- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 12 January 2017 22:05
- Hits: 1074
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าตลาดน่าจะตอบรับนโยบายของนายทรัมพ์ฯ ก่อนที่จะขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการระดับหนึ่งแล้ว ทำให้ Fund Flow กลับมาซื้อขายในตลาดเอเชียอีกระยะหนึ่ง และน่าจะหนุนหุ้นไทยขึ้นแตะ 1,585 จุด ภายในสัปดาห์นี้ กลยุทธ์สะสมหุ้นปันผลสูง (ASK, RATCH) และหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ (TTA, PTT, PTTEP) Top picks เลือก TTA([email protected]) และ WHA([email protected])
(0) ตลาดหุ้นโลกจะตอบสนองต่อแถลงการณ์ของทรัมพ์ด้านไหน
วานนี้เป็นการแถลงข่าวต่อสื่อสาธารณะเป็นครั้งแรกของนายทรัมพ์ฯ ก่อนที่จะขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 ม.ค. นี้ ปรากฏว่าประเด็นที่นายทรัมพ์ฯ พูดถึงมีอยู่ 3 เรื่องหลักคือ
ประเด็นแรกคือ สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่บริษัทที่จะไม่ย้ายฐานการออกจากสหรัฐ ทำให้ล่าสุดทำให้ค่ายรถยนต์หลายแห่ง ยกเลิกแผนที่จะย้ายฐานไปเม็กซิโก นำโดย 1.1). ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ ฟอร์ด (บริษัทฟอร์ด มอเตอร์) 1.2) บริษัทเฟียต ไครสเลอร์
ขณะเดียวกันกลับประกาศแผนลงทุนอีก 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อขยายโรงงานในโอไฮโอและมิชิแกน ซึ่งจะช่วยสร้างงานได้ราว 2,000 ตำแหน่ง อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาโรงงานเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถผลิตรถรุ่นต่างๆได้เองในสหรัฐ จากเดิมที่ต้องสั่งผลิตจากโรงงานในเม็กซิโก และ 1.3) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เตรียมจะเพิ่มเงินลงทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือในรัฐเท็กซัส
ขณะก่อนหน้านี้มีค่ายรถยนต์ที่ย้ายไปเม็กซิโกแล้ว 2 คือ บริษัท จีอี และ บริษัทฮอนด้า แต่อย่างไรก็ตาม นายทรัมพ์ฯ ไม่ได้กล่าวถึงการกีดกันทางการค้า ตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งประเด็นนี้กระทบต่อภูมิเอเชียโดยตรง โดยเฉพาะจีนที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐกว่า 40% ของยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐแต่ละปี
ประเด็นสอง คือจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมยาและชีวภาพ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้น (ผู้ผลิตที่ย้ายฐานการผลิต เช่น Mylan, Allergan, Valent) แทนที่จะผลิตในต่างประเทศแล้วนำเข้ามาขายในสหรัฐ พร้อมกับจะจัดระบบการประมูลราคายาในประเทศ เพื่อให้ราคายาอยู่ในระดับที่เหมาะสม (จากเดิมที่มีการฮั่วราคา ทำให้แพงเกินไป และรัฐบาลไม่มีอำนาจต่อรอง) และไม่เป็นภาระของรัฐบาล ในการดูแลเรื่องสวัสดิการของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรักษาพยาบาล ที่ต้องการยกเลิก Obamacare หรือการรวมศูนย์ประกันสุขภาพไว้ที่รัฐบาลกลาง แต่ให้ทุกมลรัฐดำเนินการจัดการเรื่องประกันสุขภาพเองตามความเหมาะสม ภายใต้งบประมาณที่จัดสรรให้ ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนในการประกันสุขภาพแต่ละรัฐไม่เท่ากัน
และประเด็นสุดท้าย จะลงมือสร้างกำแพงกั้นพรมแดน ระหว่างสหรัฐกับ เม็กซิโก เพื่อกีดกันแรงงานอพยพ ลักลอบเข้าประเทศ ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งฯ โดยจะเรียกเก็บเงินค่าก่อสร้างจากเม็กซิโกในภายหลัง และ จะขับแรงงานผิดกฏหมายชาวเม็กซิโก ออกจากประเทศ
อย่างไรก็ตามนายทรัมพ์ ไม่ได้พูดถึงเรื่องมาตรการลดภาษีกับทุกธุรกิจที่เคยนำเสนอในการหาเสียง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจุบันกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และผลกำไรของตลาด และเป็นปัจจัยหนึ่ง (นอกเหนือจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว สะท้อนจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 1.7%) ที่ดึง fund flow ไหลออกจากภูมิภาคเอเชีย
และหนุนให้ตลาดหุ้นตลาดหุ้นสหรัฐ DJIA ปรับตัวขึ้นกว่า 12% ในช่วงเวลา 2 เดือน นับจากที่ทรัมพ์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ระยะสั้นยังคงติดแนวต้านระยะสั้น 20,000 จุด และเช่นเดียวกับตลาดหุ้นพัฒนาแล้วในยุโรป พบว่าหลายประเทศยังคงปรับตัวขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราที่น้อยกว่า นำโดยเยอรมันปรับตัวขึ้น 10% (ระยะสั้นติดแนวต้านที่ 11600 จุด) ฝรั่งเศสปรับขึ้น 8% (ระยะสั้นติดแนวต้าน 4,900 จุด) และ อังกฤษปรับขึ้น 7.7% และดัชนีหุ้น FTSE ของอังกฤษ ยังคงทำสถิติสูงใหม่ต่อเนื่องโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งหลักๆ น่าจะเป็นผลเพราะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น (GDP Growth ล่าสุด 3Q59 ขยายตัว 2.2%yoy เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ไตรมาส) โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นอย่างมีนัยฯ ถึง 1.2%yoy ในเดือน พ.ย. จาก 0.9%yoy ในเดือน ต.ค. รวมทั้งอัตราว่างงานที่ 4.8% ในเดือน ต.ค. มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง (เช่นเดียวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของเยอรมัน ที่มีขนาดใหญ่สุดใน Eurozone ก็มีทิศทางที่ดีเช่นกัน คือ อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นเป็น 1.7%yoy ในเดือน ธ.ค. จาก 0.8%yoy ในเดือน พ.ย. และอัตราว่างงานที่ 6% ส่วนของภูมิภาคยุโรป อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นเป็น 1.1%yoy ในเดือน ธ.ค. จาก 0.6%yoy ในเดือน พ.ย. และอัตราว่างงานที่ 9.8%)
ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาดที่กล่าวมาข้างต้น ยกเว้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวขึ้นกว่า 15% และระยะสั้นแนวต้าน 19,500 จุด เนื่องจากค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่า หลังจากที่เงินเยนอ่อนค่ากว่า 10% นับจากต้นเดือน พ.ย. หรือหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเสร็จสิ้น เพราะตลาดมีความกังวลต่อนโยบายการกีดกันทางการค้า ดังกล่าวข้างต้น
เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐได้สะท้อนนโยบายของทรัมพ์ระดับหนึ่ง จากนี้ไปน่าจะมีทิศทางแกว่งตัว และรอ จนกว่าจะถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ครั้งแรกของปี 2560 ในวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. และทำให้ Fund Flow ยังคงไหลกลับเข้ามาในเอเชียต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไป จากเห็นได้ไหลเข้ามาในช่วงปลายปี 2559 และต่อเนื่องต้นปี 2560 อีกระยะหนึ่ง
(+) ต่างชาติยังคงซื้อหุ้นในภูมิภาค และไทยอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ต้นปี 60 ซึ่งผ่านมาเพียง 8 วันทำการเท่านั้น แต่ Fund Flow กลับทะลักเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชียแล้วกว่า 1.95 พันล้านเหรียญ (ytd) โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 8% เมื่อเทียบกับยอดซื้อทั้งปี 59 และหากกลับมาดูเฉพาะวานนี้ พบว่า ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ด้วยมูลค่าสูงถึง 534 ล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังคงขายสุทธิราว 9 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิ 2 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 แห่ง ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงถึง 402 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7), ตามมาด้วยไต้หวัน 121 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6), ฟิลิปปินส์ 9 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9) และไทยต่างชาติซื้อสุทธิน้อยลงเหลือเพียง 9 ล้านเหรียญ หรือ 337 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่ซื้อสุทธิราว 1.24 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 7.33 พันล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 610 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน)
(0) ราคาน้ำมันยังทรงตัว แม้สต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่เห็นการปรับลด supply แล้ว
วานนี้มีรายงานสต็อกน้ำมันสหรัฐ ของสำนักสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) รายสัปดาห์สิ้นสุด 6 ม.ค. พบว่าน้ำมันดิบกลับมาเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล แต่เป็นไปตามตลาดคาดการณ์ เพราะปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และการผลิตน้ำมันดิบในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้สต๊อก น้ำมันสำเร็จรูปทั้งเบนซินและ ดีเซลเพิ่มขึ้น 5.0 และ 8.4 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้จำนวนหลุมขุดเจาะสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10 เท่ากับ 665 หลุม ทำให้ปริมาณกำลังผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ(โดยเฉพาะ Shale oil และ Shale gas) เพิ่มขึ้นและกลับมาเป็นประเด็นกดดันราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่หักล้างบ้างคือ กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่มีมติลดกำลังผลิตร่วมกันนั้น ล่าสุดได้ เริ่มตัดลงผลผลิตน้ำมันลง สะท้อนจากยอดผลผลิตเดือน ธ.ค. ของประเทศ OPEC ลดแล้ว คือ 1). ไนจีเรียลดการผลิต 200,000 2). ซาอุดิอาระเบีย 50,000 3).เวเนซุเอล่า 40,000 4). คูเวต อิหร่าน และ 5) แองโกล่า 20,000 และ 6).แอลจีเรีย 10,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันกลุ่ม Non-OPEC อันดับ 1 อย่าง รัสเซีย ในเดือน ม.ค. ได้ลดกำลังผลิตลงสู่ระดับ 11.02 ล้านบาร์เรล (ลดลง 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน) ซึ่งจะทำให้ปัญหา Oversupply ลดลง และเข้าสู่จุดสมดุลได้ในช่วงกลางปี 2560 ประเด็นดังกล่าวยังคงหนุนราคาน้ำมันยืนเหนือ 50 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จึงยังคงแนะสะสมหุ้นพลังงานอย่าง PTT (FV@B400) และ PTTEP (FV@B400)
(0) คาดว่าน่าจะมีแรงขายรับงบ ธพ. งวด 4Q59
วานนี้ TISCO เป็น ธ.พ. แรกที่รายงานงบ 4Q59 ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย 4% อยู่ที่ 1.29 พันล้านบาท เติบโต 3.4%qoq และ 3.9%yoy จากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่สูงกว่าคาด แต่ยังลดลงจากงวดก่อนหน้า ภายหลังจากที่ลูกหนี้ SSI คืนสู่สถานภาพปกติ (special mention loan) จากเดิมที่เป็น NPL ขณะที่ภาพรวมธุรกิจหลักยังทรงตัวใกล้เคียงกับงวด 3Q59 และ NIM ยังทรงตัวระดับสูงใกล้เคียงงวดก่อนหน้า โดยรวมปี 2559 กำไรเติบโต 17.8%yoy ขณะที่แนวโน้มปี 2560 ยังไปในทิศทางบวกต่อเนื่องจากปี 2559 จากการเติบโตของสินเชื่อทะเบียนรถยนต์กลุ่ม high yield ซึ่งจะสร้างรายได้เต็มที่ในปี 2560 จากการเปิดสาขาเชิงรุก ทำให้ NIM ยังแข็งแกร่งใกล้เคียงปี 2559 ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มจะเห็นยอดสุทธิกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยจากที่ติดลบต่อเนื่องใน 3 ปีก่อนหน้า นอกจากนี้ผลบวกจากแนวโน้มค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่อ่อนตัวลง (หนี้สูญรับคืนมากขึ้น) สอดคล้องกับทิศทาง NPL ที่ลดลง รวมทั้งดีลการเข้าซื้อกิจการของ ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ถือเป็นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจในรอบหลายปี คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560-61 คาดว่าจะกลับมาเติบโตอย่างมีนัยฯ ถึง 18.2%yoy และ 19% yoy
ส่วนในภาพรวม ฝ่ายวิจัย ASPS ประเมิน ธ.พ.10 แห่งที่ศึกษา คาดจะมีกำไรสุทธิ 4Q59 รวม 5.06 หมื่นล้านบาท (หดตัวราว 2.5%qoq แต่ยังเติบโต 16.3%yoy) แม้คาดว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นตามช่วงฤดูกาล แต่ยังได้แรงหนุนจากรายได้ธุรกิจหลักทุกกลุ่มคาดเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM เพิ่มเล็กน้อย) รายได้ค่าธรรมเนียมฯ (จาก bancassurance และธุรกรรมด้านกองทุน) และรายได้จากการดำเนินงานอื่น (กำไรจากธุรกิจประกันชีวิตเพิ่มขึ้นตาม bond yield ในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้น) นอกจากนี้ ยังคาดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯลดลงสอดคล้องกับ NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ลดลง ขณะที่แนวโน้มปี 2560 คาดกำไรสุทธิกลุ่มฯ เติบโต 11.3%yoy หลักๆ มาจากการเติบโตของสินเชื่อสุทธิที่ประเมินไว้ 5.9%yoy, NIM ยังทรงตัวที่ 3.13% และการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลงราว 2.4%yoy ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งขึ้น
Top Picks ฝ่ายวิจัยเลือก SCB(FV@B177) จากประสิทธิภาพการหารายได้ดอกเบี้ยและที่มิใช่ดอกเบี้ย และคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งขึ้นมากในปี 2560 และ TCAP(FV@B50) จากแนวโน้มการฟื้นตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2560 อีกทั้งพัฒนาการบวกของธุรกิจใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของกำไรได้ดีกว่า ธ.พ.กลาง-เล็ก อื่นๆ
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์