- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 16 November 2016 16:28
- Hits: 1828
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ปัจจัยกดดันจากภายนอกยังมีโดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าสหรัฐ หนุน fund flow ไหลออก และแรงขายรับงบ 3Q59 จึงให้เลือกรายหุ้นที่มีปัจจัยหนุน Top picks คือ BJC(FV@B64) จากธุรกิจที่มีแนวโน้มเติมโตต่อเนื่องในงวด 4Q59 และปี 2560 และ FSMART(FV@B21) ผู้นำตู้เติมเงินที่ก้าวเข้าสู่ Banking Agent รายแรกของประเทศ
(-) เงินเอเชียยังอ่อนค่า จากผลกระทบการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.8% MoM (ตลาดคาด 0.6%) ผลจากยอดขายรถยนต์ และวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อ ล่าสุดพุ่งเป็น 1.5% หนุนให้ Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย สะท้อนจากผลสำรวจ Fed Fund Future ของ Bloomberg ล่าสุด คาดโอกาสรอบ ธ.ค. เพิ่มเป็น 94% (จาก 84% ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า) เชื่อว่าตลาดน่าจะรับรู้แล้ว
และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสิ้น นโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีฐานเสียงกลุ่มนายทุน นโยบายหลักจึงเอื้อประโยชน์กลุ่มนักธุรกิจและผู้มีรายได้สูง โดยเฉพาะนโยบายภาษีนิติบุคคล ที่เสนอให้ลดเหลือ 15% (เดิมอยู่ที่ภาษีนิติบุคคล 15-39% เทียบกับประเทศไทยอยู่ที่ 20%) เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและบริษัทจดทะเบียนฯ เพราะหมายถึงกำไรของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นทันทีเท่ากับอัตราภาษีที่ลดลง และยังเสนอลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 4 ช่วง (ฐานการเก็บภาษีลดลงจากเดิม 6 ช่วง) เท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้ประชาชนสหรัฐ ซึ่งล้วนหนุนความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นสหรัฐ
ตรงข้างกับนโยบายต่างประเทศที่ไม่เอื้อต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักอย่างเอเชีย ซึ่งได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ อาจจะเผชิญกับการกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้น และการยกเลิกสนธิสัญญาการค้า FTA, TPP รวมถึงการกีดกันแรงงานต่างชาติน่าจะกดดันเศรษฐกิจ การค้า และค่าเงินของประเทศในแถบเอเชียอ่อนค่าในระยะกลางและยาว จนกว่าจะเห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมหลังจากนายทรัมป์ฯ เข้าบริหารประเทศในช่วงต้นปี 2560
หากพิจารณาค่าเงินน Dollar ล่าสุด แข็งค่าต่อเนื่องทะลุ 100 จุด ขณะที่เงินเอเซียอ่อนค่า อาทิ ริงกิตอ่อนค่าราว 3% เงินบาท 1.5% เปโซ 1.4% รูเปียะห์ 1% ตามลำดับ สำหรับไทย คาดว่าจะ หลีกเลี่ยงผลกระทบมิได้ เพราะสินค้าส่งออกหลักไปสหรัฐคือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (คิดเป็น 48.4% ของสินค้าส่งออกไปสหรัฐ)
(-) 2 สัปดาห์แรกของ พ.ย. ต่างชาติขายสูงสุดภูมิภาคกว่าเดือนอื่น ๆ
วานนี้ต่างชาติยังคงเทขายหุ้นในภูมิภาคทุกประเทศกว่า 773 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 15) จนทำให้ยอดขายสุทธิรวมในครึ่งเดือนแรกของเดือน พ.ย. 59 (mtd) พุ่งขึ้นสูงถึง 5.69 พันล้านเหรียญ ซึ่งมากกว่ายอดขายสุทธิในทุกๆเดือนที่ผ่านมาของปีนี้ (ข้อมูลดังตารางด้านล่าง) และหากพิจารณาแรงขายรายประเทศในวานนี้ พบว่า ตลาดหุ้นไต้หวันยังขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคกว่า 416 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 213 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3). อินโดนีเซีย 41 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5), ฟิลิปปินส์ 27 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) และไทยขายสุทธิกว่า 75 ล้านเหรียญ หรือ 2.66 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 17 โดยมียอดขายสุทธิรวมกว่า 2.73 หมื่นล้านบาท) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่ขายสุทธิราว 559 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 2.3 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงขายสุทธิอีกกว่า 9.2 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4 โดยมียอดรวมสูงถึง 5.78 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.43% และยังเป็นในทิศทางเดียวกับตลาดตราสารหนี้อื่นๆทั่วทั้งภูมิภาค
(0) ดัชนียังแกว่งตัวขาลง ยังชอบรายหุ้นที่มีปัจจัยหนุน WHA, BJC, FSMART
เชื่อว่าตลาดหุ้นโลกยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideway – sideway down เพื่อย่อยข่าวและรอดูเกี่ยวกับนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพกว้างมากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน ขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ในส่วนของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เชื่อว่านักลงทุนน่าจะเริ่มมองไปที่ผลประกอบการ 4Q59 ที่น่าจะมีทิศทางที่เติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจเผชิญกับแรงขายรับงบ 3Q59 ในช่วงสั้น ซึ่งจากจากสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี (2549 – 2558) ปรากฏว่ามีอยู่ 7 ปีที่ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในช่วง 1 สัปดาห์หลังประกาศงบฯ เฉลี่ย -1.8% ซึ่งจากสถิติจะเป็นกลุ่ม Market Cap ใหญ่ที่ถูกขาย อาทิ พลังงาน (ลดลง 9 ใน 10 ปี เฉลี่ย -2.5%) ปิโตรฯ (ลดลง 8 ใน 10 ปี เฉลี่ย -2.7%) และชิ้นส่วนฯ (ลดลง 8 ใน 10 ปี เฉลี่ย -1.2%)
นอกจากนี้ กระแส Fund Flow ที่ไหลออกต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาตินับตั้งแต่ 21 ต.ค. เป็นต้นมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในหุ้นไทยต่อเนื่อง 17 วันทำการ รวมมูลค่ากว่า 2.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีการขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี พุ่งสูงขึ้น จากต้นเดือน พ.ย. ที่ 2.14% ล่าสุดอยู่ที่ 2.49% ยืนยันถึงการไหลออกของกระแสเงินอย่างชัดเจน
ในส่วนของ Valuation นั้น หากเปรียบเทียบในเชิง P/E พบว่า SET Index ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง คือ 16.4 เท่า ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ 16.7 เท่า และฟิลิปปินส์ที่ 17.5 เท่า จึงทำให้ยังไม่มีแรงดึงดูดมากนัก อย่างไรก็ตาม หาก Expected P/E ลดลงอยู่ที่ราว 16 เท่า หรือบริเวณ 1445-1450 จุด เชื่อว่าน่าจะเป็นจุดที่น่าสนใจเข้าลงทุน
กลยุทธ์การลงทุน เน้น Selective Buy เลือกหุ้นที่คาดว่ามีผลประกอบการเด่นในงวด 4Q59 อาทิ WHA ([email protected]), SYNTEC (FV@B 4.90), BJC (FV@B64) หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่ได้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างภาครัฐ หุ้นเด่นที่เลือกคือ CK (FV@B 37.50), UNIQ (FV@B 25) รวมทั้งหุ้นที่คาดหมายอัตราการเติบโตของกำไรระดับสูง อย่างเช่น FSMART (FV@B 21)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์