงวด 4Q50 ประกอบกับ RS ได้ปรับขึ้น Ad Rate รายการมวย และข่าว ซึ่งมีเรตติ้งดี ช่วยดึง Ad Rate เฉลี่ย 1Q60 พุ่งขึ้นเป็น 3 หมื่นบาท/นาที เทียบกับปีก่อนที่ 2.2 หมื่นบาท/นาที จึงคาดรายได้ธุรกิจสื่อฯเติบโตจากฐานต่ำ 41.5% QoQ ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงามประสบความสำเร็จมากหลังปรับรูปแบบมาเน้นการขายผ่านช่องทางเดิมที่ตนเองถนัด Telesales โดยใช้สื่อช่อง 8 และช่อง 2 สนับสนุน ส่งผลให้ยอดขายพุ่งกระฉูดและทำ New High ในเดือน มี.ค. 60 ฝ่ายวิจัยจึงคาดการณ์ว่ารายได้ธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงาม 1Q60 จะเติบโตก้าวกระโดดถึง 4.1 เท่าตัว QoQ นอกจากนี้ สัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงามซึ่งเป็นธุรกิจที่มี Margin สูง 75% คาดช่วยดึง Gross Margin เฉลี่ยทุกกลุ่มธุรกิจทำได้เด่น 34.7%
      ภาพรวมเม็ดเงินในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา Digital TV เดือน มี.ค. 60 ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด 20% MoM มาอยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และฝ่ายวิจัยคาดว่าเม็ดเงินจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องใน 2Q60 ซึ่งมักจะเป็นช่วง High Season โดยเฉพาะการโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มในช่วงหน้าร้อน ส่วนแนวโน้มธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงามยังไปได้ดี โดย RS ได้ขยาย Capacity ของ Call Center เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัวเป็น 200 ที่นั่ง เพื่อรองรับยอดขายผ่านช่องทาง Telesales ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ฝ่ายวิจัยเริ่มเห็น Upside ของรายได้ธุรกิจดังกล่าว และเชื่อว่าสัดส่วนรายได้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกลายเป็นธุรกิจหลักของ RS ไม่แพ้ธุรกิจสื่อโฆษณา ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2560 ที่ 211 ล้านบาท Turnaround YoY และคง FV ที่ 10.40 บาท มี Upside 17%

โอกาสฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรปลดลง หนุน Fund Flow ไหลกลับเข้าตลาดทุน
  ความกดดันจากฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรปลดน้อยลง ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่งผลให้แรงซื้อต่างชาติมีโอกาสกลับเข้ามาในตลาดหุ้นภูมิภาค ส่วน Fund Flow ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 280 ล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้ออยู่ 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ 212 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 23 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันนานถึง 13 วัน) และไต้หวัน 78 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศ ต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) และไทย 29 ล้านเหรียญ หรือ 992 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 โดยมียอดขายสุทธิรวมราว 4.2 พันล้านบาท) ต่างกับสถาบันฯ ในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1.50 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 6.5 พันล้านบาท ส่วนทาต่างกับต่างชาติที่ขายสุทธิราว 3.5 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!