- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 02 December 2016 17:52
- Hits: 13077
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ต่างชาติกลับมาซื้อ แต่คาดว่าเป็นเพียงช่วงสั้น ซึ่งน่าจะได้รับ sentiment เชิงบวกจากราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว เชื่อว่า SET ยังแกว่งตัว +/- 1,500 จุด Top picks ยังเลือก PTTEP (FV@B 102) และ GFPT (FV@B 19)
(0) การควบรวมธุรกิจบันเทิงชัดเจนขึ้นเพื่อการอยู่รอด
แหล่งข่าวจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับเช้านี้ได้ระบุว่า บริษัทเดอะวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ช่อง ONE) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของ GRAMMY (GRAMMY ถือหุ้น 51% ซึ่งถือหุ้นใหญ่ 49% โดยนายถกลเกียรติ วีรวรรณ) เตรียมออกหุ้นเพิ่มทุน 19.05 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์ 100 บาท (ทำให้ทุนเรียกชำระแล้วเพิ่มเป็น 49% จากเดิม 24.5%) ให้แก่บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด (ซึ่งถือหุ้นโดย นางสาว ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ 99.98%) ซึ่งจะทำให้โครงสร้างการถือหุ้นเปลี่ยนไปจากเดิม โดยบริษัท ประนันท์ภรณ์ จะถือหุ้น 50% และ GRAMMY โดยนายถกลเกียรติฯ จะถือหุ้นลดลงเหลือ 24.5%
คาดว่าการควบรวมกิจการในกลุ่มบันเทิงจะมีมากขึ้นนับจากนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากต้นทุนค่าค่าใบอนุญาตที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้ค่าโฆษณาผ่านระบบทีวีดิจิตอลปรับขึ้นไม่ทัน เนื่องจากการเข้าแข่งขันของผู้ประกอบการจำนวนมากถึง 17 ราย จากเดิมที่ผูกขาดไม่กี่ราย (ผู้ที่ได้รับความนิยมหรือ rating สูงสุดในช่วง 21-27 พ.ย. นำโดยช่อง 7 อยู่ที่ 2.538 รองลงมาช่อง 3 คือ 2.43 WORK 1.21 MONO 0.93 ช่อง 8 0.633 ช่อง ONE 0.59 ช่อง AMARIN 0.281 ไทยรัฐ 0.277) โดยหากพิจารณาบริษัทในตลาดฯ ล่าสุดพบว่าในงวด 9M59 บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มบันเทิงกำไรสุทธิเพียง 1.963 พันล้านบาท เทียบกับ 4.184 พันล้านบาท งวด 9M58 ( ปี 2558 มีกำไร 3.92 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกำไรจากผู้ประกอบการายเดิมคือ BEC, MAJOR, VGI ยกเว้น WORK รายใหม่ ส่วนรายใหม่ที่เหลืออื่นๆ ขาดทุนทุกราย ที่ขาดทุนสูงสุดคือ NMG ขาดทุนรองลงมาคือ AMARIN, GRAMMY, SPORT, AS, POST, MATI, SMM, TRITN, MONO, RS, TH, MATCH, MATCH, MPIC) และก่อนหน้าช่องอัมรินทร์ (AMARIN) ได้ถูกซื้อกิจการโดยกลุ่มคุณเจริญฯ ไปแล้ว 47.62% ซึ่งทั้งหมดเป็นการซื้อหุ้นจากกลุ่ม “อุทกะพันธ์”
อย่างไรก็ตามการที่กลุ่ม บริษัทประนันท์ภรณ์ จะสามารถซื้อหุ้น GRAMMY ได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับการพิจารณาของ กสทช. เนื่องจากตามเกณฑ์ของ กสทช. นั้น กำหนดไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องไม่เคยทำธุรกิจทีวีดิจิตอลมาก่อน ซึ่งในกรณีนี้ บริษัทประนันท์ภรณ์ฯ จะถือว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับ PPTV ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท Bangkok Media and Bradcasting (BMS) แต่ผู้ถือหุ้น BMS ทั้ง 100% คือนายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BDMS
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาการเคลื่อนราคาหุ้นในกลุ่ม Media มีแนวโน้มทรงตัวหลังจากที่ปรับตัวลดลง 45% (จาก 100 จุด เดือน มี.ค. 2556 เหลือ 55.53 ในปัจจุบัน) ในช่วงเวลากว่า 1 ปี แม้ระยะสั้นอาจจะมีลักษณะแกว่งตัวออกด้านข้าง (RS, BEC) แต่หากพิจารณารายตัวพบว่ามีหุ้นบางตัวฟื้นกลับขึ้นมา เช่น WORK, MAJAR, MONO, MCOT, GRAMMY, AMARIN (แต่ถูกเทขายหลังมีผู้ถือหุ้นรายใหม่) ระยะสั้นอาจจะทำให้เกิดการเก็งไรในกลุ่มนี้ จากประเด็นเรื่องควบรวมกิจการ โดยภาพรวมยังให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มบันเทิงน้อยกว่าตลาด และเลือก WORK เป็น Top Pick
(0) เงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้าหมาย กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยที่เดิม
กระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 23 เดือนอยู่ที่ 0.6%yoy จาก 0.34%ในเดือนต.ค (เฉลี่ย 11m59 ที่ 0.1% ASPS คาดสิ้นปี 2559 ที่ 0.8%) เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้เป็นผลของราคาอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น (ผักเพิ่ม 6.26% เนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 1.33%) และสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลปรับเพิ่ม 13% แม้ทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อแคบลง อย่างไรก็ตาม ASPS ยังเชื่อว่าจะ กนง. ยังต้องยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ในการประชุมรอบถัดไป (21 ธ.ค.59) และยืนจนถึงกลางปี 2560 จากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวล่าช้า เนื่องจากการลงทุนเอกชนยังไม่ตอบสนองต่อนโยบายลงทุนภาครัฐ
(0) หุ้นน้ำมันยังมี Momentum ต่อ หลังมีข้อสรุปตัดลดกำลังการผลิต
หลังจากการประชุมกลุ่ม OPEC วานนี้ได้ข้อสรุปในการลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2560 เป็นต้นไป นำโดยซาอุดิอาระเบีย อิรัก UAE และคูเวต เป็นต้น รวมถึงการประกาศปรับลดของรัสเซีย 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าอยู่นอกเหนือความคาดหมาย ทำให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกในวันที่ 30 พ.ย. ขยับขึ้นเกือบ 10% ในวันเดียว และวานนี้ 1 ธ.ค. ราคายังปรับขึ้นอีกเกินกว่า 3% ต่อเนื่องถึงเช้านี้ก็ยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดยืนเหนือ 50 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลแล้ว (WTI อยู่ที่ 51.15 เหรียญฯต่อบาร์เรล Brent อยู่ที่ 53.94 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai อยู่ที่ 50.68 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล)
Sentiment บวกดังกล่าว หนุนหุ้นกลุ่มน้ำมันในตลาดหุ้นต่างประเทศขยับขึ้นแรงเช่นกัน โดยดัชนีกลุ่มพลังงานของ S&P 500 ขึ้นแรงถึงกว่า 5% เช่นเดียวกับดัชนีกลุ่มพลังงานของดัชนี STOXX600 ปรับขึ้นได้ 5.07% ส่วนดัชนีกลุ่มพลังงานตลาดหุ้นญี่ปุ่นขยับขึ้นถึง 5.6% แต่เป็นที่สังเกตว่าทุกตลาดหลังจากขึ้นไปแรง จะมีแรงขายทำกำไรกดลงมาในช่วงท้าย ส่งผลให้แต่ละตลาดปรับขึ้นไม่มากนัก
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยวานนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มพลังงานเช่นกัน โดยกลุ่มพลังงานปรับขึ้นไป 2.37% นำโดย PTTEP ขึ้นมากสุด 7.27% ตามด้วย PTT ปรับขึ้น 4.3% ส่วนกลุ่มปิโตรเคมีขยับขึ้นเช่นกัน โดย PTTGC ขึ้น 2.86% สวนทางกับกลุ่มสายการบิน ที่เสียประโยชน์จากต้นทุนน้ำมันที่ขยับขึ้น โดย BA ลงหนัก 4.55% AAV ลงไป 2.29% และ THAI ลงไป 4.88%
ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนของกลุ่มฯ เป็น มากกว่าตลาด จากปัจจัยหนุนฝั่ง supply ด้วยการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว และปัจจัยฝั่ง Demand จากคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2560 โดย IEA ที่คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะช่วยหนุนให้สถานการณ์ Demand และ Supply ของน้ำมันดิบเข้าสู่ภาวะสมดุลเร็วขึ้นอาจจะเป็นช่วง 1H60 ซึ่งมีโอกาสสูงที่แนวโน้มราคาน้ำมันในปี 2560 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าสมมติฐานได้ โดยราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรลในระยะยาว จะส่งผลให้กำไรและมูลค่าพื้นฐานของ PTTEP เพิ่มขึ้น 7.5% และ 9 บาทต่อหุ้น และ PTT เพิ่มขึ้น 2.8% และ 8 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ จึงให้น้ำหนักการลงทุนไปที่ PTTEP (FV@B102) และ PTT (FV@B400) รวมทั้ง BANPU, PTTGC, IRPC ที่ได้อานิสงส์เช่นกัน
(+) ในระยะสั้น ต่างอาจกลับมาซื้อหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มน้ำมัน
วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่าเบาบางเพียง 29 ล้านเหรียญ แต่เป็นการกลับมาซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวที่ยังคงถูกขายสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 17) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย ได้แก่ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 10 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 6 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5), ฟิลิปปินส์ 3 ล้านเหรียญ และไทย 23 ล้านเหรียญ หรือราว 834 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่ซื้อสุทธิราว 2.4 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
อย่างไรก็ตามคาดว่า Fund Flow อาจจะไหลกลับมาเพียงระยะสั้น จากความคืบหน้าในข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ช่วยหนุนแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นในกลุ่มพลังงงาน ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 17.9% ของหุ้นทั้งตลาดไทย นอกจากนี้สังเกตได้ว่าหุ้น PTTถูกซื้อสุทธิผ่าน NDVR สูงสุดในวานนี้ ด้วยมูลค่ากว่า 515 ล้านบาท และ PTTEP อีก 141 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หาก Fed มีท่าทีว่ายังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย อาจกดดันให้ Fund Flow ไหลออกได้อย่างต่อเนื่อง
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์