- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 03 February 2017 15:49
- Hits: 26939
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET Index น่าจะอยู่ในช่วงปรับฐานต่อ โดยหากพิจารณาจากปัจจัยต่างประเทศ ผลการประชุมของธนาคารกลางประเทศต่างๆ เป็นไปตามคาดหมาย ส่วนประเด็นในประเทศมีกระแสเชิงบวกเล็กน้อยจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของแรงหนุนจาก Fund Flow ยังไม่มีทั้งนี้จากข้อจำกัดเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าและ Upside Gain ที่ต่ำ กลยุทธ์ยังเลือกหุ้นที่มั่นใจกำไร และจ่ายเงินปันผลได้อย่างยั่งยืน วันนี้เลือก PTTEP(FV@B116), PTTGC(FV@B76)เป็น Top picks
(0) BOE คงดอกเบี้ยตามคาด แต่ยังต้องติดตามนโยบายทรัมป์
ผลประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) วานนี้ เป็นไปตามที่ตลาดคาด คือ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ตามเดิม หลังจากได้ปรับลดดอกเบี้ยลงไปเมื่อปลายปี 2559 (เพราะกังวลต่อปัญหา Brexit) โดยการประชุมในรอบนี้ BOE ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจประเทศจึงได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP Growth ปี 2560 อีก 0.6% เป็น 2% และเพิ่มปีละ 0.1% เป็น 1.6% และ 1.7% ในปี 2561-2562 ตามลำดับ ส่วนกระบวนการ Brexit ล่าสุดสภาสามัญอังกฤษมีมติเสียงข้างมาก 498 เสียง ต่อ 114 เสียง เห็นชอบร่างกฎหมายแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาขุนนาง ในวันที่ 20 ก.พ.60 คาดว่ากระบวนการออกจากยุโรปทั้งหมดยังต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ขณะที่นโยบายของนายทรัมป์ และ นโยบายผ่อนคลายทางการคลัง น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤติในช่วงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ขณะที่สหรัฐ หลังการประชุม Fed ผ่านไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5-0.75% ตามเดิม แม้ผลสำรวจส่วนใหญ่ให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ในช่วง 2H59 เป็นต้นไป ซึ่งเชื่อว่าประเด็นต่อที่ตลาดให้น้ำหนักต่อจากนี้ คือ นโยบายของนายทรัมป์ฯ ซึ่งหลายนโยบายสร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก อาทิ ยกเลิก TPP เตรียมจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประเทศเม็กซิโกเพิ่มขึ้น 20% (สหรัฐขาดดุลกับเม็กซิโกเป็นอันดับ 4) เพื่อจะนำภาษีดังกล่าวมาสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐและเม็กซิโก เพื่อกีดกันแรงงานผิดกฎหมาย ล่าสุด เร่งการเจรจารื้อข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ประกอบด้วย สหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา เพื่อทำการเจรจาใหม่ หรือเปลี่ยนข้อตกลงใหม่ เพื่อให้สหรัฐได้เปรีบทางการค้า ตามที่นายทรัมป์เคยพูดไว้ในช่วงหาเสียง
และเชื่อว่าประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะ จีน เป็นประเทศถัดมาที่น่าจะได้รับผลกระทบจากที่เคยนำเสนอมาตลอดว่า จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐสูงสุดราว 40% ของการขาดดุลทั้งหมดปีละ 4 แสนล้านเหรียญฯ โดยสินค้าส่งออกหลักของจีนคือ คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนเครื่องมือสื่อสาร (ราว 43.8% ของยอดส่งออกจีนทั้งหมด) รองลงมาคือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 10.9% และ เหล็ก 5.7% โดยมีแนวโน้มจะขึ้นภาษีนำเข้าจากระดับต่ำสุดที่ 3% เป็น 45% เช่น ภาษีสิ่งทอฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 5-6.5% จะเพิ่มเป็น 10-13% เป็นต้น
ขณะที่ผลกระทบต่อไทย น่าจะมีทั้งทางตรง (สหรัฐนำเข้าไทยราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย สินค้านำเข้าหลักคือ แผงวงจรชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน ยางแผ่นและยางแท่ง และอาหารทะเล เป็นต้น) โดยไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐราว 2% ของการขาดดุลของสหรัฐทั้งหมด) และทางอ้อม (ไทยส่งออกไปจีนราว 11.05% ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด)
(+) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ส่งสัญญาณมั่นใจเศรษฐกิจมากขึ้น
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ม.ค.60 เพิ่มขึ้น 1.08%mom มาอยู่ที่ 74.5 จุด (เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2) เนื่องจากมาตรการกระตุ้นของรัฐในช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมาโดยเฉพาะช็อปช่วยชาติ หนุนกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนตลอดเดือน ม.ค.60 และยังคงคาดการณ์ GDP Growth ปี 2560 ที่ 3.5-4% เร่งขึ้นจาก 3.3% ในปี 2559 (สูงกว่าที่ สศค.คาด ล่าสุดที่ 3.1-4.1% และเทียบกับ ASPS คาด 3.5% ในปี 2560 เร่งจาก 3.2% ในปี 2559) โดยมีมุมมองเศรษฐกิจไทยค่อยๆฟื้นตัว จากการส่งออกที่เริ่มกลับมาขยายตัว สะท้อนจากยอดส่งออก(X) ขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือน และราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูง โดยเฉพาะยางพารา และการใช้งบประมาณกลางปีเพิ่มอีก 1.9 แสนล้านบาท เม็ดเงินจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ จะลงสู่ระบบในช่วงเดือนส.ค.2560 น่าจะหนุนให้ GDP Growthปี 60 มีความเป็นไปได้
(0) ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค แต่ซื้อหุ้นไทยเพียงเล็กน้อย
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค ด้วยมูลค่าราว 62 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และเป็นการกลับมาซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังคงถูกขายสุทธิราว 5 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ส่วนตลาดหุ้นอื่นๆอีก 4 แห่ง ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 33 ล้านเหรียญ (หลังจากหยุดตรุษจีนไปนานกว่า 8 วัน) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 25 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), อินโดนีเซีย 8 ล้านเหรียญ และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 1.3 ล้านเหรียญ หรือเพียง 45 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1.6 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯยังคงซื้อสุทธิราว 1.9 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 5.7 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) รวมเป็นเม็ดเงินกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทยังคงอยู่ในโซนแข็งค่าที่ 35.09 บาทต่อเหรียญ
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
(0) SET Index ยังมีกรอบการขึ้นจำกัด Selective Buy หุ้นปันผล และหุ้นน้ำมัน
กระแส Fund Folow จากนักลงทุนต่างชาติยังคงไม่สามารถที่จะเข้ามาสนับสนุน SET Index ได้ในช่วงนี้ สะท้อนจากนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิในหุ้นไทยในช่วงปลายเดือน ม.ค. ถึงต้นเดือน ก.พ. เฉลี่ยต่อวันสูงกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่สลับมาซื้อสุทธิด้วยมูลค่าที่เบาบางมาก ตอกย้ำด้วยการเปิดสถานะ Short ใน SET50 Index Futures ติดต่อกัน 6 วันทำการ รวมกว่า 3 หมื่นสัญญา ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าเข้าใกล้ 35 บาทต่อเหรียญ แต่ Expected Return ของตลาดหุ้นไทยมีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้กระแสเงินใหม่ๆ ที่จะเข้ามามีความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า ขณะที่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ยังคงไม่เห็นประเด็นใหม่ๆ เข้ามาหนุน ทั้งในส่วนของต่างประเทศที่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายการเงินของการประชุมธนาคารต่างๆ ในรอบสัปดาห์นี้ ขณะที่ความกังวลและความไม่มั่นใจต่อนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คาดเด่ายาก ยังเป็นสิ่งที่กดดันภาวะการลงทุนมาโดยต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยในประเทศ แม้จะมีพัฒนาการเชิงบวกในเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน แต่ก็ยังมีเรื่องทุจริตต่างๆ ที่ยังคอยกดดันเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่ยังคงต้องติดตามความคืบหน้า เรื่องของที่ดิน สปก. กระทบต่อธุรกิจพลังงานทดแทน โดยรวมจึงทำให้ SET Index ยังคงมีข้อจำกัดในการปรับขึ้น
กลยุทธ์การลงทุน จึงยังคงต้องเน้น Selective Buy เลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุน ซึ่งฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักไปที่หุ้นปันผล โดยคาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มทยอยขึ้น XD ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.- พ.ค. ซึ่งจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ พบว่า หุ้นที่จ่ายปันผลปีละครั้ง หากซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 2 เดือน และขายทำกำไรในวันขึ้น XD ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตสูงถึง 11.66% ด้วยความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกกว่า 84% โดยหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูง อาทิ THANI, IRPC, IFS, ASK, TK, SC, TISCO และ KTB ส่วนหุ้นที่จ่ายปันผลมากกว่าปีละครั้ง หากซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 2 เดือน และขายทำกำไรในวันขึ้น XD เช่นเดียวกัน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตสูงถึง 7.57% ด้วยความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 79% เช่น BCP, SENA, MAJOR, INTUCH, MCS, ADVANC, HANA, TCAP เป็นต้นทั้งนี้ การเลือกลงทุนใหนหุ้นปันผลสูง เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลในเชิงปัจจัยพื้นฐาน คือ มี Upside สูง, แนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตแข็งแกร่ง และราคามักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อน XD เสมอ โดยฝ่ายวิจัยจึงเลือก ASK, LH, SCC, TCAP และ PTTGC
รวมทั้งหุ้นในกลุ่มน้ำมัน-ปิโตรเคมี ที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว คือ PTTEP (FV@B116) PTT (FV@B400) และ PTTGC (FV@B76)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์