- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 21 December 2016 16:51
- Hits: 1717
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนียังผันผวน โดยยังได้รับแรงกดดันจากต่างชาติ ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐตลอดปี 2560 ที่คาดว่าจะขึ้น 1% ซึ่งกดดันค่าเงินเอเชียอ่อนค่า แต่อาจจะหนุนการส่งออกไม่มากนัก เพราะการกีดกันทางการค้าเริ่มใกล้เป็นจริงในต้นปี 2560 กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นรายหุ้น (BJC(FV@B64), SCC(FV@B610), UNIQ(FV@B25)) เลือก Top pick คือ GFPT(FV@B19) จากเงินบาทอ่อน และตลาดส่งออกไก่สดใส
(0) BOJ ยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อ และ กนง. จะมีทิศทางเดียวกัน
ผลประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ (ประชุม 2 วัน ระหว่าง 19-20 ธ.ค.59) เป็นไปตามที่คาด คือ คงดอกเบี้ยนโยบายฯที่ ติดลบ 0.1% และคงฐานเงิน (Money Base) ผ่านการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล (ปีละ 80 ล้านล้านเยน) ควบคู่กับการรักษาเส้นผลตอบแทน (Yield curve) ทุกช่วงอายุ โดย BOJ ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเชิงบวกขึ้น โดยเฉพาะยอดส่งออก เดือน พ.ย. กลับมาหดตัวเพียง 0.4%yoy จากที่ ติดลบ 10.3%yoy ในเดือน ต.ค. (ระดับการส่งออกที่สูงที่สุดในรอบ 1 ปี) ซึ่งเป็นผลของค่าเงินดอลลาร์เทียบเยนมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องกว่า 14.27% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
และวันนี้ประชุม กนง. ตลาดคาดยังคงดอกเบี้ยฯ ที่ 1.5% ตามเดิม (ติดต่อกันตั้งแต่ เม.ย.58) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างล่าช้า และคาดว่าแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายปี 2560 จะมีทิศทางทรงตัวถึง ใน 1H59 และหลังจากนี้ขึ้นกับแนวโน้มเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นจาก 0.6% ใน พ.ย. 2559 (ASPS คาดเงินเฟ้อสิ้นปี 2559 ที่ 0.8% และ 1.47% ในปี 2560 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ 45 เหรียญฯ ในปี 2559 และ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในปี 2560)
ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนยังคงมาจากภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และแผนการลงทุนเพื่อดึงดูดให้เอกชนลงทุน โดย ASPS คาด GDP Growth ปีหน้าที่ 3.5% เร่งขึ้นจาก 3.2% ในปี 2559 ภายใต้สมมติฐาน (C) ขยายตัว 2.7% (I) 3.9% (G) 2.5% (X&M) ในรูปดอลลาร์ 2% และ ติดลบ 1.5% ตามลำดับ ซึ่งหนุนให้ กนง. ใช้นโยบายการผ่อนคลายอีกระยะ ถือว่าหนุนตลาดหุ้นเล็กๆ
(0) ค่าเงินเอเชียอ่อนค่า สวนทางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย
ดังที่ทราบกันว่า 20 ม.ค. 2560 จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะเดินหน้าการลดภาษีตามที่หาเสียง ทั้งของนิติบุคคล (จากเดิม 35% เหลือ 15%) และบุคคลธรรมดา (จากเดิม 10-39.6% อัตราการจ่าย 7 ขั้น เป็น 12-33% มี 3 ขั้น) น่าจะเป็นผลดีต่อกำลังซื้อทั้งภาคเรือน และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน (เพิ่มโอกาสการจ่ายเงินปันผล) ซึ่งหนุนเงินเฟ้อขยับขึ้นใกล้ 2% จากปัจจุบัน 1.7% และทำให้โอกาสขึ้นดอกเบี้ยในปี 2560 อย่างน้อย 1% ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) 8 ครั้ง ในปี 2560 และยังคงหนุนค่าเงินดอลลาร์อยู่ในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง แม้ในช่วง 1 เดือน หลังเดือนตั้งประธานาธิบดี ได้แข็งค่าแล้วกว่า 5.5%
ตรงกันข้ามกับเงินสกุลหลัก ๆ อื่นของโลกที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่า นำโดยสกุลเยนอ่อนค่า 10.8% (แต่แข็งค่า 2%ytd)และยูโรอ่อนค่า 5.8% (4.3%ytd) ยกเว้นเงินปอนด์ที่ทรงตัว เพราะได้อ่อนค่ากว่า 16% ในช่วงต้นปี-ต.ค. และดอลลาร์สิงคโปร่ออนค่า 4.1% (อ่อนค่า 1.8%ytd) และเช่นเดียวกับสกุล เอเชีย อ่อนค่าลักษณะเดียวกัน คือ ริงกิต อ่อนค่ามากสุด 6% (อ่อนค่า 4.2%ytd) ตามด้วยเปโซ อ่อนค่า 2.6% (อ่อนค่า 5.7%ytd) และบาทอ่อนค่า 2.5% (แข็งค่า 0.4%ytd) รูเปียห์ อ่อนค่า 2.2% (แข็งค่า 2.8%ytd) หยวนอ่อนค่า 2% (อ่อนค่า 6.6%ytd) และรูปีอ่อนค่า 1.6% (อ่อนค่า 2.6%ytd) เช่นกัน
ค่าเงินที่อ่อนค่านอกจากเป็นผลจากที่สหรัฐมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยยาวแล้ว ยังเป็นผลจาก fund flow ที่ไหลออก กดดันหุ้นเอเชียตกทุกแห่ง นำโดย ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 6.7%, อินเดีย ลดลง 4%,อินโดนีเซีย ลดลง 3.6% และ มาเลเซีย ลดลง 1% ยกเว้นไทยที่บวกเล็กน้อย 1.34% ซึ่งเป็นผลจากแรงซื้อของสถาบันในประเทศ ตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเกือบ 13% เพราะแนวโน้มการส่งออกดีขึ้นจากเงินเยนที่อ่อนค่า เช่นเดียวฝั่งยุโรปตลาดหุ้นบวกตอบรับค่าเงินที่อ่อนค่า (เยอรมันเพิ่มขึ้น 9.2% และเพิ่ม 6.3%ytd, ฝรั่งเศส 8.1% เพิ่ม 4%ytd) ขณะที่สหรัฐ (ดาวโจนส์)เพิ่มขึ้น 8%(เพิ่ม 14%ytd) สะท้อนเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
(+) หุ้นส่งออกได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า GFPT, TU มีฐานการผลิตในสหรัฐ
แม้สหรัฐมีแนวโน้มกีดกันทางการค้าประเทศที่ได้ดุลการค้า โดยเฉพาะในเอเชีย นำโดยจีน (ได้ดุลการค้า 40% ของยอดขาดดุลการค้าในสหรัฐมากสุด) รองลงมาคิอเกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ ฮ่องกง เป็นต้น และสินค้าที่เอเชียส่งออกไปมากสุดคือ สินค้าสำเร็จรูปในกลุ่มชิ้นส่วนฯ ซึ่งสหรัฐนำเข้าราว 36.28% ของยอดนำเข้าจากเอเชีย รองลงมาคือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 12% และยานยนต์ รถไฟฟ้า และชิ้นส่วนเครื่องบิน 10% เป็นต้น
ประเทศที่คาดว่าจะกระทบมากสุดคือ จีนมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐมากสุด 40% ของยอดส่งออกรวม สินค้าส่งหลักคือ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและเครื่องมือสื่อสาร และสิ่งทอ (สหรัฐ จะเพิ่มภาษีนำเข้าจากปัจจุบัน 5-6.5% เป็น 10-13% กับทุกประเทศ) ตามมาด้วย อินเดียส่งออกสหรัฐราว 13% ของยอดส่งออก ซึ่งสินค้าส่งออกหลักคือ กระจก และผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และยังพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ส่วนใหญ่กระจุกตัวในอุตสาหกรรมรถยนต์ Ford, GM และเครื่องมือสื่อสาร (CISCO, GE) รวมถึงเป็นศูนย์กลางบริการข้อมูล (Hub Center/Call Center) ให้กับบริษัทอเมริกัน และอินโดนีเซีย พึ่งพาตลาดสหรัฐในระดับปานกลางคือ ส่งออกไปสหรัฐราว 29% (ตลาดส่งออกหลักของอินโดนีเซียคือ ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์) แต่สินค้าส่งออกไปสหรัฐเป็นหลักคือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ส่วนไทยส่งออกไปสหรัฐราว 11% ของยอดส่งออก และสินค้าที่ส่งออกหลักคือ 1) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (PBC ของ KCE สัญชาติไทย, แผงวงจร PBCA, หลอดไฟ LED และ Sensor ในรถยนต์ แผงควบคุมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหรกรม ของ HANA สัญชาติอเมริกัน) 2) ชิ้นส่วน Smart Phone และ กล้องวีดีโอ (HANA ผลิต ชิ้นส่วนหน้าจอ LED และ Sensor) และ 3) กล้องวงจรปิด และกล้องวีดีโอ (SVI สัญชาติไทย) และ 4) อุปกรณ์ Power supply ตัดแปลงไฟฟ้าในอุปกรณ์ Data Center, Telecom และ Banttery Junction Box ผลิตโดย DELTA (สัญชาติไต้หวัน)
แต่อย่างไรก็ตามการขึ้นภาษีนำเข้าจะเน้นในสินค้าขั้นปลาย คือสินค้าสำเร็จรูปแต่ชิ้นส่วนส่งออกของไทยอยู่ในขั้นต้นและขั้นกลาง คาดว่าผลกระทบไม่มากนัก และในภาวะที่เงินบาทอ่อนค่าถือว่ายังเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกโดยเฉพาะในสินค้าจำเป็นในกลุ่มอาหาร และชิ้นส่วนน่าจะรองลงมา โดยน่าจะเน้นเป็นบริษัทที่เป็นสัญชาติไทยเพื่อลดผลกระทบการกีดการค้า จากการย้ายฐานการผลิตฯ
กลุ่มเกษตร-อาหาร ล่าสุดเงินบาทอยู่ที่ 36.02 บาทต่อเหรียญฯ อ่อนค่ากว่าสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยกำหนด เฉลี่ยปี 2560 ไว้ที่ 35 บาทต่อเหรียญฯ โดยทุกๆ 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าจากสมมติฐานดังกล่าว จะส่งผลบวกต่อแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มเกษตร-อาหารปี 2560 ให้เพิ่มขึ้น 4.4% จากคาดการณ์ปัจจุบัน โดยบริษัทที่ได้-เสียประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท ดังตารางด้านล่าง
ฝ่ายวิจัยแนะนำ GFPT (FV@B19) จากปัญหาไข้หวัดนกระบาดในต่างประเทศในเดือนพ.ย. 59 ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และหลายประเทศในทวีปยุโรป น่าจะช่วยเพิ่มช่องทางระบายไก่สู่ต่างประเทศมากขึ้น โดยในส่วนของญี่ปุ่นนั้น มีแนวโน้มนำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทยมากขึ้นจากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 3.8 แสนตันในปี 2560 เพิ่มขึ้น 6% yoy (ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่ใหญ่สุดของไทย สัดส่วนถึง 50% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด) ส่วนเกาหลีใต้เพิ่งอนุมัติให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกไก่สดแช่แข็งไปเกาหลีใต้ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 59 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยไทยเคยส่งออกไก่สดแช่แข็งสู่เกาหลีใต้มากสุดราว 4 หมื่นตัน/ปี แต่ในช่วงต้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าปริมาณการส่งออกไก่สดแช่แข็งสู่เกาหลีใต้จะอยู่ที่ 1-2 หมื่นตันในปี 2560 หรือคิดเป็น 2-3% ของปริมาณการส่งออกไก่ของไทย และจะทยอยส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นตันได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
และ TU (FV@B25) จะได้ประโยชน์จากนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่เตรียมปรับลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 15% จากปัจจุบันที่ 35% เนื่องจากมีรายได้จากธุรกิจในสหรัฐฯราว 4.5 หมื่นล้านบาท หรือราว 28% ของรายได้รวม ขณะที่กำไรสุทธิปี 2559-60 จะเติบโต 6.7% yoy และ 19.6% yoy จากธุรกิจทูน่าที่เป็นแบรนด์ในยุโรปจะเติบโตต่อเนื่อง รวมไปถึงธุรกิจแซลมอนฟื้นตัวชัดเจนในปี 2560 และการเน้นเติบโตในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ผลบวกจากการรวมส่วนแบ่งกำไรจากการเข้าซื้อหุ้นกิจการ Red Lobster เข้ามาเต็มปี 2560
และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบทางการค้า โดยเฉพาะเรื่องการย้ายฐานการผลิต หากพิจารณาผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นสัญชาติไทยน่าจะมีผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัด อาทิ KCE, และ SVI บริษัทที่ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท
ฝ่ายวิจัยยังชอบ HANA (FV@B38) จากการเติบโตในปี 2560 กว่า 25% ทั้งยังมี div. yield สูงเกือบ 6% และ SVI ([email protected]) การเติบโตในปี 2560 กว่า 60% ส่วน div. yield ราว 3.4%
(-) ต่างชาติยังไหลออก และโบรกเกอร์มีโอกาสขายช่วงที่เหลือ
วานนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่าราว 76 ล้านเหรียญ โดยมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ซื้อสุทธิเล็กน้อย คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 32 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 11) ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 7 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 28 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 ประเทศ ต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิราว 66 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 27 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 22 ล้านเหรียญ หรือ 794 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเล็กน้อยเพียงวันเดียว) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯที่เริ่มกลับมาซื้อสุทธิมากขึ้นเรื่อยๆราว 1.0 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
แม้แรงซื้อ LTF มักจะเข้ามาช่วยหนุนตลาดฯในช่วงโค้งสุดท้ายของปี แต่ดัชนีหุ้นไทยยังถูกกดดันจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องคอยเฝ้าระวังแรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์ที่ซื้อสุทธิสะสมมาต่อเนื่องกว่า 1.0 หมื่นล้านบาท (ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 59 ถึงปัจจุบัน และ ) ซึ่งมีโอกาสเทขายทำกำไรได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯสลับมาซื้อสุทธิราว 2.17 หมื่นล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 3.29 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์