WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน



กลยุทธ์การลงทุน
     ตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ในภาวะปรับฐานลักษณะเดียวกับหุ้นสหรัฐ หลังแถลงข่าวของนายทรัมป์ฯ ไม่มีอะไรใหม่ โดยคาดว่า SET ยังติดแนวต้าน 1,585 จุด กลยุทธ์การลงทุนเลือกรายหุ้นที่ผลประกอบการโดดเด่น (WHA) ปันผลสูง (ASK, SCCC, RATCH) และหุ้นน้ำมัน (PTT, PTTEP) โดยยังเลือก Top picks คือ WHA([email protected]) และ PTTEP(FV@B102)

 

(0) น้ำท่วมใต้ กระทบ GDP 0.1%
ดังที่นำเสนอใน market talk วันที่ 10-11 ม.ค.60 ถึงประเด็นผลกระทบจากน้ำท่วมภาคใต้ รวม 10 จังหวัด (พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ชุมพร และ ระนอง) โดยเศรษฐกิจภาคใต้(GDP) มีสัดส่วนราว 8.6% ของประเทศ

ผลจากน้ำท่วมใต้กระทบต่อเศรษฐกิจหลัก ที่พึ่งพิงภาคเกษตรเป็นหลัก คิดเป็น 27% ของ GDP (กระจุกตัวในการผลิตยางพาราราว 77% ของสินค้าเกษตรทั้งหมด รองลงมาปาล์มน้ำมันราว 23%) รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมราว 12% ภาคการค้าราว 10% ขนส่ง 9% และภาคท่องเที่ยวและโรงแรมราว 8% ก่อสร้าง, อสังหาฯ 7% และอื่นๆ 27%
ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมใต้ ราว 2.23 หมื่นล้านบาท (แบ่งเป็น ภาคเกษตรเสียหายราว 8.1 พันล้านบาท (36.3% ของความเสียหายรวม) ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมราว 1 หมื่นล้านบาท (47.6%) และถนน ทางรถไฟ 3.4 พันล้านบาท (16.1%) และคาดว่าจะกระทบต่อ GDP Growth ปี 2560 ราว 0.1% ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ASPS คาดว่าจะกระทบต่อ GDP Growth ในงวด 1Q60 และอาจจะทำให้ GDP Growth ปี 2560 อาจจะต่ำกว่าที่ ASPS ประเมินไว้ที่ 3.5% แม้รัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ก็คาดว่าจะช่วยชดเชยความเสียหายได้ไม่มากนัก

(0) ตลาดหุ้นสหรัฐยังปรับฐาน หลังแถลงข่าวทรัมป์ไม่มีอะไรใหม่
หลังจากการแถลงข่าวของนายทรัมป์ต่อสื่อมวลชน ดูเหมือนไม่มีอะไรใหม่ เพราะมุ่งเน้นประเด็นเดิม ๆ โดยเฉพาะเรื่องการให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่กิจการที่ไม่ย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐ การพัฒนาอุตสาหกรรมยา และการกีดกันแรงงานสหรัฐ โดยมิได้พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการลดภาษีแก่ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนและ ภาษีมรดก ซึ่งถือว่าเป็นปัจจุบันกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และผลกำไรของตลาด และเป็นปัจจัยหนึ่ง (นอกเหนือจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว สะท้อนจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 1.7%) ที่ดึง fund flow ไหลออกจากภูมิภาคเอเชีย พร้อมกับหนุนให้ตลาดหุ้น ตลาดหุ้นสหรัฐ DJIA ปรับตัวขึ้นกว่า 12% ในช่วงเวลา 2 เดือน นับจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ระยะสั้นยังคงติดแนวต้านระยะสั้น 20,000 จุด และเช่นเดียวกับตลาดหุ้นพัฒนาแล้วในยุโรป พบว่าหลายประเทศยังคงปรับตัวขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราที่น้อยกว่า นำโดยเยอรมันปรับตัวขึ้น 10% (ระยะสั้นติดแนวต้านที่ 11,600 จุด) ฝรั่งเศสปรับขึ้น 8% (ระยะสั้นติดแนวต้าน 4,900 จุด) และ อังกฤษปรับขึ้น 7.7% และดัชนีหุ้น FTSE ของอังกฤษ ยังคงทำสถิติสูงใหม่ต่อเนื่องโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งหลักๆ น่าจะเป็นผลเพราะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
และยังไม่ได้พูดถึงนโยบายกีดกันทางการค้า เพราะคาดว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากสุดน่าจะเป็นจีน เพราะเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐมากสุด (40% ของยอดการค้าทั้งหมด) ดังนั้นเชื่อว่านายทรัมป์ฯ น่าจะสงวนท่าที เพราะเกรงว่าอาจจะกระทบความสัมพันธ์ เพราะในช่วงหาเสียงได้ใช้ประเด็นนี้ในการโจมตีประเทศที่ได้เปรียบการค้ากับสหรัฐมาแล้ว ขณะเดียวกันการค้าขายกับจีนก็ช่วยในเรื่องต้นทุนนำเข้าที่ต่ำ ช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ดังนั้นหลังจากนี้เชื่อว่านายทรัมป์ จะต้องศึกษาข้อมูลในเชิงลึก ก่อนที่จะดำเนินการตัดสินใจเดินหน้านโยบาย ทั้งในเรื่องของโครงสร้างภาษี และการใช้นโยบายภาษีตอบโต้ ประเทศคู้ค้าหลักในตลาดตลาดโลก
การที่ไม่มีประเด็นใหม่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐยังอยู่ในช่วงปรับฐาน จนกว่าจะถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. และเช่นเดียวกับ SET index หลังปรับตัวขึ้นนับจากปลายปี 2559 และต่อเนื่องถึงต้นปี 2560 หรือให้ผลตอบแทนราว 5% (28 ธ.ค.-วานนี้) จากแรงหนุนของต่างชาติ ซึ่งสภาพตลาดจะสวนทางกับทุกปี ที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะแรงขายของ LTF น้อยกว่าคาด หลักๆ เป็นเพราะต้นทุนเฉลี่ยของผู้ซื้อกอง LTF เมื่อ 5 ปีปฏิทิน ที่ผ่านมา ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับดัชนีตลาดปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเมื่อดัชนีขึ้นไปใกล้ 1,600 จุด เชื่อว่าแรงขายส่วนนี้จะทยอยออกมาทันที ทำให้ดัชนี 1,600 จุด จะเป็นแนวต้านในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

(+) น้ำมันฟื้นตัว ผลบวกการตัดกำลังผลิต และ dollar index ที่อ่อนค่า
แม้ล่าสุดสหรัฐจะรายงานสต็อกน้ำมัน เพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดคาด (ทั้งน้ำมันดิบ และ น้ำมันสำเร็จรูป) และ รายการจำนวนหลุมขุดเจาะสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10 เท่ากับ 665 หลุม ซึ่งจะทำให้ปริมาณกำลังผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ(โดยเฉพาะ Shale oil และ Shale gas) เพิ่มขึ้น จะกดดัน ราคาน้ำมัน ช่วงสั้น
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นบวกที่มาช่วยหักล้างประเด็นข้างต้นได้คือ การตัดลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC เริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม หลังจากที่ได้นำเสนอไปแล้ววานนี้ว่ามีหลายประเทศที่มีการลดกำลังการผลิตไปแล้วรวม 4.6 แสนบาร์เรลต่อวัน ดังนี้
OPEC ลดแล้ว 3.4 แสนบาร์เรลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนกลุ่ม Non-OPEC ที่ลดแล้วคือ รัสเซีย ในเดือน ม.ค. ได้ลดกำลังผลิตลง ลดลง 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน จากแผนที่จะลดลงกลุ่ม Non-OPEC 5.58 แสนบาร์เรลต่อวัน

การตัดลดกำลังการผลิตจะช่วยลดปัญหา Oversupply ลดลง และเข้าสู่จุดสมดุลได้ในช่วงกลางปี 2560 ประกอบกับเงินดอลลาร์ กลับมาอ่อนค่าหลังจากที่การแถลงข่าวของนายทรัมป์ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย ได้หนุนให้ราคาน้ำมันฟื้นมาที่ 54 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับสมมติฐานของ ASPS จึงยังคงแนะสะสมหุ้นพลังงานอย่าง PTT (FV@B400) และ PTTEP (FV@B102)

(-) ต่างชาติยังซื้อภูมิภาคเอเชีย แต่เริ่มขายหุ้นไทยเล็กน้อย
ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ด้วยมูลค่าราว 534 ล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ ไต้หวัน 327 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 13 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8) และฟิลิปปินส์ 4 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10) ยกเว้น 2 ตลาด ที่กลับมาขายคือ อินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) และไทยต่างชาติสลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 11 ล้านเหรียญ หรือ 383 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกันกว่า 8 วัน) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่สลับมาขายสุทธิราว 276 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน)
อย่างไรก็ตามจากถ้อยแถลงของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นยังไม่เห็นแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนตามนโยบายที่หาเสียงไว้ กดดันให้ Dollar Index เริ่มอ่อนค่าลง โดยล่าสุดอยู่ที่ 101.46 จุด และในระยะสั้นน่าจะช่วยหนุนให้ Fund Flow ยังไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชียได้อีก
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 3.15 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิราว 3.1 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!