- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 29 March 2017 17:06
- Hits: 6752
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
'ไม่ผ่าน 1590 ขายก่อน'
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ปัจจัย&กลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐาน : เมื่อวานนี้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้น 6.22 จุด ปิดที่ 1576.72 โดยมีแรงซื้อหุ้นหลักในกลุ่มต่างๆ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อ 1.85 พันล้านบาท สถาบันในประเทศและรายย่อยขายสุทธิ ส่วนปัจจัยสำคัญช่วงนี้ ได้แก่
• ดัชนีค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงหลังกังวลว่ามาตรการทรัมป์อาจล่าช้าหรือทำได้ไม่มากอย่างที่หาเสียงไว้
• การประชุมกนง.วันนี้ (29 มี.ค.) คาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ส่วนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่นั้นต้องดูดอกเบี้ยสหรัฐ ภาวะเศรษฐกิจไทย และเงินทุนเคลื่อนย้าย & อัตราแลกเปลี่ยนด้วย
+/• Window Dressing การทำราคาปิดไตรมาส 1/60 ของสถาบันอาจเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้...แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว
+ ERW : โรงแรมในต่างประเทศแห่งแรกคือฟิลิปปินส์สำเร็จดีมาก มี OR สูงราว 80% ส่วนในไทยขยายเพิ่มต่อเนื่อง แนะซื้อ TP : 5.80 บาท
+ BEM : ครม.อนุมัติให้บริษัทบริหารเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนขยาย 27 กม.ในรูปแบบ PPP Net Cost เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นไปตามคาด ทาง BEM จะต้องใช้เงินลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาทมาจากกู้ยืมเป็นหลัก คาดกำไรปีนี้เติบโตแกร่ง 33% แนะนำซื้อ TP : 8.20 บาท
• จัดพอร์ตบนความสมดุลของ Risk & Return (แบ่งเป็น 3 หมวด : หุ้นปันผล, หุ้นมั่นคง และหุ้นเติบโต) และทำ Re-balancing เป็นระยะหุ้นกลยุทธ์พื้นฐานที่แนะนำวันนี้เป็น ERW
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ภาพตลาดรวมเป็นบวกเล็กๆ เน้นซื้อค่าบวก แนวต้าน 1580-1590,1600 ค่าลบหรือต่ำกว่า 1565 ควร Wait & See หรือลดพอร์ตตาม
สำหรับการ SCAN หุ้นที่ราคามีโอกาสทำ New High พบว่าหุ้นที่เข้ามาใหม่ คือ MTLS CPN BEM GFPT ส่วนหุ้นที่ยังอยู่ใน List คือ IRPC KKP HANA EPG ESSO AMATA TSR SMPC AMA หุ้นแนะนำไปแล้วและให้หาจังหวะ Take Profit คือ ROBINS SEAFCO SAMTEL DELTA หุ้นหลุด List ได้แก่ AH
ปัจจัยต่างประเทศ & ในประเทศที่สำคัญ
ปัจจัยต่างประเทศ :
•/- ญี่ปุ่น : การบริโภคยังซบเซา คาดเงินเดือนพนักงานปี 60 ปรับขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 4 ปี
สัปดาห์นี้ตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกหลายตัว (1) ทาง DBS คาดการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. เติบโต 1.5%mom หนุนโดยส่งออกที่โต 6.5%mom (2) คาดยอดค้าปลีกโตต่ำที่ 0.3%mom (3) คาดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนก.พ.ติดลบเพิ่มเป็น -1.7%yoy จาก -1.2%yoy เดือนก่อนหน้า (4) คาดเงินเฟ้อเดือนก.พ. +0.3%yoy จาก +0.4%yoy ม.ค. สำหรับแนวโน้มภาคการผลิตญี่ปุ่นดีขึ้น แต่การบริโภคในประเทศอ่อนแอเป็นปัญหาหลัก เงินเดือนพนักงานญี่ปุ่นปีนี้มีแนวโน้มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 4 ปี ซึ่งไม่ช่วยเรื่องการบริโภคเท่าใดนัก
• สหรัฐ : DBS คาดเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้
แม้ว่า GDP growth สหรัฐใน 4Q59 จะต่ำเพียง 1.9%qoq แต่สิ่งที่น่าจับตาคือ อุปสงค์ในประเทศที่โตเร่งตัวขึ้นมา +3.4% จาก +1.2% ใน 2Q16 และ +2.5% ใน 3Q16, ภาคที่อยู่อาศัยเติบโต 10%, การลงทุนของภาคธุรกิจ ขยายตัว 1.4% และการนำเข้าพุ่งถึง 9% ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง
ขณะนี้ consensus คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 2.2% ในปี 60 แต่ DBS ประมาณการว่าจะขยายตัวได้ 2.7% และเชื่อว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อไปอีก 2-3 เดือนก่อนที่จะแผ่วลงเล็กน้อยจาก base effect ของราคาน้ำมันที่อ่อนลงอย่างไรก็ดี อุปสงค์ที่เร่งตัวขึ้นจะเข้ามาหนุนเงินเฟ้อและคาดการณ์ว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้
• ยูโรโซน : คาดเงินเฟ้อเดือนมี.ค.จะแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า
ทาง DBS คาดว่าอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเดือนมี.ค.ที่จะประกาศศุกร์นี้จะแผ่วลงเล็กน้อยเป็น 1.9%yoy จาก 2.0%yoy ในเดือนก.พ. ซึ่งทำให้เชื่อว่าทาง ECB จะยังคงมาตการ QE ไว้ แต่จะมีการพิจารณาค่อยๆ ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก (bank's deposit facility o/n) ที่ติดลบระดับ -0.4% ในปัจจุบัน
ปัจจัยในประเทศ :
+ ส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัว แต่การลงทุนยังไม่ดีนัก
เรามองว่าการนำเข้าของไทยที่โต 12.4% ในช่วง 2M17 เป็นสัญญาณบวก เพราะมีการนำเข้า intermediate goods ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้น เชื่อว่าการเกินดุลการค้าที่มากเกินไปของไทยจะค่อยๆลดลง ประเด็นที่น่าสนใจคือการลงทุนในประเทศยังไม่ฟื้น ในปี 59 บริษัทไทยไปลงทุนต่างประเทศพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ FDI ที่เข้าไทยมียอดเพียง 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี ด้านการบริโภคภาคเอกชนเติบโตไม่มาก ราว 2-3% โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นให้เร่งตัวขึ้น ทาง DBS ยังคงคาดการณ์ GDP growth ปี 60 ไว้ที่ 3.4%
• กนง.ประชุมวันนี้...คาดคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%
คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะประชุมวันที่ 29 มี.ค.นี้ คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย R/P 1 วันไว้ที่ 1.50% ก่อน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้กดดันมากเพราะราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นช้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ถ้าเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไทยก็อาจต้องพิจารณาเรื่องปรับขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ปัจจุบัน Gap ระหว่างดอกเบี้ยระยะสั้นของไทยกับสหรัฐอยู่ที่ 0.50% ถ้าหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งๆ ละ 0.25% Gap ดอกเบี้ยจะเป็น 0% ถึง -0.25% ซึ่งกดดันให้ไทยต้องขยับดอกเบี้ยเพื่อบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้าย & อัตราแลกเปลี่ยน (ค่าเงินบาท)
+ กลุ่มไก่ส่งออก : คาดปริมาณส่งออกไก่ปี 60 เติบโตดี
ไข้หวัดนกระบาดที่ญี่ปุ่น (จังหวัดมิยากิและชิบะ) จนทางการต้องทำลายไก่ราว 2.8 แสนตัวในช่วง 27-29 มี.ค.60 ซึ่งไข้หวัดนกในญี่ปุ่นเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพ.ย.59 และยังไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่าเกาหลีใต้จะยกเลิกการภาษีนำเข้าไก่ปรุงสุกและแช่แข็งซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 30% และ 20% โดยมีผลตั้งแต่เม.ย.60 เป็น Sentiment บวกกับกลุ่มไก่ส่งออกของไทย ทั้งนี้คาดว่าปริมาณการส่งออกไก่ในปี 60 ของไทยยังสดใส และน่าจะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่สมาคมฯประเมินไว้ที่ +3% (ปี 59 ส่งออกได้ 7.4 แสนตัน) โดยเราประมาณการไว้ที่ +5% ที่ 7.8 แสนตัน นอกจากนั้นราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ไม่ได้ปรับขึ้นมาก ส่งผลให้มาร์จิ้นยังอยู่ในเกณฑ์ดี หุ้นที่อยู่ในกลุ่มไก่ส่งออก ได้แก่ GFPT, TFG, CPF เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นมารับข่าวบวกไปบ้างแล้ว จึงคงระวังการแกว่งตัวในระยะสั้นมาก
+ ERW (ราคาปิด 4.54 บาท) : มุ่งขยายโรงแรมในประเทศ & โรงแรมแห่งแรกในต่างประเทศสำเร็จดี
โรงแรมแห่งแรกที่ฟิลิปปินส์คือ Hop Inn ที่กรุงมะนิลา เปิดตัวไปเมื่อเดือน ธ.ค.59 พบว่าประสบความสำเร็จดี ปัจจุบันมีอัตราการเข้าพัก (OR) ถึง 80% แล้ว แม้เปิดมาได้เพียงประมาณ 3-4 เดือน ส่วนในไทยบริษัทใช้กลยุทธ์เจาะตลาดโรงแรมระดับกลางและโรงแรมแบบประหยัด (economy segment) เพิ่มเติม 4 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งมองว่าเป็นตลาดที่เติบโตเร็ว และยังมีช่องว่างทางธุรกิจที่จะขยายได้อีก บริษัทตั้งเป้าหมายระยะยาวว่าจะเพิ่มจำนวนโรงแรมจาก 41 แห่งไปเป็น 95 แห่ง ภายในปี 2563 แนะนำซื้อ โดยประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 5.80 บาท-DCF ทั้งนี้คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิปี 60 และปี 61 ที่ +15% และ +14% เทียบ y-o-y ตามลำดับ
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค – [email protected]