- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 04 January 2017 20:36
- Hits: 1406
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สวัสดีปีใหม่ 2560 เปิดตลาดวันแรกของปี น่าจะเห็นดัชนีมีความผันผวน หลังจากที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์สุดท้ายของปี 2559 จาก แรงหนุนของสถาบันในประเทศ กลยุทธ์เลือกหุ้นปันผลสูง(ASK, RATCH) และ หุ้นน้ำมัน Top picks คือ PTTEP(FV@B102) PTT(FV@B400 )และ ASK(FV@B27)
(+) ปี 2559 SET ให้ผลตอบแทนชนะเพื่อนบ้าน ปี 2560 เป็นอย่างไร????
ตลาดหุ้นไทยในปี 2559 ที่ผ่านมา แม้จะเต็มไปด้วยข่าวร้ายและข่าวเศร้า แต่ SET Index ก็ยังให้ผลตอบแทนได้สูงถึงกว่า 19.8% มากสุดในภูมิภาค ตามด้วยตลาดหุ้นอินโดนีเซีย 15% ตลาดหุ้นไต้หวัน 11% ตลาดหุ้นอินเดีย 2% ตรงข้ามกับตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และจีน ปรับตัวลดลง -2%, -3% และ -12% ตามลำดับ
ขณะที่ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ปรากฏว่า ตลาดหุ้น FTSE100 อังกฤษ ปรับขึ้นมากสุด 14% ตามด้วย Dow Jones และ S&P500 สหรัฐ อยู่ที่ 13% และ 10% ตามลำดับ DAX เยอรมัน 7% CAC40 ฝรั่งเศส 5% เกาหลีใต้ 3% และญี่ปุ่น 0.6%
ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงถึง 20.2% สูงสุดในภูมิภาค (อินโดนีเซียปรับขึ้น 17.3% ฟิลิปปินส์ 12%) ก่อนที่จะมาแกว่งตัว sideway ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ติดลบไปเล็กน้อย -0.36% เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย -2% ยกเว้นฟิลิปปินส์ ลงหนัก -12%
หากย้อนไปตั้งแต่ช่วงต้นปี ตลาดหุ้นไทยปรับลงในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. ทำจุดต่ำสุดของปีที่ 1220.96 จุด เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขี้นได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. โดยเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยวิ่งขึ้นในช่วงดังกล่าว มาจากหลายปัจจัยสนับสนุน อาทิ
การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) งวด 1
และ 2Q59 ขยายตัวมากกว่า 3%yoy ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ และดีกว่าปี 2558 ที่แต่ละไตรมาสเติบโตไม่ถึง 3%yoy
ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เข้าสู่ภาวะปกติที่สูงกว่า 2 แสนล้านบาทต่อไตรมาสอีกครั้ง หลังจากงวด 3 และ 4Q58 กำไรสุทธิต่ำผิดปกติจากการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษที่มีขนาดใหญ่เข้ามาหลายรายการ
ราคาน้ำมันโลกพลิกจากขาลงเมื่อปี 2558 บริเวณ 27-28 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เป็นขาขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2559 จนขึ้นมาเหนือ 55 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล หนุนหุ้นกลุ่มพลังงาน
ผลประชามติ Brexit แม้จะพลิกความคาดหมาย แต่กระบวนการออกจาก EU ของอังกฤษยังต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี ซึ่งตลาดฯ สะท้อนข่าวไปแล้ว
การเมืองในประเทศเดินหน้า หลังการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนเมื่อ 7 ส.ค.
นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิสะสมหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ตั้งแต่ 15 ก.พ. จนถึงกลางเดือน ก.ย.
SET Index ขึ้นทำจุดสูงสุดของปีที่ 1558.32 จุด เมื่อ 15 ส.ค. แต่เมื่อย่างเข้าสู่เดือน ก.ย. เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยเผชิญความผันผวน ดัชนีปรับลดลงอย่างรุนแรง พร้อมกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติจากความกังวลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ส่งผลให้กระแส Fund Flow ที่ไหลออกจากภูมิภาคกดดันค่าเงินเอเซียอ่อนค่า แม้ SET Index จะฟื้นตัวได้ช่วงปลายเดือน ก.ย. แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้น เพราะหลังจากนั้น เดือน ต.ค. ข่าวร้ายในประเทศฉุดตลาดหุ้นไทยปรับลดลงไปกว่า 100 จุด ในระยะเวลาเพียง 3 วันทำการ ลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1343.13 จุด Market Cap ตลาดหายไปกว่า 9.6 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายใน 1 วันสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.3 แสนล้านบาท
แม้ความเศร้าจะปกคลุมไปทั่วประเทศ แต่บรรยากาศการลงทุนกลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์ให้หลัง และตลาดหุ้นไทยขึ้นเหนือ 1500 จุด ได้อีกครั้ง โดยหากพิจารณาเป็นรายกลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ outperform ตลาดในปี 2559 จะเป็นกลุ่มที่ underperform ในปี 2558 อาทิ พลังงาน ส่วน ธนาคารพาณิชย์ ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงตลาด
(0) ย้อนรอย Fund Flow ปี 2559
ในปี 2559 เงินทุนต่างชาติไหลทะลักเข้ามาในตลาดหุ้นภูมิภาคอีกครั้ง (หลังจากที่ขายสุทธิในปี 58 กว่า 7.4 พันล้านเหรียญ) โดยมียอดซื้อสุทธิขึ้นไปทำจุดสูงสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 สูงถึง 3.08 หมื่นล้านหรียญ แต่หลังจากนี้ค่อยปรับพอร์ตขาย จนยอดซื้อสุทธิสะสมลดลงเหลือ 2.50 หมื่นล้านเหรียญ โดยแรงซื้อหลักๆ ยังอยู่ในไต้หวันและเกาหลีใต้ (ประเทศละ1 หมื่นล้านเหรียญ) ส่วนในกลุ่ม TIP พบว่าซื้อสุทธิหุ้นไทยมากที่สุดราว 2.24 พันล้านเหรียญ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 1.26 พันล้านเหรียญ และฟิลิปปินส์ 83 ล้านเหรียญ
และหากพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทย พบว่า ยอดซื้อสุทธิสะสมขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1.36 แสนล้านบาท (ณ 22 ก.ย. 59) ก่อนที่จะลดลงเหลือเพียง 7.79 หมื่นล้านบาท
เป็นที่สังเกตว่าแรงขายต่างชาติ เริ่มเกิดขึ้น หลัง Brexit และ เร่งขึ้นอีกครั้งในเดือน ต.ค. หลัง Fed ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย และหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีนโยบายมุ่งเน้นการกีดกันทางการค้ากับประเทศที่ได้เปรียบ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียที่มีฐานการส่งออกไปสหรัฐ ทำให้เม็ดเงินหวนกลับไปประเทศพัฒนาแล้ว สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นในฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ชนะตลาดหุ้นทั่วโลก (ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. – 30 ธ.ค. 59) พบว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 11.3% เยอรมนี 9.8%, ฝรังเศส 9.0%, ดาวโจนส์ 8.2% และ S&P500 5.0% เป็นต้น
ส่วนแนวโน้ม Fund Flow ในปี 2560 เชื่อว่ายังคงไหลออก แต่อาจจะเห็นการซื้อสลับขายบ้าง หากดัชนีหุ้นไทยลดลงจนกลับไปอยู่ในระดับ P/E ที่ต่ำกว่า 15 เท่าอีกรอบ โดยความเสี่ยงหลักๆ มาจากการเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยฯขาขึ้นของสหรัฐฯ หลังดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มที่ดีขึ้น (ผลสำรวจของ Bloomberg ยังบ่งชี้ว่า Fed มีโอกาส ขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 4 ครั้ง เป็น 1.75%)
(0) ค่าเงินโลกผันผวนหลัง Brexit และเลือกตั้งสหรัฐ
ปี 2559 ค่าเงินสกุลหลักของโลกอ่อนตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยในภูมิภาคยุโรป พบว่า เงินปอนด์อ่อนค่าสุดถึง 16.7% ตามด้วยยูโร 3.2% ขณะที่ภูมิภาคเอเซียอ่อนค่าลงเช่นกัน ได้แก่ หยวน อ่อนค่า 6.5% เปโซ 5.15% ริงกิต 4.3%ytd ยกเว้นบางสกุลที่แข็งค่าแรงในช่วง 9 เดือน แรกคือ รูเปียะห์ และ เงินบาท แข็งค่าขึ้น 2.4% และ 0.7% ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินโลกตัวผันผวนรุนแรง คือ
1. การลงประชามติของอังกฤษ (Brexit) พบว่า เงินปอนด์อ่อนค่าราว 17.5% (ตั้งแต่ 23 มิ.ย. ถึงปลายปี) เพราะอังกฤษมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ในยุโรป และมีการค้ากับยุโรปราว 54% ของการค้ารวมของอังกฤษ เมื่อออกจาก EU ทำให้เกิดความกังวลต่อความไม่แน่นอนในระยะยาว ขณะที่ เงินยูโร อ่อนค่าราว 7.7% (ช่วงเดียวกัน) เพราะกระแสชาตินิยมที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น หลังจาก 4 ธ.ค.การลงประชามติในอิตาลี (Italexit) ประชาชนไม่ยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อมอบอำนาจให้นายกฯ แก้ไขปัญหาการเงินของประเทศ ทำให้นายกฯ อิตาลีลาออก และเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีแนวคิดออกจากสหภาพยุโรป เข้ามาบริหารประเทศ
2. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งอย่างพลิกความคาดหมาย พร้อมด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สุดขั้ว อาทิ การลดภาษีทุกกลุ่ม อาทิ ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% (เดิม 35%) ลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 12-33% (3 ขั้น) เดิม 10-39.6% (7 ขั้น) อื่นๆ หนุนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว เปิดทางให้ Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หนุนค่าเงิน Dollar แข็งค่าต่อเนื่อง ราว 4.9% นับตั้งแต่วันเลือกตั้งประธานาธิบดีจนถึงปลายปี
แนวโน้มค่าเงินสกุลหลักต่างๆ ของโลกในปี 2560 คาดว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากความคาดหวังต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในประเทศของนายทรัมป์ ช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ Fed มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ กระตุ้นให้ Fund Flow ไหลกลับ ขณะที่เงินยูโร น่าจะมีทิศทางที่อ่อนค่า เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง จากกระแสชาตินิยมหนุนการออกจากสหภาพยุโรป (EU) จาก 2 เหตุผลดังกล่าว น่าจะทำให้ค่าเงินเอเซียยังคงอยู่ในทิศทางแกว่งตัวอ่อนค่า
(+) SET เป้าหมายปีนี้ 1,600 จุด เน้นรายหุ้น PTTEP, PTT
จากฐานกำไรตลาดหุ้นไทย ปี 2560 อยู่ที่ 9.52 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น EPS ที่ 99.78 บาทต่อหุ้น เติบโต 7.85% YoY ชะลอตัวลงจาก 34% ในปี 2559 แต่ก็ ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้านในแถบเอเชียบางแห่ง คือ มาเลเซีย (7.5%) และ ฟิลิปปินส์ (8%) แต่ต่ำกว่า จีน (13.7%) อินโดนีเซีย (20%) และอินเดีย (24.3%) และต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง คือ FTSE100 เติบสูง 16.7% ตามด้วย S&P500 12% STOXX600 11.9% Dow Jones 11.5% และ Nikkei (10.2%) เป็นต้น
และอิง P/E ตลาดปี 2560 16 เท่า ซึ่งจะให้ SET Index เป้าหมายปี 2560 อยู่ที่ 1596.48 จุด หรือบริเวณ 1600 จุด มี upside จำกัด แต่กลยุทธ์การลงทุนเลือกรายหุ้นยังจำเป็น โดยเฉพาะหุ้นที่ underperform ตลาดในปี 2559 แต่ปีนี้น่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น ตามทิศทางดอกเบี้ยโลก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ แม้ EPS Growth ของกลุ่มธนาคาร เพียง 7% (กำหนด Loan Growth 5.88% และ NIM อยู่ที่ 3.09%) ปี 2560 หุ้นธนาคารน่าจะมีโอกาสขึ้นมาใกล้เคียงตลาดได้
และ หุ้นพลังงาน ปี 2560 เติบโต 9% (ไม่รวมรายการพิเศษที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต) แต่กำหนด สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยระดับ 55 เหรียญฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 45 เหรียญฯ/บาร์เรลในปี 2559 แต่หากมีการตัดลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงของ Opec และ Non-Opec ได้เชื่อว่า ราคาน้ำมันมีโอกาสขึ้นกว่าสมมติฐานข้างต้น ซึ่งทำให้กลุ่มนี้จะมีโอกาส outperform ตลาดในปี 2560 ได้
ยกเว้น ICT EPS Growth ปี 2560 คาดยังหดตัว 11% YoY ดังนั้นแม้ปี 2559 ดัชนีกลุ่ม upderperfrom ตลาด แต่เชื่อว่าปี 2560 ยังคงแก่งตัวหรือ Underperform ตลาดต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ส่วนหุ้นขนาดกลาง เช่น ค้าปลีก คาดหมายกำไรเติบโต 22% นำโดยที่ BIGC ซึ่งมีแนวโน้มเติบที่ดีมาก จากการปรับกลยุทธ์เพิ่มกำไร หลังพันธมิตรใหม่ BJC เข้าซื้อกิจการ ทำให้หุ้น BJC ยังมีโอกาส Outperfrom ตลาดได้อีกปีหนึ่ง
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์