- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 14 March 2017 18:04
- Hits: 1586
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
Dollar Index ที่อ่อนค่าลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มทรงตัว การดีดตัวกลับของตลาดหุ้นในเอเซีย ขณะที่ Expected Return ของตลาดหุ้นไทยกลับขึ้นมาสูงกว่า 5.5% เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงโอกาสที่ SET Index จะดีดตัวกลับ สามารถ Trading ในหุ้น อย่าง ANAN, BJC, UNIQ, GUNKUL, LPH, BA ส่วนหุ้นลงทุนระยะกลาง-ยาว เลือก ROBINS (FV@B79) เป็น Top Pick
(0) เข้าสู่การประชุม Fed วันแรก แต่ตลาดน่าจะตอบรับเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยฯ ไปแล้ว
วันนี้เป็นวันแรกของการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ระหว่าง 14-15 มี.ค. (ทราบผลเช้าวันที่ 16 มี.ค. ตามเวลาในประเทศ) ซึ่งตลาดคาดหวังว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ สะท้อนจากผลสำรวจของ Bloomberg ยังคาดโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 100% หลังจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังเดินหน้าแข็งแกร่ง ทั้งฝั่งภาคการผลิตและภาคการบริโภค ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ Fed คาดไว้ อยู่ที่ 2.5% เดือน ม.ค. 60 (จาก 2.1% ธ.ค. และ 1.0% พ.ย.59) อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตลาดน่าจะซึมซับประเด็นดังกล่าวไปแล้วสะท้อนจากค่าเงินดอลลาร์ที่เริ่มชะลอการแข็งค่า หลังจากที่แข็งค่าราว 2.4% ตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ามาบริหารประเทศ
และวันพรุ่งนี้ 15 มี.ค.60 ความสนใจจะอยู่ที่การเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ ประเด็นที่ตลาดกังวล คือคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของ นาย Geert Wilders หัวหน้าพรรค Party for Freedom (PVV) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ซี่งมีแนวความคิดต้องการนำเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรป ดังเช่น Brexit โดยล่าสุด ผลสำรวจพบว่ามีคะแนนตามพรรค People’s Party for Freedom and Democracy (VVD) ของนายกฯเนเธอร์แลนด์คนปัจจุบันเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้หากเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรปตามอังกฤษ ผลกระทบระยะสั้นที่ชัดเจนคือ อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นตัวสะท้อนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ เป็น 1 ในประเทศสมาชิกที่ใช้สกุลเงินยูโร (Single currency มี 19 ประเทศ) หากออกจากสหภาพยุโรปจะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าต่อเนื่องในระยะยาว หลังจากที่อ่อนแล้วราว 6.1% ตั้งแต่เหตุการณ์ Brexit-ปัจจุบัน ขณะที่ค่าเงินปอนด์ก็ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องราว 18% เช่นกัน
(+) ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทยเล็กน้อย หลังจากขายติดต่อกันนาน 10 วัน
ความกังวลต่อ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ น่าจะถูกสะท้อนลงในราคาหุ้นไปมากแล้ว สังเกตได้จากวานนี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคเริ่มฟื้นตัว ขณะเดียวกันต่างชาติยังสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคกว่า 633 ล้านเหรียญ (หลังขายสุทธิในวันก่อนหน้า) และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ถูกขายสุทธิราว 5 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 แห่งต่างชาติซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคกว่า 408 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยไต้หวัน 194 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน), อินโดนีเซีย 30 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเป็นวันแรกของเดือน มี.ค. ราว 7 ล้านเหรียญ หรือ 239 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อนานถึง 10 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 949 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯยังคงซื้อสุทธิราว 3.4 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงขายสุทธิ 374 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 11 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 3.04 หมื่นล้านบาท) กดดันให้บาทอ่อนค่าขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.33 บาท/ดอลลาร์
(+) SET Index มีโอกาส Rebound
หลังจากที่ SET Index ได้ปรับฐานมาระยะหนึ่ง โดยมีความกังวลเรื่องโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในการประชุมรอบเดือน มี.ค.2560 เป็นแรงกดดัน จนถึงปัจจุบัน เริ่มเห็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงโอกาสในการที่ SET Index จะดีดตัวกลับ (Rebound) ชัดเจนมากขึ้น เริ่มจากค่าเงิน US Dollar ซึ่งพบว่า Dollar Index เริ่มย่อตัวกลับลงมาบริเวณ 101.4 จุดหลังจากขึ้นไปเหนือ 102 จุด ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าอิทธิพลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ถูกดูดซับไว้ในราคาแล้ว ตามด้วยการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ สำคัญอย่างทองคำ และน้ำมัน ก็เริ่มหยุดการปรับฐาน และกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ส่วนตลาดหุ้น พบว่า ดัชนีดาวโจนส์เริ่มทรงตัว ขณะที่ตลาดในกลุ่มประเทศเอเซียมีการดีดตัวกลับ สำหรับตลาดุห้นไทยหลังจากที่ปรับตัวลงมาอยู่ที่บริเวณ 1535.51 จุด เมื่อวานนี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected Return) เมื่อเทียบกับ SET Index เป้าหมายที่บริเวณ 1620 จุด (คำนวณบนประมาณการ EPS ปี 2560 ที่ 101.36 บาท และ PER เป้าหมายที่ 16 เท่า) จะอยู่ที่ 5.5% ส่วนความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ก็ลดลงหลังเงินบาทอ่อนค่ากลับมาอยู่ที่บริเวณ 35.30 หลังจากที่เคยแข็งค่าไปอยู่ที่ 34.80 บาท/USD ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมดังกล่าว ประกอบกับความเชื่อว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศไทย น่าจะยังอยู่ในระดับทรงตัวอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการดีดตัวกลับของ SET Index เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าทำกำไรได้
(+) คัดเลือกหุ้นที่มีโอกาส Rebound สูง ด้วย ASP Smart
จากแนวโน้มที่ SET Index มีโอกาสที่จะ rebound ได้ดังกล่าว ฝ่ายวิจัยจึงค้นหาหุ้นที่เชื่อว่ามีโอกาสฟื้นตัวได้แรงกว่าตลาดฯ โดยใช้ Application “ASP Smart” เพื่อเป็นเครื่องมือในการคัดกรองหุ้นได้ตามเงื่อนไขที่ต้องการ อาทิ เป็นหุ้นที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้เติบโตมากกว่าตลาดฯ แต่ราคาหุ้นปรับลดลงมากกว่าตลาดฯ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จนมี upside เปิดกว้างน่าสนใจ โดยเงื่อนไขที่กำหนด มีดังนี้
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับลดลงมากกว่า 3% (ลดลงมากกว่า SET Index)
การเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้นในปีนี้ (EPS Growth current year) มากกว่า 10% (เติบโตมากกว่า SET Index)
มีค่า Beta มากกว่า 1 แต่ไม่เกิน 2 (เพื่อคาดหวังการฟื้นตัวที่แรงกว่า SET Index)
มี upside ตั้งแต่ 15% ขึ้นไป
เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ ในทางปัจจัยพื้นฐาน
ผลลัพธ์ที่ได้จากการ scan โดยใช้ราคาปิดวานนี้ ทำให้ได้ชุดหุ้นมา 20 หุ้น ซึ่งเมื่อนำมาผนวกกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน สามารถคัดกรองเหลือ 6 หุ้นที่น่าสนใจ ดังตารางด้านล่าง
ANAN (FV@B6) คาดกำไรปีนี้เติบโต 21%yoy อยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท แรงขับเคลื่อนมาจากส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมจากโครงการ JV ที่ปีนี้พร้อมโอนฯ ถึง 5 โครงการ(มี Backlog ในส่วนของ JV รอโอนฯ ปีนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท) หรือกว่า 553 ล้านบาท ขณะที่รายได้ปีนี้คาดอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็น Backlog (ไม่รวมโครงการ JV) รอโอนฯ ราว 5.3 พันล้านบาท
BJC (FV@B57) คาดกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีข้างหน้าเติบโตเฉลี่ยปีละ 38% จากการ synergies กันระหว่าง BJC และ BIGC ด้วยกลยุทธ์ที่เพิ่มฐานกำไร อาทิ เพิ่มสัดส่วนรายได้จาก Private Label ที่ผลิตโดย BJC ให้ BIGC แทนรายเดิมที่หมดสัญญา และการใช้เครือข่ายของ BJG เพื่อให้ได้ต้นทุนถูกลง เป็นต้น
UNIQ (FV@B25) คาดกำไรปีนี้เติบโต 22%yoy จากการเข้าประมูลงานโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ในปีนี้กว่า 5 แสนล้านบาท และ Backlog ปัจจุบันที่จะรับรู้รายได้ในปีนี้กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้ง Net Profit Margin ที่ยังรักษาได้ตามเป้าหมายที่ 6%
GUNKUL ([email protected]) คาดกำไรปีนี้เติบโต 47%yoy จากการทยอยรับรู้รายได้โรงฟ้าใหม่ๆ ทั้งปี โดยโครงการในมือปัจจุบันจะช่วยหนุนกำไรเติบโตขึ้นทำ new high ต่อเนื่องในช่วง 3 ปีหลังจากนี้ และยกระดับกำไรขึ้นสู่ 1 พันล้านบาทได้ในปี 2560
LPH (FV@B12) คาดกำไรปีนี้เติบโต 44%yoy จากแรงหนุนหลายประการ ทั้งจำนวนโควต้าผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รายได้ต่อการรักษาที่เพิ่มขึ้น และการเปิดให้บริการโรงพยาบาลสาขาใหม่ๆ รวมทั้งแผนการลงทุนในโรงพยาบาลแห่งใหม่ ที่ยังไม่ได้รวมในประมาณการ
BA ([email protected]) คาดกำไรปีนี้เติบโต 12%yoy แม้จะมีความเสี่ยงจากกรณีที่ดินสนามบินสมุยที่ยังต้องรอความชัดเจน และความเสี่ยงต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรม แต่ BA ยังมีธุรกิจอื่นที่แข่งขันน้อยกระจายความเสี่ยง อาทิ บริการอาหาร บริการภาคพื้น และคลังสินค้า คิดเป็นกว่า 17% ของรายได้ ประกอบกับราคาปัจจุบันลดลงจนเกือบถึงจุด All time low แล้ว ทำให้ downside risk ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับราคาที่สะท้อนข่าวร้ายไปมากแล้ว
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์