- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 30 December 2016 16:10
- Hits: 37593
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ยืนที่ระดับสูง ด้วยแรงหนุนของนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาซื้อ สอดคล้องกับสถาบันในประเทศ วันทำการสุดท้ายของปี 2559 volume การซื้อขายน่าจะเบาบางลง กลยุทธ์การลงทุนรับปี 2560 เลือกหุ้นได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า (GFPT) และปันผลสูง (ASK, RATCH) และหุ้นน้ำมัน ชอบ PTTEP(FV@B102)
(0) สต็อกน้ำมันเพิ่ม แต่ OPEC & Non-OPEC ตัดลดกำลังผลิต ยังหนุนราคาน้ำมันโลก
รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐรายสัปดาห์ สิ้นสุด 23 ธ.ค. โดย EIA เพิ่มขึ้น 6.14 แสนบาร์เรล สวนทางคาดการณ์ว่าจะลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่สต็อกน้ำมันสำเร็จรูปทั้งเบนซินและดีเซลลดลง 1.6 และ 1.9 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากย่างเข้าฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่เบาบาง จากความคาดหวังที่ กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC จะเริ่มตัดลดกำลังการผลิตน้ำมันตั้งแต่ ม.ค. ปีหน้า เป็นเวลา 6 เดือน และจะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะในวันที่ 13 ม.ค. ที่กรุงอาบูดาบี และ 21-22 ม.ค. ที่กรุงเวียนนา ส่งผลให้ราคาน้ำมันยังทรงตัวได้ในกรอบ 50-55 เหรียญฯต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับสมมติฐานราคาน้ำมันปี 2560 ของ ASPS ที่ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล จึงยังแนะนำสะสม PTT(FV@B400) และ PTTEP(FV@B400)
(+) นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยส่งท้ายปี ด้วยมูลค่าสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 3 มูลค่ารวมกว่า 203 ล้านเหรียญ โดยสลับมาขายสุทธิวันแรกในตลาดหุ้นไต้หวัน 49.2 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิ 16.6 ล้านเหรียญ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ ซื้อสุทธิ 114 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิ 5 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิวันที่ 2) และตลาดหุ้นไทยซื้อสุทธิสุงสุดในภูมิภาค 149.3 ล้านเหรียญ หรือ 5.37 พันล้านบาท (หลังจากขายติดต่อกัน 7 วันทำการ) และเป็นมูลค่าซื้อสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. ขณะที่นักลงทุนสถาบันฯ ซื้อสุทธิอีก 1.59 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) โดยคาดว่าแรงหนุนยังคงมาจากการทำ Window Dressing ในช่วงสิ้นไตรมาส
ส่วนตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯ ซื้อสุทธิสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาท (ซื้อติดต่อกันเป็นวันที่ 8) ตรงข้ามกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 1.5 พันล้านบาท (สลับมาขายวันแรก)
ผลตอบแทนพอร์ตกระดาษที่ทีมวิจัย ASPS ทำได้สูงถึง 53%
นับจากต้นปีจนถึง 28 ธ.ค. 2559 แม้ SET ให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 18.37% แต่พอร์ตกระดาษที่บริหารโดยทีมวิจัยฯ ให้ผลตอบแทนสุทธิสูงถึง 53.10% และมี Alpha หรือผลตอบแทนที่ชนะดัชนีตลาดสูงถึง 34.73% นอกจากนี้หากเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของกองทุนประเภทตราสารทุนที่ลงทุนภายในประเทศ พบว่า พอร์ตกระดาษของ ASPS มีผลตอบแทนสูงสุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทตราสารทุนที่ลงทุนภายในประเทศทั้งหมด 254 กองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธ.ค. 2559 ดังภาพด้านล่างนี้) ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงและเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง
และหากพิจารณาผลตอบแทนเป็นรายเดือน พบว่า พอร์ตกระดาษชนะตลาดถึง 10 ใน 12 เดือน (ดังภาพทางด้านล่าง)
ส่วนรายหุ้นที่ให้ผลตอบสูงสุดในปี 2559 5 อันดับแรก คือ MCS, TFG, SAWAD, COM7 และ CPF ทำให้พอร์ตมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นราว 8.6%, 6.0%, 3.7%, 2.9% และ 2.9% ตามลำดับ รายละเอียด ดังปรากฏในภาพถัดไป
(+) คาดปี 2560 SET เป้าหมาย 1,600 จุด ให้ผลตอบแทนที่คาดหวัง 4% จากดัชนีปัจจุบัน
ตลาดหุ้นไทยในปี 2560 ยังเป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากยังมีแรงกดดันต่างประเทศ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) มีโอกาสที่จะถอนตัวออกจาก EU หลังจากช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้ลงประชามติ Brexit ตามด้วยอิตาลีที่น่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ใน 1Q60 และมีโอกาสที่พรรคขวาจัด (สนับสนุนการออกจาก EU) จะชนะการเลือกตั้ง เป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นประเทศหนึ่ง (Italexit) ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเงินยูโรนั้นอาจผันผวนแรงกว่า Brexit เนื่องจากอิตาลีเป็น 1 ในประเทศสมาชิกที่ใช้สกุลเงินยูโร 19 ประเทศ ต่างจากอังกฤษที่ใช้เงินปอนด์ รวมทั้งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจใน EU เนื่องจากอิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อยู่ในลำดับ 4 ของสหภาพยุโรป (รองจากเยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส) มีสัดส่วนการค้ากับ EU มากถึง 54% (ส่วนอังกฤษมีสัดส่วนการค้ากับ EU ราว 58%)
ขณะที่วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปยังไม่คลี่คลาย นับตั้งแต่ปี 2552 อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และ สเปน) ยังคงสูงกว่า 100% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถตัดลดงบประมาณ เพื่อลดปัญหาขาดดุลงบประมาณได้
ตรงข้ามกับสหรัฐ ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง และกำลังเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยประเมินว่าปี 2560 มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 1% จากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดย Fed ได้ปรับเพิ่ม GDP Growth ปี 2559 -2560 เป็น 1.9% และ 2.1% จากเดิม 1.8% และ 2% ตามลำดับ และคงที่ 2% ปี 2561 พร้อมทั้งปรับเพิ่มเงินเฟ้อสิ้นปีนี้มาที่ 1.5% (เดิมคาดที่ 1.3%) และเพิ่มเป็น 1.9% ในปี 2560 และ 2% ในปี 2561-2562 ผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ ที่เตรียมจะลดภาษีทุกประเภทลง หนุนกำลังซื้อในประเทศ
ขณะเดียวกัน นโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศที่ได้เปรียบทางการค้าหรือเกินดุลการค้ากับสหรัฐ น่าจะกระทบกับประเทศในภูมิภาคเอเซียเป็นหลัก โดยเฉพาะจีน (ได้ดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดราว 40% ของยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐทั้งหมด) ตามด้วย ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย และไทย และสินค้าที่คาดว่าจะถูกเก็บภาษีขึ้นจะเป็นสินค้าสำเร็จรูป (ขั้นปลาย) ที่สหรัฐนำเข้าจากเอเชีย สูงสุด คือ ชิ้นส่วนและเครื่องจักร, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ยานยนต์ เป็นต้น โดยสินค้าชิ้นส่วน ฯ และ สิ่งทอน่าจะกระทบเกือบทุกแห่งในเอเชีย ยกเว้นไทยที่ส่งออกสิ่งทอน้อยมากในปัจจุบัน ขณะที่ยานยนต์จะมีเฉพาะเกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่นที่ส่งออกไปสหรัฐมากสุด
และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าน่าจะถูกตีความเป็นสินค้าขั้นกลาง เนื่องจากนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น คอมพิวเตอร์ smart phone และ sensor ในอุปกรณ์รถยนต์ และ power supply เป็นต้น และหากพิจารณาผู้ประกอบการชิ้นส่วนในไทยพบว่ามีการส่งออกไปสหรัฐเป็นหลักมีไม่กี่บริษัท เช่น KCE 20%ของยอดส่งออก DELTA 32% HANA 8% และ SVI 10% ผลกระทบในกลุ่มนี้จึงน่าจะจำกัด
ส่วนพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย หากพิจารณากำไรสุทธิของตลาดรวมในปี 2560 จะอยู่ที่ 9.52 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 99.78 บาทต่อหุ้น เติบโต 7.85% YoY ซึ่งนับว่าชะลอตัวลงจาก 34% แต่ก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับบางประเทศในแถบเอเซีย คือ มาเลเซีย (7.5%) และ ฟิลิปปินส์ (8%) แต่คาดว่าจะน้อยกว่าตลาดหุ้นจีน (13.7%) อินโดนีเซีย (20%) และอินเดีย (24.3%) ส่วนตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วคาดว่าจะให้ผลตอบแทนมากสุด คือ FTSE100 (16.7%) ตามด้วย S&P500 (12%) STOXX600 (11.9%) Dow Jones (11.5%) และ Nikkei (10.2%) เป็นต้น
พิจารณากำไรสุทธิปี 2560 พบว่ากลุ่มที่มี market cap ขนาดใหญ่ มีอัตราการเติบโตใกล้เคียงตลาด : กลุ่มพลังงาน เติบโต 9% (ไม่รวมรายการพิเศษที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต) กำหนดสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยระดับ 55 เหรียญฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 45 เหรียญฯ/บาร์เรลในปี 2559
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กำไรสุทธิเติบโต 7% กำหนดให้ Loan Growth 5.88% และ NIM อยู่ที่ 3.09% ซึ่งเป็นสมมุติฐานที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ส่วนรายการตั้งสำรองหนี้สูญใกล้เคียงกับปี 2559
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เติบโต 5% YoY เพราะฐานกำไรหลักอยู่ที่ SCC ซึ่งคาดว่าปี 2560 จะทรงตัวจากปี 2559 แต่การเติบโตที่เห็นได้ชัดจะเกิดจาก TPIPL ซึ่งธุรกิจโรงไฟฟ้าจะสร้างกำไรเข้ามาเต็มที่
กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเมินกำไรเติบโต 10% YoY ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโอนฯ Backlog ซึ่ง ณ สิ้น 3Q59 มีอยู่ที่ 2.40 แสนล้านบาท (รวมโครงการ JV) บวกกับยอดขายใหม่ในโครงการแนวราบ แต่ Presale ใหม่ยังต้องติดตาม
ยกเว้นกลุ่มค้าปลีก คาดหมายกำไรเติบโต 22% โดยที่ BIGC มีการเติบโตอย่างโดดเด่นจาก Synergy หลังการควบรวมกิจการ และการปรับโครงสร้างสินค้า นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการนับซ้ำกำไรหลัง BJC ทำงบการเงินรวมกับ BIGC
และกลุ่ม ICT ยังคงได้รับแรงกดดันจากต้นทุนค่าใบอนุญาต การลงทุนโครงข่าย และการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้คาดหมายว่ากำไรปี 2560 จะหดตัวในอัตรา 11% YoY
จากประมาณการผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะมี EPS อยู่ที่ 99.78 บาทต่อหุ้น ส่วนระดับค่า PER เป้าหมายกำหนดบนสมมุติฐานให้ Market Earning Yield Gap ที่ 4.75% และ Bond Yield 1 ปี อยู่ที่ 1.5% จะให้ค่า PER เหมาะสมอยู่ที่16 เท่า ซึ่งจะให้ SET Index เป้าหมายปี 2560 อยู่ที่ 1596.48 จุด หรือ บริเวณ 1600 จุด (รายละเอียดอ่าน Invest+ 1st Quarter 2017)
(0) แนะสะสมหุ้นข้ามปี ASK, GFPT, CK, UNIQ, BJC, RATCH
วันสุดท้ายของการซื้อขายปี 2559 หวังว่าตลาดหุ้นยังคงบวกต่อเนื่อง และหากมองข้ามปี 2560 ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสเดินหน้าต่อดังกล่าวข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปี 2560 หรือ 2 สัปดาห์แรกเชื่อว่าดัชนีหุ้นไทยน่าจะปรับฐาน จากแรงขายหุ้นของนักลงทุนสถาบันบัน จากความต้องการไถ่ถอน กองทุน LTF ที่ครบกำหนด 5 ปีปฏิทิน แต่ถือว่ายังเป็นจังหวะสะสมหุ้นที่มีประเด็นหนุนดังต่อไปนี้
Dividend Play : หลังประกาศงบปี 2559 คือ ช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. 2560 จะเข้าสู่ฤดูกาลประกาศจ่ายปันผล โดยจะทยอยขึ้นเครื่องหมาย XD ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 เป็นต้นไป กลยุทธ์การลงทุน Dividend Play ให้ซื้อก่อน XD 2-3 เดือน และ ขายวันขึ้นเครื่องใหม่ XD โดยหุ้นที่ฝ่ายวิจัยคัดกรอง เลือกจาก Dividend Yield ปี 2559 และ 2560 สูงกว่า 4% ต่อปี มี EPS Growth ปี 2560 เติบโต กว่า 10% Upside สูงกว่าราคาปัจจุบันเกินกว่า 15% และฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ หุ้นที่เข้าเงื่อนไขคือ ASK (FV@B27), THANI ([email protected]), SCCC (FV@B340), RATCH (FV@B65) และ LH ([email protected])
กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า 2 กลุ่มคือ
1) เกษตร-อาหาร: เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีพ และเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ แต่ขึ้นกับโครงสร้างของรายได้และต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน กล่าวคือ
GFPT (FV@B19) เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ ไปยังยุโรป และเอเชีย โดยเน้นที่ตลาด ญี่ปุ่น ในสัดส่วน 50% ของปริมาณการส่งออกรวม (รายได้อยู่ในรูปดอลลาร์ 18% รายได้ยูโร 2% ขณะที่ต้นทุนดอลล่าร์ 15%) เงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรจากประมาณการเดิม 2.4%
TU (FV@B25) เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเล (ทูน่า กุ้ง แซลมอน) ไปยังยุโรป และ เอเชีย (รายได้อยู่ในรูปดอลลาร์ 69% รายได้ยูโร 24% ขณะที่ต้นทุนรูปดอลล่าร์ 60%) เงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรจากประมาณการเดิม 5.5% แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงต้องคำนึงถึงตอนนี้คือ มีคดีความถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับปัญหาการฮั้วราคาขายทูน่ากระป๋องที่สหรัฐฯ ระหว่าง StarKist, Bumble Bee และ Chicken of the sea (บริษัทย่อยของ TU) ในช่วงปี 2554-2556 ทั้งนี้ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนจากทางกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ (DOJ) โดยผู้บริหารของ Bumble Bee ได้ออกยอมรับเกี่ยวกับข้อหาดังกล่าว (plead guilty) อย่างไรก็ตาม TU ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฮั้วราคาขายทูน่า แต่หากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯตัดสินว่า TU มีความผิดก็จะโดนค่าปรับ ซึ่งปัจจุบันยังประเมินมูลค่าไม่ได้
และ CPF ([email protected]) เพราะส่วนใหญ่เป็นส่งออกจะเป็นผลิตภัณฑ์ไก่ หมู กุ้ง อาหารสำเร็จรูป และ อาหารสัตว์ (รายได้อยู่ในรูปดอลลาร์ 4% รายได้ยูโร 1% ขณะที่ต้นทุนในรูปดอลล่าร์ 3% และหนี้สินเป็นดอลลาร์ 1.2 พันล้านเหรียญฯ) เงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรจากประมาณการเดิม 4.9%
KSL (FV@B6) ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาล ส่งออกราว 60%ของรายได้รวม ส่วนใหญ่ไปตลาดเอเชีย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย (รายได้อยู่ในรูปดอลลาร์ 60% ขณะที่ต้นทุนเป็นบาท และหนี้สินเป็นดอลลาร์20 พันล้านเหรียญฯ) โดยเงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรจากประมาณการเดิม 6.7%
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มส่งออกเกษตรอีกหุ้นหนึ่งคือ STA (FV@B25) เป็นผู้ผลิตและส่งออกยางแท่งและยางแผ่นรมควัน ตลาดส่งออกหลักอยู่ในแถบเอเชีย โดยเฉพาะจีน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางส่งออกจะถือว่าเป็นสินค้าขั้นกลาง จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯ และน่าจะได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุด เนื่องจากรายได้หลักราว 70% มาจากการส่งออกยางพารา (รับรู้รายได้เป็นสกุลดอลลาร์) แต่ต้นทุนการผลิตทั้งหมดเป็นเงินบาท (รายได้อยู่ในรูปดอลลาร์ 85% ขณะที่ต้นทุนเป็นบาท และหนี้สินเป็นดอลลาร์ 30 พันล้านเหรียญฯ) โดยเงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรจากประมาณการเดิม 7.2%
2) กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์: หากพิจารณาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันจากสหรัฐไม่มากนัก ขณะที่สินค้าส่งออกกลุ่มนี้น่าจะอยู่ในขั้นกลางเป็นหลัก จึงน่าจะกระทบน้อย พบว่า ผู้ที่ตลาดส่งออกไปสหรัฐในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบรายได้รวม คือ HANA 8% ตามด้วย SVI สัดส่วน 10% KCE สัดส่วน 20% และ DELTA สูงสุด 30%
แต่หากพิจารณาผลบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่าพบว่า และ KCE (FV@B110) ได้ประโยชน์มากสุด โดยเงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรจากประมาณการเดิม 7.3% (รายได้ในรูปดอลลาร์ 70% และต้นทุนดอลลาร์ 50%)
รองลงมาคือ HANA (FV@B38) เงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรจากประมาณการเดิม 6.2% (รายได้อยู่ในรูปดอลลาร์ 100% ขณะที่ต้นทุน 60%)
DELTA(FV@B81) เงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรจากประมาณการเดิม 5.7% (รายได้ในรูปดอลาร์ 70% ขณะที่ ต้นทุน 50%)
และ SVI ([email protected]) เงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเพิ่มกำไรจากประมาณการเดิม 5.2% (รายได้อยู่ในรูปดอลลาร์ 70% ขณะที่ต้นทุน50%)
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง: ได้ประโยชน์จากความคืบหน้าการลงทุนภาครัฐ ซึ่งทำให้ Backlog ทั้งอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น น่าจะหนุนรายได้และกำไรของกลุ่มฯ โดยรวมดีขึ้นในปี 2560 โดยเฉพาะ UNIQ (FV@B25) ซึ่งคาดว่างานใหม่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 57.3% ของ Backlog เดิมที่มีอยู่ ทำให้เป็นหุ้นที่มีการเติบโตสูงสุด ขณะที่มี P/E ต่ำสุดในกลุ่ม จึงชอบ UNIQ มากสุด ทั้งยังมี upside สูงถึง 29.5% ตามมาด้วย CK ที่มีฐานธุรกิจกระจายตัวที่ดี (ถือหุ้น TTW 19.40%, BEM 29.73%)
กลุ่มที่มีการเติบโตสูง: เลือก BJC (FV@B64) และ BLA (FV@B62)
กลุ่มที่ฟื้นตัวเด่น Energy Recovery: ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันที่ยืนเหนือ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล และในปี 2560 ASPS ประเมินไว้ที่ 55 เหรียญฯ แต่มีแนวโน้มจะขึ้นไป 60 เหรียญฯ (IEA คาดการณ์) จึงเลือก PTT (FV@B400) และ PTTEP (FV@B102)
นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์: พาสุ ชัยหลีเจริญ
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์: ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์