WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน



กลยุทธ์การลงทุน
     แรงขายรับงบงวด 4Q59 และ Fed ยังยืนดอกเบี้ยที่เดิมไปอีกระยะ โดยรอผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของทรัมป์ ที่คาดว่าน่าจะมีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งยังกดดัน SET ผันผวนต่ำกว่า 1,600 จุดต่อไป กลยุทธ์ยังเลือกหุ้นที่มั่นใจกำไร และจ่ายเงินปันผลได้อย่างยั่งยืน (ASK, SCCC, TCAP, LH, PTTGC) Growth Stock (FSMART, COM7, WHA) และ Global (PTT, PTTEP, PTTGC) ยังเลือก PTTEP(FV@B116) และ COM7(FV@B14) เป็น Top picks

 

(0) Fed ยืนดอกเบี้ย และยังมีมุมมองต่อเศรษฐกิจเชิงบวก
  ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) สรุปให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50-0.75% ตามเดิม และยังมี มุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2560 เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทั้งฝั่งภาคการผลิตและภาคบริการยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ยังขยายตัว ล่าสุดรายงานการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment change) เดือน ม.ค.60 เพิ่มขึ้น 63%mom อยู่ที่ระดับ 2.46 แสนราย (ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน) จาก 1.53 แสนรายในเดือน ธ.ค.59 ซึ่งเป็นผลจากนโยบายมุ่งเน้นการจ้างงานในประเทศของนายทรัมป์ และดัชนีฝั่งภาคการผลิตยังมีทิศทางขยายตัว สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตของ สถาบัน ISM ในเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 2.7% mom มาอยู่ที่ระดับ 56.1 จุด (เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5)
  ทั้งนี้ Fed ยังให้น้ำหนักต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ของนายทรัมป์นับจากนี้ อาทิ การลดภาษีทุกกลุ่ม โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตามที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งยังมิได้มีการพูดถึงว่าจะเป็นอย่างไร โดยหากนายทรัมป์เดินหน้าเป็นรูปธรรมเชื่อว่าจะเร่งให้เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.1% (สูงกว่าเป้าที่ Fed วางไว้) ซึ่งน่าจะหนุนให้ Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันได้ แม้ผลสำรวจ Fed Fund Future ของ Bloomberg ยังให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ย ในช่วงตั้งแต่งวด 2H60 อย่างไรก็ตามตลาดเริ่มไม่มั่นใจและกังวลต่อ มาตรการของนายทรัมป์ อาทิ กีดกัดแรงงานต่างประเทศ และชาวมุสลิม ขึ้นภาษีนำเข้าเม็กซิโก เป็นต้น สะท้อนจากค่าเงิน Dollar ซึ่งกลับมาอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ตรงกันข้ามจะหนุนให้สกุลเงินในภูมิภาคเอเซียแข็งค่าต่อ

(+) เงินเฟ้อพุ่งเกินความคาด อาจหนุนให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น
  กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค.60 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ระดับ 1.55% yoy นับว่าสูงสุดในรอบ 2 ปี เทียบกับ 1.1% ในเดือน ธ.ค.59 (เทียบกับที่ ASPS คาดปี 2560 ที่ 1.47%) เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแรงในเดือนนี้ หลัก ๆ มาจากสินค้าหมวดน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น 8.14% และหมวดผักและผลไม้และสินค้าประเภทสัตว์น้ำและปลาเพิ่มขึ้น 6.62% และ 2.93% ตามลำดับ ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้และอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน
  แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยยังฟื้นตัวล่าช้า เพราะการลงทุนเอกชนยังไม่เตอบสนองต่อนโยบายลงทุนภาครัฐ แต่หากอัตราเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งในลักษณะเดียวกับเดือน ม.ค. และใกล้ 2% ก็อาจจะ ทำให้ กนง. ต้องกลับเริ่มทบทวนนโยบายการเงินใหม่ จากปัจจุบันที่ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ระดับนี้ติดต่อกันตั้งแต่ เม.ย.58 เป็นต้น และน่าจะเริ่มมีการขยับขึ้นดอกเบี้ยช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากเดิมที่ ASPS ประเมินว่าอาจจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเลยในประเทศ รายละเอียดคงต้องตามแนวทางการดำเนินนโยบายของ กนง. ในการประชุมครั้งแรกของปีนี้ 8 ก.พ. ที่จะถึงนี้

(+) ต่างชาติมีโอกาสกลับมาซื้อหุ้นไทย หลังจาก Fed คงดอกเบี้ยตามคาด
  วานนี้ตลาดหุ้นไต้หวันหยุดตรุษจีนเป็นวันสุดท้าย ส่วนตลาดหุ้นอื่นๆอีก 4 แห่ง ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมพบว่า แรงขายหุ้นในภูมิภาคจากต่างชาติลดน้อยลง ด้วยมูลค่าเพียง 36 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) โดยมีตลาดหุ้นอยู่ 2 แห่งที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ คือ อินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 27 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และเกาหลีใต้ 8 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ส่วนที่เหลืออีก 2 แห่ง ต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติยังคงขายกว่า 60 ล้านเหรียญ หรือ 2.1 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 717 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
  อย่างไรก็ตามนักลงทุนน่าจะคลายความกังวลลง หลังจาก Fed ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายตามคาด และหากไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามากระทบ คาดว่า Fund Flow ยังมีโอกาสไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นภูมิภาค รวมถึงไทยได้อีกครั้ง สะท้อนจากจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี ที่ต่างชาติมักจะซื้อหุ้นไทยในเดือน ก.พ.เฉลี่ยกว่า 6.05 พันล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิ 6 ใน 10 ปี นอกจากนี้ในเดือน ก.พ. ยังเป็นเดือนที่ SET Index มักปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 3.35% และยังปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 9 ใน 10 ปี

(0) ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง จากความคาดหวังต่อ Supply ที่ลดลง
  การรายงานสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ สิ้นสุด 27 ม.ค. ของสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐ (EIA) วานนี้ เพิ่มขึ้น 6.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าคาดว่าจะอยู่ที่ 3.3 ล้านบาร์เรล เช่นเดียวกับสต็อกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดทุกประเภท (น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นที่ 3.9 ล้านบาร์เรล น้ำมันดีเซลและ Heating Oil ก็เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล) อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตของสหรัฐกลับลดลง 1 แสนบาร์เรลต่อวัน
  ทั้งนี้นับว่าสอดคล้องกับ รายงานการตัดลดกำลังการผลิตของกลุ่ม Non-OPEC โดยเฉพาะรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดในกลุ่มนี้ รายงานว่าได้ตัดลดกำลังการผลิตเดือน ม.ค. ลง 1 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นการทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับกลุ่ม OPEC ในการประชุมเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 (กลุ่ม OPEC ตัดลด 1.2 ล้านบาร์เรล และ Non-OPEC ตัดลด 6 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. 2560) ส่งผลให้เดือน ม.ค. กำลังการผลิตน้ำมันของรัสเซียเฉลี่ยอยู่ที่ 11.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจาก 11.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว (จากเป้าหมายที่รัสเซียจะตัดลดให้ได้ถึง 3 แสนบาร์เรล ภายใน 1H60)
  นอกจากนี้ ปัจจัยหนุนยังมาจากการที่อิหร่านเตรียมทดสอบขีปนาวุธรอบใหม่ ทำให้สหรัฐอาจต้องพิจารณาคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของอิหร่านให้สะดุดลง รวมทั้ง เงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ยังอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่า (ล่าสุด Dollar Index อยู่ที่ 99.63) เนื่องมาจากความไม่มั่นใจเกี่ยวกับนโยบายระหว่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างประเทศได้
  โดยรวมทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกวานนี้ดีดตัวขึ้นกว่า 2% และน่าจะหนุนให้มีทิศทางแกว่งตัวขึ้นใกล้เคียงกับ สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบของ ASPS ที่กำหนดไว้ในปี 2560 เท่ากับ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล และ 60 เหรียญฯ ในปี 2561 และเพิ่มเป็น 65 เหรียญฯ นับจากปี 2562 เป็นต้นไป จึงยังคงแนะนำสะสม PTTEP (FV@B116) เมื่อราคาอ่อนตัว และ PTT (FV@B400) มีโอกาสปรับเพิ่ม Fair Value ขึ้นเป็น 460 บาท จากการที่ PTT ถือหุ้น 65.29% ใน PTTEP จึงแนะนำซื้อ PTT เช่นเดียวกัน

(0) แรงขายรับงบหุ้นที่ผลดำเนินงานย่ำแย่กว่าคาด : THCOM, VGI
  นอกจากช่วงฤดูกาลประกาศงบงวด 4Q59 ของกลุ่มที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งทำให้ทำให้เกิดแรงขายรับงบแล้ว มีข่าวว่าบริษัทเอกชน นำพื้นที่ สปก. ซึ่งจะต้องใช้ในภาคเกษตรเท่านั้น มาให้บริการเชิงพาณิชย์ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในบางกลุ่มเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงผู้ให้บริการสนามบินบางแห่ง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยกดดันในหุ้นรายตัว
  ขณะที่การประกาศผลประกอบการในหุ้นสื่อสาร ล่าสุด สร้างความผิดหวังให้กับตลาดอย่างมาก คือ DTAC ซึ่งพบว่าในงบการเงินเดียวเผชิญกับภาวะขาดทุน (แนวโน้มธุรกิจ 2G ต่ำกว่าคาดจากการแข่งขันที่รุนแรง และการโอนลูกค้าไป 3G) ซึ่งผลขาดทุนทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลสำหรับงวด 2H59 ได้ ซึ่งสะท้อนว่า DTAC ต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งการแข่งขันและ การอยู่รอดในธุรกิจระยะยาว เนื่องจากคลื่นความถี่ใกล้หมดอายุแล้วนั้น
  วานนี้ยังมีหุ้นสื่อสาร คือ ดาวเทียมไทยคม หรือ THCOM (FV@B21) รายงานผลขาดทุนสุทธิ 112.8 ล้านบาท (จากที่คาดว่าน่าจะมีกำไรสุทธิในงวดนี้) ซึ่งเป็นผลขาดทุนครั้งแรกในรอบ 4 ปี ทั้งนี้เพราะบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 54 ล้านบาท (มีหนี้สินเป็นดอลลาร์ 100 ล้านเหรียญฯ งวด 4Q59 เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า เมื่อแปลงหนี้สกุลดอลลาร์เป็นบาทแล้วหนี้สินจะเพิ่มขึ้น) และ ตั้งสำรองฯ จากการแพ้คดี แก่ลูกค้ารายหนึ่งในออสเตรเลีย (บริษัทเปิดเผยว่าเป็นรายจ่ายค่าชดใช้ค่าเสียหายอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมชำรุดในประเทศออสเตรเลีย) อีก 153 ล้านบาท ซึ่งทำให้ทั้งปี 2559 กำไรลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เดิม 2,000 ล้านบาท เหลือ 1600 ล้านบาท และ ในปี 2560-2561 คาดว่าจะต้องปรับลดประมาณการลดลงจากเดิมที่ประเมิน 1,690 ล้านบาท และ 1570 ล้านบาท และปรับลด Fair Value เดิมลง เพื่อสะท้อนแนวโน้มธุรกิจดาวเทียมที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามผลประกอบการของผู้ให้บริการดิจิตอลทีวี ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนประสบภาวะขาดทุน ทำให้ THCOM ได้เสียลูกค้ารายใหญ่ๆไปแล้วเกือบทั้งหมด ได้แก่ ผู้ให้บริการทีวีบอกรับสมาชิก (GMMB,CTH) ที่ปิดกิจการ และธุรกิจในต่างประเทศ พบว่า NBN ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้งาน iPSTAR ในออสเตรเลียที่ลดการใช้งานลงไปค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งยังอยู่ระหว่างรอทางบริษัทเปิดเผยสาเหตุเพิ่มเติมในการประชุมนักวิเคราะห์วันศุกร์ 6 ก.พ. นี้ จึงแนะนำให้ Switch ไปลงทุน ADVANC(FV@B180) ผู้ให้บริการมือถืออันดับ 1 ของประเทศที่มีจุดเด่นทั้งความมั่นคงทางธุรกิจ และยังมีความพร้อมในการกลับมาสร้างการเติบโตในอนาคต และผลตอบแทนเงินปันผลที่คาดหวังระดับเกิน 4% ต่อปี
  และล่าสุด VGI รายงานกำไรสุทธิ 124 ล้านบาท ลดลง 37%qoq และ ลดลง 45%yoy ซึ่งกระทบจากผู้ประกอบการลดการใช้จ่ายงบโฆษณาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาช่วงปลายปี แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าผลกำไรจะค่อย ๆ ดีขึ้นในปี 2560 หลังบรรยากาศโดยรวมดีขึ้น
  และคาดว่าการประกาศงบน่าจะสิ้นสิ้นในปลายเดือน ก.พ. และ หลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงการจ่ายเงินปันผล โดยคาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มทยอยขึ้น XD ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.- พ.ค. ซึ่งจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ พบว่า หุ้นที่จ่ายปันผลปีละครั้ง หากซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 2 เดือน และขายทำกำไรในวันขึ้น XD ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตสูงถึง 11.66% ด้วยความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกกว่า 84% โดยหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูง อาทิ THANI, IRPC, IFS, ASK, TK, SC, TISCO และ KTB ส่วนหุ้นที่จ่ายปันผลมากกว่าปีละครั้ง หากซื้อก่อนวันขึ้น XD ราว 2 เดือน และขายทำกำไรในวันขึ้น XD เช่นเดียวกัน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตสูงถึง 7.57% ด้วยความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 79% เช่น BCP, SENA, MAJOR, INTUCH, MCS, ADVANC, HANA, TCAP เป็นต้น
  ทั้งนี้ การเลือกลงทุนใหนหุ้นปันผลสูง เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลในเชิงปัจจัยพื้นฐาน คือ มี Upside สูง, แนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตแข็งแกร่ง และราคามักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อน XD เสมอ โดยฝ่ายวิจัยจึงเลือก ASK, LH, SCC, TCAP และ PTTGC

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!