- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 01 August 2014 16:21
- Hits: 2213
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การปรับฐานยังมีอยู่ นอกจากความกังวลต่อการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นแล้ว ปัญหาการผิดชำระหนี้ในอาร์เจนตินา เป็นประเด็นกดดันใหม่ ยังแนะปรับพอร์ต โดยให้ถือหุ้นปันผล + P/E ต่ำ + upside สูง (BECLFV@B45), PTTEP(FV@B195) และยังเลือก PYLON([email protected]) เป็น Top pick
การเมืองเดินหน้าว่าไปตามสไตส์ ... เป็นสิ่งที่ตลาดน่าจะรับรู้ไปแล้ว
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาขิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 200 คน พร้อมทั้งกำหนดวันเปิดประชุมสภานิติบัญญัติ ครั้งแรกวันที่ 7 ส.ค.2557 โดยองค์ประกอบของ สนช. ปรากฏว่ามีสมาชิกที่มาจากทหารเหล่าทัพต่างๆมากถึง 105 คน ที่เหลือ 11 คนเป็นตำรวจ และกระจายสาขาอาชีพ และ อดีต ส.ว. อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ สนช. ถือเป็นการก้าวเข้าสู่โรดแมพระยะที่ 2 อย่างเต็มรูปแบบ โดย สนช. จะทำหน้าที่หลักในการตรากฎหมาย ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการ เสนอชื่อบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกำหนดให้เปิดประชุมสภาฯ ครั้งแรกในวันที่ 7 ส.ค. นี้ จึงเป็นที่ คาดหมายว่า น่าจะมีการแต่งตั้งรัฐบาล เข้ามาบริหารประเทศในช่วงกลางเดือน ส.ค.2557 และกำหนดการหลังจากนี้ จะเป็นการแต่งตั้ง สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวนสมาชิก 250 คน เพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็นในการปฎิรูปประเทศ อันจะนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ และตามด้วยการ แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีจำนวนสมาชิก 36 คน (รวมประธาน)
จากกระบวนการต่างๆ หากทุกอย่างเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด คาดว่าจะสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิโธย ได้ช่วงกลางเดือน ก.ย.2558 หลังจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2558 และน่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2558 หรือ ต้นปี 2559 ความคืบหน้าอย่างรวดเร็วของกระบวนการทำงานดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดหุ้น แต่ก็ถือได้ว่าราคาหุ้นได้ตอบสนองปัจจัยบวกดังกล่าวล่วงหน้าไปแล้ว โดยปัจจุบันมีค่า Current PER 15.78 เท่า และ PER ณ สิ้นปี 2557 ที่ 15.31 เท่า ซึ่งในเชิงกลยุทธ์ ควรปรับพอร์ตการลงทุนมาเน้นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่อง และราคายังต่ำกว่า Fair Value
ตลาดหุ้นกดดัน เมื่อดอกเบี้ยกำลังจะปรับเป็นขาขึ้น
ล่าสุดแม้สหรัฐ จะรายงานผู้ขอรับสวัสดิการ การว่างงานครั้งแรก รายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2.3 หมื่นคน เพิ่มครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์ แต่ต่ำคาด (เทียบกับเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ที่ผ่านมาลด 3.5 พันราย ซึ่งต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. 2549) ซึ่งถือว่าฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ทั้งภาคเอกชน และนอกภาคการเกษตรที่ยังมีพัฒนาการเชิงบวก ทำให้เชื่อว่าอัตราการว่างงานจะลดลงต่ำกว่า 6.1% ณ สิ้นเดือน มิ.ย. และน่าจะหนุนให้การประชุมของ (FED) ในรอบถัดไป 16-17 ก.ย. นี้น่าจะเดินหน้าตัดลด QE ต่อเนื่องอีกเดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ลงเหลือ 1.5 หมื่นล้านเหรียญฯ และจะสิ้นสุดการใช้ AQ ราวเดือน ต.ค. นี้ และน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ของปี 2558 ซึ่งถือว่าจะเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้น ทั้งนี้หากพิจารณาการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นกับทิศทางดอกเบี้ย พบว่ามีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามกล่าวคือ ในภาวะดอกเบี้ยขาลงตลาดหุ้นมักจะตอบรับด้านบวก แต่ตรงกันข้ามหากดอกเบี้ยขาขึ้นหุ้นจะปรับตัวลดลง ดังตัวอย่างในที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ ดังปรากฏในภาพข้างต้น
ขณะที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคเอเซีย (ตามหลังมาเลเซียที่ปรับขึ้น 0.25% เป็น 3.25% เมื่อต้นเดือน ก.ค.) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม 3.5% เป็น 3.75% เป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน ทั้งนี้เนื่องอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวในระดับ 4.4% ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยคาดว่าจะกระทบด้านลบต่อตลาดหุ้น ดังที่เกิดขึ้นในปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ เริ่มกลับมาปรับลดดอกเบี้ยโนบาย (จากปี 2554 มีการขึ้นดอกเบี้ย 4% เป็น 4.5%) ทั้งหมด 4 ครั้ง รวม 1% จาก 4.5% เหลือ 3.5% และ ยืนดอกเบี้ยระดับนี้จนถึงปัจจุบัน พบว่าได้หนุนให้ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน กว่า 1 ปี หรือจนถึงกลางปี 2556 ก่อนที่จะมีการปรับฐานระยะสั้น แต่หลังจากนั้นก็ปรับขึ้นต่อ ซึ่งสถานการณ์นี้ตลาดหุ้นปรับฐานน่าจะเกิดขึ้นกับทุกประเทศในแถบเอเซียที่กำลังเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นรอบใหม่
ปัญหาในอาร์เจนติน่า เป็นประเด็นใหม่เข้ามากดดันตลาด
นอกจากตลาดจะกังวลต่อสภาพตลาดเงินที่กำลังเปลี่ยนจากวงจรดอกเบี้ยต่ำ สู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น และปัญหาความขัดแย้งในยูเครน กดดันให้ตลาดหุ้นโลกพักฐาน โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป พบว่าร่วงลงหนักส่งท้ายเดือน ก.ค. ซึ่งถ้ากล่าวกันตามความเป็นจริงแล้ว ตลาดควรมีการพักฐานและลดความร้อนแรงลงบ้างเนื่องจากบรรดาตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปต่างปรับขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. และขึ้นทำ new high ในช่วงเดือน ก.ค. ยังมีปัจจัยลบใหม่เข้ามากดดันคือ การผิดนัดชำระหนี้ของอาร์เจนตินา (ประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้) หลังไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ (กองทุน Hedge Fund 2 กอง ที่เข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านเหรียญฯ) เพื่อขอขยายเวลาชำระดอกเบี้ยพันธบัตรเป็นเงิน 539 ล้านเหรียญฯ ซึ่งกำหนดเส้นตายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา การผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยผิดนัดชำระหนี้เมื่อปี 2544 หรือในรอบเกือบ 13 ปี และกดดันให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s ลดระดับความน่าเชื่อถือของอาร์เจนตินาลงไปอยู่ในระดับต่ำสุด เป็น “ผิดชำระหนี้” และระบุว่าจะมีการทบทวนความน่าเชื่อถือใหม่อีกครั้ง หากอาร์เจนตินาสามารถหาทางชำระหนี้ได้
แม้ว่ายอดเงินดังกล่าวจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับสหรัฐ แต่กลับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของประเทศเกิดใหม่ที่ไม่สามารถบริหารหนี้ได้ แม้ว่าบรรดาเจ้าหนี้กว่า 90% จะยอมลดหนี้ลงก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้ในครั้งนี้ จะทำให้เศรษฐกิจอาร์เจนตินาที่แย่อยู่แล้วกลับแย่ลงไปอีก และอาจทำให้การขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเป็นไปได้ยากขึ้น
สถาบันในประเทศยังขายต่อเนื่อง จากที่ซื้อสุทธิมามากในช่วงที่ผ่านมา
แม้ว่าวานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 4 แต่ยอดซื้อกลับลดลงถึง 94% เหลือเพียงราว 47 ล้านเหรียญฯ และ เป็นการซื้อสุทธิเพียงประเทศเดียวคือเกาหลีใต้ ที่ยังซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 16 ราว 421 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 29%) สวนทางกับประเทศอื่นๆที่ขายสุทธิออกมาทั้งหมด สูงสุดคือไต้หวัน สลับมาขายสุทธิราว 334 ล้านเหรียญฯ (ซื้อติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) ส่วนไทยยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 34 ล้านเหรียญฯ (1.1 พันล้านบาท, ลดลง 35% จากวันก่อนหน้า) ขณะที่ฟิลิปปินส์สลับมาขายสุทธิเล็กน้อย ราว 5 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิเบาบาง 2 วันก่อนหน้า) ส่วนตลาดหุ้นในอินโดนีเซียยังคงปิดทำการ
ในขณะที่กลุ่มที่มีแรงขายอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังคือกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ยังขายสุทธิราว 750 ล้านบาท โดยที่เป็นการขาย 11 จาก 13 วันหลังสุดรวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามยอดซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นปียังคงเหลืออยู่อีกราว 2.7 หมื่นล้านบาท (ซื้อสุทธิ 1.1 แสนล้านบาทในปี 2556) ทำให้เชื่อว่าแรงขายจากนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงมีอยู่ เช่นกับนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มขายสุทธิต่อเนื่องกดดันตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล